
กระทู้ต้นฉบับโดยคุณ
ญา ทิวาราช
หลงอาการของขันธ์ ๕ จึงหลงคิด เมื่อหลงคิดจึงเกิดเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นมา
อาการของขันธ์ ๕ คืออะไร
อาการที่สติของเราไปรับรู้ได้ในแวบแรกที่ตาเห็นรูป แวบแรกที่หูได้ยินเสียง แวบแรกที่จมูกได้กลิ่น แวบแรกที่ลิ้นรับรส แวบแรกที่มือ เท้า หรือส่วนต่างๆ ของร่างกายไปสัมผัส หรือถูกต้องกระทบ หรือการเกิดปฎิกิริยาทางกายต่างๆ เช่น เริ่มรู้สึกหิว เริ่มรู้สึกปวดท้อง เริ่มรู้สึกหัวใจเต้นแรง และแวบแรกที่รับรู้ได้ถึงพลังงานที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกที่มากระทบจิตของเรา
ทำไมต้องมีขันธ์ ๕ ไม่มีไม่ได้หรือ เป็นอาการอย่างอื่นได้มั้ยนอกจากอาการขันธ์ ๕
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า อาการของขันธ์ ๕ ก็ได้ เพราะเป็นแค่สมมุติบัญญัติเรียกเพื่อให้สามารถสื่อและเข้าใจกันได้ เหมือนอย่างภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ก็สื่อกันได้ในกลุ่มคนที่เข้าใจในชาติในภาษานั้น ผมใช้คำว่า “ขันธ์ ๕” เพราะผมได้อ่านได้เรียนและซึมซับกับคำๆ นี้มานานแล้ว พอพูดถึงคำว่าขันธ์ ๕ ผมก็เข้าใจได้ในทันที เหมือนคำว่า จิต ฝรั่งมังค่า อาจจะเรียกอีกแบบตามภาษาของเขา หรือเรียกทับศัพท์เลยก็ไม่แปลก แต่เราก็ต้องเคารพในภาษาต้นแบบนั้นด้วย แต่ถ้าไม่เข้าใจหรืองง ก็เรียกว่าเป็นอาการที่รับรู้ได้เมื่อระบบประสาทสัมผัสทำงานก็ได้
ช่องทางที่จะรับรู้เกิดเป็นอาการของขันธ์ ๕ นั้นมี 6 ช่องทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ใจนั้นไม่ได้ใช้ระบบประสาทสัมผัสจากกายหยาบของเราแบบช่องทางอื่นๆ เขามีช่องทางเฉพาะของเขา เรื่องนี้ถ้าเราฝึกสติให้ต่อเนื่อง และรู้จักหัดสังเกตสักหน่อย เราจะรู้ว่า ใจหรือจิตของเรานี้มันก็ทำหน้าที่ในการรับสัมผัสได้ไม่ต่างไปจากช่องทางอื่นๆ เลย ที่เขาเรียกว่า “สัมผัสที่ ๖” นั่นไง แล้วช่องทางทั้ง ๖ นี้แหละ คือ “โลก” ในความหมายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึง อาศัยความเพลินจากการเห็น การได้ยิน ฯลฯ เหล่านี้แหละที่ร้อยรัดเราไว้ให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร
ทำไมต้องมีขันธ์ ๕ อันนี้มันเป็นธรรมชาติของมันนะ ในเมื่อเราเกิดมามีกายมีใจ เราห้ามการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส หรืออื่นๆ ไม่ได้ ห้ามได้ก็ไม่ได้ตลอดหรอก เพราะธรรมชาติเขาเป็นของเขาอย่างนั้น มันต้องทำหน้าที่ของมันตามธรรมชาตินะ พอผัสสะมากระทบปั๊บเกิดวิญญาณการรับรู้ การจำการปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ก็มีขึ้นมา นี่วงแรกของขันธ์ ๕ นะ แล้วทีนี้ถ้าสติเรารู้ไม่ทัน เราฝึกสติมาน้อยเรารู้ไม่ทัน พอเรารู้ไม่ทัน เราก็หลงขันธ์ ๕ อันนี้ที่มันเป็นธรรมชาติเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของมันอย่างนั้น แล้วเราก็ปรุงต่อก่อเติมตามความเคยชิน เกิดเป็นวงจรความคิดวงเล็กๆ สืบเนื่องต่อมา อันไหนเคยเห็นว่าสวยว่างามก็จะคิดจะปรุงไปตามทางที่เคยชอบนั้น อันไหนขี้เหร่ ไม่งามเราก็จะคิดจะปรุงต่อไปตามความเคยชินในทางที่ไม่ชอบ ที่ขัดใจ ตามความเคยชินทั้งหมด นี่แหละที่เขาเรียกว่า “อนุสัย” คือมันนอนเนื่องมาไม่รู้กี่พบกี่ชาติแล้ว ถ้าสติยังมาไม่ทัน ยังไม่รู้ทันช่วงนี้อีก นอกจากคิดปรุงไปต่างๆ นาๆ ตามความเคยชินแล้ว ทีนี้จิตมันก็จะหลงกับดักทางความคิดนี้ มันก็หลงอินหลงยึดถือกับเรื่องที่คิดนั้น เป็นจริงเป็นจัง กลายเป็นอารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ขึ้นมา เรียกว่า “จิตเกิด” คือจิตเกิดอาการสุขอาการทุกข์ อาการต่างๆ นั่นเอง ถ้าสติยังรู้ไม่ทันอีก อารมณ์พวกนั้นก็จะพุ่งแรงจากระดับ 1 ไป 2 ไป 3 จนในที่สุดก็ระงับไว้ไม่อยู่ ในขณะเดียวกันนั้นเองก็เกิดความคิดใหม่ที่ต่อเนื่องกันขึ้นมาตามอารมณ์พวกนั้นด้วย ผสมผเสกันไปหมดทั้งจิตกับความคิดวิ่งวุ่นกันไปหมด จากวงจรความคิดเล็กๆ ในตอนแรกพัฒนาจนมาเป็นวงจรความคิดวงใหญ่และใหญ่ขึ้น หมุนเวียนไปตลอด เกิดเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ดีบ้าง ชั่วบ้างขึ้นอยู่กับว่าจะมีความคิดและอารมณ์แบบไหนในเวลานั้น กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเร็วมาก
คนที่ฝึกสติมาบ้างแต่ขาดความต่อเนื่องก็มักจะมารู้เอาตอนจิตเกิดแล้วนี่เอง หลงความคิดไปแล้ว แต่จะเห็นทันตอนอารมณ์แรงขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่า สติมีกำลังมากขนาดไหน ถ้ามีกำลังหน่อยก็เห็นได้เร็วได้ทัน แต่ถ้าสติอ่อนก็เห็นเอาตอนอารมณ์พุ่งแรงจัดๆ ไปแล้วก็จะควบคุมยาก เพราะเหตุที่เรามารู้เอาตอนจิตเกิดแล้วนี่เองจึงคิดไปว่าจิตเป็นผู้คิดผู้นึกเสมอ เราจึงต้องหมั่นฝึกสติให้มีความต่อเนื่องเสมอๆ เผลอแล้วให้รู้ทันบ่อยๆ เผลอแล้วรู้ ๆ ๆ เผลอก็เริ่มใหม่ ๆ ๆ ไม่เสียหายอะไร ค่อยๆ ฝึกไป อย่าทำด้วยความอยาก เพราะความอยากจะปิดกั้นเราไม่ให้เข้าถึงความจริง ความอยากนั่นแหละคืออาการที่จิตเกิดแล้ว ให้ดับความอยากนั้นเสีย ความคิดใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดความอยากขึ้นมาให้หยุดความคิดนั้นเสีย
เราสามารถหยุดความคิดได้นะ ถ้าความคิดนั้นเป็นความคิดที่เกิดจากจิตเป็นผู้คิดนึก แต่ความคิดที่เป็นกระบวนการทางธรรมชาติของขันธ์ ๕ เราหยุดเขาไม่ได้ ก็อย่างที่บอกไว้ว่า เราห้ามตาไม่ให้ดูไม่ให้รับรู้ไม่ได้ ห้ามหูไม่ให้ได้ยินก็ไม่ได้ นอกจากความอยากแล้ว พวกความโลภ ความโกรธ ความหลง ความชิงชัง ท้อแท้ เกียจคร้าน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในช่วงนี้ทั้งสิ้น มันคืออาการจิตเกิดนั่นเอง มันก่อให้เกิดความคิดที่เรียกว่า “คิดอย่างจิตเกิด” ขึ้นมา แล้วบางทีความคิดที่คิดขึ้นมาตอนจิตเกิดนี้ ก็เป็นเหตุให้จิตเกิดซ้ำซากต่อไปอีก เป็นอย่างนี้ไม่มีหยุด ปนเปกันไปหมด เรียกว่าทุกข์ซ้อนคิด คิดซ้อนทุกข์ ทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนไปเรื่อยๆ
ขอให้ไปอ่านทุกกระทู้คับในนี้คับhttp://www.baanmaha.com/community/groups/ธรรมรักษาจิต-วิปัสนากรรมฐาน/
__________________
จงมองตนเองก่อนมองผู้อื่น ความสุขอยู่คู่กับความทุกข์เสมอ
ใครเห็นสรรพสิ่งว่าไม่จริง...นั้นคือ....ผู้รู้จริง