ฝันร้าย




ความฝัน" ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม ยิ่งโดยเฉพาะ "ฝันร้าย" นั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างโชคร้าย หรือ ทำความเลวร้าย ให้เกิดแก่ชีวิตของเราได้เลย จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องหวาดกลัวภัย จากฝันร้ายนั้น จนไปโดนหลอก ให้สะเดาะเคราะห์ ต้องเสียทรัพย์สินเงินทอง ต้องเสียเวล การทำงาน และต้องเสียท่า หมดเนื้อหมดตัว เป็นค่าโง่อีกมากมาย


ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วนั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า ฝันร้ายนั้น เกิดจาก การหลับใหล ที่ขาดสติ นั่นเอง ดังนั้น หากเพียงคนเราฝึกจิตใจ ให้มีสติตั้งมั่น สร้างความมีเมตตา แก่มนุษย์ และสัตว์เสมอๆ อันเป็นบุญ เป็นกุศลอย่างมาก ก็จะส่งผลให้การนอนหลับ ไม่ฟุ้งซ่าน มีสติ ไม่ฝันร้ายไปเอง


ท่ามกลางคืนอันมืดมิดคืนหนึ่งในนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศล ขณะทรงบรรทม อยู่นั้นเอง ทรงสดับเสียง ของสัตว์นรก ๔ ตน ร้องโหยหวนทรมานว่า


"เมื่อไหร่หนอ พวกเราจะพ้นทุกข์นี้ได้ พวกเราเคยเป็นราชโอรส อยู่ในนครสาวัตถีนี้เอง แต่เพราะ มักมากในกาม เพลิดเพลินใจ ทำบาปกรรม ประพฤติเป็นชู้เมียคนอื่น จึงต้องถูก กงจักร คือความตาย ตัดทำลาย ต้องหมกไหม้ เกิดอยู่ในนรก เร่าร้อนเหลือเกิน"


พระราชาทรงสดับเสียงสัตว์นรกเหล่านั้นแล้ว ก็ทรงหวาดกลัวต่อมรณภัย สะดุ้งตื่นขึ้น จากบรรทม ทรงลุกขึ้น ประทับนั่ง อยู่อย่างนั้นแหละ กระทั่งรุ่งเช้า.....


เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายมาเข้าเฝ้า พระราชาจึงตรัสเล่าถึงเสียงน่าหวาดเสียวทั้ง ๔ นั้น พวกพราหมณ์ ช่วยกันขีดเขียน คำนวณ ทำนายว่า


"ข้าแต่มหาราช เสียงจากนรกเหล่านี้ช่างหยาบช้าสาหัสนัก แม้พวกข้าพระองค์จะแก้ไขไม่ได้ แต่ก็สามารถ จะป้องกัน ไม่ให้เกิดภัยแก่พระองค์ได้ แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ จะต้องจัดทำ พิธีบูชายัญ (การเซ่นสรวงเทพเจ้า ด้วยการฆ่าคน หรือสัตว์เป็นเครื่องบูชา) ด้วยเครื่องบูชา ๔ ทุกอย่าง พระเจ้าข้า"


ก็ด้วยความหวาดกลัวภัยในพระทัย พระราชาจึงทรงอนุญาตว่า


"ท่านพราหมณ์ทั้งหลายจงรีบจัดการเกิด แม้ต้องจับสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ ตั้งแต่นก ๔ แพะ ๔ วัว ๔ ช้าง ๔ กระทั่งถึง มนุษย์ ๔ คนก็ตาม จงกระทำความสวัสดี ให้เกิดขึ้นแก่เรา ให้จงได้"


บรรดาพราหมณ์รับพระดำรัสอย่างดีอกดีใจ ไปตระเตรียมขุดหลุมยัญ นำสัตว์เป็นจำนวนมาก ผูกไว้ที่ หลักประหาร ทำกันอย่างขวนขวาย อุตสาหะ แล้วคุยกันว่า


"พวกเราจะได้ทรัพย์มากก็คราวนี้แหละหนอ จะได้กินเนื้อสัตว์ที่ชื่นชอบ ถูกปากอีกต่างหาก"


พวกพราหมณ์จึงเที่ยววุ่นวายไปมา ว่าได้สิ่งนี้จึงควร ได้สิ่งนั้นจึงเหมาะดี บรรดาผู้คน ก็พากัน แตกตื่น พูดกันเซ็งแซ่ พอข่าวรู้ไปถึงพระนางมัลลิกาเทวี พระนางจึงทรงเข้าไป เฝ้าพระราชา แล้วทูลถามว่า


"ข้าแต่มหาราช เหตุใดหนอพวกพราหมณ์จึงดูร่าเริงยินดีกันเหลือเกิน เที่ยววุ่นวายกันอยู่"


พระราชารับสั่งตอบ อย่างไม่ทรงพอพระทัยนักว่า


"เทวี เรื่องนี้คงไม่มีประโยชน์อะไรแก่เธอกระมัง เธอจึงประมาทมัวเมา อยู่กับยศของตัวเอง ส่วนความทุกข์ มาตกอยู่กับตัวเราเท่านั้น"


พระนางมัลลิกาแม้ทรงได้ยินข่าวลือมา แต่มิใช่ประเภทคนตื่นข่าว หลงเชื่ออะไรง่ายๆ จึงทูลถามว่า


"ก็เรื่องอะไรเล่า มหาราชเจ้า


พระราชา จึงรับสั่งทันควัน

"เมื่อคืนเราได้ยินเสียงสัตว์นรก มาร่ำร้องทุกข์กับเรา แล้วพวกพราหมณ์ พยากรณ์ว่า จะมีอันตราย ร้ายแรง ถึงราชสมบัติ หรือถึงแก่ชีวิตเรา จึงต้องบูชายัญ ด้วยมนุษย์และสัตว์ อย่างละ ๔ ความสวัสดี จึงจะเกิดขึ้นแก่เรา ดังนั้น พวกพราหมณ์ จึงวิ่งวุ่น จัดหาเครื่องบูชา กันใหญ่"


พระนางมัลลิกาทรงแน่ชัดในเรื่องราวแล้ว ก็ทรงทัดทานถามขึ้น


"ข้าแต่มหาราช ก็แล้วพระองค์ได้ไปทูลถามความเรื่องนี้กับมหาพราหมณ์ ผู้เลิศทั้งในโลกนี้ ทั้งในเทวโลก แล้วละหรือ"


พระราชาทรงส่ายพระพักตร์ แล้วตรัสถามด้วยความสงสัย


"ดูก่อนเทวี ก็ใครเล่าเป็นมหาพราหมณ์ผู้เลิศยอดนั้น

"ก็คือพระสมณโคดม ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นสิ เพคะ

"เอ่อ....เรายังไม่ได้ทูลถามหรอกเทวี


พระนางมัลลิกาทรงรีบถือโอกาสนั้นทูลว่า "ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์โปรดเสด็จ ไปทูลถาม เรื่องนั้น กับพระผู้มี พระภาคเจ้า ด้วยพระองค์เอง โดยเร็วเถิด ก่อนพิธีกรรมบูชายัญ จะเริ่มขึ้น


พระราชาทรงเลื่อมใสในพระศาสดา และทรงเชื่อถือถ้อยคำของพระเทวี จึงเร่งเสวย พระกระยาหารเช้า แล้วเสด็จขึ้นทรงรถ ไปยังพระวิหารเชตวันทันที ทรงเข้าเฝ้า พระศาสดา ตรัสเล่า เรื่องเสียง ของสัตว์นรกทั้ง ๔ นั้น กับวิธีการป้องกันภัย ด้วยการบูชายัญ ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ จึงทรงเฉลยความจริง ให้เกิดปัญญา รู้แจ้งว่า "มหาบพิตร เหตุร้ายอะไรๆ จะไม่มีเกิดขึ้น แก่พระองค์เลย สัตว์นรกทั้ง ๔ เสวยทุกข์อยู่ จึงร้องเสียงอย่างนั้น เสียงจาก นรกเช่นนี้ ก็เคยมีพระราชาครั้งเก่าก่อน ทรงเคยสดับมาแล้วเหมือนกัน


พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลอาราธนา พระศาสดาจึงทรงนำเรื่องเก่าก่อนนั้นมาตรัสเล่า


ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราช-สมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง อยู่ในหมู่บ้าน กาสิกคาม เขาได้ประพฤติพรหมจรรย์ ละกามทั้งหลาย ออกบวชเป็นฤาษี ไปอาศัย อยู่ที่ป่าหิมพานต์ กระทำความเพียร บำเพ็ญฌาน (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) และอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) กระทั่งบังเกิดขึ้น


คืนวันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าพรหมทัตบรรทมอยู่ ทรงได้สดับเสียงสัตว์นรก ๔ ตนคร่ำครวญขึ้น โดยสัตว์นรก ตนแรก กล่าวเฉพาะคำว่า "ทุ" เท่านั้น สัตว์นรกตนที่สอง ก็ร้องแต่คำว่า "ส" สัตว์นรกตนที่สาม ส่งเสียงว่า "น" และสัตว์นรกตนสุดท้าย โหยหวนอยู่กับคำว่า "โส" อย่างเดียว ทุกเสียง เต็มไปด้วย ความเจ็บปวดทรมาน น่าหวาดกลัวยิ่งนัก ทำให้พระองค์ ตื่นตระหนก ในพระทัย สะดุ้งตื่นจากบรรทม ประทับนั่งอยู่ จนกระทั่งฟ้าสว่าง


เมื่อพวกพราหมณ์ปุโรหิตมาเข้าเฝ้า พระเจ้าพรหมทัตก็ตรัสเล่า เสียงสัตว์นรกเหล่านั้น พราหมณ์ทั้งหลาย ก็กราบทูลวิธีเข้าในทำนองเดียวกันนั้นแหละ แล้วก็ไปเตรียม เครื่องบูชายัญ อันประกอบด้วย คนและ สัตว์มีชีวิต อย่างละ ๔ นั่นเอง


ในช่วงเวลานี้แหละ พระฤาษีผู้มีคุณอันวิเศษ ใช้ตาทิพย์(ตารู้แจ้ง) ตรวจดูชาวโลกแล้ว ได้รู้เห็น เหตุการณ์นี้เข้า จึงคิดว่า


"วันนี้เราควรกระทำเมตตาอันเป็นมหากุศล สร้างความสวัสดีแก่สัตว์โลก และ มหาชนทั้งหลาย"


แล้วแสดงฤทธิ์เดชอานุภาพ ไปปรากฏกายนั่งอยู่ ณ แผ่นศิลามงคลในพระราชอุทยาน ของพระเจ้าพรหมทัต


เช้านั้นเอง ศิษย์เอกของพราหมณ์ปุโรหิต ได้เข้าไปหาอาจารย์ของตน แล้วถาม อย่างสงสัยว่า


"ท่านอาจารย์ ในบทเรียนพระเวทของพวกเรานั้น ขึ้นชื่อว่าการฆ่าผู้อื่น ย่อมไม่สร้าง ความสวัสดี และ ความปลอดภัยให้ มิใช่หรือ"


พราหมณ์ปุโรหิตได้ยินลูกศิษย์ถามอย่างนั้น ก็รีบห้ามไว้ทันที แล้วบอกว่า


"เจ้าอย่าสนใจในเรื่องนั้นเลย จงพึงพอใจในราชทรัพย์ที่จะได้มาเถิด แล้วพวกเรา ก็ยังจะได้ กินปลา และเนื้อ อีกมากมาย เจ้าจงนิ่งๆเสียอย่าพูดมากไป"


แม้จะถูกอาจารย์ห้ามปรามอย่างนี้ เขาก็ยังมีความคิดว่า


"เราจะไม่ยอมมีส่วนในเรื่องนี้ด้วยแน่ๆ"


จึงเดินครุ่นคิดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพระราชอุทยาน ได้พบพระฤาษีนั่งอยู่ ก็กระทำปฏิสันถาร ด้วยอาการ เคารพ แล้วนั่งลง ที่ควรข้างหนึ่ง พระฤาษีจึงถามว่า


"มาณพเอ๋ย พระราชาครองราชสมบัติโดยธรรมดีอยู่หรือ


ศิษย์พราหมณ์นั้นก็ตอบตามความจริงว่า

"ท่านผู้เจริญ ที่จริงพระราชาก็ทรงครองราชย์โดยธรรม แต่เพราะเมื่อคืนนี้ พระองค์ทรง ได้ยินเสียง สัตว์นรก ๔ ตน แล้วทรงกลัวภัย จึงกระทำตามคำของ พราหมณ์ปุโรหิต ที่จะให้ทำ พิธีบูชายัญ ในวันนี้แหละ โดยจะฆ่ามนุษย์ และสัตว์เป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความสวัสดี ให้แก่พระองค์ โอ...ท่านผู้เจริญ ก็การที่พราหมณ์ ผู้ถือศีลดังเช่นกับท่าน บอกว่า การพ้น เคราะห์ร้าย แล้วเกิดความสวัสดีได้นั้น ต้องแลกมาด้วย ความตายของผู้อื่น อย่างนี้ เป็นการกล่าว อย่างสมควรดีแล้วหรือ



พระฤาษีส่ายหน้าแล้วตอบตามจริง


"ไม่สมควรเลย เพราะเรารู้จักเสียงของสัตว์นรกนั้นดี ว่าไม่สามารถก่อภัยร้ายได้ ถ้าพระราชา เสด็จมาหาเรา แล้วถาม เราก็จะทูลถวายให้พระราชา หมดสงสัยได้ แต่ทว่า.... พระราชา ไม่ทรงรู้จักเรา และแม้เรา ก็ไม่รู้จักพระราชา"


ได้ยินอย่างนั้น ด้วยความดีใจ ศิษย์ของพราหมณ์ปุโรหิต รีบกล่าวอย่างเร่งร้อนว่า


"ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านคอยอยู่ที่ตรงนี้แหละ ขอเวลากระผมสักครู่ จะไปเชิญพระราชา เสด็จมาหาท่าน โดยเร็วที่สุด


แล้วเขาก็รีบลุกไปทันที เร่งไปเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ พระราชา ก็ทรงปรารถนา จะรู้ว่า เสียงของสัตว์นรก ๔ ตนนั้นกล่าวอะไร จึงเสด็จไปหาพระฤาษี ที่พระราชอุทยานทันที เมื่อถึง ก็ทรงกราบไหว้พระฤาษี แล้วประทับนั่งลง ในที่อันเหมาะควร ตรัสถามว่า


"พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านสามารถรู้ถึงเสียงร้อง อันโหยหวนของสัตว์นรก ๔ ตน ที่ข้าพเจ้า ได้ยินมา จริงหรือ"


พระฤาษีรับคำว่า


"จริงแล้ว มหาบพิตร โปรดทรงสดับความจริงนี้เถิดว่า ในชาติก่อนของสัตว์นรกทั้ง ๔ ตนนั้น เป็นผู้ประพฤต ิผิดในกาม อยู่ที่นครพาราณสีนี่เอง มักขืนใจหญิง ที่คนอื่นเขาดูแลรักษาอยู่ เป็นชู้กับเมียของผู้อื่น เขาเสมอ ตายไป จึงเกิดอยู่ในนรกชื่อ โลหกุมภี ต้องถูกเคี่ยว จนร่างกาย เป็นฟอง อยู่ในหม้อน้ำด่างโลหะ ที่เดือดพล่าน เดี๋ยวก็จมลง เดี๋ยวก็ผุดขึ้น ถึงปากหม้อ ทนทุกข์ ทรมานอย่างยิ่ง แม้ต้องการจะบอกกล่าว มากมาย ก็ไม่อาจ กระทำได้ มีแต่เพียง ส่งเสียงร้อง ทุรนทุราย ออกมา ได้แค่คำเดียวเท่านั้น


ดังที่สัตว์นรกตนแรกกล่าวแต่คำว่า "ทุ" (ยาก) ได้คำเดียว ที่แท้ก็ต้องการจะกล่าวว่า......


เมื่อสมบัติทั้งหลายมีอยู่ พวกเราทั้งหลายไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งที่ดี ให้แก่ตน บัดนี้ จึงต้องมีชีวิต เป็นอยู่ได้แสน "ยาก"


สัตว์นรกตนที่สองร้องแต่คำว่า "ส" (ทั้งปวง) หมายที่จะบอกว่า.....


เมื่อพวกเราทั้งหลายหมกไหม้อยู่ในนรก ตลอดหกหมื่นปีบริบูรณ์ โดยอาการ "ทั้งปวง" นี้ เมื่อใด ที่สิ้นสุด จะปรากฏหนอ


สัตว์นรกตนที่สามส่งเสียงว่า "น" (ไม่มี) ก็เพื่อที่จะแจ้งให้รู้ว่า.....


ดูก่อนพวกเราเอ๋ย ที่สิ้นสุด "ไม่มี" แล้วที่สุดจะมีได้ที่ไหน ที่สุดจะไม่ปรากฏหรอก เพราะใน กาลก่อนนั้น พวกเราได้กระทำ บาปกรรมไว้มาก


และสัตว์นรกตนที่สี่คร่ำครวญอยู่ว่า "โส" (ทำให้ดี) เพราะอยากที่จะพูดออกมาว่า....


หากเราไปจากที่นี้ได้ ถ้าได้กำเนิดเป็นมนุษย์ พอรู้ความรู้ภาษาแล้ว เราจะ "ทำให้ดี" ให้เป็นคน สมบูรณ์ด้วยศีล จะทำกุศล ให้มากทีเดียว


เหล่านี้แหละ คือเสียงของสัตว์นรกทั้ง ๔ ตน ที่พระองค์ทรงได้ยินเมื่อคืนนี้ ซึ่งต่างร่ำร้อง ถึงบาปกรรม อันใหญ่หลวงของตน และการได้รับทุกขเวทนา แสนสาหัส จากผลบาปนั้น เสียงโหยหวน เหล่านี้ จึงมิได้มีอันตรายใดๆ แก่พระองค์ อย่าทรงตกพระทัยกลัวเลย และทรง ให้เขาระงับ การกระทำ ปาณาติบาต ต่อมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายด้วยเถิด เพราะนั่น จะเป็นบาปอกุศล แก่พระองค์เอง มิใช่สร้าง ความสวัสดี แก่พระองค์เลย


พระราชาทรงตั้งใจรับฟัง แล้วพิจารณาตามธรรมนั้น ก็ทรงเกิดปัญญาได้คิดถูกต้องขึ้น จึงรับสั่ง ให้ปลดปล่อย มนุษย์และสัตว์ทั้งหมด ที่จะถูกนำมาบูชายัญนั้น แล้วป่าวประกาศ ไปทั่ว ให้ทำลายพิธีบูชายัญทิ้งไปเสีย


เมื่อพระฤาษีได้กระทำความปลอดภัย สร้างสวัสดีให้แก่มหาชน และสัตว์โลกทั้งหลายแล้ว ก็พักอยู่ที่ พระราชอุทยาน นั้นอีก ๒-๓ วัน จากนั้นจึงได้กลับคืน สู่ป่าหิมพานต์ เป็นผู้มี ฌานไม่เสื่อม บังเกิดอยู่ใน พรหมโลก


พระศาสดาครั้นทรงแสดงธรรมเทศนานี้แล้วก็ตรัสว่า


"ลูกศิษย์ของพราหมณ์ปุโรหิตในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระสารีบุตรในบัดนี้ ส่วนพระฤาษี ได้มาเป็นเรา ตถาคตนี้เอง"



พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงได้ฟังธรรมนี้แล้ว ก็ทรงคลายหวาดกลัว ในเสียงของสัตว์นรกนั้น ทรงได้สติ ด้วยปัญญา ของพระองค์เอง ทรงรู้ว่า จะต้องรีบทำอย่างไร จึงได้นมัสการลา พระผู้มีพระภาคทันที



(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๕๔ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๔๖๕)




ผู้นอนหลับลืมสติ ไม่รู้สึกตัว
มีโทษ ๕ ประการนี้คือ
๑. หลับเป็นทุกข์
๒. ตื่นเป็นทุกข์
๓. ฝันเห็นสิ่งหยาบช้าเลวทราม
๔. จิตดีไม่รักษา
๕. น้ำกามเคลื่อน

จึงควรนอนหลับให้มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัวอยู่
เพื่อให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันลามก
จิตดีรักษา และน้ำกามไม่เคลื่อน



ผู้ใดมีสติมั่นคงเจริญเมตตาอันประมาณมิได้
กิเลสเครื่องผูกรัดของผู้นั้นย่อมเบาบาง
หากว่าเขาไม่มีจิตคิดทำร้ายสัตว์แม้สักตัว
ทำเมตตาจิตให้งอกงามอยู่ ย่อมเป็นกุศล
เขามีใจเอื้อเฟื้อสัตว์ทั้งปวงอยู่
ย่อมเป็นผู้ประเสริฐ ได้กระทำบุญไว้มากแล้ว


(พระไตรปิฎกเล่ม ๕ "จีวรขันธกะ" ข้อ ๑๕๖, เล่ม ๒๓ "เมตตสูตร" ข้อ ๙๑)