อนัตตลักขณสูตร


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔
มหาวรรค ภาค ๑




ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร
[๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็น
อนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ และบุคคล
พึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า
รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
เวทนาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ไม่พึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด เวทนาของ
เราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด เวทนา
ของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
สัญญาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สัญญานี้ไม่พึง
เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเรา
อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไป
เพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเรา
อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว
สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของ
เราจงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ
สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้
ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้นเลย.
วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้
ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น
วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
ตรัสถามความเห็นของพระปัญจวัคคีย์
[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
พระปัญจวัคคีย์ทูลว่า ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้น
ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ป. ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ป. เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่ง
นั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ป. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.
ตรัสให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ
[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใด
อย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ
ประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา เธอทั้งหลาย
พึงเห็นเวทนานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบ
หรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าเวทนา เธอทั้งหลายพึง
เห็นสัญญานั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่น
ไม่ใช่ตนของเรา.
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าสังขาร เธอทั้งหลาย
พึงเห็นสังขารนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่าวิญญาณ เธอทั้งหลาย
พึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตนของเรา.
[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้
ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร
ทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น
เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลิน
ภาษิตของผู้มีพระภาค. ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์
พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.


ธุจ้าอธิบายความเพิ่มเติมธุจ้า

อนัตตลักขณะสูตรมารวมย่อลงในสามัญลักษณะข้อที่ 3 ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสรุปไว้ว่า

"สัพเพธัมมา อนัตตา" ธรรมทั้งหมดทัั้งปวงเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา กลวง ว่างเปล่า จากความเป็นตัวตน

สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา หรือเจริญมรรค 8 ก็คือ
จะพิสูจน์ความเป็นอนัตตา หรือเข้าถึงสภาวอนัตตาได้อย่างไร เพราะอนัตตานั้นคิดเอา นึกเอาให้จิตใจเขาเป็นอนัตตา หรือยอมรับอนัตตานั้น มันเป็นไปไม่ได้ ต้องทำเอา ปฏิบัติเอา จนเข้าถึงสภาวะอนัตตา รู้ซึ้งอนัตตา ที่จิตที่ใจของเจ้าของ จนจิตยอมรับความจริงแล้วปล่อยวางสิ่งที่ปิดบัง อนัตตาไว้

สิ่งใด หรืออะไรมาบังอนัตตาไว้ อัตตา หรืออุปาทานความเห็นผิดว่าเป็นอัตตา ตัวกู ของกู หรือมิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด ตัวนี้เองที่บังอนัตตาไว้

สัมมาทิฐิ การเห็นธรรมตามความเป็นจริง เป็นความเห็นถูกต้อง

มิจฉาทิฐิ การเห็นธรรมผิดไปจากความเป็นจริง เป็นความเห็นผิด

การปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา หรือการเจริญมรรค 8 จึงเป็นการนำเอา ศีล สติ สมาธิ ปัญญา มาเฝ้าดู เฝ้าสังเกต พิจารณา ค้นคว้าเข้าไปใน กาย และจิต หรือรูป - นาม กาย ใจ นี้ จนเห็นความจริงทั้งหมดของการทำงานของกายและจิต ความจริงทั้งหลายที่จะแสดงออกมาจะเป็นไปดัง เรื่องราวจากหนังสือคู่มือปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาของ ศูนปฏิบัติธรรม พระพุทธบาทเนินฆ้อ อ.แกลง จ.ระยอง ดังยกมาต่อไปนี้ครับ

วิธีเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
หาที่อันสงัด ปูลาดอาสนะ ขัดสมาธินั่ง ตั้งกายให้ตรง หลังตรง คอตรง หัวตั้งตรง มนสิการ ตั้งใจ โยนิโส ตั้ง สติ ปัญญา เฝ้าดู เฝ้าสังเกตพิจารณา เข้าไปในกายและจิต ณ ปัจจุบันขณะ ปัจจุบันอารมณ์ ด้วยวิริยะ อุตสาหะ ตบะ ขันติ สมาธิ ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย ที่สุดจะได้ รู้ ได้เห็น กระบวนการทำงานของกายและจิต ว่า

เมื่อมีผัสสะ การกระทบของทวารทั้ง ๖ กับสิ่งที่มากระทบ จะเกิดเวทนา ความรู้สึก ตัณหาความอยากขึ้นมาทุกครั้งไป เป็นอารมณ์ธรรม ๑ สัมผัส ๑ อารมณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเป็นอดีต แล้วก็เกิดผัสสะและอารมณ์ใหม่เกิดขึ้นมาเป็นปัจจุบันอารมณ์ ให้ได้ ดู ได้เห็น ได้รู้ ได้สังเกต พิจารณา สืบต่อหนุนเนื่อง หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงกันไปไม่หยุดยั้ง ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงเวลานอนหลับในตอนค่ำจิตเข้าภวังค์หมดความรับรู้สัมผัส พอตื่นเช้าขึ้นมา มีสติ สัมปชัญญะรู้ตัว มีการรับรู้สัมผัสของทวารทั้ง ๖ ขึ้นมาอีก กระบวนการทำงานโดยธรรมชาติของจิตก็จะดำเนินการต่อไปเหมือนเช่นเคย

ถ้ารู้ทันปัจจุบันอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ความสังเกต พิจารณามีกำลัง คม ละเอียด เฉียบแหลม ก็จะได้เห็นถึงความจริงอันสำคัญว่า วันทั้งวันจะมีแต่ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของอารมณ์ เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไปมา และบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ตลอดเวลา นี่คือปกติธรรมดาของชีวิตทุกชีวิต
แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ เป็นงานของวิปัสสนาภาวนาคือผู้ปฏิบัติทุกคนจะได้พบเห็นว่ามีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นมายุ่งกับทุกการกระทบสัมผัสทุกครั้งไป คือมีอุปาทาน
ความเห็นผิดว่าเป็น อัตตา ตัวกู ของกู โผล่ ผุดขึ้นมารับรู้เวทนา ตอบโต้กับเวทนา จนเกิดเป็นตัณหา ความอยากทั้ง ๓ อย่าง คือ
กามตัณหา ความยินดีพอใจในสัมผัสทั้ง ๖

ภวตัณหา ความอยากได้ อยากเป็น อยากมี อยากเอา เมื่อพบกับอารมณ์ที่ชอบใจ เกิดเป็นโลภะ

วิภวตัณหา ความยินร้าย ไม่ชอบใจเกิดขึ้นเมื่อพบกับอารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ เกิดเป็นโทสะ ความขุ่นมัวและโกรธ
หรือเกิดความไม่ยินดีไม่ยินร้ายต่ออารมณ์ เกิดความวางเฉย เป็น อุเบกขา
แล้วก็จะเกิดความปรุงแต่งไปด้วยอำนาจแห่งความยินดี ยินร้าย หรือเฉยๆ เป็นมโนกรรม เป็นวจีกรรม เป็นกายกรรมไปตามลำดับ เมื่อกรรมครบองค์ ๓ ก็จะเกิดผล เป็นวิบากให้ผู้กระทำกรรมต้องได้รับผล เสวยผล เป็นบาป เป็นบุญ สุข ทุกข์ ไปตามกำลังแห่งกรรมที่ตนกระทำ หมุนเวียน สืบต่อกันไปทั้งวัน

เมื่อผู้ปฏิบัติมีญาณ คือปัญญา รู้ เห็นสิ่งแปลกปลอมคือ อุปาทานความเห็นผิดว่า เป็นอัตตา ตัวกู ของกู โผล่ ผุด ขึ้นมาในจิตอย่างนี้จนชัดเจนดีแล้ว ก็จงทำตามหัวใจการภาวนาดังที่สรุปไว้ที่ปกหลังของหนังสือเล่มนี้

ไม่ช้าไม่นานก็จะได้พบเห็นว่า สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกต้องว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ตัวกู ของกู จะเกิดขึ้นมาแทนที่ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดว่าเป็นอัตตา ตัวกู ของกู มากขึ้น ๆ ความเห็นผิดเป็นอัตตา ตัวกู ของกูจะผอมลง เบาบาง จางลง ลดลง ๆ ไปเรื่อยๆ จนหมดสิ้นไป ดับหาย ตายขาดไปจากจิตใจในที่สุด แล้วผลอันยิ่งใหญ่ คือนิพพานธาตุก็จะเกิดปรากฏขึ้นมาในจิตในใจของผู้ปฏิบัติให้รู้แจ้งด้วยตนเอง

งานและหน้าที่ของชาวพุทธ
ละความเห็นผิดว่าเป็นอัตตา ตัวกู ของกู
พอกพูนความเห็นถูกต้อง ว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ตัวกู ของกู
ทุกวัน เวลา นาฑี วินาฑี ที่ระลึกได้
และมีโอกาส

หัวใจวิปัสสนาภาวนา
ใจปัญญาอย่ายอมใจเป็นกู นิ่งดู นิ่งสังเกต พิจารณา
ด้วยวิริยะ อุตสาหะ ตบะ ขันติ มิยอมถอย ถ้าสู้ได้
ทนได้ ไม่ตะบอย กู จะถอยหรือตายดับ ไปจากใจ


:heart::heart:ธุจ้า:heart::heart:



ขอบคุณ ลานธรรมเสวนา
ที่มา 84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=479&Z=575&pagebreak=0