ขะลำ หรือ คะลำ คืออะไร?

ขะลำ,คะลำ หรือ กะลำ บางท่านเชื่อว่ามาจากรากศัพท์ของคำว่า กรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำ อันเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของคนอีสานในอดีต เนื่องจากคะลำเป็นข้อห้ามในการกระทำแสดงออกต่างๆ หรือสิ่งต้องห้าม ต้องเว้น ห้ามประพฤติปฏิบัติ ไม่สมควรที่จะกระทำ ทั้งกาย วาจาและใจ หากละเลย หรือล่วงละเมิดจะเป็นอัปมงคล เป็นบาปกรรม ผิดฮีตผิดคอง นำความเสื่อมเสีย และอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลที่ฝ่าฝืนรวมทั้งมีผลต่อสังคมที่อยู่ด้วย
ดังนั้นคะลำจึงเป็นดังมาตรการหรือข้อห้ามในการควบคุมความประพฤติของคนในสังคมและเป็นกฏเกณฑ์ในการจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย ทั้งนี้อาจจะใกล้เคียงกับ 'ขึด' ของทางภาคเหนือ หรือข้อห้ามต่างๆที่มีในภาคกลางและภาคใต้ รวมทั้ง Taboo ในภาษาชาวเมลานีเชีย โดยได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาและหลายคนที่รับปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งลางครั้งหลายข้อกะลำไม่มีเหตุผลอธิบายรายละเอียดว่าเหตุใดจึงต้องคะลำ เห็นว่าเคยถูกสั่งสอนปฏิบัติสืบต่อกันมาจึงได้ปฏิบัติสืบต่อกันไป ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าคะลำหลายข้อได้บอกถึงผลข้างเคียงหรือผลจากการฝ่าฝืนไว้อย่างน่ากลัว น่า "เข็ดขวง" ซึ่งผู้ล่วงละเมิดจะได้รับ ดังนั้นข้อคะลำหลายข้อจึงมีลักษณะอย่างฟันธงว่า "เพราะว่าคะลำจึงห้ามประพฤติ !"
ด้วยเหตุนี้คะลำซึ่งได้กลายเป็นเหตุผลของการห้ามคะลำไปในตัว มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองโดยปริยาย แต่ครั้นพอเวลาล่วงเลยผ่านบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไป คะลำหลายข้อได้ถูกละเลย ละทิ้งและไม่ได้รับความสนใจที่จะประพฤติ ปฏิบัติดังที่เคยเป็นมา ทั้งที่หากพิจารณาถึงข้อคะลำโดยรวมทั้งหมดจะเห็นภาพชีวิตของคนที่ปรากฏในข้อคะลำทั้งหลายที่บัญญัติ ทั้งนี้การที่บัญญัติข้อคะลำออกมานั้น จำเป็นต้องได้รับประสบการณ์ก่อนจึงจะสามารถเข้าใจถึงผลที่จะเกิดจากการฝ่าฝืนข้อคะลำ
เช่นนั้นคะลำจึงเป็นผลผลิตหนึ่งที่เกิดจากการกระทำที่เคยประสบมาในอดีต ภายใต้เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมและเวลาในขณะนั้น เพื่อกำหนดข้อประพฤติ ปฏิบัติของคนในสังคม หลายข้อแฝงด้วยปรัชญาของชีวิตและภูมิปัญญาที่คนอีสานในอดีตได้คิดค้นเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมและแบบแผนปฏิบัติเฉพาะบุคคลเพื่อความดี ความงามตามมาตรฐานสังคมและสวัสดิภาพของชีวิต โดยได้ถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆทั้งมุขปาฐะ ซึ่งเป็นคำสอน ข้อห้ามโดยตรงในชีวิตประจำวัน และผ่านงานวรรณกรรมต่างๆ เช่น ผญา กลอนลำ วรรณคดี นิทานต่างๆ เป็นต้น

ประเภทของคะลำ

ทั้งนี้หากจะแบ่งประเภทของข้อคะลำแล้ว สามารถแบ่งออกกว้างๆตามสิ่งที่ได้ไปเกี่ยวข้อง หรือปฏิสัมพันธ์ได้ 3 ลักษณะคือ
1. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับบุคคล
2. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับสถานที่
3. ข้อขะลำที่สัมพันธ์กับเวลา
ซึ่งการแบ่งลักษณะดังกล่าวนั้นไม่ได้แยกออกจากกันเป็นอิสรภาพหากแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน ในลักษณะองค์รวมความรู้ของค่านิยม บรรทัดฐาน อุดมการณ์ อันจะครอบคลุมไปทั้งหมดของวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การเกิด การอยู่ การกิน การนอน การเจ็บป่วย การแต่งงาน การตาย เป็นต้น ซึ่งจะจัดพฤติกรรมความสัมพันธ์ของผู้คนในระดับต่างๆ เพื่อผลที่น่าปรารถนาทั้งต่อระดับบุคคลและสังคม

1. ข้อคะลำที่สัมพันธ์กับบุคคล
ข้อคะลำในหมวดนี้หากจะแบ่งย่อยออกไปเพื่อระบุให้ชัดเจนแล้ว อาจจะสามารถแยกออกไปได้ในส่วนของระดับหรือประเภทของบุคคลต่างๆในสังคม เช่น

1.1 สตรีมีครรถ์
ข้อคะลำที่สตรีมีครรถ์ไม่ควรประพฤติปฏิบัติในระหว่างช่วงดังกล่าวนั้น มีมากมายทั้งนี้เพื่อต้องการให้ทั้งแม่และเด็กสามารถที่จะประสบกับสวัสดิภาพของชีวิตให้มากที่สุด ซึ่งในจำนวนข้อขะลำทั้งหมดนั้นส่วนใหญ่มักจะเน้นหนักไปทางด้านอาหารการกิน(ของแสลง) แบบแผนที่ผู้เป็นว่าที่คุณแม่ควรนำมาประพฤติ ซึ่งห่างละเลยแล้วต้อง คะลำ ถือว่าไม่ดี ไม่งามไม่เหมาะสม หนักเข้าจะเป็นบาปกรรม เสื่อมเสียและอาจถึงแก่ชีวิต เป็นต้น ซึ่งหลายข้อคะลำบางข้อหากมองด้วยความรู้มาตรฐานโดยเฉพาะหลักสุขลักษณะตามหลักโภชนาการแม่และเด็กแล้วดูจะเป็นการขัดกันอยู่หลายข้อ แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพแวดล้อมและเวลาในช่วงเวลานั้นของสังคมอีสาน ด้วยเงื่อนไข ขีดจำกัดทั้งแพทย์ วิทยาการรักษาแล้ว ความจำเป็นในสวัสดิภาพของชีวิตและเผ่าพันธุ์จึงจำเป็นต้องบัญญัติข้อคะลำตามที่บรรพบุรุษแนะนำไว้ จากประสบการณ์ที่เคยประสบอย่างเคร่งครัด เนื่องจากความเคารพนับถือแก่บุคคลที่กำเนิดเกิดก่อนผู้เฒ่าผู้แก่ในสังคมดั้งเดิม ซึ่งข้อคะลำที่นำมาเป็นตัวอย่างประกอบในการพิจารณามีดังนี้

ข้อคะลำในการปฏิบัติ เช่น

- ห้ามอาบน้ำเวลากลางคืน เพราะน้ำคาวปลาจะมาก
(ภูมิปัญญาแฝง : เพราะอาจจะหกล้มได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กได้ เนื่องจากในอดีตต้องใช้ไต้ หรือกะบองในการให้แสงสว่างซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ)
- ห้ามข้ามเชือกที่กำลังล่ามวัวควาย ลูกออกมาจะเป็นคนตะกละตะกลาม
(ภูมิปัญญาแฝง : เพราะอาจจะสะดุดเชือกหกล้มได้ หากวัวควายลุกเดินหรือวิ่งชน)
- ห้ามนั่งขวางประตูบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก
(ภูมิปัญญาแฝง : กีดขวางทางเข้าออกของผู้สัญจรไปมา)
- ห้ามนั่งขวางบันไดบ้าน จะทำให้คลอดลูกยาก
(ภูมิปัญญาแฝง : กีดขวางทางเข้าออกของผู้สัญจรไปมา)
- คะลำเย็บที่นอน จะทำให้คลอดลูกยาก
- (ภูมิปัญญาแฝง อาจจะเป็นเหน็บเนื่องจากนั่งนอนหรือเพ็งมากเกินไป)
- คะลำไปงานศพ เดี๋ยวผีคนตายจะมาเกิดด้วย
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม่ต้องการให้แม่เด็กต้องพบเจอภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ได้)
- คะลำไปเบิ่งคนคลอดลูก เดี๋ยวเด็กในท้องจะชักชวนกันไปในทางไม่ดี
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม่ต้องการให้แม่เด็กต้องพบเจอภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ได้)
- คะลำปิดหน้าต่างประตู (ไม่บอกเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : ต้องการให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก)
- คะลำตอกตะปู (ไม่บอกเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกระเทือนต่อลูกในท้อง และรบกวนคนอื่น)
- ห้ามตำหนิผู้อื่น ลูกออกมาจะบ่ดีเป็นเหมือนที่ตำหนิ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลทางด้านอารมณ์และจิตใจ)
- ห้ามทำท่าทางเลียนแบบคนพิกลพิการไม่สมประกอบ ลูกออกจะเหมือนอย่างที่ทำ
(ภูมิปัญญาแฝง : ไม่เหมาะสม ไม่ดีไม่งาม แสดงถึงความไม่มีมารยาท)
- คะลำนั่งยองๆ (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
- คะลำนั่งชันเข่า (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
- คะลำนั่งคุกเข่า (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนถึงลูกในท้องได้)
- คะลำพลิกด้านใบตอง (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำเผาหอย เผาปู (ไม่ทราบเหตุผล)
- ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้า
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้มได้รับอันตรายได้)
- คะลำขึ้นที่สูง (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาได้รับอันตรายได้)
- คะลำนั่งบนที่สูง (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะตกลงมาได้รับอันตรายได้)
- คะลำนั่งลงแรงๆ (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์ได้)
- คะลำนอนหงาย นอนคว่ำ (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์ได้ หรือหากนอนหงายอาจล่อแหลมที่จะเกิดอุบติเหตุ เช่น สิ่งของหล่นใส่ คนเดินไปมาหกล้มใส่เป็นต้น)
- ห้ามอาบน้ำร้อน (ไม่ทราบเหตุผล)
- ห้ามอาบน้ำสกปรก
- ห้ามเอาครกกับสากแช่อยู่ด้วยกัน จะทำให้คลอดลูกลำบาก
- (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาทที่งดงามแก่ผู้ที่จะเป็นแม่)
- ห้ามชะโงกดูน้ำในบ่อ (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะวิงเวียนและตกลงไปได้)
- ห้ามเดินข้ามขัว(สะพาน) (ไม่ทราบเหตุผล)
(ภูมิปัญญาแฝง : ในอดีตสะพานทั่วไปจะมีลักษณะเป็นท่อนไม้ขนาดเล็กพอที่คนเดียวจะเดินข้ามได้ ดังนั้นอาจจะเป็นอันตรายได้)
เป็นต้น

ข้อคะลำเรื่องอาหาร เช่น

- คะลำกินกล้วยแฝด จะได้ลูกแฝด
- คะลำกินเนื้อควายเผือก (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินอาหารที่ติดอยู่กับไม้ย่าง
(ภูมิปัญญาแฝง : ดูแล้วไม่งาม ไม่เหมาะสม)
- คะลำกินผักข่า (ผักชะอม) (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินปลาเพี้ย (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินปลาชะโด (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินไข่ (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินเผือกมัน (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินเห็ด (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินอาหารรสจัด
- คะลำกินเนื้อเต่าเพ็ก (เต่าตัวเล็ก) (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินเนื้อตะพาบน้ำ (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินแมลง แตน ต่อ (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินปลาร้า (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินของดองมึนเมา
- คะลำกินเนื้อกระต่าย (ไม่ทราบเหตุผล)
- คะลำกินข้าวจี่
- คะลำกินเมล็ดมะขามคั่ว
- คะลำกินอาหารที่มีไขมัน
เป็นต้น

1.2 สตรีแม่ลูกอ่อน
แม่ลูกอ่อนหรือผู้หญิงที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ ยังอยู่ในภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตของผู้เป็นแม่และทารกที่เพิ่งคลอดได้ ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงยังมีข้อประพฤติ ปฏิบัติหรือข้อห้ามข้อคะลำที่ผู้เป็นแม่ลูกอ่อนต้องคะลำอยู่หลายอย่าง

ข้อคะลำในการปฏิบัติ เช่น

- ห้ามเดินไปไหนไกลๆ คะลำ
- ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้าๆ
(ภูมิปัญญาแฝง : หากประสบอุบัติเหตุอาจจะเป็นอันตราย เช่น ตกเลือด หรือกระทบกระเทือนบาดแผลที่ยังไม่หายสนิท)
- ห้ามนั่งยองๆ หรือนั่งพับเพียบ
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเป็นอันตรายหรือพระทบกระเทือนต่อบาดแผลได้)
- ห้ามไกลเปล อู่ที่ว่างของเด็กทารก จะทำให้ผีมาเอาเด็กไป
- (ภูมิปัญญาแฝง : ผู้เชื่อโชคลางเห็นว่าเป็นลางไม่ดี เท่ากับแช่งให้เด็กตาย)
- ห้ามให้ใครข้ามเปล อู่เด็กทารก จะทำให้เด็กร้องไห้งอแง ไม่ยอมหลับนอน
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะหกล้มหรือมีสิ่งของหล่นใส่เด็กเป็นอันตรายได้)
- ห้ามกล่อมลูกเวลากลางคืน
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะก่อความรำคาญ รบกวนผู้คนที่ยังหลับนอนอยู่)
- ห้ามหลับนอนกับสามี
- ห้ามนอนใกล้กับสามี
- ห้ามนอนหัวสูง (ไม่ทราบเหตุผล)
- ห้ามนอนหงาย
- ห้ามนอนนอกมุ้ง
- ห้ามนอนกลางวัน
- ขณะอยู่ไฟ (อยู่กรรม) ห้ามออกห่างหม้อไฟเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
- ห้ามทำงานบ้าน (คะลำเวียก)
(ภูมิปัญญาแฝง : ยังไม่แข็งแรง อาจกระทบกระเทือนต่อสุขภาพและบาดแผลได้)
- ห้ามนำเด็กทารกออกจากชายคาบ้าน คะลำ
(ภูมิปัญญาแฝง : เด็กยังไม่แข็งแรง กะโหลกศรีษะยังไม่หุ้มดี อาจจะไม่สบายได้ง่าย)
- ห้ามเอารกเด็กไปฝัง เพราะจะทำให้เด็กปัญญาทึบ
(ภูมิปัญญาแฝง : เกรงว่าหากฝังไม่มิดชิด สัตว์ป่าหรือสุนัข สัตว์เลี้ยงอาจมาคุ้ยเขี่ยได้)
- ให้ซักผ้าอ้อมก่อนเพล(ประมาณเที่ยง) และให้ถือขมิ้นและมีดน้อยๆไปด้วย มิเช่นนั้นจะทำให้ผีร้ายตามมาเอาตัวเด็กไปได้
(ภูมิปัญญาแฝง : หากมัวชักช้าโอ้เอ้อาจจะทำให้เสียการงานอย่างอื่นไปด้วย บังคับทางอ้อม)
เป็นต้น

ข้อคะลำเรื่องอาหาร ทั้งนี้เชื่อว่าหากรับประทานเข้าไปแล้วจะก่ออันตรายต่อแม่ลูกอ่อน เป็นของแสลง ผิดสำแดง ซึ่งหากพิจารณาตามหลักโภชนาการแล้ว เข้าใจว่าสิ่งของที่คะลำนั้นยากต่อการย่อยเผาผลาญ และอาจมีผลต่อร่างกายที่ยังอ่อนแอของแม่และอาจมีผลต่อลูกได้ ตัวอย่างคะลำ เช่น

- ห้ามกินเนื้อควายเผือก
- ห้ามกินไข่มดแดง
- ห้ามกินของหมักดอง
- ห้ามกินผักชะอม
- ห้ามกินฟัก
- ห้ามกินดอกขี้เหล็ก
- ห้ามกินใบสะระแหน่
- ห้ามกินกล้วยหอม
- ห้ามกินข้าวก่ำ (ข้าวเหนียวดำ)
- ห้ามกินเนื้อหมู
- ห้ามกินเนื้อกระต่าย
- ห้ามกินเป็ดเทศ
- ห้ามกินห่าน
- ห้ามกินแมงดานา
- ห้ามกินปลาร้า
- ห้ามกินปลาชะโด
- ห้ามกินปลาอีจน
- ห้ามกินปลาสลิด
- ห้ามกินเห็ดขาว เห็ดกะด้าง
- ห้ามกินตะพาบน้ำ
- ห้ามกินหน่อไม้
- ห้ามกินปลาหมึก
- ห้ามกินมะละกอสีม่วง
- ห้ามกินน้ำเย็น
- ห้ามกินไก่งวง
- ห้ามกินใบโหระพา
- ห้ามกินสะเดา
- ห้ามกินปลาเพลี้ย
- ห้ามกินปลานกเขา
- ห้ามกินปลาอีวน
- ห้ามกินเต่าเพ็ก
เป็นต้น

1.3 คนเจ็บป่วย
ข้อคะลำสำหรับคนเจ็บป่วยนั้น โดยภาพรวมเป็นข้อที่ห้ามปฏิบัติของผู้ป่วยในแต่ละ
โรค ซึ่งจะบอกกล่าวโดยรวมทั่วไปว่าสิ่งใดควรเว้นควรไม่กระทำ หลีกเลี่ยงแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้ขอให้พิจารณาภายใต้เงื่อนไขของสังคมอีสานในอดีตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ต้องช่วยเหลือดูแลตัวเอง ทั้งนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ สาธารณสุขที่ยังไม่สามารถย่างกรายเข้ามาในสังคมดังกล่าว และได้สืบทอดปฏิบัติสืบต่อกันมานับหลายร้อยปีจากการสังเกต ลองถูกลองผิด สั่งสมเป็นข้อคะลำที่ควรระลึกไว้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างมาดังนี้
- ห้ามกินหมากไม้ทุกชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง มะม่วง ทุเรียน ลำไย อ้อย มะละกอ สับปะรด
- ห้ามกินถั่วฝักยาว
- ห้ามกินของรสเปรี้ยว
- ห้ามกินข้าวต้มห่อ
- คนเป็นวัณโรคห้ามกินของหมักดอง เช่น ปลาส้ม สัมวัว หน่อไม้ดอง
- คนเป็นไออย่ากินหมากเขือ กุ้ง ปลาซิว ส้มตำ มะเกลือ อาหารรสจัด หัวกลอย หัวมัน เพราะมันจะทำให้คันคอ ไอไม่หยุด
- คนถูกหมาว้อ(หมาบ้า)กัด บ่ให้กินลาบเทา(สาหร่ายชนิดหนึ่ง) มันจะเป็นบ้าคือเก่า
- บ่ให้ผู้หญิงเป็นระดูเก็บผักอีเลิศ ผักสะระแหน่ ผักมันจะตายหมด
- คนป่วยนอนบนฟูก จะทำให้หายป่วยช้า
- คนเป็นฝีหนอง เป็นหิด กลากเกลื้อน ห้ามกินไก่และของหมักดอง
- คนเป็นคางทูม ห้ามกินไข่
- คนเป็นโรคประสาทห้ามกินน้ำมันหมู
เป็นต้น

1.4 เด็กเล็ก
เด็กถือว่าเป็นวัยที่จะต้องเติบใหญ่ เป็นผู้สืบทอดความรู้ รักษาระเบียบแบบแผนของสังคมในอนาคตต่อไป จึงเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องมีการปลูกฝังแบบแผนความประพฤติในสังคมอีสานโดยผ่านคะลำ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ และควบคุมพฤติกรรมของเด็กให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่พึ่งปรารถนาของสังคม และเป็นการเพาะกล้าของความคิด ความรู้ ค่านิยม อุดมการณ์ บรรทัดฐานบางอย่างให้แก่คนจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งด้วย ซึ่งข้อคะลำที่ผู้ใหญ่นำมาใช้กับเด็กรุ่นหลังมักจะเป็นลักษณะการปราบและปรามพฤติกรรมที่ไม่พึ่งปรารถนา และแสดงถึงผลที่ฝ่าฝืนข้อห้ามข้อคะลำดังกล่าวให้น่ากลัว หรือบางครั้งจะไม่แสดงเหตุผลแต่จะบอกว่าคะลำ ซึ่งนั้นมักจะทำให้เด็ก(ส่วนใหญ่)สยบยอมต่อข้อคะลำเหล่านั้น พร้อมกันนั้นยังเป็นการควบคุมหรือบอกข้อควรปฏิบัติระหว่างผู้ใหญ่ต่อเด็ก และบางข้อยังสามารถใช้กับบุคคลทั่วไปได้ด้วย, ทั้งนี้ภายใต้บริบทแวดล้อมในขณะนั้นที่เป็นตัวหล่อหลอมความคิด การรับฟัง เชื่อถือผู้ใหญ่ที่เกิดมาก่อนด้วย ซึ่งตัวอย่างข้อคะลำที่ยกมามีดังนี้

- ห้ามทักว่าเด็กที่เกิดใหม่ว่าน่ารัก เพราะถ้าผีรู้จะตามมาเอาตัวเด็ก หรืออายุเด็กจะสั้น
(ภูมิปัญญาแฝง : เป็นการปรามทั้งตัวแม่เด็กและตัวเด็กที่เกิดขึ้นมาไม่ให้หลงระเริงต่อคำชมยกย้อป้อปั้น สร้างนิสัยไม่พึ่งปรารถนาตามมา)
- อย่าป่อน(หย่อน)เด็กเล็กลงเรือน เป็นเชิงหยอกล้อ เพราะจะทำให้เด็กอายุสั้น
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะเกิดอุบัติเหตุเด็กพลัดตกลงไป และอาจจะอายุสั้นจริงๆได้)
- ห้ามเอาจิ้งหรีดมากัดกันเล่น ฟ้าจะผ่าเอาได้
(ภูมิปัญญาแฝง : ควบคุมพฤติกรรมที่ควรประพฤติ ให้มีจิตใจเมตตา)
- อย่าให้เด็กนั่งบนหลังสุนัข จะทำให้เด็กนิสัยเหมือนสุนัข
(ภูมิปัญญาแฝง : สุนัขอาจแว้งมากัดเป็นอันตรายได้ และไม่ให้รังแกสัตว์)
- อย่านั่งหันหลังขณะที่นั่งบนหลังวัว ควาย จะเป็นอัปมงคล
(ภูมิปัญญาแฝง : มองไม่เห็นทาง ควบคุมสัตว์ไม่ได้ อาจตกลงมาเป็นอันตรายได้)
- อย่าเคาะหรือตีหัวเด็ก จะทำให้เด็กปัสสาวะรดที่นอน
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะกระทบกระเทือน เป็นอันตรายต่อสมองของเด็กได้)
- อย่าตีหัวแมว เพราะเมื่ออายุมากจะทำให้ศรีษะสั่น
(ภูมิปัญญาแฝง : ห้ามรังแกสัตว์ให้มีเมตตา)
- ห้ามนอนกินอาหาร จะเป็นงู
(ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีผลต่อระบบย่อยอาหาร และฝึกมารยาทที่เหมาะสม)
- ห้ามเล่นข้าวสาร จะทำให้มือด่าง
(ภูมิปัญญาแฝง : ข้าวเป็นอาหารไม่ควรนำมาเล่น และเป็นการสอนให้รู้สำนึกในคุณข้าวด้วย)
- เด็กขณะพูดกับผู้ใหญ่อย่าอมนิ้ว
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยาท และบุคลิกภาพ)
- ห้ามจับหางสุนัข จะทำให้สุนัขกินลูกไก่
(ภูมิปัญญาแฝง : สุนัขอาจจะรำคาญและแว้งกัดทำอันตรายได้)
- ด่าพ่อแม่บุพการีผู้มีพระคุณ ตายไปจะเป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม และมารยาท ค่านิยมและควบคุมพฤติกรรมของเด็กและบุคคลทั่วไป)
- อย่าเดินใกล้ผู้ใหญ่
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังมารยามสังคม พฤติกรรมที่เหมาะสม)
- อย่าลักขโมยของพ่อแม่ จะทำใหตีนบาทสั้นมือฮี
- (ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรม)
- ห้ามโกหกหลอกลวง
- อย่าเดินข้ามขาผู้ใหญ่ ขาจะด้วน
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม มารยาทสังคม)
- ห้ามเด็กกินไข่ร้างรัง
- ห้ามเด็กทารกที่ฟันยังไม่ขึ้นส่องกระจก
(ภูมิปัญญาแฝง : ปลูกฝังจริยธรรม พฤติกรรมให้เหมาะสมกับวัย)
- ห้ามเด็กกินไส้และพุงปลาช่อน
- ห้ามตีก้นเด็ก จะทำให้เด็กเป็นซางตานขโมย
- เวลาอุ้มเด็กทารกห้ามพูดหนักหรือเบาเกินไป
- ห้ามเป่าลมปากใส่หน้าเด็ก
- (ภูมิปัญญาแฝง : อาจจะมีเชื้อโรคติดต่อไปยังเด็กได้)
- เวลาอุ้มเด็กห้ามโยนเด็ก
- (ภูมิปัญญาแฝง : เด็กอาจจะหลุดมือ เป็นอันตรายได้)
- ห้ามเด็กกินจาวมะพร้าว
- ห้ามเด็กกินเครื่องในไก่ จะทำให้เป็นดื้อด้าน ดื้อรั้น
- (ภูมิปัญญาแฝง : ตามหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันอวัยวะดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นพิษเจือปนอยู่)
เป็นต้น

1.5 ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาความรู้ เช่น ผู้เรียนไสยศาสตร์ หมอยา (หมอยาสมุนไพร หมอยากระดูก หมอยาเป่า) หมอธรรม

ถือว่าเป็นปูชนียบุคคลสำคัญในสังคมอีสานเมื่อครั้งอดีต เนื่องจากเป็นทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นต่อวิถีชีวิต ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อคนอีสานทุกเพศทุกวัย เนื่องจากในช่วงเวลาวิกฤติของชีวิต เช่น การเกิด การเจ็บป่วย การตาย และงานพิธีกรรมต่างๆ บุคคลดังกล่าวต้องได้รับเชิญมาประกอบพิธีกรรม หรือไม่มักจะเป็นข้อขะลำส่วนตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณวิชาที่ตนเรียนมา ดังนั้นในส่วนของฮีตปฏิบัติของบุคคลดังกล่าวจึงต้องเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณความดีความสามารถของตนเองและสร้างความนาเชื่อถือศรัทธาแก่ผู้พบเห็น ซึ่งข้อคะลำบางกล่าวอาจจะหาเหตุผลมาชี้แจงได้ชัดเจน ทั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรมหรือจรรยาบรรณที่ผู้ร่ำเรียนทางด้านนี้ต้องมี เชื่อกันว่าสำหรับผู้ที่เรียนคาถาอาคมหากฝ่าฝืนจะมีอาการผิดครู อาจจะเกิดสิ่งไม่ดีต่อตนเอง เช่น คาถาอาคมเสื่อม เป็นบ้า เป็นผีปอบ เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างของข้อคะลำมีดังนี้ เช่น
- ห้ามลอดใต้ราวตากผ้า จะทำให้วิชาคุณไสยจะเสื่อม
- ห้ามลอดใต้ถุนบ้าน
- ห้ามลอดเครือกล้วยที่ใช้ไม้ค้ำไว้
- ห้ามลอดกี่ทอผ้า
- ห้ามลอดจ่อ (เครื่องมือเลี้ยงตัวไหม)
- ห้ามลอดใต้บันได
- ห้ามกินฟักทอง
- ห้ามกินแตง
- ห้ามกินฟัก แฟง
- ห้ามกินมะเฟือง
- ห้ามกินผักกระถิน (ภาษาอีสานเรียกผักกะเสด) นอกจากว่าเวลาที่กินนั้นไม่มีใครเรียกว่าผักกะเสด จึงจะสามารถกินได้ เนื่องจากถือว่าเป็นของเศษเหลือเดน
- ห้ามกินอึ่งอ่าง
- ห้ามกินปลาไหล
- ห้ามกินน้ำเต้า
- ห้ามกินเนื้อควาย
- ห้ามเล่นชู้
- ห้ามกินอาหารใดในงานศพ จะทำให้คาถาอาคมที่เรียนมาเสื่อม
- เวลากินข้าว ห้ามไม่ให้เอามือไปชนกับมือคนอื่นที่ร่วมสำรับ มันคะลำ
- ห้ามดื่มสุราที่เหลือจากคนอื่นดื่มไปแล้ว
- ห้ามกินเนื้องู เนื้อสุนัข เนื้อแมว เนื้อม้า และเนื้อเต่า มันคะลำ

นอกจากนี้ยังมีข้อคะลำข้อห้ามปฏิบัติของผู้ที่มีวิชาอาคมที่สอดคล้องกับอาชีพหลักของครอบครัว ซึ่งจะจำเพาะเจาะจงว่าเป็นคะลำอย่างยิ่ง เช่น ผู้มีอาชีพคล้องช้าง, ทั้งนี้ข้อคะลำดังกล่าวยังได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆข้างเคียงด้วย เช่น ภรรยาคู่ชีวิต อีกนัยหนึ่งอาจจะสอดคล้องกับข้อที่ควรปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้อง อาจจะเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ไปคล้องช้าง และเป็นอุบายตักเตือนห้ามปรามผู้ที่อยู่บ้านปฏิบัติตนให้เหมาะสมทั้งกาย วาจา และใจเพื่อรอคอยผู้ชายที่ออกไปคล้อง และข้อเตือนใจเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่อยู่บ้าน เป็นการป้องกันสวัสดิภาพไปด้วย ซึ่งข้อคะลำของภรรยาหรือฝ่ายหญิงที่อยู่เรือน นับตั้งแต่ฝ่ายสามี ฝ่ายชายออกเดินทางออกไปทำกิจดังกล่าว คือ
- ห้ามตัดผม
- ห้ามหวีผม
- ห้ามแต่งหน้า
- ห้ามพูดคุยกับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะผู้ชาย
- ห้ามรับญาติมาพักอาศัยอยู่ภายในบ้าน
- ห้ามกวาดบ้านไปทางด้านทิศเหนือ
- ห้ามไปไกลจากบ้านของตน
- ห้ามกล่าวคำหยาบโลน
- ห้ามแสดงอาการโกรธขึ้ง
- ห้ามนั่งบนบันได
- ห้ามปีนต้นหม่อน
- ห้ามทิ้งของลงจากเรือน เว้นแต่ว่ามีคนรอรับอยู่ข้างล่าง
- ห้ามถอนฟืนออกจากเตาขณะที่กำลังหุงต้ม
- ต้องกราบไหว้เทวดา ผีรักษาทุกคืนก่อนนอน
เป็นต้น

มีต่อ ข้างล่าง