วันนี้ ผู้คนกำลังกลับภูมิลำเนากันหนาตา บนเส้นทางเริ่มแออัดไปด้วยยานยนต์ที่หลั่งไหลออกจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาตตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน โดยมีจังหวัดนครราชสีมา เป็นด่านหน้ารองรับลูกหลานกลับบ้าน ผ่านถนนมิตรภาพ เส้นเลือดใหญ่เชื่อมโยงจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน กับ กรุงเทพมหานคร

เอ...ขุดเอาเรื่องถนนมิตรภาพมาเล่าสู่กันฟัง รับวันหยุด ดีไหมค่ะ ?


เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเปิดถนนมิตรภาพ ช่วงระหว่าง จ.นครราชสีมา – หนองคาย ซึ่งปัจจุบันนี้ พวกเราทุกคนก็รู้กันดีว่า เป็นทางหลวงหมายเลข 2 ขนาดสี่เลนวิ่งสบายจนไปถึงเชิงสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ( แต่ทางฝั่งโน้นเรียกว่า “ ขัวมิดตะพาบ ลาว – ไท" ) ในเวลาไม่ถึงวัน

สมัยก่อนโน้น...... ใครจะเดินทางไป จ.หนองคาย ทางรถยนต์ไม่ใช่ง่ายเหมือนทุกวันนี้นะครับ เว้นแต่ ถนนมิตรภาพ ช่วงจาก สระบุรี – นครราชสีมา ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนหน้านั้น ซึ่งเส้นทางที่เก่าแก่กว่าถนนมิตรภาพ คือ ถนนสุรนารายณ์ เริ่มต้นจาก อ.โคกสำโรง ผ่าน อ.ชัยบาดาล สี่แยกบ้านหนองบัวโคก อ.โนนไทย สามแยกบ้านจอหอ เข้าสู่นครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205 นั่นเอง แต่ใช้เวลาเดินทางอ้อมโลกเหลือหลาย...

ออกจาก จ.นครราชสีมา ถนนจะไปทางจอหอ – ผ่านแยกเข้า อ.พิมาย – แยก อ.คง เบนขวาออกไป อ.ประทาย จนเกือบเข้า อ.พุทไธสง แล้ววกกลับมา อ.พล อีกครั้งหนึง ( ช่วงนี้ปัจจุบันเป็นทางหลวงหมายเลข 207 ) พอเข้าแนวเส้นทางปกติ จะวกเข้า อ.บ้านไผ่ ออกมาเข้าสู่ จ.ขอนแก่น , อุดรธานี ไปจนถึง จ.หนองคาย สภาพถนนนั้น ลาดฝุ่นเกือบตลอดสาย แถมมีหลุมบ่อให้เอวเคล็ดเล่นๆ งั้นแหละ ผู้คนจึงนิยมเดินทางโดยรถไฟมากกว่า

ครับ…มาดูเรื่องราวความลำบากในการก่อสร้างเส้นทางสายนี้ และคำพูดจากพี่น้องที่ได้รับประโยชน์จากเส้นทาง และในขณะเดียวกันก็กลายเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของทางรถไฟสายหนองคาย จนไม่อาจคึกคักดังเช่น สายอุบลราชธานี ในทุกวันนี้

ผมเคยเห็นภาพยนตร์สารคดีของเส้นทางสายนี้ มีชื่อว่า “ ทางหลวงหมายเลข 21" ของสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯความยาวประมาณ 40 นาที ที่ใช้ชื่อนั้น เพราะแต่เดิม กรมทางหลวง ได้กำหนดหมายเลขทางหลวงไว้เป็นหมายเลข 21 สำหรับถนนมิตรภาพ มาเปลี่ยนเป็นหมายเลข 2 ในภายหลัง ใครสนใจภาพยนต์เรื่องนี้ ลองติดต่อสอบถามดูนะครับ

อีกนิดหนึ่ง ค่าก่อสร้างถนนสมัยนั้น หากคิดเปรียบเทียบเป็นมูลค่าในปัจจุบันแล้ว ต้องเทียบประมาณจากราคาซื้อ - ขายทอง ซึ่งราคาทองคำที่ซื้อขายกันในสมัยนั้น จะตกอยู่ราวบาทละ 350 บาทเท่านั้น
ถนนดีทำให้การทำมาหากินในท้องถิ่นเจริญก้าวหน้าและ ช่วยยกระดับการครองชีพของราษฎร

มิตรภาพ เมื่อ40ปีที่แล้ว


การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต้องอาศัยถนนดีป็นเส้นทางสำหรับนำความเจริญไปสู่ท้องที่ๆ ห่างไกลคมนาคม และสำหรับลำเลียงพืชผลที่ราษฎรในเขตนั้นๆ ผลิตขึ้นออกสู่ตลาด

วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๐๘

นับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและการส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เนื่องจากในวันนั้นได้มีการประกอบพิธีเปิดถนนสายโคราช – หนองคาย เป็นทางการ ถนนนสายนี้มีความยาว ๓๖๐ กม. เป็นช่วงสุดท้ายของทางหลวงซึ่งเริ่มต้นจาก กรุงเทพฯ หนึ่งในสามส่วนของถนนสายนี้ คือ ทางหลวงสายมิตรภาพ เชื่อมสระบุรี กับ โคราช อีกตอนหนึ่งที่ยังเหลือ คือช่วง กรุงเทพฯ – สระบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน คงเหลืออีกเพียง ๒๘ กม. ( ระหว่าง รังสิต – กรุงเทพฯ ) เท่านั้น และช่วงนี้ก็กำหนดว่า จะแล้วเสร็จก่อนเดือน พฤศจิกายน ๒๕๐๘ นี้

ดังนั้น ปัจจุบันเราจึงมีทางหลวงลาดยางแอสฟัลท์ตลอดสายยาวที่สุดในเมืองไทย ตัดออกจากกรุงเทพฯ ผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางนครราชสีมา และไปจนสุดชายแดนที่จังหวัดหนองคาย ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมเป็นระยะทางยาวทั้งสิ้น ๖๑๒ กม.


มิตรภาพ เมื่อ40ปีที่แล้ว

ส่วนในทางปฏิบัตินั้น ทางตอน โคราช – หนองคาย ได้เปิดให้ยวดยานของประชาชนสัญจรไปมาได้ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ศกก่อนแล้ว เป็นทางลาดยางแอสฟัลท์ กว้าง ๖.๕ เมตร และไหล่ทางลูกรัง ๒ ข้าง ๆ ละ ๒.๒๕ เมตร ส่วนใหญ่สร้างทับแนวถนนที่มีอยู่เดิม นอกจากช่วงโคราช – บ้านไผ่ ซึ่งแนวถนนเดิมคดเคี้ยว และอยู่ในสภาพชำรุด จากการสำรวจและประมาณราคาพบว่า การสร้างแนวถนนขึ้นใหม่เป็นการดีกว่าที่จะใช้เส้นทางเดิม ทั้งนี้ เพราะแนวถนนใหม่จะย่นระยะทางลงกว่า ๓๐ กม.

บัดนี้การก่อสร้างทางหลวงสายหลักจาก พระนคร ไปจนสุดอาณาเขตลงที่ จังหวัดหนองคาย จึงเสร็จสมบูรณ์ตามความมุ่งหมาย ทำให้เราสามารถเดินทางโดยยานยนต์จาก กรุงเทพฯ ไปถึงหนองคายได้ภายในเวลา ๘ ชั่วโมง โดยแล่นไปตามเส้นทางที่มีผิวจราจรราบเรียบ รถไม่กระเทือนแลแน่นิ่งจนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่า แม้น้ำในแก้วก็จะไม่หก การเดินทางสะดวก รวดเร็ว และเราอาจกระทำได้ตลอดฤดูกาลไม่ว่าจะเป็นหน้าฝนหรือหน้าแล้ง

นับเป็นเส้นทางคมนาคมขั้นมาตรฐานสายแรก ที่เชื่อมการติดต่อระหว่างเมืองหลวงของประเทศกับหัวเมืองชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในการสร้างทางสาย โคราช – หนองคาย สายนี้ รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐ ( USOM ) พร้อมทั้งได้จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันมาช่วยให้คำแนะนำด้วย ส่วนการออกแบบและการก่อสร้างอยู่ภายใต้การควบคุมของ กรมทางหลวง

มิตรภาพ เมื่อ40ปีที่แล้ว

เดียวมาต่อนะค่ะ