เทคนิคการบริหารเจ้านาย(1)

ที่มา...โลกนักบริหาร โดย ณรงค์วิทย์ แสนทอง


ในชีวิตจริงของการทำงานไม่ว่าในองค์กรแบบไหน องค์กรภาครัฐ บริษัทเอกชนหรือแม้กระทั่งองค์กรการกุศล เสียงบ่นเกี่ยวกับเจ้านายมักจะอยู่ในร่องเสียงเดียวกัน (มองในแง่ลบ) เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นคล้าย ๆ กัน เช่น
  1. เผด็จการชอบสั่งงานลูกน้อง "คุณต้องทำอย่างนี้" "ห้ามทำอย่างนั้น"
  2. รับแต่ความดีและความชอบ แต่โยนความผิดให้ลูกน้อง
  3. จุกจิกเรื่องส่วนตัว สนใจในเรื่องไม่เป็นเรื่อง
  4. ชอบสั่งงานตอนใกล้เลิกงาน เป็นอาจิณ
  5. เปลี่ยนความคิดทุกวัน วันนั้นจะเอาอย่างนี้ วันนี้จะเอาอย่างนั้น
  6. เจ้าอารมณ์ หงุดหงิด โมโหง่าย เอาแต่ใจตัวเอง
  7. เจ้านายไม่เก่ง ดีแต่ประจบเจ้านาย (ของเจ้านาย)
  8. มีแต่จับผิด ไม่เคยจับถูก ไม่เคยชมลูกน้อง
  9. รักลูกน้องไม่เท่ากัน ลำเอียง อคติ เลือกที่รักมักที่ชัง
  10. เจ้านายเจ้าชู้ (สาว ๆ ที่มีเจ้านายเป็นผู้ชาย)
  11. ขี้โม้โอ้อวดว่าตัวเองเก่ง ดูถูกลูกน้อง
  12. ฯลฯ


ปัญหาของ "เจ้านาย" ส่วนใหญ่อยู่ที่ใจของลูกน้องมากกว่าเกิดจากตัวเจ้านาย ลองพิจารณาดูดี ๆ ซิครับ เพราะไม่ว่าเราจะมีเจ้านายแบบไหน เราก็ยังสามารถหาข้อไม่ดีของเจ้านายมาบ่นได้อยู่ดี

วันแรก ๆ ที่เข้าไปทำงานกับเจ้านายคนนั้นใหม่ ทุกอย่างดูเหมือนจะสดใสไปหมด แต่พอทำงานไปสักระยะหนึ่ง รู้สึกว่าความสัมพันธ์ทางใจของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้าเริ่มเปลี่ยนไป ทั้ง ๆ ที่หัวหน้ายังเป็นคนเดิม นิสัยเดิม เพราะใจเราเปลี่ยนไปต่างหาก

เรามักจะหาข้อผิดพลาดมาดิสเครดิตทางใจของเจ้านาย เหมือนการแข่งกีฬาที่มีระบบการให้คะแนนแบบเต็มไว้ก่อน แล้วเมื่อทำผิดค่อยนำมาหักที่ละจุด ๆ เช่น ยิมนาสติก ก่อนเล่นทุกคนมีคะแนนเต็มสิบ ถ้าพลาดตรงไหนก็จะถูกหักคะแนนในจุดนั้น (เหมือนรายการทำผิดอย่าเผลอ อะไรทำนองนั้น) สุดท้ายแล้วคนที่เก่งที่สุด คือ คนที่ได้คะแนนเสมอตัว (ได้คะแนนเท่ากับคะแนนเต็มที่ให้ไว้) ไม่เหมือนกีฬาบางประเภท เช่น ฟุตบอลมีการนับแต้มที่ทำได้และบวกขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

แน่นอนว่า ถ้าเราให้คะแนนเจ้านายแบบยิมนาสติก ดีที่สุด คือเขาจะได้คะแนนในใจเราเพียงแค่เสมอตัว ไม่รักและไม่เกลียด แต่ถ้าเราให้คะแนนเจ้านายแบบฟุตบอล ทำดีเมื่อไหร่ ใส่คะแนนบวก ถูกใจเมื่อไหร่ก็ใส่คะแนนบวก ถ้าคิดอย่างนี้เจ้านายทุกคนก็มีโอกาสมีกำไรบ้าง ไม่ใช่มีทางเลือกเพียง "เจ๊า" กับ "เจ๊ง" ในสายตาของลูกน้อง

ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงปัญหาเจ้านายไม่ได้ เราก็มีทางเลือกและทางออกเพียงไม่กี่ทางคือ

ทะเลาะกับเจ้านาย...
ทะเลาะกับเจ้านายทีไร ลูกน้องเสียเปรียบวันยังค่ำ เพราะโอกาสที่เจ้านายจะถูกย้ายไปหน่วยงานอื่นนั้นยากกว่าลูกน้องจะถูกย้ายเพราะตำแหน่งเจ้านาย (หัวหน้า) มีน้อยกว่าตำแหน่งลูกน้อง โอกาสที่ลูกน้องจะไปชี้แจงให้ผู้บริหารระดับสูงรับทราบ ก็น้อยกว่าเจ้านายเพราะผู้บริหาร (ซึ่งทุกคนก็มีตำแหน่งเป็นเจ้านายอีกตำแหน่งหนึ่ง) มักจะมองว่าลูกน้องคนไหนทะเลาะกับเจ้านาย แสดงว่าหัวแข็ง ปกครองยาก ดูแล้วโอกาสรอด ยากมากครับ

เซย์กู๊ดบายไปหาเจ้านายใหม่.....
นี่ก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่หลาย ๆ คนชอบใช้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องทนอยู่กับเจ้านายมีปัญหา หนีปัญหาดีกว่า คนที่คิดแบบนี้ ผมรับรองได้เลยว่าชีวิตนี้เขาจะเปลี่ยนงานเป็นอาชีพ เพราะไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็จะมีปัญหากับหัวหน้าอยู่ดี หัวหน้าคนนี้อาจจะมีปัญหาอย่างหนึ่ง หัวหน้าอีกคนก็จะมีปํญหาอีกอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถหาเจ้านายในฝันได้หรอกครับ

ทนอยู่จนกว่าใครคนใจคนหนึ่งจะจากไป.....
บางคนใช้วิธี "ใครเหนียวกว่ากัน" คนประเภทนี้ไม่หนีและไม่สู้ซึ่งหน้า เจ้านายจะให้ทำอะไรก็ไม่ขัด แต่ก็ทำแบบขอไปที ไม่ให้มีความผิดจนเจ้านายไล่ออกได้ หรือไม่ทำเสียจนดูเหมือนเอาใจเจ้านาย กลุ่มนี้จะยึดคติที่ว่า จะอยู่ไปจนกว่าจะมีทางไปที่ดีหรือไม่ก็เจ้านายจำใจต้องจากไปเอง

เปลี่ยนใหม่หันมาเอาใจนายดีกว่า.....
บางคนมีเหตุผลส่วนตัวที่จะต้องอยู่กับองค์กร ไม่สามารถเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่นได้ เช่น สามีหรือภรรยาอยู่ที่นี่ บริษัทนี้อยู่ใกล้บ้าน ที่นี่มีสวัสดิการดี อายุมากแล้ว ออกไปอยู่ที่อื่นคงจะยาก ในเมื่อเสียเปรียบหัวหน้าทุกประตู อย่างนี้ก็แปรพักรต์ไปอยู่ฝั่งเจ้านายดีกว่า ไม่ต้องสนใจว่าเราจะชอบเจ้านายหรือไม่ แต่ขอให้เป้าหมายหลักของเราอยู่ก็พอแล้ว ยอมให้คนอื่นว่า "ชเลียร์" ก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงก็ยังมีงานทำ มีเงินเดือนใช้

บริหารเจ้านายซะ.....
มีไม่กี่คนที่คิดถึงวิธีนี้ เพราะส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาเจ้านายด้วยอารมณ์มากกว่าการใช้สติ ลูกน้องมักจะมองเจ้านายไปในแง่ลบมากกว่าแง่บวก การบริหารเจ้านายเป็นทางเลือกและทางออกที่ลูกน้องยุคใหม่ควรนำไปใช้ เพราะนอกจากจะอยู่ร่วมกันกับเจ้านายได้อย่างสบายแล้ว ยังสามารถพัฒนาทักษะในการบริหารจัดการคน (ที่สูงกว่า) ได้เป็นอย่างดี


บทความจาก ... จีโอซิกแซกดอทคอม