นักวิทย์ญี่ปุ่นพัฒนา"ข้าว"โตในน้ำลึก




นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นค้นพบยีนที่ทำให้ข้าวเจริญเติบโตได้ในน้ำลึก ก่อให้เกิดความหวังว่าจะทำให้ข้าวในพื้นที่ลุ่ม ซึ่งมักได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมีปริมาณผลผลิตมากขึ้น

ทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยนาโงยา รายงานการค้นพบในนิตยสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ฉบับล่าสุด ระบุว่า พบยีน "สนอร์เกิล" ซึ่งช่วยให้ข้าวมีลำต้นยาวขึ้นเพื่อให้อยู่รอดในระดับน้ำสูง และแม้ข้าวที่เติบโตได้ในน้ำลึกมักจะให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ แต่ประสบความสำเร็จในการใช้ยีนดังกล่าวในข้าวต่างสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อ ไร่สูง ซึ่งช่วยให้ลำต้นของข้าวชนิดนี้โตเร็วขึ้น และอยู่รอดได้ในน้ำท่วม

นายโมโตยูกิ อาชิการิ หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า ตั้งเป้าว่าจะใช้ยีนสนอร์เกิลกับข้าวเมล็ดยาว ซึ่งปลูกกันมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อช่วยให้ปริมาณผลผลิตข้าวในพื้นที่น้ำท่วมมีความคงที่ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังประสบความสำเร็จในการทดลองยีนตัวนี้กับข้าวญี่ปุ่น และทีมมีแผนจะผลิตข้าวเมล็ดยาวที่ทนต่อน้ำท่วมภายในเวลา 3-4 ปี สำหรับปลูกในประเทศเวียดนาม ไทย พม่า บังกลาเทศ และกัมพูชา

ข้าวเป็นอาหารหลักของคนหลายพันล้านคนทั่วโลก โดยกว่าร้อยละ 30 ของข้าวในเอเชีย และ ร้อยละ 40 ของข้าวในแอฟริกา เป็นข้าวที่เพาะปลูกในนาที่ลุ่มน้ำท่วมถึง หรือน้ำลึก

ด้านนักวิชาการแห่งสถาบันชีววิทยาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอูเทรกต์ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะวิจัย กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากข้าวที่ให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงนั้นมักไม่สามารถอยู่รอดจากน้ำ ท่วมรุนแรงได้





ที่มา: ข่าวสดรายวัน ฉบับที่ 6843 วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19