กำลังแสดงผล 1 ถึง 3 จากทั้งหมด 3

หัวข้อ: ความหมายของคำว่าบุญ

  1. #1
    ดูแลตรวจสอบเนื้อหา สัญลักษณ์ของ auddy228
    วันที่สมัคร
    Jun 2007
    ที่อยู่
    THAILAND
    กระทู้
    1,176
    บล็อก
    1

    สว่างใจ ความหมายของคำว่าบุญ

    ความหมายของคำว่าบุญ



    ความหมายของคำว่าบุญ



    ชาวพุทธเราส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องของ "บุญ" โดยคิดว่าการทำบุญก็คือ การตักบาตร การถวายทรัพย์ ถวายปัจจัย ถวายสังฆทาน เป็นต้น ให้กับพระสงฆ์หรือให้กับวัดเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว คำว่า "บุญ" มาจากภาษาบาลีว่า “ปุญญ” ซึ่งแปลว่า "เครื่องชำระสันดาน" (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)) หมายถึง การชำระกาย วาจา และใจ ให้หมดจดจากมลทิน หรือเครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ


    ตามพระไตรปิฎกแล้ว เรายังสามารถทำ "บุญ" ได้อีกหลายหนทาง มากกว่าที่เราคุ้นชินกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรื่องที่จัดเป็นการทำบุญในทางพระพุทธศาสนาเราเรียกกันว่า "บุญกิริยาวัตถุ" แบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ หมวด 3 ซึ่งเป็นหมวดใหญ่ กับหมวด 10 ซึ่งแตกรายละเอียดปลีกย่อย ดังนี้


    หมวด 3 มี 3 ข้อ คือ

    1. "ทานมัย" เป็นการทำบุญด้วยการให้ อันนี้เราคุ้นเคยกันดี เช่น การตักบาตร การถวายสังฆทาน การถวายเงินสร้างวัด เหล่านี้คือการให้สิ่งที่เรามี นอกจากจะได้บุญแล้วยังสอนให้เรารู้จักการเสียสละไปด้วยในตัว แต่มีการให้บางประการที่ไม่นับเป็นการทำบุญ เช่น การให้สุรา การให้สิ่งเพื่อกามคุณ เป็นต้น

    2. "สีลมัย" เป็นการทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี ถือเป็นการทำบุญที่ไม่ต้องมีต้นทุนใดๆ ทั้งสิ้น ขอเพียงมีใจที่ตั้งมั่นและลงมือทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น หรือจะรักษาศีล 5, ศีล 8 เพียงเท่านี้ก็ได้ทำบุญแล้ว และที่สำคัญอานิสงส์ของการทำบุญด้วยการรักษาศีล ยังมากกว่าอานิสงส์ของการทำบุญด้วยการให้มากมายนัก

    3. "ภาวนามัย" เป็นการทำบุญด้วยการเจริญภาวนา เช่น การนั่งสมาธิ ปฏิบัติกรรมฐาน หรือการเจริญวิปัสสนา นี่ก็เป็นการทำบุญที่ไม่มีต้นทุนอีกเช่นกัน และยังเป็นการทำบุญขั้นที่สูงขึ้นจาก "สีลมัย" มีอานิสงส์ของการทำบุญที่มากกว่าการทำบุญแบบ "สีลมัย" ด้วย
    หมวด 10 มี 10 ข้อ คือ

    1. "ทานมัย"

    2. "สีลมัย"

    3. "ภาวนามัย" (ตามที่อธิบายไปแล้วข้างต้น)

    4. “อปจายนมัย” เป็นการทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม เป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม เช่น เด็กที่เคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่ ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง

    5. "เวยยาวัจจมัย" เป็นการทำบุญด้วยการขวนขวายในกิจการหรืองานที่ควรกระทำ พูดง่ายๆ ก็คือ เพียงแค่เราขวนขวายตั้งใจทำงานของเรา ก็ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งแล้ว

    6. "ปัตติทานมัย" เป็นการทำบุญด้วยการแบ่งส่วนบุญที่เราได้ทำแล้วให้กับผู้อื่น เช่น เมื่อเราทำบุญตักบาตรแล้วเราตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้อื่น หรือเมื่อเราถวายสังฆทานแล้วกรวดน้ำให้กับเจ้ากรรมนายเวร นั่นก็คือการทำบุญอย่างหนึ่ง และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าเป็นบุญซ้อนกัน คือการตักบาตรหรือถวายสังฆทานเสร็จแล้วเราก็ได้ทำบุญด้วยการให้ เรียกว่า "ทานมัย" จากนั้นเมื่อเราแบ่งส่วนบุญนั้นให้กับผู้อื่น เราก็ได้ทำบุญอีกครั้ง เรียกว่า "ปัตติทานมัย"

    7. "ปัตตานุโมทนามัย" เป็นการทำบุญด้วยการยินดีในบุญที่ผู้อื่นได้ทำแล้ว ถือเป็นการทำบุญที่ง่ายมากที่สุด เช่น เพื่อนไปทำบุญตักบาตรมา แล้วเราปลื้มใจที่เห็นเพื่อนทำบุญ เราอนุโมทนาบุญนั้นด้วยการยกมือพนมพูดว่า "สาธุ" เพียงแค่นี้เราก็ได้ทำบุญอย่างหนึ่งแล้ว

    8. "ธัมมัสสวนมัย" เป็นการทำบุญด้วยการฟังธรรม ไม่ว่าจะฟังธรรมโดยตรงจากพระสงฆ์ ฟังหรืออ่านจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือ อินเตอร์เน็ต ก็ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง

    9. "ธัมมเทสนามัย" เป็นการทำบุญด้วยการแสดงธรรม ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นพระสงฆ์ แต่เป็นประชาชนธรรมดาเราก็สามารถทำบุญด้วยวิธีนี้ได้ เช่น เราอ่านหนังสือธรรมะแล้วรู้ว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนเลว เมื่อเห็นคนทำสิ่งเลว เรานำธรรมะที่ได้อ่านนั้นไปอธิบายให้เขารู้ นั่นก็ถือว่าเราได้ทำบุญอย่างหนึ่ง

    10. “ทิฏฐุชุกัมม์” เป็นการทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง ให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หรือ "สัมมาทิฐิ" ในอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง
    จะเห็นได้ว่าการทำบุญทั้ง 10 วิธีที่กล่าวมานั้น มีเพียงวิธีแรก คือ "ทานมัย" เท่านั้นที่ต้องมีต้นทุนหรือมีค่าใช้จ่าย ส่วนวิธีอื่นๆ ที่เหลือไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลยสักบาทก็สามารถทำได้ และที่สำคัญอานิสงส์ของการทำบุญด้วยวิธี "ทานมัย" ยังน้อยที่สุดในบรรดา "บุญกิริยาวัตถุ หมวด 3" ด้วย


    อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธเราทุกวันนี้กลับติดกับดักของการทำบุญอยู่เพียงแค่วิธีแรก ถ้านึกจะทำบุญก็นึกกันได้แต่เพียง การตักบาตร ถวายสังฆทาน ถวายปัจจัยให้พระ ถวายเงินให้วัด เป็นต้น โดยไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าการตั้งใจถือศีล 5 ให้ครบสมบูรณ์เพียงหนึ่งวัน หรือตั้งใจนั่งสมาธิด้วยจิตสงบเพียงหนึ่งชั่วโมง นั้นมีอานิสงส์ของบุญที่มากกว่าเป็นไหนๆ แต่จะโทษพุทธศาสนิกชนไปทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะวัดหรือพระสงฆ์บางส่วนที่โลภอยากได้ทรัพย์ ก็พยายามมุ่งเน้นให้คนทำบุญด้วย "ทานมัย" ดังเช่นคำพูดที่ว่า "ยิ่งบริจาคมาก ยิ่งขึ้นสวรรค์ชั้นสูง" โดยละเลยที่จะอบรมสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนรู้ว่ายังมีวิธีการทำบุญวิธีอื่นที่ดีกว่าอยู่


    ดังนั้นเมื่ออ่านมาจนจบแล้ว เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนที่ดีทุกท่าน คงจะหลุดจากกับดัก และรู้กันแล้วว่า การทำบุญแบบไหนที่เหมาะสมกับเรา หรือเราสามารถทำได้มากที่สุด




    ที่มาข้อมูล : www.thumboon.com
    http://th.wikipedia.org
    พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

  2. #2
    เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สัญลักษณ์ของ เเมงสะดิ้ง
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    ที่อยู่
    ที่ชอบ
    กระทู้
    1,025
    บล็อก
    24

    ธรรมะ คือหลักประกันชีวิต

    "ธรรมะ คือหลักประกันชีวิต
    ธรรมะ คือเครื่องชำระจิตให้ผ่องใส
    ธรรมะ คือกำแพงป้องกันภัย
    ธรรมะ คือนาวาลำใหญ่สู่นิพพาน"


    คัดลอกข้อความมาจากหนังสือ:ปริวรรตพิธีกรรม
    คู่มือชาวพุทธ เจ้าอาวาส มัคคนายก โฆษก พิธีกร
    โดย...พระราชวิจิตรปฏิภาณ


    อนุโมทนา...สาธุบุญด้วยค่ะ


    ธรรมะ คือหลักประกันชีวิต
    สะดิ้งคือน้องได้ยินเสียงฆ้องกะแล่นตำ

  3. #3
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ บ่าวแกดำ
    วันที่สมัคร
    Feb 2009
    กระทู้
    16
    หัวใจพุทธศานา : ทำความดี , ละเว้นความชั่ว , ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องแผ่ว (จากกิเลสและตัณหา)

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •