การทำร้ายร่างกายคู่สมรส ติดคุกได้





การทำร้ายร่างกายคู่สมรส

หลายท่านมีความเข้าใจว่า คู่สมรสทำร้ายร่างกายกันเองได้ ไม่ต้องรับโทษอาญาใดๆ แม้แต่ตำรวจบางท่านยังคิดเช่นนั้น ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก ก่อนอื่นต้องทราบว่า การทำร้าย คือ พฤติกรรมใช้กำลังทุกรูปแบบเพื่อให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทางกายหรือจิตใจ จะใช้อาวุธร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม


ประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษของคดีทำร้ายร่างกายไว้หลายระดับตามความหนักเบาของบาดแผลที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำต่อบุคคลเฉพาะที่กำหนดไว้ หรือมีพฤติกรรมพิเศษ ดังนี้



มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าได้กระทำต่อบุคคลเฉพาะเจาะจง เช่น บุพการี เจ้าพนักงาน เป็นต้น หรือพฤติการณ์พิเศษ เช่น การวางแผนล่วงหน้า กระทำทารุณกรรม เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี โดยกำหนดลักษณะบาดแผลซึ่งถือเป็นอันตรายสาหัสไว้ เช่น ตาบอด ใบหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือทำงานไม่ได้เกินกว่า 20 วัน เป็นต้น


มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นกระทำต่อบุคคลที่กำหนดเฉพาะเจาะจงหรือพฤติกรรมพิเศษตามที่ระบุไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี


มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ตามหลักกฎหมายเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายข้างต้นนั้น จักเห็นว่า มันใช้ลงโทษ ผู้ใด ที่ทำร้าย ผู้อื่น ซึ่งมีผลในการคุ้มครองผู้เสียหายและลงโทษผู้ใช้กำลังทำร้ายโดยไม่จำกัดเพศ สถานภาพทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของสามีภรรยา ครูอาจารย์ บิดามารดา ล้วนอาจถูกลงโทษตามหลักนี้ได้


สำหรับคดีอาญานั้น ผู้กระทำจักต้องรับโทษอาญาเป็นการเฉพาะตัวและต้องตีความข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองและให้ความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ความเข้าใจผิดเรื่องสามีภรรยาสามารถตบตีทำร้ายกันได้ ครูอาจารย์โบยตีลูกศิษย์ บิดามารดาฟาดตีเด็กในปกครอง จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ผู้กระทำต้องรับโทษอาญา ไม่ว่าจะเป็นจำคุก ปรับ แล้วแต่ดุลพินิจของศาล อีกอย่างหนึ่งซึ่งพึงเตือนใจก่อนใช้กำลังทำร้ายคนอื่นด้วยว่า หญิงซึ่งเป็นภรรยาก็ไม่มีอภิสิทธิ์ในการทำร้ายร่างกายของสามีด้วย ส่วนเด็กที่ทำร้ายพ่อแม่ปู่ย่าตายายซึ่งถือเป็นบุพการี จักต้องรับโทษหนักพิเศษ เพราะสังคมไม่ส่งเสริมพฤติกรรมเช่นนี้และไม่ต้องการให้ใครถือเป็นเยี่ยงอย่างด้วย



หลังจากอ่านทำความเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายอย่างถูกต้องแล้ว จึงหวังว่า ทุกท่านคงรู้จักสิทธิในร่างกายและต้องรู้จักปกป้องสิทธินี้ไว้มิให้ผู้ใดทำละเมิดได้ สามีภรรยาเป็นบุคคลเดียวกันตามหลักกฎหมายภาษี แต่ต้องรับโทษแยกกันตามหลักกฎหมายอาญา ดังนั้น พฤติกรรมการทำร้ายกันของสามีภรรยา บิดามารดากับบุตร ครูอาจารย์กับศิษย์ เช่น การตบตี การราดน้ำกรด การทุบตีด้วยท่อนไม้ การจี้บุหรี่ การกัดข่วน การทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ เป็นต้น ผู้กระทำจักต้องรับโทษอาญาตามลักษณะบาดแผล อีกปัญหาหนึ่งซึ่งหลายท่านอาจสงสัย คือ ถ้าเห็นสามีภรรยาตบตีกันสามารถช่วยเหลือได้ไหม? ตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น กรณีมิจฉาชีพแกล้งตะโกนว่ากำลังตีเมียอยู่ ทั้งที่ตั้งใจฉกชิงทรัพย์ ทำให้คนทั่วไปชะงักความช่วยเหลือไว้ อันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องสูญเสียทรัพย์และได้รับบาดเจ็บหนัก คำตอบ คือ ตามหลักมนุษยธรรมและน้ำใจอันดี คนดีสมควรช่วยเหลือผู้เสียหายที่กำลังเดือดร้อน ส่วนหลักกฎหมายอาญานั้น สามีหรือภรรยาไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายกัน ทุกคนจึงมีสิทธิหยุดยั้งการทำละเมิดกฎหมายนี้ได้ นอกเหนือจากการแจ้งความกับตำรวจ บางกรณีการทำร้ายอาจล่วงเลยไปถึงการฆ่ากัน ซึ่งบรรดาคนดูทั่วไปกลับยืนเฉย ไม่ยื่นมือช่วยเหลือบรรเทาเหตุร้ายเบื้องหน้า พวกเขาอาจต้องรับโทษอาญาไปด้วย ตาม มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มันเป็นหลักกฎหมายที่รัฐต้องการให้คนช่วยบรรเทาความเสียหายเบื้องต้นก่อนเจ้าหน้าที่รัฐจะมาถึงที่เกิดเหตุและส่งเสริมให้มีน้ำใจเมตตาต่อกัน ดังนั้น สังคมจักสงบสุขได้ เมื่อทุกคนต่างช่วยดูแลกัน เพียงแค่ท่านยื่นมือช่วยเหลือผู้ถูกทำร้าย เท่ากับเป็นการให้โอกาสแก่หนึ่งชีวิตเพื่อทำประโยชน์แก่ครอบครัวและประเทศชาติ แล้วยังเป็นการทำบุญตามหลักพุทธศาสนาอีกด้วย




ขอบคุณ ลีลา LAW จาก magnadream.spaces.live.com