ใครที่ผ่านไปทาง ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี อาจจะแปลกใจที่เห็นตาชั่งและมีหัวมันอยู่บนตาชั่งหน้าโครงการส่วนพระองค์ในชื่อ โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ

โครงการชั่งหัวมัน

โครงการส่วนพระองค์นี้มีเนื้อที่ครอบคลุม 250 ไร่ เป็นเงินจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ซื้อจากชาวบ้าน มีชาวบ้านที่มาเข้าเฝ้า ติดเอาหัวมันมาด้วย และลืมทิ้งไว้ ต่อมาหัวมันก็งอกเป็นต้นขึ้นมา จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการชั่งหัวมัน ภายในโครงการจะมีพืชเศรฐกิจที่ปลูกหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว รวมทั้งมันเทศ

โครงการชั่งหัวมัน

ชื่อโครงการชั่งหัวมันถือได้ว่าเป็นชื่อโครงการที่แปลก ชวนให้คิดตีความว่าชื่อนี้มีความหมายอะไร ถ้าตีความหมายตามสำนวนไทย ชั่งหัวมัน (ช่างหัวมัน) ก็หมายถึง “ไม่ต้องไปสนใจ อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด ใครจะทำอะไรก็ทำไป เราไม่ต้องไปใส่ใจ” พระองค์ท่านเป็นนักปราชญ์มีสายพระเนตรยาวไกลและความคิดที่ลึกซึ้ง ชั่งหัวมันจึงเป็นชื่อที่สื่ออะไรที่มีความหมายลึกซึ้งมากยิ่งกว่าแค่เอาหัวมันมาชั่ง

โครงการชั่งหัวมัน

อาจารย์ยักษ์ขอตีความตามแบบฉบับอาจารย์ยักษ์ว่า ท่านกำลังบอกให้เรากลับมา “หา” สิ่งที่สำคัญ จำเป็นพื้นฐานของชีวิต ใครอยากจะเจริญทันสมัย มีไฮไฟ มีอินเทอร์เน็ต มียานอวกาศไปถึงพระจันทร์ ดาวอังคาร มุ่งหาแต่ความเจริญทางวัตถุ หาทรัพย์สินเงินทองก็ปล่อยเขาไป ไม่ต้องไปสนใจ เรากลับมาหาสิ่งที่สำคัญ จำเป็นพื้นฐานของชีวิตให้ชีวิตเรามีพออยู่พอกินมีอาหาร ไม่ต้องเป็นเสืออย่างคนอื่น แต่มีความสุขก็พอแล้ว

เช่นเดียวกับ "หัวมัน" เป็นพืชใต้ดินที่ไม่มีใครเห็น ดูๆ ไปแล้ว ก็มิได้มีค่าอะไร เป็นพืชที่ขึ้นง่าย ขึ้นในทุกสภาพภูมิอากาศ แม้ในที่ที่แล้งที่สุด หัวมันก็ยังขึ้นได้ หัวมันจึงเป็นสัญลักขณ์ของสิ่ง “มีค่า” ในยามวิกฤติที่สุด ไม่มีข้าว ไม่มีปลา ก็ยังมีหัวมันที่เราสามารถใช้ประทังชีวิตได้

ถ้าใครคิดว่า “หัวมัน” นั้นไร้ค่า เป็นอาหารชั้นสอง ก็ลองมาฟังเรื่องจริงก็มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นเจ้าของเกียวโตแบงก์ ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากหัวมัน ในคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม การสู้รบยาวนานในสงครามทำให้ผู้คนในประเทศญี่ปุ่นอดอยากอยากแค้น เศรษฐีญี่ปุ่นเจ้าของธนาคารเกียวโตผู้นี้ในยุคนั้นก็เป็นชาวไร่ชาวนาที่ปลูกมัน แต่ความอดอยากทำให้เจ้าของที่ดินหลายรายในยุคนั้นเอาที่ดินมาแลกกับหัวมันเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด

หลังสงครามที่ทุกอย่างสงบ จากชาวไร่ชาวนาธรรมดาที่ปลูกหัวมัน เจ้าของธนาคารเกียวโตผู้นี้ก็เปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นเจ้าของที่ดินมูลค่ามหาศาลและจากเจ้าของที่ดินก็กลายมาเป็นนายธนาคารที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

ใครจะรู้ว่า หัวมัน ที่ไร้ค่าก็สามารถเปลี่ยนชะตาชีวิตคนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้!!
แต่ หัวมัน ที่อาจารย์ยักษ์ให้ลูกศิษย์ลูกหาช่วยกันระดมปลูกในขณะนี้มิได้ปลูกเพื่อหวังร่ำหวังรวยเหมือนนายธนาคารญี่ปุ่นผู้นี้ แต่หัวมันนี้จะเป็นหัวมันบุญ ที่เอื้อให้ผู้คนอยู่รอดในยามวิกฤติ แร้นแค้น

หากใครผ่านสงครามมา ผ่านภัยพิบัติธรรมชาติมาก็จะรู้ดีว่า ในภาวะแบบนั้นที่ผู้คนไม่สามารถทำมาหากินได้ปกติ ข้าวปลาอาหาร พืชผักผลไม้ต่างๆ จะกลายเป็นของหายาก หรืออาจจะหาไม่ได้เลย หัวมันที่เคยไร้ค่าอยู่ใต้ดินจะเป็นสิ่ง มีค่า สำหรับการมีชีวิตอยู่รอดทันที

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเรามาช่วยกันปลูก หัวมัน ตามโครงการชั่งหัวมันของพระองค์ท่านกันเถอะ

ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่ง หัวมันของเราอาจจะช่วยชีวิตผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนก็ได้
ถึงเวลานั้นหัวมันที่เราปลูกก็จะเป็น หัวมัน ที่ให้ผลบุญติดตัวผู้ปลูกไปชั่วชีวิตเลยทีเดียว!

"อาจารย์ยักษ์ ณ มหา’ลัยคอกหมู"

ที่มา : คมชัดลึก