ปิดตำนาน คุ้มพระลอ ชลอเกิดเทศ(รูปภาพไม่เหมาะที่จะนำมาลง)
ปิดตำนานมือปราบแห่งคุ้มพระลอและอดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย หลังศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต “พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ” วัย 71 ปี จำเลยในคดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกตระกูล "ศรีธนะขัณฑ์" จากคดีเพชรซาอุฯ...
ในที่สุดคดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกตระกูล "ศรีธนะขัณฑ์" จากคดีเพชรซาอุฯ ก็มาถึงจุดจบหลังใช้เวลาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเกือบ 15 ปี เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ยืนตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ จำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนจำเลยอื่นๆ คดีจบไปก่อนถึงชั้นศาลฎีกา คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 และนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ พ.ต.ท.พันศักดิ์ มงคลศิลป์ อดีตสว.สส. สภ.อ.เมือง ปราจีนบุรี จ.ส.ต.ยงค์ กล่ำนาค อดีตผบ.หมู่ สภ.อ.เมืองปราจีนบุรี ด.ต.สมนึก เวชศรี อดีตผบ.หมู่ สภ.อ.สระแก้ว นายวีระชัย พลทิแสง นายนิคม หรือป๊อด มนต์ศิริ นายสำราญ แจ่มจำรัส หรือ พงษ์ ปากกว้าง นายสมหมาย พุดเทศ และนายสุภาพ ช่างสาย ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน และความผิดอื่นรวม 9 ข้อหา กรณีอุ้มฆ่า นางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ภรรยาและบุตรของนายสันติ ไปรีดสอบสวนถึงเพชรของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อับดุลอาซิซ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่หายไป ก่อนฆ่าอำพรางคดีเป็นอุบัติเหตุ
ก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2545 ให้จำคุกตลอดชีวิต พล.ต.ท.ชลอ จำเลยที่ 1 พ.ต.ท.พันศักดิ์ จำเลยที่ 2 นายนิคม จำเลยที่ 6 และนายสำราญ จำเลยที่ 7 ส่วนจ .ส.ต.ยงค์ จำเลยที่ 3 จำคุกเป็นเวลา 4 ปี นายวีระชัย จำเลยที่ 5 และนายสมหมาย จำเลยที่ 8 ให้จำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน และให้ยกฟ้อง ด.ต.สมนึก จำเลยที่ 4 ต่อมาวันที่ 3 มี.ค. 2549 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ให้ประหาร พล.ต.ท.ชลอ สถานเดียว ขณะที่จำเลยอื่นพิพากษายืน โดยที่ จ.ส.ต.ยงค์ นายสมหมาย และนายสุภาพ เสียชีวิตระหว่างพิจารณาคดี
สำหรับคดีอุ้มฆ่านางดาราวดี และ ด.ช.เสรี 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ เป็นคดีเกรียวกราวไปทั่วประเทศเมื่อปี 2537 เมื่อ "ป๋าลอ" พล.ต.ท.ชลอ ได้รับการแต่งตั้งจาก พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นให้เป็น 1 ใน 4 ชุดเฉพาะกิจติดตามคดี นายเกรียงไกร เตชะโม่ง อดีตแรงงานไทยโจรกรรมเครื่องเพชรมาจากพระราชวังไฟซาล ของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อับดุล อาซิซ แห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย แล้วหลบหนีเข้ามาในเมืองไทย
จากนั้น ทีมสืบสวนของ พล.ต.ท.ชลอ เชื่อว่าเครื่องเพชรบางส่วนที่นายเกรียงไกร โจรกรรมมาอยู่ในความครอบครองของนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เจ้าของร้านเพชรสันติมณี สามีของนางดาราวดี และน่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การติดตามหาเพชร "บลูไดมอนด์" โคตรเพชรขนาด 12.5 กะรัต ที่ทางการซาอุดีอาระเบียต้องการจะนำกลับคืน จึงนำมาสู่วิธีการสืบสวนนอกระบบ โดยการอุ้มนางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ภรรยาและบุตรชายของนายสันติ จากบ้านพักย่านตลิ่งชัน ไปกักขังไว้ที่บังกะโล กวีวิลล่า อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี (ในสมัยนั้น) นานกว่า 1 เดือน เพื่อต่อรองและเรียกค่าไถ่ 2.5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการข่มขืนกระทำชำเราเหยื่อ และฆ่าทิ้ง

ในครั้งนั้น นางดาราวดี และด.ช.เสรี ถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม ทีมสังหารใช้ไม้ตี 2 แม่ลูกจนคอหักตาย ก่อนจะนำศพทั้งคู่ยัดใส่ในรถเบนซ์ รุ่น 230 อี สีขาว หมายเลขทะเบียน 8 ษ-2327 กรุงเทพมหานคร ของนางดาราวดี ในตำแหน่งเบาะคู่หน้าคนขับและปล่อยให้รถไหลจากเนินสูงข้างทางบนถนนมิตรภาพ ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ในจังหวะเดียวกับที่รถบรรทุก 10 ล้อวิ่งสวนทางมา และชนเข้ากลางลำอย่างจัง โดยที่สถาบันนิติเวชสรุปผลการชันสูตรศพในครั้งนั้นว่าเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการรื้อคดี พล.ต.ท.ชลอ และพวก ถูกจับกุมดำเนินคดี ศาลพิเคราะห์ประกอบคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของ พ.ต.ท.พันศักดิ์กับพวก ซัดทอดว่าได้รับคำสั่งจาก พล.ต.ท.ชลอ ให้ไปอุ้ม 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์เพื่อกดดันสามีเกี่ยวกับการติดตามเพชรซาอุฯ แต่นายสันติกลับนำเรื่องหายตัวของลูกเมียไปร้อง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทย ในขณะนั้น ทำให้ ไม่สามารถปล่อยตัว 2 แม่ลูกกลับไปได้ จึงต้องวางแผนฆ่า แล้วอำพรางคดีเป็นอุบัติเหตุ รับฟังได้ว่า พล.ต.ท.ชลอ ร่วมกับพวกกระทำความผิด จึงลงโทษประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ สถานเดียวทั้งนี้ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ เจ้าของฉายาทั้ง "มือปราบพระกาฬ" และ “สิงห์เหนือ” เกิดเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2481 ปัจจุบันอายุ 71 ปี เป็นบุตร ชายของ พ.ท.แช่ม และนางทองคำ เกิดเทศ เป็นชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จากนั้น เข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 17 ก่อนแยกเหล่าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 15 ติดยศ ร.ต.ต. ที่ สน.นางเลิ้ง จากนั้น ร.ต.ต.ชลอย้ายไปอยู่ จ.หนองคาย และพระนครศรีอยุธยา และตระเวนภูธรแทบทุกจังหวัดในภาคกลาง เช่น สระบุรี ย้ายไปลพบุรี แล้วกลับไปสระบุรี ก่อนก้าวหน้าในตำแหน่งตามลำดับสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองผู้บังคับการกองปราบปราม ผู้บังคับการตำรวจภูธร 8 พิษณุโลก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 ลำปาง ผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก่อนรับตำแหน่งผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ
นอกเหนือจากงานในหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราชแล้ว พ.ศ. 2525-2538 พล.ต.ท.ชลอยังมีส่วนในการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย โดยรับตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นเวลากว่า 13 ปี ผลงานโดดเด่น คือ มีส่วนทำให้ฟุตบอลคิงส์คัฟกระหึ่มในระดับเอเชีย ส่วนเวลาว่างมักเก็บตัวอยู่กับทีมงานในคุ้มพระลอ ซึ่งกินพื้นที่กว้างขวางใน จ.ตาก
ตลอดระยะเวลารับราชการ พล.ต.ท.ชลอมีส่วนร่วมคลี่คลายคดีสำคัญมากมาย เช่น จับคนร้ายฆ่าอดีต ส.ส.กำธร ลาชโรจน์ คดีฆ่าเสี่ยปุ้ยที่เชียงใหม่ คดีฆ่าผู้จัดการของ ทูน หิรัญทรัพย์ จับมือปืนฆ่าอดีต บก.น.ส.พ.ตะวันสยาม วันดี ทองประภา คดี เสี่ยฮวด ที่ชลบุรี ฯลฯ ก่อนได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจคลี่คลายคดี เพชรซาอุฯ จนตกเป็นผู้ต้องหาพัวพันเกี่ยวกับการตายของ 2 แม่ลูกตระกูล ศรีธนะขัณฑ์ต้องออกจากราชการเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2537 และมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินให้ประหารชีวิตในที่สุด

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ