ปรากฎการณ์ 29 กุมภาพันธ์



ปรากฏการณ์ 29 กุมภาฯ ที่มากันให้เห็นในทุกๆ 4 ปีนั้น ในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นกันทุกปี เพราะปัจจุบันโลกเราหมุนรอบตัวเองใช้เวลาเพียง 23.56.1 ชม.และถ้าหากโลกหมุนช้าลงได้ถึง 24 ชั่วโมงต่อรอบจริง จะส่งผลให้มีวันเพิ่มขึ้นในทุกๆ 1 ปี ไม่ใช่ 4 ปีถึงจะมี 1 วันฉะนั้น "29 ก.พ." ของทุกปีอาจจะมีขึ้นได้ด้วยเหตุผลนี้นี่เอง


รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของวันพิเศษนี้ว่า การกำหนดปีตามปฏิทินที่กำหนดให้มี 365 วันหรือ 366 วัน เกิดจากการสังเกตของนักดาราศาสตร์ได้บันทึกการเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์


นักดาราศาสตร์ พบว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบใช้เวลา 365 วันกับอีก 1 ส่วน 4 วัน เมื่อนำเวลาที่เกินมาในแต่ละปีนั้นมารวมเข้าด้วยกันในทุกรอบ 4 ปี ก็จะได้วันเพิ่มขึ้นมาอีก 1 วัน จึงเกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ และได้กำหนดเป็นปฏิทินสากล เรียกกันว่าปี อธิกสุรทิน


ปีอธิกสุรทินนั้น นอกจาก เป็นปี ค.ศ. ที่สามารถหารด้วยเลข 4 ลงตัว แล้ว ความสำคัญของการจัดปฏิทินก็เพื่อให้สอดคล้องกับฤดูกาล กล่าวคือ การจัดให้ฤดูกาลไม่ผิดเพี้ยนคู่ไปกับปฏิทิน จึงได้กำหนดเดือนขึ้นมาโดยนับจากที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก 1 รอบ (หรือดวงจันทร์เต็มดวงของอีกเดือนหนึ่งและกลับมาเต็มดวงอีกครั้ง) ที่ใช้เวลา 29 วันครึ่ง เรียกว่า 1 เดือน รวมทั้งสอดคล้องกับรอบปีด้วย


หัวใจสำคัญของการกำหนดวันคือไม่ให้ฤดูกาลเคลื่อนไปจากเดิม ซึ่งผู้ที่ได้รับการกล่าวถึงในการปรับปฏิทินที่ได้ใช้มาถึงปัจจุบันนี้คือ "จูเลียส ซีซาร์" กษัตริย์โรมัน เมื่อประมาณ 46 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งการปรับปฏิทิน จะกำหนดวันของแต่ละเดือนจะไม่เท่ากัน ตรงนี้กษัตริย์จูเลียสได้ยึดการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนไปตามกลุ่มดาว 12 ราศีด้วย ดังจะเห็นราศีต่าง ๆ ในปฏิทินที่ใช้กันในทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี ปีอธิกสุริทนได้มีการปรับอีกเล็กน้อยหลังจากนั้น โดยกำหนดว่าปี ค.ศ.นั้นจะต้องไม่สามารถหารด้วยเลข 100 ได้ลงตัวอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม วันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ อาจจะกลายเป็นวันหนึ่งในปฏฺทินของทุกปีเป็นได้ โดยนายชัยวัฒน์ คุปตะกุล ประธานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ เปิดเผยว่า อาจจะมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ได้ในทุกปี ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ จะได้ฉลองวันเกิดตัวเองได้เหมือนคนอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ ก็คงจะต้องรอไปอีกสัก 5,000-10,000 ปี เพราะข้อเท็จจริงทุกวันนี้โลกเราหมุนรอบตัวเองช้าลงไปเรื่อย ๆ


"ช้ากว่า 24 ชม.คือ 23 ชม. 56.1 นาที แต่ต่อไปในอนาคตอีก 5,000 ปี โลกจะหมุนรอบตัวเองได้ตรงกับ 24 ชม. พอดีก็ได้ อาจจะต้องมาปรับวันในปฏิทินกันใหม่"


ทั้งนี้ การที่เดือนกุมภาพันธ์จะมีทุก 29 วันตลอดไปก็อาจจะเป็นไปได้ ส่วนในระบบสุริยะจักรวาล ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ก็จะเป็นปกติ ไม่ได้ส่งผลพิเศษในด้านใดด้านหนึ่งแต่อย่างใด


สำหรับเหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีตที่ผ่านมาของวันที่ 29 กุมภาพันธ์จากหนังสือ "วันนี้ในอดีต" ของ ทรงวิทย์ แก้วศรี ระบุว่า ในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) จอห์น เกลน สร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์อวกาศอเมริกาคนแรกที่มีอายุมากที่สุดที่ได้เดินทางขึ้นไปโคจรในอวกาศรอบโลกได้สำเร็จ หลังจากที่เคยเป็นวีรบุรุษของสหรัฐอเมริกาในการพิชิตอวกาศไปแล้วก่อนหน้านั้น


นอกจากนี้ ยังเป็นวันเกิดของ จอห์น เรย์ ชาวอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1628 (พ.ศ.2171) ผู้ทุ่มเทชีวิตจิตใจศึกษาธรรมชาติขนาดหลับตามองเห็นพืชทุกชนิด ได้จำแนกพืชต่าง ๆ และตั้งชื่อกำกับพืชจนเป็นที่มาของการศึกษาค้นคว้าของคนรุ่นหลัง และในปี พ.ศ.2225 จอห์นเรย์ได้รับเกียรติอย่างสูงว่าเป็น "บิดาแห่งพฤกษศาสตร์" และตัวเขาได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.2248


ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นที่สามเสน ถือเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกในเมืองไทย และคนไทยได้ใช้ไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากไต้ เทียนไข ตะเกียง น้ำมัน หรือแก๊สในอดีต


และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกบุคคลที่มีความสามารถสูงกว่าเข้ามาบริหารประเทศ


วันพิเศษของวันที่ 29 กุมภาพันธ์ นั้น มีข้อมูลว่าในต่างประเทศให้ความสำคัญถึงขั้นจัดตั้งสมาคมผู้ที่เกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เลยทีเดียว



ข้อมูลจาก http://www.icygang.com