20 เคล็ดลับสำหรับแม่ทำงาน
แต่ไหนแต่ไรมา ผู้หญิงเราก็ล้วนแล้วแต่ต้องให้นมลูกไปด้วยทำงานไปด้วย แม่ ๆ เมื่อหลายร้อยปีก่อนก็มีงานที่ต้องรับผิดชอบมากมายนอกเหนือจากการให้นมลูก แม้แต่แม่ยุคใหม่ที่วัน ๆ อยู่บ้านก็ใช่ว่าจะเลี้ยงลูกแค่อย่างเดียว ไหนจะต้องรับผิดชอบงานบ้านอันแสนจะยุ่งเหยิง ไหนจะต้องรับมือกับเจ้าตัวเล็ก อันที่จริงแล้วการจัดสรรเรื่องงานกับการให้นมลูกก็ไม่ใช่แนวความคิดใหม่เอี่ยมถอดด้ามอะไร ผู้หญิงยุคนี้จำนวนมากจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน แต่ถึงจะกลับไปทำงานแล้ว แม่ ๆ ที่ทำงานก็ยังให้นมแม่กับเจ้าตัวน้อยต่อไปได้ คราวนี้เรามีกลเม็ดเคล็ดลับ 20 วิธีสำหรับแม่ทำงานมาแนะนำกัน

ช่วงลาคลอด

1. มุ่งมั่นว่าเราต้องทำได้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย บางวันอาจจะมีความรู้สึกแวบเข้ามาในใจคุณว่านี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่นี่ ทำไมถึงต้องลำบากขนาดนี้ แล้วที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงซะขนาดนี้นี่คุ้มค่าหรือเปล่ากันแน่นะ คุณจะมีความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดเจ้าปั๊มเพื่อนยากกลับไปกลับมาเป็นพัก ๆ ไหนจะน้ำนมที่ไหลเปียกเสื้อผ้าให้ต้องอับอายขายขี้หน้า ไหนจะขี้ปากเพื่อนร่วมงานที่ไม่ช่วยแล้วยังคอยแต่จะพูดให้เสียกำลังใจ บางครั้งคุณอาจจะถึงขนาดอยากโยนปั๊มทิ้งไปแล้วหันไปคว้านมผงมาชงแทนซะให้รู้แล้วรู้รอดไป แต่ช้าก่อน เชื่อเถอะว่าถ้าลองคุณตั้งใจมุ่งมั่นว่าเราต้องทำได้แล้ว อุปสรรคอะไรก็หยุดคุณไม่ได้ และถ้าคุณเชื่อซะอย่างว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำคัญสำหรับทั้งคุณและลูก อะไรก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แถมหลังเลิกงานและวันหยุด คุณก็ยังสามารถให้ลูกดูดนมจากอกคุณได้เหมือนเมื่อตอนก่อนกลับไปทำงานโดยไม่ต้องง้อขวดนมอีกด้วย

คุณอาจจะกังวลว่าการให้นมแม่ต่อหลังกลับไปทำงานแล้วเป็นเรื่องยุ่งเกินกว่าจะรับไหว หรืออาจจะเคยได้ยินเพื่อนบางคนเล่าให้ฟังถึงความยากลำบากในการปั๊มนมและจัดสรรเวลาการให้นมลูก การทำงานควบคู่ไปกับการดูแลเด็กเล็ก ๆ เป็นเรื่องยาก คุณต้องวิเคราะห์ทางเลือกที่คุณมีอยู่ทั้งหมด แล้ววางแผนว่าจะจัดการกับมันอย่างไรจึงจะดีที่สุด ถ้ายังลังเลอยู่ว่าจะให้นมแม่ต่อหลังกลับไปทำงานดีไหม ก็อาจจะตั้งเป้าทดลองดูอย่างน้อยซัก 30 วัน จะได้มีเวลามากพอจะหาทางออกให้กับปัญหาที่คุณพบเจอ แล้วคุณจะรู้ว่ารางวัลที่คุณกับเจ้าตัวน้อยของคุณได้รับมันคุ้มค่าขนาดไหน เชื่อเถอะน่า ว่าคุณทำได้

2. สร้างความผูกพัน เลิกตั้งคำถามประเภท “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า...” เช่น “ถ้าลูกไม่ยอมดูดนมขวดล่ะ จะทำยังไง” “ถ้าลูกติดนมแม่ ต้องให้ดูดถึงจะยอมนิ่งล่ะ” “ตอนอยู่บ้านก็ปั๊มได้แค่ติดก้นขวด กลับไปทำงานจะปั๊มพอให้ลูกกินได้ยังไงกัน”

อย่าให้ความวิตกกังวลพวกนี้มาขัดขวางช่วงเวลาของคุณกับลูกในสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอด ปัญหาทุกอย่างมีทางออก การวางแผนล่วงหน้าเป็นเรื่องดี แต่ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวมากมายเกินเหตุ อย่าให้ความวิตกกังวลเรื่องการกลับไปทำงานมาทำให้ช่วงเวลาดี ๆ ของการเป็นแม่เต็มตัวในระหว่างที่ลาคลอดเสียไป ถึงจะลาคลอดได้แค่แป๊บเดียวก็ไม่เป็นไร ใช้เวลาช่วงสั้น ๆ นี่แหละสร้างสายใยความผูกพันกับเจ้าตัวน้อยซะให้คุ้มค่า นึกเสียว่าเหมือนกับไปฮันนีมูนนั่นแหละ ใช้เวลาด้วยกันให้เต็มที่ พยายามให้มีเรื่องเข้ามารบกวนให้น้อยที่สุด โอกาสแบบนี้ผ่านไปแล้วไม่มีกลับมาอีกเป็นรอบสอง เพราะฉะนั้น จงตักตวงช่วงเวลานี้เอาไว้ให้มากที่สุด ตู้เสื้อผ้าที่รกรุงรังนั่นเก็บเอาไว้จัดปีหน้าหรืออีกห้าปีข้างหน้าก็ยังไม่สาย ให้เวลาทั้งหมดของคุณกับลูกน้อยของคุณ ช่วงสัปดาห์แรก ๆ หลังคลอดนี่แหละที่เป็นเวลาที่แม่จะตกหลุมรักลูกจนหมดหัวใจ และการที่คนซึ่งเพิ่งจะรักกันสองคนจะรู้จักกันดีขึ้นก็ต้องอาศัยเวลาซักพัก

ถ้าถามว่าแล้วมันทำให้แม่ทำใจยากขึ้นเวลาต้องกลับไปทำงานไหมล่ะ ก็อาจจะใช่ แม่บางคนพยายามทุกวิถีทางที่จะยืดเวลาที่จะได้อยู่กับลูกให้นานขึ้น แม่ที่ใช้เวลาอยู่กับลูกเต็มที่ในช่วงแรกนี้ เมื่อกลับไปทำงานจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาสายสัมพันธ์อันนี้ไว้ และผลดีก็ตกกับลูกเต็ม ๆ

3. เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง ยิ่งคุณทำให้การให้นมลูกในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ราบรื่นเท่าไร โอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จในการให้นมต่อหลังกลับไปทำงานก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ให้ลูกดูดนมเร็วที่สุดหลังคลอด และพยายามกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมให้ได้มาก ๆ การให้ลูกดูดนมทุกครั้งตามที่เขาต้องการจะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากพอสำหรับลูก เจ้าตัวเล็กยังต้องฝึกดูดนมให้เก่ง เพื่อจะได้ไม่เกิดอาการสับสนเมื่อต้องดูดจุกนมยางภายหลัง เรียนรู้เรื่องการให้นมลูกให้ได้มากที่สุดในช่วงนี้ มันจะช่วยให้คุณแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังได้ง่ายขึ้น

ลางานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งลาได้นานเท่าไร ก็ยิ่งให้นมต่อหลังกลับไปทำงานได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ใช้วันลาพักร้อนหรืออะไรก็ได้ที่มี ถ้าพอจะลาแบบไม่รับเงินเดือนต่อได้ยิ่งดี (เงินเดือนที่เสียไปอาจจะกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดที่คุณเคยทำมาก็ได้) ถ้าหางานแบบพาร์ทไทม์ทำได้ ก็จะช่วยให้การให้นมลูกต่อทำได้ง่ายขึ้น หากลูกของคุณจำเป็นต้องได้รับนมแม่เพราะคลอดก่อนกำหนดหรือเป็นภูมิแพ้ อาจจะขอให้คุณหมอช่วยออกใบรับรองแพทย์ให้คุณลางานได้ยาวขึ้นอีกซักหน่อย



วางแผนกลับไปทำงาน



4. ศึกษาทางเลือกที่มีอยู่ ลองนึกดูว่าคุณมีทางเลือกอะไรอยู่บ้างหลังกลับไปทำงาน

o พาลูกไปด้วย แม่ที่ทำธุรกิจส่วนตัวอาจพาลูกไปเลี้ยงที่ที่ทำงานด้วย หาที่เหมาะ ๆ สำหรับให้เจ้าตัวเล็กนอน เปลี่ยนผ้าอ้อม และคลานเล่น แค่นี้ก็เรียบร้อย

o ใช้เป้อุ้ม จะได้ทำงานบางอย่างไปได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นขายของ จัดเอกสาร ทำคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งเข้าประชุม อาจจะทำให้ต้องทำงานนานขึ้นหน่อยหรือได้เงินน้อยหน่อย แต่ก็ช่วยประหยัดค่าจ้างคนที่มาช่วยดูแลลูกได้ แถมแม่กับลูกก็จะมีความสุขมากกว่าด้วย อีกหน่อยพอเจ้าตัวเล็กเริ่มคลานได้คุณอาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น แต่ถึงตอนนั้นลูกก็กินอาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่ได้แล้ว

o ทำงานที่บ้าน การทำงานที่บ้านเริ่มแพร่หลายมากขึ้นตั้งแต่มีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ บางคนอาจจะทำงานที่บ้านสัปดาห์ละวันสองวัน และเข้าสำนักงานในวันที่เหลือ บางคนอาจจะทำงานช่วงที่ลูกหลับ หรือไม่ก็เข้านอนดึกหน่อย ตื่นให้เช้าขึ้น แม่บางคนวางลูกไว้ใกล้ ๆ หรือไม่ก็บนตักระหว่างที่ตัวเองทำงาน (ระวังมือเจ้าตัวเล็กไปถูกแป้นพิมพ์ล่ะ) แม่บางคนอาจจะหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลลูกระหว่างที่ตัวเองทำงาน แล้วค่อยไปให้นมเวลาที่ลูกหิว

o หาที่เลี้ยงลูกในที่ทำงาน นายจ้างบางรายใจดีจัดให้มีที่เลี้ยงเด็กไว้ในที่ทำงาน แม่สามารถจะเดินไปให้นมลูกได้ช่วงพักหรือให้พี่เลี้ยงโทรมาตามเวลาที่ลูกหิวนม หรือคุณอาจนัดกับพี่เลี้ยงว่าจะไปให้นมลูกได้ช่วงไหน เขาจะได้ไม่ให้นมลูกจนอิ่มไปซะก่อน

o หาที่เลี้ยงลูกใกล้ที่ทำงาน พ่อแม่บางคู่พยายามหาเนอร์สซารีใกล้บ้าน ทั้ง ๆ ที่บางครั้งเนอร์สซารีใกล้ที่ทำงานน่าจะดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องใช้เวลาเดินทางไปทำงานนาน ๆ ถ้าเนอร์สซารีอยู่ใกล้ที่ทำงาน แม่อาจจะเดินไปให้นมลูกได้ในบางมื้อ ให้ลูกดูดนมที่เนอร์สซารีตอนไปส่งช่วงเช้าและตอนรับกลับช่วงเย็น อันนี้จะช่วยให้คุณลดปริมาณนมที่คุณต้องปั๊มระหว่างวันลงไปได้

o พาลูกไปหาแม่ บางครั้งอาจจะเป็นไปได้ที่จะให้คนเลี้ยง ซึ่งอาจจะเป็นพ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่เลี้ยง ใครก็ได้ที่พร้อมยอมลำบากเดินทางเพื่อสุขภาพและความสุขของเจ้าตัวเล็ก อุ้มลูกไปหาแม่ในช่วงพักกลางวันหรือช่วงอื่น ๆ ตามแต่จะสะดวก หรือจะนัดเจอกันครึ่งทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานก็ได้

o งานพาร์ทไทม์ การใช้เวลาอยู่ห่างลูกให้น้อยที่สุดจะช่วยให้คุณให้นมลูกได้ง่ายขึ้น แม่หลายคนเลือกทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างที่ลูกยังเล็ก บางคนค่อย ๆ เพิ่มเวลาทำงานขึ้นอย่างช้า ๆ จนทำเต็มเวลาเมื่อตัวเองและลูกพร้อม

5. ยืดหยุ่นให้มาก ๆ เด็กทารกมักจะมีวิธีทำให้แม่หลุดออกจากแผนชีวิตในเรื่องหน้าที่การงานที่วางเอาไว้ได้เสมอ คาดไว้ก่อนได้เลยว่าคุณอาจจะต้องเปลี่ยนปั๊ม เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนพี่เลี้ยง แม้กระทั่งเปลี่ยนงานใหม่ พยายามยืดหยุ่นให้มากที่สุดในการวางแผนกลับไปทำงานและให้นมลูก ความต้องการของคุณเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ลูกก็เหมือนกัน ถ้าวิธีที่คุณเคยใช้ได้ผลเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนใช้ไม่ได้วันนี้ หาวิธีใหม่ซะ เด็ก ๆ จะมีความต้องการและความชอบที่ต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย

คุณอาจจะแปลกใจว่าทำไมคุณถึงได้ติดลูกมากขนาดนั้น รู้สึกว่าการที่ต้องอยู่ห่างจากลูกเป็นเรื่องทำใจยากกว่าที่คิด คุณอาจจะเครียดและเหนื่อยเกินกว่าจะรับไหว พ่อแม่หลายคู่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และเป้าหมายชีวิตในเรื่องงานของตัวเองไปในช่วงที่เลี้ยงลูกที่ยังเล็ก อย่ากลัวที่จะมองหาทางเลือกใหม่ที่คุณอาจจะไม่สนใจมาก่อนที่จะมีลูก ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากงาน หางานใหม่ที่มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น เริ่มทำธุรกิจส่วนตัว หรือแม้กระทั่งเปิดเนอร์สซารีรับดูแลลูกให้คนอื่นไปพร้อม ๆ กับเลี้ยงลูกไปด้วย

6. หาพี่เลี้ยงเด็กที่ยินดีสนับสนุนเรื่องนมแม่ ถ้าเป็นไปได้ควรจะเริ่มมองหาไว้เนิ่น ๆ ตั้งแต่ช่วงท้อง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปวิ่งหาแทนที่จะได้อยู่กับลูกเต็มที่หลังคลอด บอกพี่เลี้ยงที่เลือกเอาไว้ก่อนเลยว่าคุณอยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และจะขอบคุณมากถ้าเขาจะช่วยสนับสนุนคุณในเรื่องนี้มากเท่าที่จะทำได้

ถ้าพี่เลี้ยงไม่มีความรู้เรื่องนมแม่ที่คุณจะปั๊มให้ลูก ค่อย ๆ สอนเขาอย่างใจเย็น บอกเขาว่านมแม่มีประโยชน์กับลูกอย่างไร สอนให้เขารู้วิธีละลายและอุ่นนมแม่ (เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเลยก็น่าจะดี) จัดระบบการเตรียม เขียนฉลาก และจัดเก็บนมแม่ใส่ขวดให้ลูกไว้แต่เนิ่น ๆ พยายามทำให้ขั้นตอนพวกนี้ง่ายที่สุด พี่เลี้ยงจะได้มีเวลาไปดูแลลูกให้คุณมากกว่ามัวแต่มาวุ่นวายกับขวดนม ลองใช้เทคนิคต่อไปนี้เพื่อช่วยให้พี่เลี้ยงเตรียมนมได้เร็วขึ้น ลูกของคุณจะได้ไม่ต้องรอนานเวลาหิว

o นมแม่ที่แช่แข็ง ให้แยกแช่คราวละไม่มากนัก จะได้ละลายได้เร็วขึ้น

o ละลายนมแม่ที่จะใช้ในวันรุ่งขึ้นโดยการเอาออกจากช่องแช่แข็ง แล้วทิ้งไว้ข้ามคืนให้ละลายในช่องแช่เย็นธรรมดาด้านล่าง นมที่ละลายแล้วไม่ได้ใช้ภายใน 24 ชั่วโมงจะต้องทิ้งไป แต่ถ้าลูกคุณกินนมปริมาณค่อนข้างแน่นอนในแต่ละวันก็ไม่น่าจะมีปัญหา

o อาจให้พี่เลี้ยงลองป้อนนมแม่แช่เย็นจากตู้เย็นโดยไม่ต้องอุ่นก่อนดู ถ้าลูกยอมกินก็ให้กินได้เลย แต่เด็กส่วนใหญ่จะชอบนมอุ่น ๆ เหมือนกับที่ดูดจากเต้าของแม่มากกว่า

บอกกับพี่เลี้ยงว่าให้อุ้มน้องทุกครั้งเวลาป้อนนม และถ้าร้องหรือโยเยก็ให้อุ้มขึ้นมา ถ้าลูกไม่ยอมดูดนมจากขวด ลองอ่านหัวข้อ “วิธีฝึกให้ลูกยอมดูดนมแม่จากขวด” สอนพี่เลี้ยงว่าควรจะทำอย่างไรเมื่อน้องแค่รู้สึกอยากดูด จะให้ดูดจุกหลอก หรือนิ้วมือที่ล้างสะอาดแล้วของพี่เลี้ยงก็ได้ พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพี่เลี้ยงเอาไว้ แต่จำไว้ว่าเหนือสิ่งอื่นใดก็คือคุณคนเดียวเท่านั้นที่เป็นคนรับผิดชอบและกำหนดความเป็นอยู่ของลูก ไม่ใช่ใครคนอื่นที่ไหนทั้งนั้น

7. ศึกษาวิธีใช้ปั๊มไว้ก่อนล่วงหน้า ก่อนกลับไปทำงานซัก 2 สัปดาห์ เตรียมศึกษาวิธีใช้ปั๊มเอาไว้ก่อนล่วงหน้า อ่านคู่มือให้เข้าใจวิธีประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน วิธีใช้งาน และวิธีทำความสะอาด คู่มือบางเล่มมีคำแนะนำว่าจะปั๊มนมอย่างไรให้ได้มากที่สุดไว้ให้อ่านด้วย

ถ้าสามารถปั๊มนมแช่แข็งเก็บไว้บ้างก่อนกลับไปทำงานได้ก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้คุณมั่นใจได้มากขึ้นว่าน่าจะปั๊มนมได้มากพอสำหรับลูก เวลาที่ดีที่สุดในการปั๊มคือช่วงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่แม่ ๆ ส่วนใหญ่มีน้ำนมเยอะ ร่างกายของคุณจะผลิตน้ำนมอยู่เรื่อย ๆ ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถึงคุณจะปั๊มนมออกไปบ้างแล้วตอนลูกหลับ ก็จะยังมีน้ำนมเหลือพอให้ลูกดูดในมื้อแรกของวันอยู่ดี

เคล็ดลับสำหรับมือใหม่: อย่าตกใจถ้าปั๊มนมได้แค่นิดเดียวในครั้งแรก ๆ แม่ ๆ หลายคนงัดปั๊มนมออกมาใช้กะว่าจะปั๊มเก็บไว้ให้ลูกก่อนกลับไปทำงาน แต่ปั๊มแทบตายได้มาแค่ครึ่งออนซ์ (หรืออาจจะน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ) ถ้าพยายามหลายครั้งแล้วก็ยังได้แค่นี้ คุณอาจจะเริ่มกลัวว่าพอกลับไปทำงานแล้วจะปั๊มนมให้ลูกพอได้อย่างไร เรามีข้อมูลบางอย่างที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คุณได้มาบอกกัน

o อย่ากลัวว่าลูกจะมีนมไม่พอกิน ร่างกายของคุณไม่ได้ตอบสนองต่อปั๊มเหมือนกับที่ทารกดูด ทารกจะดูดนมจากเต้าได้มากกว่าที่เครื่องปั๊มจะปั๊มได้

o อย่าห่วงว่าจะปั๊มนมได้ไม่พอให้ลูกกิน การปั๊มระหว่างมื้อนมตอนอยู่ที่บ้านอาจจะได้น้ำนมไม่มากนัก แต่คุณจะปั๊มได้มากกว่านี้เมื่อปั๊มห่างกันสองชั่วโมงครึ่งถึงสามชั่วโมงเวลากลับไปทำงาน

o กลไกน้ำนมพุ่งจะตอบสนองต่อปั๊มได้ดีขึ้นเมื่อฝึกปั๊มไปเรื่อย ๆ ถึงตอนนี้กลไกน้ำนมพุ่งจะทำงานก็ต่อเมื่อลูกดูดไปได้ซักแป๊บ แต่ไม่นานร่างกายของคุณก็จะตอบสนองกับปั๊มหรือกิจวัตรประจำที่คุณทำเวลาปั๊มนมในแบบเดียวกัน

8. ฝึกลูกให้คุ้นกับขวดนม แต่อย่าเริ่มเร็วเกินไป คุณอาจจะได้ยินคำแนะนำประเภทที่ว่า “เริ่มให้นมขวดลูกตอนอายุซักสองอาทิตย์นะ จะได้คุ้น ไม่งั้นเดี๋ยวจะไม่ยอมดูดขวดเอา” คำแนะนำนี้ผิดอย่างมหันต์ พยายามอย่าให้นมขวดกับลูก โดยเฉพาะในช่วงสามสัปดาห์แรก เพราะเป็นช่วงที่ลูกกำลังฝึกดูดนมแม่ และร่างกายของคุณกำลังพยายามสร้างน้ำนมให้มากพอสำหรับลูก ถ้าให้นมขวดเร็วเกินไป เด็กบางคนอาจจะเกิดอาการสับสนระหว่างหัวนมกับจุกนม (Nipple Confusion) ขึ้น

มีบางคนเหมือนกันที่ดูดได้ดีทั้งนมแม่และนมขวด แต่บางคนอาจจะชอบนมขวดมากกว่าที่ไม่ต้องออกแรงดูดมากนักก็มีน้ำนมไหลออกมา เลยกลายเป็นว่าไม่ค่อยยอมกลับไปดูดนมแม่อีก คุณไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าลูกจะเป็นเด็กประเภทไหนจนกว่าจะลองให้นมขวดดู แต่ทางที่ดีอย่าเสี่ยงจะดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลูกของคุณเริ่มต้นการดูดนมแม่อย่างยากลำบากอยู่แล้ว ให้เวลาเขาเรียนรู้เรื่องการดูดนมแม่ซักหน่อยก่อนจะเริ่มให้ลองของใหม่ ไม่ว่าอย่างไรทารกก็จะยอมดูดขวดแต่โดยดีเองเวลาหิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในขวดมีนมของคุณอยู่ข้างใน เอาขวดนมให้ลูกเล่นให้คุ้นก่อนคุณกลับไปทำงานซักสองสัปดาห์ อย่าไปกังวลหรือบังคับลูกถ้าเขาไม่ยอมดูด ถ้ายอมดูดก็ดีไป แต่ถ้าไม่ยอมก็ไม่เป็นไร ทารกบางคนไม่ยอมดูดนมขวดที่แม่ป้อน (อารมณ์ประมาณว่า “อันนี้มันไม่ใช่แบบนี้นี่นา”) แต่ยอมดูดแต่โดยดีหากเป็นคนอื่นป้อน

9. คุยกับนายก่อน บอกนายก่อนกลับไปทำงานว่าคุณวางแผนที่จะให้นมแม่ต่อ คงไม่ค่อยสนุกนักถ้าในวันแรกที่กลับไปทำงาน คุณต้องวิ่งวุ่นหาสถานที่ปั๊มนม นมก็คัด ปลั๊กไฟที่จะเสียบกับปั๊มก็ไม่มี

วางแผนล่วงหน้า จะปั๊มตอนไหน จะเก็บนมที่ไหน เรื่องอื่น ๆ อย่างเช่นจะไปให้นมลูกตอนพักกลางวันอย่างไรก็ต้องเตรียมคิดล่วงหน้า ถ้ารู้จักใครในที่ทำงานที่เคยปั๊มนมให้ลูก ลองถามเขาดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และเขาแก้ไขอย่างไร ในแผนของคุณ คุณต้องนึกเรื่องพวกนี้ล่วงหน้าไว้ก่อน

o จะปั๊มตอนไหน คุณต้องปั๊มบ่อยเท่ากับที่ลูกดูด อาจจะซักทุกสองถึงสามชั่วโมง ถ้าทำงานวันละแปดชั่วโมงก็คือปั๊มช่วงสาย ๆ ครั้ง พักกลางวันครั้ง บ่าย ๆ อีกครั้ง ถ้าใช้ปั๊มคู่ที่ปั๊มได้สองข้างในครั้งเดียว จะใช้เวลาปั๊มประมาณ 15-20 นาที ถ้าใช้ปั๊มเดี่ยวที่ปั๊มได้ทีละข้าง จะใช้เวลารวมกันประมาณ 30 นาที คุณอาจต้องมาเข้างานเช้าหน่อยเลิกสายซักนิดเพื่อชดเชยเวลางานที่เสียไป

o จะปั๊มที่ไหน ที่โต๊ะ ในห้องน้ำ หรือมีห้องไหนว่างและส่วนตัวพอจะใช้เป็นที่ปั๊มได้บ้าง (แขวนป้าย “ห้ามรบกวน” ไว้หน้าห้อง) ถ้ามีห้องพักผู้หญิงก็อาจจะพอใช้ได้ ถ้าทำงานในโรงพยาบาล อาจจะมีห้องปั๊มนมตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับห้องเด็กอ่อน

o ที่ทำงานบางแห่งจัดให้มีที่ปั๊มนมสำหรับแม่ให้นมลูกโดยเฉพาะ ถ้าคุณทำงานบริษัทใหญ่ที่มีผู้หญิงวัยกำลังมีลูกเล็กอยู่เยอะ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะขอให้บริษัทสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยจัดห้องปั๊มนมให้ และให้มีปั๊มไฟฟ้าแบบที่ใช้กันตามโรงพยาบาลและตู้แช่เก็บนมเตรียมเอาไว้ให้ใช้กันในห้อง

o ถ้าเป็นไปได้ ที่ที่คุณปั๊มควรมีปลั๊กไฟให้คุณเสียบกรณีใช้ปั๊มไฟฟ้า มีอ่างสำหรับล้างชิ้นส่วนของปั๊มที่สัมผัสกับน้ำนม อาจจะมีโต๊ะกับเก้าอี้ซักหน่อย เผื่อจะใช้วางอุปกรณ์ อาหารกลางวัน หรืองานที่คุณหอบเข้าไปอ่านด้วยระหว่างปั๊ม

o จะเก็บน้ำนมที่ไหน ถ้ามีตู้เย็นก็ง่ายหน่อย ถ้าไม่มีก็อาจจะต้องหากระติกน้ำแข็งเตรียมไว้ด้วย

คุยกับนายเรื่องแผนของคุณก่อน และขอความสนับสนุนหรือให้เขาช่วยหาทางออกให้ในปัญหาบางเรื่อง ถึงจะวางแผนล่วงหน้าเอาไว้แล้ว แต่คุณก็ควรจะยืดหยุ่นพอจะปรับเปลี่ยนแผนบ้างในบางครั้ง ท่องเอาไว้เสมอว่า เพราะรู้ว่านมแม่ดี ฉันจึงต้องทำให้ได้

10. ปรับตัวเข้ากับตารางชีวิตใหม่ ถ้าเป็นไปได้เลือกกลับไปทำงานวันแรกในวันพุธหรือไม่ก็พฤหัส จะได้ไม่เหนื่อยมากนักเมื่อถึงปลายสัปดาห์ และจะได้มีเวลาพักเหนื่อยอีกสองวันก่อนที่จะเริ่มงานอีกครั้ง

ผู้หญิงหลายคนเลือกทำงานสัปดาห์ละสามหรือสี่วันช่วงที่ลูกยังเล็ก นอกเวลางานก็ดูแลลูก ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดอะไรที่ทำงานสัปดาห์ละไม่ถึง 40 ชั่วโมง



ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น



11. ทำให้การออกจากบ้านตอนเช้าเป็นเรื่องง่ายขึ้น ลูกจะทำให้กิจวัตรประจำตอนเช้าวันทำงานของคุณไม่ราบรื่นเหมือนเดิม ไหนจะมีเรื่องที่ต้องทำมากขึ้น ไหนจะมีเรื่องโน้นเรื่องนี้โผล่ขึ้นมาให้ต้องทำต้องแก้เป็นระยะ ๆ ลองใช้เทคนิคเหล่านี้ช่วยให้คุณไปเข้างานทันเวลา

o ตั้งนาฬิกาปลุกเช้าขึ้นเพื่อคุณจะได้ให้นมลูกได้ก่อนลุกออกจากเตียง ทีนี้คุณก็อาบน้ำแต่งตัวได้โดยถูกขัดจังหวะน้อยลงหน่อย

o เตรียมของใช้ให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเข้านอน จัดของลูกใส่กระเป๋า เอาขวดนมแช่เตรียมไว้ในตู้เย็น เลือกชุดใส่ไปทำงาน ล้างอุปกรณ์และเตรียมปั๊มนมไว้ให้เรียบร้อย

o อย่าเข้านอนดึกนัก

o อุ้มลูกไปส่งให้พี่เลี้ยงทั้งชุดนอน

o เลือกทรงผมที่ดูแลง่าย จะได้เสียเวลาแต่งผมหน้ากระจกตอนเช้าน้อยลง

o ถ้ารูปร่างคุณยังไม่เข้าที่ ลงทุนซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่เหมาะกับรูปร่าง ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าตื่นเช้ามาเจอว่าตัวเองอ้วนหาชุดใส่ไม่ได้แล้ว

o ให้ลูกดูดนมก่อนออกจากที่เลี้ยงลูกไปทำงาน นมจะได้เกลี้ยงเต้า และคุณจะรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อไปถึงที่ทำงาน

เคล็ดลับ โทรไปบอกล่วงหน้า แม่คนหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ของเธอ “งานของฉันไม่ค่อยเป็นเวล่ำเวลา บางวันรถก็ติด เลยกะเวลากลับถึงบ้านไม่ค่อยได้ ฉันใช้วิธีโทรไปบอกพี่เลี้ยงลูกก่อนล่วงหน้าว่ากำลังจะออกจากที่ทำงานแล้วนะ หรือถ้าวันไหนรถติด ก็ใช้มือถือโทรไปบอกให้พี่เลี้ยงให้นมลูกประทังหิวไปก่อนจนกว่าฉันจะกลับถึงบ้าน”

12. ทำให้การออกไปทำงานและกลับถึงบ้านเป็นเรื่องของความสุข ให้นมลูกที่บ้านหรือที่เนอร์สซารีก่อนไปทำงานและทันทีที่กลับถึงบ้าน เพราะลูกจะได้รับนมแม่จากเต้ามากขึ้น และลดปริมาณน้ำนมที่คุณต้องปั๊มในแต่ละวันลง บอกพี่เลี้ยงว่าอย่าป้อนนมขวดลูกก่อนคุณกลับถึงบ้านซักชั่วโมง ไม่ค่อยสนุกเท่าไรถ้านมคัดตึงแต่กลับมาเจอลูกอิ่มพุงกางจะหลับมิหลับแหล่อยู่ที่บ้าน ถ้าลูกหิวหรือคุณคาดว่าจะกลับถึงบ้านช้าหน่อย บอกพี่เลี้ยงให้ป้อนนมแค่พอประทังหิวไปจนกว่าคุณจะกลับถึงบ้าน เมื่อถึงบ้านแล้วพยายามสานสัมพันธ์กับลูก ให้เวลากับลูก ไม่ใช่กระโจนเข้าใส่งานบ้าน ดึงสายโทรศัพท์ออก เปลี่ยนใส่ชุดสบาย ๆ เปิดเพลงเบา ๆ ฟัง นั่งในมุมโปรดกอดลูกให้เขาดูดนมจากอกคุณ และสร้างความผูกพันชดเชยเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันซะ

13. ทำให้การปั๊มนมเป็นเรื่องง่าย แม่ ๆ หลายคนคว้าปั๊มใส่กระเป๋าใบสวยขนาดกำลังเหมาะ แค่นี้ก็ไม่มีปัญหาในการหอบไปทำงานด้วยแล้ว พอตอนเย็นก็หอบนมที่ปั๊มกลับบ้านเอาไปให้ลูกกินในวันรุ่งขึ้น เป็นภาพที่ใครเห็นก็ไม่น่าจะว่าแปลกตรงไหน ปั๊มเป็นอุปกรณ์จำเป็นของแม่ทำงานที่ให้นมลูก และถ้ามีอะไรที่จะช่วยให้การปั๊มนมเป็นเรื่องง่ายขึ้นก็น่าที่จะทำ ลองเอาความคิดดี ๆ พวกนี้ไปใช้ดูบ้างก็ได้

o หาปั๊มที่เหมาะกับคุณ คุณจะต้องใช้เวลาอยู่กับมันเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่ชอบปั๊มที่ใช้อยู่ ทางที่ดีก็น่าจะลงทุนซื้อปั๊มใหม่ซะ

o ปั๊มไฟฟ้าดี ๆ ที่ปั๊มได้สองข้างพร้อมกัน จะช่วยให้คุณสามารถปั๊ม ล้างอุปกรณ์ และเก็บทุกอย่างเข้าที่ได้ในเวลา 15-20 นาที แค่นี้ก็คุ้มกับที่ต้องจ่ายแพงขึ้นแล้ว

o การบีบน้ำนมด้วยมือหรือการใช้ปั๊มคุณภาพไม่ค่อยดีจะทำให้ต้องเสียเวลามากขึ้น อาจจะกลายเป็น 20-30 นาที

o เลือกชุดทำงานที่เหมาะกับการให้นมลูก เสื้อหลวม ๆ มีลวดลายจะช่วยพรางน้ำนมที่ไหลเลอะเสื้อผ้าตอนคุณแอบคิดถึงลูกระหว่างการประชุมที่น่าเบื่อหน่ายได้ ชุดแบบสองชิ้นจะสะดวกกว่าในการปั๊มนมและให้นมลูก

o มีปั๊มหลายรุ่นที่สามารถล้างในเครื่องล้างจานร่วมกับจานอาหารเย็นได้

o ถ้าวันไหนปั๊มนมครบตามเวลาไม่ได้ อย่างน้อยปั๊มซัก 5-10 นาทีก็ยังดีกว่าไม่ปั๊มเลย ถ้าไม่ได้ปั๊มนมตามตารางเวลาบ่อย ๆ จะทำให้น้ำนมลดน้อยลงได้

o ถ้างานของคุณทำให้จัดตารางเวลาปั๊มนมได้ยาก อาจจะต้องพยายามหาเวลาปั๊มนมทุก ๆ กี่ชั่วโมงก็ว่าไป บางทีอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานของคุณในเรื่องนี้บ้าง อย่าไปคิดว่าการปั๊มนมทำให้คุณต้องสูญเสียอิสรภาพ ให้คิดซะว่ามันเป็นโอกาสให้คุณฝึกที่จะมีวินัยมากขึ้นดีกว่า

o ถ้าวางแผนจะปั๊มในห้องทำงาน จัดที่หลบมุมซักหน่อยเผื่อมีใครเดินเข้ามาแบบกระทันหัน อาจจะวางหนังสือหรือกองเอกสารไว้ที่มุมโต๊ะบังไว้ ทั้งคุณทั้งแขกจะได้ไม่ต้องมีเรื่องให้ต้องกระอักกระอ่วนใจภายหลัง

o ถ้ามีใครในที่ทำงานของคุณปั๊มนมให้ลูกเหมือนกัน ลองหาโอกาสพักหรือทานอาหารกลางวันด้วยกันระหว่างที่ปั๊ม เป็นการชดเชยที่เสียโอกาสที่จะได้ไปทานอาหารกลางวันร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ

o หากำลังใจจากแม่ที่ทำงานและปั๊มนมเหมือน ๆ กัน

o ท่องเอาไว้ว่าคุณแค่ปั๊มนมให้ลูกเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แค่นั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องปั๊มตลอดไป

เคล็ดลับ อย่าเสียดายนมที่หกไปแล้ว เตรียมใจไว้เลยว่าอาจจะต้องทิ้งนมไปซักถุงสองถุง เป็นเรื่องทำใจยากหน่อยที่เห็นน้ำนมหกนองบนพื้น แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะระวังมากแค่ไหนก็ตาม

14. ขอแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน อาจมีเพื่อนร่วมงานของคุณบางคนบ่นเรื่องที่คุณแวบไปปั๊มนมบ่อย ๆ บางคนอาจจะอยากออกความเห็นเรื่องปั๊มของคุณ เรื่องนมที่แช่อยู่ในตู้เย็น หรือเรื่องเวลาที่คุณให้กับลูก คำพูดพวกนี้คงทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจนัก และอาจกลายเป็นเรื่องหมางใจกันระหว่างเพื่อนร่วมงานไปได้ ลองใช้คำแนะนำต่อไปนี้ดูเผื่อจะช่วยให้เพื่อนร่วมงานหันมาเป็นแนวร่วมของคุณได้

o ใช้อารมณ์ขัน หัวเราะไปเลยเวลามีคนแหย่คุณเกี่ยวกับเรื่องนี้

o เฉย ๆ ไว้ไม่ต้องกระโตกกระตากอะไรในที่ทำงาน บางคนเขาไม่รู้หรอกว่าคุณเก็บอะไรไว้ในกระเป๋าหรือตู้เย็น

o บอกเพื่อนร่วมงานว่าลูกของคุณจำเป็นต้องได้รับนมแม่เนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์ เช่น “ลูกฉันเป็นภูมิแพ้” (อันนี้ไม่เชิงโกหกซะเลยทีเดียว เพราะเราเชื่อว่าทารกส่วนใหญ่มีอาการแพ้บางอย่างต่อนมผงอยู่แล้ว) การอ้างเหตุผลทางการแพทย์ยังช่วยให้เพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ให้นมแม่กับลูกไม่รู้สึกผิดอีกด้วย

o บอกเล่าประโยชน์ของนมแม่ให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะคนหลัก ๆ ที่คุณติดต่อด้วย (“สามีของฉันเป็นภูมิแพ้อย่างหนัก แต่นมแม่จะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นเหมือนกันได้” หรือ “หกเดือนแล้วนะ ยังไม่เคยเป็นหูอักเสบเลย”) ถ้าบังเอิญคุณต้องขาดงานเพราะไข้หวัดใหญ่ อาจจะเอาไปเล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังว่าลูกของคุณแค่เป็นหวัดนิดหน่อยหรือไม่เป็นอะไรเลย เพราะได้ภูมิคุ้มกันจากนมแม่ที่คุณให้กับลูกก็ได้

o เล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังว่าการให้ลูกดูดนมแม่เวลาอยู่บ้านและการปั๊มนมให้ลูกตอนอยู่ที่ทำงาน ช่วยให้คุณรู้สึกผูกพันกับลูกมากแค่ไหน

o ขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ช่วยทำงานแทนให้ตอนคุณไปปั๊มหรือให้นมลูก และช่วยเหลือเขาเป็นการตอบแทนเวลาที่เขาต้องการให้คุณช่วย

o ตั้งอกตั้งใจฟังเวลามีเพื่อนร่วมงานเล่าประสบการณ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของเขาให้ฟัง โดยเฉพาะถ้าเขาทำไม่สำเร็จ บอกเขาว่าเขาพยายามทำดีที่สุดแล้ว

o บอกข้อเท็จจริงและสถิติตัวเลขเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เพื่อนร่วมงานฟัง หรือแค่บอกว่าคุณอยากให้นมแม่ต่อเพราะหมอเด็กแนะนำก็ได้



รักษาปริมาณน้ำนม



15. ระหว่างวันทำงาน หาโอกาสให้นมลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะบ่อยแค่ไหนก็ขึ้นกับชั่วโมงทำงานในแต่ละวันของคุณ แม่ส่วนใหญ่ให้นมลูกได้อย่างน้อยสี่ครั้งต่อวันช่วงวันทำงาน ตอนเช้าก่อนไปทำงานหนึ่งครั้ง ตอนเย็นสองครั้ง ก่อนนอนอีกหนึ่งครั้ง ถ้าคุณไปทำงานแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงบ่ายหรือเย็น อาจให้พี่เลี้ยงป้อนนมแม่ที่คุณปั๊มไว้ให้ลูกโดยใช้ขวด แต่ถ้าโชคดีมีที่เลี้ยงลูกแถว ๆ ที่ทำงาน คุณอาจเดินไปให้นมลูกช่วงพักและกลางวันและไม่ต้องปั๊มนมเลยก็เป็นได้

16. ให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียวเวลาไม่ได้ไปทำงาน ถ้าอยากให้ปริมาณน้ำนมคงที่ ให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน พยายามให้ลูกดูดนมขวดเฉพาะเวลาที่คุณไปทำงานหรือไปข้างนอก และดูดนมแม่อย่างเดียวเวลาที่คุณอยู่ด้วย วิธีนี้จะช่วยรักษาปริมาณน้ำนมของคุณไว้ และยังจะทำให้คุณกับลูกรู้สึกผูกพันกันอีกด้วย อย่าให้นมขวดถ้าคุณสามารถให้เขาดูดจากอกคุณได้ การปั๊มไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดีเท่ากับการให้ลูกดูด คุณจึงต้องให้ลูกดูดจากอกช่วงที่อยู่ด้วยกันเพื่อรักษาปริมาณน้ำนมและเพื่อให้ลูกยังคงชอบดูดนมคุณต่อไป แม่ส่วนใหญ่ที่ทำงานสัปดาห์ละห้าวันตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์พบว่าปริมาณที่ปั๊มได้จะลดลงเรื่อย ๆ จากต้นถึงปลายสัปดาห์ และกลับมารู้สึกว่าเต้านมตึงและปั๊มได้มากขึ้นในวันจันทร์หลังจากให้ลูกดูดเต็มที่ช่วงสุดสัปดาห์ บางคนถึงกับต้องปั๊มบ่อยขึ้นเพื่อไม่ให้นมคัดเลยทีเดียว (นมส่วนเกินนี้ให้เก็บไว้ใช้ช่วงปลายสัปดาห์ตอนที่ปั๊มได้น้อยลง) หลังจากผ่านไปซักสองสามสัปดาห์ ร่างกายของคุณจะปรับตัวสร้างปริมาณน้ำนมได้พอดีกับที่ลูกต้องการ

17. สนุกกับการให้นมลูกตอนกลางคืน ทารกส่วนใหญ่ที่แม่ออกไปทำงานตอนกลางวันจะหันไปดูดนมตอนกลางคืนบ่อยขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย เด็กบางคนนอนมากขึ้นและกินนมน้อยลงตอนกลางวันหลังจากที่แม่กลับไปทำงาน และหันไปดูดนมถี่ ๆ ช่วงกลางคืนแทน

จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องดี แม่ที่ประสบความสำเร็จในการให้นมลูกหลังกลับไปทำงานเข้าใจว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ แถมออกจะชอบอกชอบใจด้วยซ้ำ พวกเธอพาลูกไปนอนด้วยกัน ทำให้ได้พักไปด้วยระหว่างที่นอนให้นมลูก และดีใจที่มีโอกาสที่จะได้อยู่ใกล้ชิดลูกเพิ่มขึ้น (พ่อที่ทำงานก็น่าจะชอบนะแบบนี้) อันที่จริงแล้วหลายคนบอกว่านอนหลับสนิทกว่าด้วยซ้ำเวลามีลูกนอนอยู่ข้าง ๆ ถึงแม้ว่าลูกจะดูดนมทั้งคืนก็เถอะ แม่จะรู้สึกผ่อนคลายและหลับได้สนิท ลูกก็รู้สึกสงบและอบอุ่นที่ได้นอนข้างแม่ อีกอย่างการให้ลูกดูดนมนาน ๆ ตอนเช้าตรู่ก่อนลุกจากเตียงยังช่วยให้เจ้าตัวเล็กหลับ หรืออย่างน้อยก็อารมณ์ดีระหว่างที่แม่เตรียมตัวไปทำงาน

18. คุณสามารถให้นมแม่ร่วมกับนมผงได้ ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องให้นมแม่อย่างเดียวหรือนมผงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าจะมีแม่จำนวนมากที่สามารถให้นมแม่ล้วน ๆ แก่ลูกได้เป็นเวลาหลายเดือนหลังกลับไปทำงาน ก็ยังมีบางคนที่ต้องให้นมผงเสริมแก่ลูกเวลาที่ปั๊มนมได้ไม่พอ บางคนก็ให้ลูกดูดนมแม่เฉพาะเวลาอยู่ด้วยกัน และให้นมผงเวลาไปทำงาน ถ้าคุณเลือกที่จะให้นมแม่ควบคู่ไปกับนมผง คิดซักนิดว่าจะจัดระบบการให้นมสองอย่างนี้อย่างไร ไม่งั้นคุณอาจจะเจอปัญหาว่าลูกอยากหย่านมเร็วกว่าที่คุณคิด และคุณก็ไม่ค่อยจะมีน้ำนมให้ลูกด้วย

ถึงแม้คุณไม่กะจะปั๊มนมเก็บให้ลูกเวลาไปทำงาน คุณก็อาจจะจำเป็นต้องปั๊มน้ำนมออกบ้างเพื่อป้องกันท่อน้ำนมตันหรือเต้านมอักเสบ และเพื่อรักษาปริมาณน้ำนมเอาไว้ แม่บางคนอาจจะไม่จำเป็นต้องปั๊มหรือให้ลูกดูดนมเลยได้นานถึง 4-6 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะทำไม่ได้ ถ้าคุณต้องอยู่ห่างจากลูก 7-8 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น คุณควรจะปั๊มอย่างน้อยก็ครั้งสองครั้ง ถึงแม้ว่าจะเป็นการปั๊มทิ้งไปก็ตาม (เราเชื่อว่าคงไม่มีแม่คนไหนทิ้งน้ำนมที่อุตส่าห์ปั๊มออกมาหรอก แต่ถ้าจำเป็นก็ควรทำดีกว่าจะปล่อยให้นมคัดเต้าจนเจ็บ)

ถ้าคุณกำลังลดการปั๊มนมในที่ทำงานลง ให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ เวลาอยู่ด้วยกัน และพยายามอย่าแยกห่างจากลูกนาน ๆ ยกเว้นเวลาไปทำงาน ให้ลูกดูดนมตอนกลางคืน พยายามสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อกับลูกและให้เวลากับลูกมาก ๆ เพื่อให้เขายังอยากดูดนมแม่อยู่และช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรแลคตินของคุณ ถ้าลูกแสดงอาการไม่ค่อยอยากดูดนมแม่ คุณอาจต้องพยายามกระตุ้นให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้น และปั๊มนมบ้างเวลาคุณไม่อยู่กับลูกเพื่อให้คุณมีน้ำนมมากพอเวลาที่ลูกรู้สึกอยากดูด



ลดระดับความเครียดของคุณ



19. ดูแลตัวเอง ไหนจะงานไหนจะลูก คุณอาจจะรู้สึกว่านอกจากสองเรื่องนี้แล้วคงแทบไม่มีทางจะทำอะไรอย่างอื่นได้สำเร็จอีกแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็เป็นอย่างนั้น แต่ก็อย่าละเลยการดูแลตัวเองล่ะ โชคดีที่การให้นมลูกช่วยคุณได้ในเรื่องนี้

เมื่อกลับจากทำงาน ให้คุณตรงไปนอนให้นมลูก ถ้าคุณกับลูกงีบหลับด้วยกันได้ช่วงนี้สั้น ๆ ครอบครัวของคุณก็จะพลอยได้พักไปด้วย หาอาหารว่างง่าย ๆ ที่มีประโยชน์กินซะ จะได้ไม่หิวจนต้องรีบกินอาหารเย็น สนุกกับเจ้าตัวเล็กของคุณ ถ้ามีลูกคนโต อย่าลืมให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมด้วยอีกคน

คุณควรทำชีวิตที่บ้านให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ให้ความสนใจกับเจ้าตัวน้อยและคนอื่นในครอบครัวมากกว่าจะมัวแต่ไปซักรีดเสื้อผ้า ซื้อของใช้ ทำความสะอาด ทำอาหาร หรือจัดบ้าน และสามีของคุณก็คงยินดีช่วยทำงานบ้านมากขึ้นถ้ามันไม่ยุ่งยากมากนัก คุณอาจจะจ้างคนมาช่วยทำงานบ้านบางอย่างไปเลยก็ได้ถ้าพอจะจ่ายไหว งานบางอย่างเช่นขัดล้างหน้าต่างหรือรีดผ้าอาจจะเลิกทำไปก่อนซักสองสามปี ใช้เป้อุ้มอุ้มเจ้าตัวเล็กไปด้วยเวลาทำงานบ้านบางอย่างเช่นรดน้ำต้นไม้หรือแยกผ้า จะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นอีกนิด

20. ช่วยกันเลี้ยงลูก ช่วยกันทำงานบ้าน ถ้าแม่เป็นคนให้นมลูกและช่วยหารายได้ พ่อก็ควรจะช่วยดูแลลูกและทำงานบ้านบ้าง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นภาระของทั้งครอบครัว อธิบายให้สามีของคุณฟังถึงประโยชน์ของนมแม่ ลูกวัยเรียนก็น่าจะมีส่วนช่วยรับภาระงานในบ้านด้วย เพื่อเขาจะได้นำนิสัยอันนี้ไปใช้ในครอบครัวตัวเองเมื่อโตแล้ว จริง ๆ แล้วคุณกำลังสร้างบรรทัดฐานสองเรื่อง ความสำคัญของการให้นมแม่กับลูกและผลดีของการรับผิดชอบร่วมกันของทั้งครอบครัว ไหนจะให้นมลูกไหนจะทำงาน คุณไม่เหลือแรงพอจะทำทั้งน้ำนม เงิน อาหารเย็น หรือหน้าที่สาระพัดของการเป็นภรรยาได้หมดหรอก ให้คนอื่นทำงานบางอย่างแทนคุณบ้าง คุยเรื่องความรับผิดชอบเหล่านี้กับคู่ของคุณและลูกที่โตพอแล้ว ให้เขาแบ่งเบางานเหล่านี้จากคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การให้นมแม่กับลูกนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่งที่คุณจะทำเพื่อลูกได้ เจ้าตัวน้อยของคุณจะได้รับผลดีในอนาคตทั้งในแง่ของสุขภาพ อารมณ์ และสติปัญญา

http://www.breastfeedingthai.com/ind...icle&Id=414943