เจ้าของกับคดีบุกรุก


หลายท่านซึ่งมีบ้านหรือที่ดินไว้ให้เช่าอาจเคยประสบปัญหาผู้เช่าไม่ยอมจ่ายค่าเช่าและยังคงอยู่ต่อไปอย่างท้าทาย หรือ ทำละเมิดสัญญาเช่าข้ออื่นอันเป็นเหตุให้เจ้าของจำต้องให้ออกจากสถานที่เช่า แต่ผู้เช่ามีทีท่าดื้อดึงไม่ยอมออกง่ายๆ บางท่านถึงขั้นเข้าไปขนย้ายข้าวของซึ่งเป็นของผู้เช่าออกไปจากบ้าน ทำให้ถูกแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกกับตำรวจ เจ้าของบ้านกลับกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีบุกรุกไปในท้ายที่สุด


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับความผิดอาญาฐานบุกรุกซึ่งบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ ว่า "ผู้ใดเข้าไป ในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"


สำหรับกรณีตัวอย่างในที่นี้ คือ การเช่าบ้าน เมื่อมีการทำละเมิดสัญญาเช่า เช่น ค้างค่าเช่า ก่อความเสียหายแก่บ้านเช่าเกินเหตุ เป็นต้น หากผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าและให้ผู้เช่าออกไป แต่เขายังดื้อดึงอยู่อาศัยต่อไป ทำให้ผู้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเดือดดาลใจจนกระทั่งบุกเข้าไปรื้อย้ายสิ่งของที่เป็นของผู้เช่าในบ้านพิพาท ขอให้พึงเข้าใจด้วยว่า การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการเข้าไปกระทำการใดๆเพื่อรบกวนการครอบครองบ้านพิพาทของผู้เช่าโดยปกติสุข อันเป็นการกระทำผิดฐานบุกรุกทันที แม้ว่าท่านจะเป็นเจ้าของบ้านก็ตาม เพราะการขับไล่ออกจากบ้านเช่าหลังจากเลิกสัญญาเช่าอันเป็นกรณีทางแพ่งต้องกระทำตามขั้นตอนของกฎหมายเท่านั้น นอกเหนือจากผู้เช่ายอมปฏิบัติตามเองแล้ว เจ้าของบ้านต้องฟ้องคดีขับไล่โดยอาศัยสัญญาเช่าเป็นหลักซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะได้บ้านคืนมา ทำให้ผู้เช่าอาศัยบ้านเช่าต่อไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งอาจสร้างความอึดอัดใจแก่เจ้าของหรือผู้ให้เช่าอย่างมาก กฎหมายบัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้สุจริต จึงมีหนทางบรรเทาความเสียหายไว้เช่นกัน

ดังนั้น ศาลมีคำพิพากษาฎีกาสำหรับกรณีดังกล่าว คือ คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๒๕/๒๕๔๑ ข้อตกลงล่วงหน้าระหว่าง ผู้ให้เช่ากับผู้เช่าที่ว่า หากผู้เช่าทำผิดสัญญาข้อใด จักยินยอมให้ผู้ให้เช่าเข้าครอบครองห้องเช่าได้ทันที ใช้บังคับกันได้ ดังนั้น ผู้ให้เช่าย่อมมีอำนาจใช้สิทธิเข้ายึดถือครอบครองตึกแถวที่ให้เช่าได้โดยชอบตามที่ตกลงกันไว้


กรณีศึกษาข้างต้นนี้ คงเป็นวิธีการหนึ่งในการปกป้องสิทธิของผู้ให้เช่าในการดูแลทรัพย์สินของตัวเองได้ดีกว่าการใช้กำลังแก้ปัญหา ซึ่งอาจทำให้ท่านต้องถูกดำเนินคดีบุกรุกบ้านของตัวเอง ดังนั้น ในการทำสัญญาเช่าทุกครั้ง ผู้ให้เช่าพึงกำหนดสิทธิดังกล่าวไว้ในสัญญาเช่าเพื่อป้องกันการถูกฟ้องคดีบุกรุกให้ต้องเจ็บใจภายหลัง และพึงระลึกด้วยว่า กฎหมายคุ้มครองผู้สุจริตเสมอ ทุกวิธีซึ่งใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งกันต้องอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมาย สังคมจึงสงบสุขได้




ที่มา:
www.siamlaw.com โดย คุณ ลีลา LAW