วัฒนธรรมล้านนามาจากไหน


แม้ปัจจุบันเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ก้าวไกลตามแบบฉบับสากล สังเกตได้จากมีกลุ่มชนต่าง ๆ จำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ทั้งไทยภาคกลาง ฝรั่ง จีน แขก จนแทบไม่มีพื้นที่ยืนให้กับกลุ่มชนดั้งเดิม แต่ทุกวันนี้คนพื้นเมืองยังคงได้รับการสืบสานวัฒนธรรมล้านนามาจากบรรพบุรุษอันเป็นสิ่งกำหนดวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณีและนำมาซึ่งศิลปกรรมอันหลากหลายในท้องถิ่นเอาไว้อย่างดงามดูเหมือนจะเป็นคำถามยอดฮิตอย่างไม่ต้องสงสัยว่าแท้จริงแล้ววัฒนธรรมล้านนาที่เรากำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นวัฒนธรรมจากรากเหง้าเผ่าพันธุ์เดิม หรือ เป็นวัฒนธรรมตามกระแสที่เรานั้นรับเอามาจากที่อื่น ฟังดูอาจเหมือนเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการเข้าใจ แต่ก็ยากยิ่งเพราะถ้าจะพูดกันจริง ๆ ก็คงต้องย้อนกลับเข้าไปในประวัติศาสตร์ เอาเรื่องหลักฐานมาแบให้กระจ่างแจ้ง ซึ่งอาจจะต้องใช้นักวิชาการระดับด๊อกเตอร์ หรืออาจเลยเถิดกลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนต้องจัดงานสัมมนาว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมล้านนา ว่าไปโน้นแม้จะมีร่องรอยหลักฐานการทำกินของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณล้านนามากว่าหมื่นปีแล้ว แต่หลักฐานการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของชุมชนที่นี่ก็เพิ่งเริ่มเมื่อพุทธศตวรรษที่ 17 มานี่เอง ตามจารึกอักษรภาษามอญของกลุ่มช่างหริภุญไชยที่พบในเมืองลำพูน กระทั่งเมื่อครั้งที่พญามังรายเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น เชียงใหม่ยังเต็มไปด้วยป่าเขา มีคนพื้นเมืองอาศัยอยู่ไม่มากนัก กลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมของที่นี่ได้แก่ พวกลัวะ ม่าน เม็ง อาจรวมกลุ่มชาวไตอยู่ด้วย แต่ไม่มากนัก วัฒนธรรมหลักที่พบในบริเวณนี้มีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มล้านนาแท้ดั้งเดิมที่เชียงราย พะเยา และกลุ่มอิทธิพลของมอญ พม่าและสุโขทัยที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มย่อย ๆ ในบางพื้นที่ เช่น แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ และยังมีวัฒนธรรมกึ่งชาวเขาที่แพร่ น่าน นอกจากนี้ยังมีการถ่ายเทกันไปมาระหว่างวัฒนธรรมล้านนากับล้านช้างขณะเดียวกัน แม้ว่าพุทธศาสนาได้เข้ามาเป็นความเชื่อหลักของล้านนาแล้วนั้นก็เชื่อกันว่าอาจเนื่องจากเกี่ยวข้องกับหริภุญชัย เพราะแม้เชียงใหม่จะเป็นศูนย์กลางการปกครอง เป็นนครรัฐที่สร้างขึ้นใหม่อย่างสมบูรณ์มั่งคั่ง แต่อิทธิพลทางศิลปวิทยาต่าง ๆ ของหริภุญชัยก็มีต่อล้านนาสูงมาก และหริภุญชัยก็นับถือพุทธศาสนามาก่อนนั้นหลายศตวรรษ อักษรไทยวน หรือ ตัวเมือง ที่ล้านนาใช้มาก่อน ก็ว่ากันว่าได้รับแบบอย่างมากจากอักษรมอญแห่งนครลำพูนนอกจากลำพูน ศิลปวิทยาอื่น ๆ ของล้านนายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับพม่า อันเป็นชนชาติที่เข้ามามีอิทธิพลอยู่ในล้านนาเกือบทุกยุคสมัย เมื่อพญามังรายยกทัพไปตีเมืองหวสาวดีของพม่า พระเจ้าหงสาวดีก็ถวายไมตรียกธิดาให้ และเมื่อพญามังรายยกทัพไปดูเชิงพระเจ้าอังวะที่เมืองพุกามนั้น พระเจ้าอังวะชาวไทใหญ่ก็ได้จัดช่างฝีมือต่าง ๆ 500 ครอบครัวให้พญามังรายพามาอยู่ในล้านนา พญามังรายจัดให้ช่างทองไปอยู่ที่เมืองเชียงรุ้ง ซึ่งเป็นดินแดนของพระองค์ในสมัยนั้น ให้ช่างฆ้องอยู่ที่เชียงแสน ช่างเหล็ก ช่างหล่อและช่างอื่น ๆ ให้อยู่ที่เวียงกุมกาม นับจากพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว เชียงใหม่ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังรายก็ได้รับเอาพระเถระมาจากสุโขทัยเข้ามาสืบสานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในล้านนา ศิลปกรรมสุโขทัยซึ่งพัฒนารูปแบบของตนมาแล้วจากพม่าเมืองพุกาม ก็เข้ามาเติบโตในล้านนา กระทั่งในสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 9 ก็ยังได้ติดต่อกับแว่นแคว้นต่าง ๆ อีกมากมาย มีการส่งคนไปศึกษาสถาปัตยกรรมและดูตัวอย่างงานที่พุกามและลังกา แล้วนำกลับมาสร้างความรุ่งโรจน์ในล้านนา ในสมัยนี้ยังได้ทำการสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นที่วัดมหาโพธาราม หรือ วัดเจ็ดยอด นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฏกเป็นครั้งที่ 8 ของโลกและเป็นครั้งแรกในดินแดนพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิแห่งนี้ยุคทองของเชียงใหม่ได้ดำเนินติดต่อกันมาราว 260 ปี จึงเสียเมืองแก่พม่าในปี พ.ศ.2101 ในระหว่าง 216 ปีของการอยู่ใต้อำนาจของพม่า ชาวล้านนาถูกกวาดต้อนไปหลายครั้ง พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วกล่าวว่า มีชนชั้นผู้นำของเชียงใหม่ถูกกวาดต้อนไปสิ้น รวมทั้งพระสงฆ์และช่างฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่างเขิน ช่างร่ม ช่างทอง ช่างแกะสลัก ช่างลงรักปิดทอง เป็นต้น คนเหล่านี้ถูกบังคับให้สร้างวัดวาอารามและปราสาทราชวังจนสุดฝีมือ ในพม่าทุกวันนี้ยังมีลวดลายแกะสลักของช่างไทยที่ชาวพม่าเรียกว่าลายอยุธยา ลายเชียงใหม่ก็มี เครื่องเขินชนิดลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำนั้นพม่าได้ไปจากอยุธยา ส่วนเครื่องเขินชนิดขูดขีดเป็นลายเส้นแล้วถมด้วยสีต่าง ๆ ซึ่งชาวพม่าเรียก โยนเถ่ หรือ เครื่องยวน ของชาวล้านนานั้น ปัจจุบันก็มีการผลิตอยู่ที่เมืองพุกามขณะเดียวกันในยุคที่พม่าปกครองล้านนา ก็ยังมีอิทธิพลของวัฒนธรรมพม่าปรากฏอยู่ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในเชียงใหม่ เช่นที่วัดแสนฝาง ในเชียงใหม่ วัดศรีชุมเมืองลำปาง ฯลฯ แต่สายธารทางวัฒนธรรมก็เหมือนกับน้ำ ย่อมไหลเทจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งตามความรุนแรงของแรงผลักดัน ภายหลังเมื่อพระเจ้ากาวิละได้ร่วมกับพระเจ้าตากสินมหาราช ทำการขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาแล้ว เมืองเชียงใหม่ขณะนั้นอยูในสภาพทรุดโทรมปราศจากผู้คน จึงต้องขึ้นไปกวาดต้อนเอาคนที่มีเชื้อชาติ ภาษาและใช้ตัวหนังสือเดียวกันกับไทยวนเชียงใหม่มาร่วมกันพัฒนา ได้คนจากเมืองยอง เชียงตุง เชียงรุ้งในพม่าและสิบสองปันนามาเป็นจำนวนมาก (ซึ่งอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวว่าเป็นยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง") ส่วนใหญ่เป็นไทลื้อ ไทยองและไทเขิน ประมาณกันว่าในปัจจุบันมีผู้สืบเชื้อสายไททั้งสามตระกูลนี้ในเชียงใหม่ราว 40 % ของทั้งหมด ส่วนที่ลำพูนมีมากถึง 70 % ดังนั้นจึงไม่เป็นที่สงสัยว่าวัฒนธรรมล้านนาที่ใช้กันในปัจจุบัน ล้วนมาจากการไหลเทของวัฒนธรรมในกลุ่มคนไทตั้งแต่บริเวณทิศใต้ของจีนเรื่อยลงมา อันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมแห่งรากเหง้าเผ่าพันธุ์ตนแม้ปัจจุบันเมืองเชียงใหม่จะเจริญรุ่งเรือง ก้าวไกลตามแบบฉบับสากล สังเกตได้จากมีกลุ่มชนต่าง ๆ จำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ทั้งไทยภาคกลาง ฝรั่ง จีน แขก จนแทบไม่มีพื้นที่ยืนให้กับกลุ่มชนดั้งเดิม แต่ทุกวันนี้คนพื้นเมืองยังคงได้รับการสืบสานวัฒนธรรมล้านนามาจากบรรพบุรุษอันเป็นสิ่งกำหนดวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณีและนำมาซึ่งศิลปกรรมอันหลากหลายในท้องถิ่นเอาไว้ได้อย่างงดงาม





ที่มา.........เอกสารประกอบ ม.จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย