ผู้คนในยุคแรกของแหลมไทย-มลายู กล่าวกันว่า เกิดขึ้นจากการผสมผสานชาติพันธุ์ระหว่างมนุษย์สมัยยุคหิน ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ๓ กลุ่มด้วยกัน คือ

๑. พวกมองโกลอยด์ (Mongoloid) กลุ่มนี้อาจจำแนกออกเป็น มอญ พม่า ไทย เขมร เวียดนาม ฉาน และลาว

๒. พวกนิกริโต (Nigrito) พวกนี้ยังคงหลงเหลืออยู่ตามป่าเทือกเขาบรรทัดสันกาลาคีรี ตลอดไปถึงเขตแดนมาเลเซีย ได้แก่ พวกเซมัง ซาไก และเผ่าคนในหมู่เกาะนิวกินี เช่น พวกปาปวน เป็นต้น

๓. พวกออสตราลอยด์ (Australoid) มนุษย์กลุ่มนี้แยกออกเป็นกลุ่มย่อยได้หลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเกาะสุมาตรา ชวา บาหลี ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ดังจะเห็นได้จากเครื่องมือเครื่องใช้ของคนในยุคนี้ทิ้งไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่น ขวานหิน หรือขวานฟ้า (บาตูลิตา) ซึ่งมีทั้ง รูปแบบใบขวาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และแบบขวานชนิดมีบ่าที่พบอยู่ทั่วไปในแหลมอินโดจีน ตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศจีน เรื่อยลงมา ถึงบ้านเก่า ในจังหวัดกาญจนบุรี ไปตลอดปลายแหลมมลายูโดยเฉพาะที่จังหวัดปัตตานี พบขวานหินทั้ง ๒ ชนิด ที่บ้านป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงการเคยอยู่ร่วมกันของผู้คนเหล่านั้นในดินแดนนี้

สำหรับผู้คนในตระกูลไทยและมาเลย์นั้น ดร.ปอลเบนดิต (Dr.Poul Benediet) ชาวอเมริกัน และ มร.อีริคไซเดนฟาเดน (Mr.Erick Seidenfaden) ชาวเดนมาร์คกล่าวว่า สืบสายเลือดมาจากชาติพันธุ์เดียวกัน ซึ่งตรงกับผล ของการศึกษาค้นคว้า ของพระยา สมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลล่าห์ ภายหลังใช้นามสกุลพระราชทานว่า สมันตรัฐ) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า

"ข้าพเจ้าได้รวบรวมหนังสือมลายูเก่าๆ มากเล่มด้วยกัน ได้ความว่า เมื่อ พ.ศ.๗๓๔ แหลมมลายูนี้ยังไม่ได้เป็นบ้านเมือง คนที่มีอยู่บนแหลมนี้มี ๔ จำพวก คือ

จำพวกที่ ๑ เรียกว่า "กาฮาซี" จำพวกนี้มีผิวเนื้อดำ ดวงตาโปนขาว ผมหยิก ร่างกายสูง ใบหน้าบาน ฟันแหลม ชอบกินเนื้อสัตว์ และเนื้อคน มีนิสัยดุร้าย ซึ่งคนไทยเรียกว่า "ยักษ์"

จำพวกที่ ๒ เรียกว่า "ซาไก" ผมหยิกดำ ตาโปนขาว ริมฝีปากหนา จำพวกนี้ไม่ดุร้าย อยู่ชุมนุมกันเป็นหมู่ ทำเพิงเป็นที่อาศัย

จำพวกที่ ๓ เรียกว่า "เซียมัง" คล้ายกับพวกซาไก แต่พวกนี้ชอบอยู่บนภูเขาสูงๆ

จำพวกที่ ๔ เรียกว่า "โอรังลาโวค" (ชาวน้ำ) อาศัยตามเกาะและชายทะเล มีเรือเป็นพาหนะ เที่ยวเร่ร่อนไม่อยู่เป็นที่

พวกชาวมลายูนี้ ได้ตรวจดูตามพงศาวดาร และประวัติศาสตร์ในภาษามลายูต่างๆ หลายเล่ม ก็ไม่ได้ความชัดเจนว่ามลายูเดี๋ยวนี้ สืบมาแต่ชาติใดแน่ เป็นแต่ความสันนิษฐานของผู้เขียนประวัติเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี สรุปความว่า ชาติมลายูนี้มาจาก โอรังลาโวค คือชาวน้ำเป็นแน่นอน ผสมกับพวกต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ชาวน้ำตามประวัติศาสตร์แหลมมลายูกล่าวว่า มาจากแหลมอินโดจีน แต่ความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเท่าที่ได้ตรวจหลักฐานต่างๆ มาแล้ว ชาวมลายูนี้มาจากชาวน้ำผสมกับชาติไทย ทางเมืองละโค (นครศรีธรรมราช) ชุมพร ไชยา ก่อนชาติอื่นๆ แล้วยังมีชาติยะวา (ชวา) มาภายหลังจึงได้มีชาติอื่นๆ มาผสมด้วย

หนังสือสยาเราะห์มลายูว่า ชาติไทยได้มาเป็นเจ้าเมืองปาหัง และมาตั้งเมืองปัตตานีขึ้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ชาติมลายูนี้ มีโลหิตไทย อยู่มากกว่าชาติอื่น (ประวัติและเรื่องน่ารู้ของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ หน้า ๙๔)

ส่วนนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Robbins Borling กล่าวไว้ว่า "ไม่มีผู้คนกลุ่มใดในเอเซียอาคเนย์ ที่จะกล่าวได้ว่า เป็นเผ่าบริสุทธิ์ ที่มีบรรพบุรุษเฉพาะเผ่าพันธุ์ตนเอง" (หุบเขาและทุ่งราบ ของปราณี วงษ์เทศ หน้า ๘๐)

กล่าวโดยสรุป ผู้คนในภาคใต้มีเลือดผสมผสานระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆ ที่ยังคงมีร่องรอยแสดงให้เห็นชัดเจนที่สุด จากผลของสงคราม และการติดต่อสัมพันธ์กันทางการค้า และสภาพการทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ไทย จีน อินเดีย เขมร มอญ ชวา มลายู เซมัง และชาวน้ำ มาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ คนไทยนั้น ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้จักกันในนาม "โอรังเสียม" หรือชาวสยาม อันเป็นนามประเทศ และชื่อของคนที่เป็นเจ้าของประเทศมาก่อนที่รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จะออกกฎหมาย รัฐนิยม มาบังคับใช้ชื่อประเทศไทยเป็นทางราชการสืบมาในปัจุบัน

คนเสียมเข้ามาสู่ไทย-มลายูนานเท่าไร ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนชัดเจน จากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ อาทิเช่น อิบรอฮิม ซุกรี กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าดินแดนแห่งนี้มีนามว่า ดินแดนมลายู แต่ก็มิได้หมายความว่าชาวมลายูเป็นชนชาติแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ ณ ดินแดน แห่งนี้ เพราะชาวมลายูเป็นชาติหลังที่สุดที่เข้ามาอยู่อาศัย หลังจากชนชาติอื่นได้เข้ามาอยู่ก่อนแล้ว ก่อนหน้านี้ มีชาวฮินดู เดินทาง มาจาก อินเดีย และมีชาวสยามซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่เดิม ได้เข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนสยาม จนกระทั่งช่วงสุดท้าย ชาวมลายูได้เข้ามาอาศัย" (กรียาอันมลายูปัตตานี ของอิบรอฮิม ซุกรี )

ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ว่า "เจ้าประเทศราชมลายูนั้น ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ชาวมลายูมีบ้านเมืองอยู่ที่เกาะสุมาตรา เช่นที่เมืองแจมบี (Jambi) และเมืองมานังกาเบา รัฐหรืออาณาจักรมลายูยังไม่ขึ้นมาตั้งรกรากอยู่ปลายแหลมมลายู จนอีกร้อยปีต่อมา" (หนังสืออนุสรณ์ เรื่องราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช ของ ขจร สุขพานิช) ศูนย์กลางของอาณาจักรแรกของมลายูก็คือรัฐมะละกา ราชาปรเมศวร เชื้อสายกษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต ในเกาะชวา เป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๑๙๔๖

ในรัฐเกดาห์ (ไทรบุรี) คนเผ่าไทยพื้นเมืองดั้งเดิมถูกเรียกว่า "พวกซัมซัม" หรือ "สามสาม" ซึ่งเป็นคำที่เลือนมาจากคำ "เสียม-เซียม" หรือ สยาม ตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี ตอนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อราชามารงมหาวังสา พร้อมด้วยอำมาตย์ ข้าราชบริพาร ขึ้นฝั่ง เพื่อสำรวจ ภูมิประเทศ บนเกาะสรี พบว่า "ชาวพื้นเมืองล้วนแต่เป็นพวก Gergasi หรือ อสูร" ราชามารงมหาวังสา เป็นคนอินเดีย จึงมองเห็นคนพื้นเมือง ที่ด้อยความเจริญกว่า ว่าเป็นพวกยักษ์พวกมาร ดังที่เคยมองชาวศรีลังกามาแล้วในอดีต และอีกตอนหนึ่งว่า

"บรรดาเหล่าอสูร มีพระเจะเสียม และนางสุตามัน เป็นหัวหน้า" พระเจะเสียมผู้นี้ เป็นบุตรชาวพื้นเมือง..." (หนังสือตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี ของ หลวงคุรุนิติพิศาล) จากข้อความในตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี แสดงให้เห็นว่า คนเสียมได้มาอาศัยอยู่ในแหลมมลายูมาช้านาน ทั้งจำนวนผู้คน และความเจริญ ก็คงจะเหนือกว่าชนเผ่าอื่นๆ จึงได้รับการบกย่องให้เป็นผู้นำของชุมชนซึ่งอยู่ร่วมกันหลากหลายเผ่าพันธุ์ ผู้คนเหล่านั้น ได้ประสมประสาน สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ จนเกิดลักษณะทางกายภาพดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ต่อมา ผู้คนเหล่านี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นชุมชนขึ้นทำการปกครองกันเอง โดยมีหัวหน้าเผ่าเป็นผู้นำ ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ และได้มีการติดต่อ รับวัฒนธรรม จากชนชาติอินเดียที่เดินทางเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า จึงเกิดการพัฒนาชุมชน ขึ้นเป็นบ้านเมือง และแคว้นน้อยใหญ่ขึ้นมา บ้านเมืองยุคแรกที่ตั้งอยู่บนแหลมไทย-มลายู ที่ปรากฏชื่ออยู่ในจดหมายเหตุของชาวจีน ได้แก่ เมืองตันซุน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือบริเวณท้องที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เมืองนี้มี "พวกฮู (ชาวอินเดีย) มาอาศัยอยู่ถึง ๕๐๐ ครอบครัว และมีพวกพราหมณ์อีก ๑,๐๐๐ คน" ถัดมาก็เป็นเมืองฉีตู หรือเซียะโท้ว จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สุย บันทึกเรื่องราวของเมืองนี้ว่า "ฉีตู (หรือ เซียะโท้ว) เป็นประเทศที่มีชาวเมืองเป็นเชื้อชาติเดียวกับประเทศฟูนัน อยู่ทางทะเลใต้ ไปเรือ ร้อยกว่าวันถึง พื้นดินเมืองหลวงเกือบเป็นสีแดง ประเทศฉีตู มีเนื้อที่กว้างหลายพันลี้ พระเจ้าแผ่นดินมีนามโดยแซ่ว่า คุยถ่าน และมีพระนามโดยรัชกาลว่า หลีต่อซัก ประชาชนนับถือพระพุทธเจ้า แต่ก็นับถือพราหมณ์มาก เมืองหลวงชื่อสิงหปุระ ในปี พ.ศ.๑๑๕๐ จีนได้ส่งราชฑูตฉังจุนและหวังจุงเซงมาเยี่ยมเยียน ต่อมาปี พ.ศ.๑๑๕๑-๑๑๕๒ และ ๑๑๕๓ กษัตริย์เมืองฉีตู ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายจักรพรรดิ์จีนเป็นการตอบแทน ที่ตั้วเมืองฉีตู สันนิษฐานกันว่าอยู่ที่รัฐไทรบุรีหรือจังหวัดสงขลา และบ้างก็ว่าตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังหาข้อยุติมิได้

เมืองตัน-ตัน (หรือ ตาน-ตาน) อีกเมืองหนึ่ง ศาสตราจารย์เซเดส์ ว่าตั้งอยู่ที่จังหวัดพัทลุง ปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารชาวจีนว่าในปี พ.ศ.๑๑๑๓ ได้ส่งฑูตและเครื่องบรรณาการ ประกอบด้วย พระพุทธรูปแกะด้วยงาช้าง ๒ องค์ สถูป ๒ องค์ ไข่มุกอย่างดี ผ้าฝ้าย ยา และน้ำหอมต่างๆ ไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีน

เมืองตัมมาหลิง ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อกันว่าเป็นเมืองเดียวกับเมืองตามพรลึงค์ ที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกที่ค้นพบจากวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวจีนชื่อ เจาจูกัว ได้บันทึกถึงเรื่องราวของเมืองนี้ไว้ว่า "เมืองนี้มีกำแพงไม้กว้าง ๖ หรือ ๗ ฟุต ล้อมรอบ ซึ่งภายในกำแพงนี้อาจใช้เป็นลานสำหรับต่อสู้ได้ด้วย บ้านเรือนของข้าราชการสร้างด้วยไม้กระดาน บ้านของสามัญชนสร้างด้วยไม้ไผ่ มีใบไม้เป็นฝากั้นห้องและมัดด้วยหวาย (เรือนผูก) ผลิตผลพื้นเมืองมีขี้ผึ้ง ไม้จันทร์ ไม้มะเกลือ การบูร งาช้าง นอแรด"




ที่มา....http://www.geocities.com/bluesing200...kasuka/t03.htm