ปฏิปทาของนักปฏิบัติธรรม อ.ไชย ณ พล***
ดังที่ทราบแล้วว่า จิตสำนึกแท้ของเราเท่านั้น
เป็นจิตอันผุดผ่องแท้โดยธรรม

สำหรับกิเลสตัณหา อุปาทาน
เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาแฝง เข้ามาสิง เข้ามาครอบงำจิตอยู่
จนทำให้ชีวิตต้องดิ้นไปในดงทุกข์
เหยียบขวากหนามของความขมขื่นนานาประการ
ซวนเซเถลไถลล้มลุกคลุกคลาน จนเกิดอารมณ์ต่างๆ
สร้างความเศร้าหมอง ให้แก่จิตใจ

ซึ่งสิ่งเศร้าหมองเหล่านั้นได้แก่

*ความโลภ ความโกรธ ความพยาบาท ความเบียดเบียน
ความลบหลู่คุณคน ความริษยา ความตระหนี่หวงแหน
มารยา ความถือตัว ความมัว และความประมาท เป็นอาทิ *

สิ่งโสมมเหล่านี้ทำให้ชีวิตต้องโศก
โลกก็เลยเศร้าเร้นลึก

ซึ่ง กิเลส ตัณหา อุปทานอันเป็นสิ่งสกปรกนี้
มิใช่สิ่งปรารถนาของใคร มันไม่ใช่ธาตุแท้ของผู้ใด
มิใช่สิ่งเอื้อต่อความสุขตามธรรม
มันเป็นเพียงแขกจรเข้ามาเท่านั้น

*แต่ความเขลาทำให้เราไปบำรุงบำเรอมัน
เสียจนอ้วนพี มีกำลังวังชา แล้วยึดครองใจเราไปเสียได้*

*ดังนั้นวัตรปฏิปทา ที่หลวงพ่อคงท่านแนะนำ
จึงมุ่งเน้นที่การขับไล่แขกจรอันเลวร้าย
กล่าวคือ กิเลส ตัณหา และอุปทานเหล่านั้น
ให้ปราศไป นำอิสรภาพของใจให้กลับคืนมา
คงเอกภาวะอันผุดผ่องตามเดิม *

การที่จะขับไล่ซาตานที่ครอบครองใจอยู่มานานออกไปได้นั้น

*เราจะต้องสร้างจิตใจให้มี อำนาจ (บารมี) เข้มแข็ง
ความแก่กล้าในธรรม (อินทรีย์)
เจริญสติ (ความล่วงรู้) ให้ตั้งมั่น
และรักษา สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) ไว้ให้บริบูรณ์

จึงจะมีพละกำลังพอที่จะเอาชนะอวิชชา
และอุปทาน ตัณหา กิเลส
ซึ่งเป็นลูกหลาน เหลน โหลน ของอวิชชาเสียได้*

ด้วยเหตุนี้ ปฏิปทาของนักปฏิบัติธรรม
จึงค่อนข้างเคร่งครัดในการบริโภค
*การนอน การพูด การบำเพ็ญตบะ
และสามัคคีธรรมในหมู่คณะ* ดังนี้


*• ก า ร บ ริ โ ภ ค อ า ห า ร*

*นักปฏิบัติควรบริโภคอาหารวันละ ๑ หรือ ๒ ครั้ง
เป็นอาหารที่วิรัติจากการเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
บริโภคโดยการสำรวมคือนำอาหารทุกอย่างใส่ภาชนะเดียวกัน
คลุกเคล้าให้เข้ากันเพื่อทำลายรสจำเพาะที่พอใจ หรือไม่พอใจ
ใครจะผสมน้ำเพื่อให้รสเจือจางลงด้วยก็ได้ *

อาหารที่ไม่เบียดเบียน ไม่สั่งฆ่า ไม่มีส่วนในกรฆ่า
คือวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดของนักปฏิบัติธรรม
พึงสังวรไว้ว่า เรากำลังจะตัดกรรมตัดเวร
ที่ได้เบียดเบียนปวงสัตว์น้อยใหญ่มาเป็นเวลานาน
จนต้องชดใช้กรรมกันอยู่

*ดังนั้นต่อไปนี้จงตั้งปณิธานให้แน่วแน่ว่า
เราจะไม่ทำลายชีวิตสัตว์ แม้แมลงตัวน้อยให้ล่วงไป
เราจะไม่เบียดเบียนชีวิตใดใด
และใครฆ่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อมาให้เราเป็นเฉพาะ
เราก็จะไม่บริโภคเนื้อสัตว์นั้น *

ญาติโยมที่จะถวายภัตตาหารแก่สงฆ์
ก็พึงถวายแต่หารที่เว้นจากการเบียดเบียนเท่านั้น
เพราะการฆ่าสัตว์ถวายเนื้อแก่สงฆ์เป็นบาปใหญ่
ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในชีวกสูตรไว้ว่า

“ผู้ฆ่าสัตว์อุทิศพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต
ย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากโดยฐานะ”



คือ

*๑. ข้อที่กล่าวว่า จงไปสัตว์ตัวโน้นมา
สัตว์นั้นถูกลากคอมา ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส

๒. ข้อที่กล่าววาจาฆ่าสัตว์ตัวนี้
เมื่อสัตว์ถูกฆ่าย่อมเสวยทุกข์โทมนัส

๓. คนย่อมรุกรานพระตถาคต และสาวกแห่งพระตถาคต
ด้วยเรื่องเนื้อสัตว์อันไม่สมควร*

*การบริโภคอาหารตามปฏิปทานี้
เป็นการเกื้อกูลแก่กรรมฐานโดยตรง *

ด้วยการบริโภคปริมาณน้อย

ทำให้ให้เกิดกามราคะ ทำให้ไม่เกิดถีนมีทธะ
การบริโภคอาหารที่ไม่เบียดเบียน
ทำให้ไม่เกิดกำหนัดราคะ
ทำให้ไม่เกิดบ่วงเวรกับสัตว์ทั้งปวง
ทำให้เมตตาเจริญเป็นต้น

*แต่หากใครยังรู้สึกว่าปฏิบัติได้ยาก
ด้วยมีความอยากในรสอาหาร
หรือปรารถนาปริมาณมากๆ ก็พึงลงอดอาหารดู*




*• ก า ร อ ด อ า ห า ร*

*มิใช่จะสนับสนุนให้ทุกคนอดอาหาร*

แต่สำหรับบุคคลที่ถูกกิเลสครอบงำอยู่โดยมาก
เห็นอาหารที่ชอบก็น้ำลายไหล
ได้รับอาหารน้อยก็กระสับกระส่วย
การควรลองงดการบริโภคลงบ้าง เพื่อประโยชน์ต่อไปนี้

*๑. พิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกาย*

*๒. เจริญความอดทนเพื่อขัดกิเลส*

ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“ความอดทนเป็นครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง”

*๓. เจริญความเพียรเพื่อขุดกิเลส *

ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“ความเพียรเป็นเครื่องขูดกิเลสหาย”

*๔. เข้าถึงความอยู่รอดได้โดยไม่มีอาหารไดยไม่หวั่นไหว*

ดังพุทธภาษิตเปรียบเทียบว่า

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีความอดทนไม่หวั่นไหว
เสมือนช้างหลวงของแผ่นดิน ในข้อที่ว่า
เมื่อไม่ได้รับหญ้า น้ำ แม้วันหนึ่ง สองวัน หรือสามวัน
ก็ย่อมไม่สะทกสะท้าน”

*๕. พัฒนาอำนาจจิตให้กล้าแข็ง *

ในขณะที่อดอาหารนั้น
ร่างกายจะไม่ได้เคลื่อนจากพลังจากสารอาหาร
เพราะไม่ได้รับอาหาร แต่เคลื่อนไหวด้วยอำนาจจิตโดยตรง
(ช่วงนี้นักปฏิบัติจะเห็นอำนาจจิตได้ชัด)

*ด้วยเหตุนี้จะทำให้จิตกล้าแข็งขึ้นมาก
นี่คือเหตุผลที่มุนีผู้บำเพ็ญอิทธิฤทธิ์ทั้งหลาย
มักบริโภคอาหารแต่น้อย
ควรฝึกฝนจิตใจให้อยู่เหนือความเคยชิน *

*๖. เมื่อผ่านการอดอาหารมาระยะหนึ่งแล้ว
จะพบความเป็นจริงที่ว่า
แท้จริงแล้ว ความหิวและความอยากในรสอาหาร
ล้วนเป็นอารมณ์ที่ปรุงแต่งยึดถือกันจนเคยชินเท่านั้น *



เมื่อกระจ่างดังนี้ ควรฝึกฝนจิตใจให้อยู่เหนือความเคยชิน
จากนั้นความอยาก และความติดใจในรสอาหาร
ก็จะจางคลายหายไป เมื่อเรารู้เท่าทันอนุกิเลสเหล่านี้แล้ว

*สำหรับการอธิษฐานอดอาหารนั้นมี ๕ ประการ คือ*

๑. อดอาหารขบเคี้ยว ดื่มแต่น้ำเปล่า

๒. อดอาหารขบเคี้ยว ดื่มแต่น้ำปานะและน้ำเปล่า

๓. อดอาหารหนัก รับประทานแต่ผักผลไม้และน้ำเปล่า
(เหมาะสำหรับคนที่ติดอุปาทานในข้าวว่า
ถ้าวันไหนไม่รับประทานข้างวันนั้นท้องไม่อิ่ม)

๔. งดอาหารคาวหวาน รับประทานแต่ข้าวเปล่าและน้ำเปล่า
(เหมาะสำหรับคนที่มีความอยากในรสอาหารต่างๆ)

๕. จำกัดจำนวนคำที่บริโภค เช่น ๓๐ คำ บ้าง,
๒๐ คำบ้าง, ๑๐ คำบ้าง, ๗ คำบ้าง ๓ คำบ้าง เป็นต้น
(เหมาะสำหรับคนที่ชอบรับประทานในปริมาณมาก)

*สำหรับจำนวนวันในการอดอาหารนั้น
ขึ้นอยู่กับความมั่นใจของแต่ละคน
บางคนอาจอธิษฐานอด ๓ วัน, ๕ วัน, ๗ วัน, ๙ วัน
ตามที่เห็นเหมาะสมกับตนเอง

สำหรับนักปฏิบัติใหม่ไม่ควรอดเกิน ๕ วัน*