การเล่นรำสวด : การละเล่นพื้นบ้านในงานศพ
บทสวดพระมาลัยของพระคัมภีร์ในตู้พระธรรมนำมาใช้สวดมาลัยตอนก่อนสว่าง หรือก่อนจบการแสดง

การเล่นรำสวด : การละเล่นพื้นบ้านในงานศพ
การสวดหน้าศพ หรือการสวดพระอภิธรรม เป็นขั้นตอนหนึ่งของประเพณีการทำศพ เป็นเรื่องการสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยให้พิจารณามรณานุสสติกัมมัฏฐาน คือ ให้มีสติระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เป็นบทสวดที่กล่าวถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ซึ่งตามปกติการสวดหน้าศพมักจะสวดตลอด ๗ คืนหรือ ๓ คืนก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ สมัยก่อนจะมีการสวดหน้าศพกันเกือบตลอดทั้งคืน แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะสวดเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

การเล่นรำสวด เป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสวดหน้าศพของคนในภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยสมัยก่อนชาวบ้านนิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศลกันหลายๆวัน หลังจากการสวดพระอภิธรรมจบแล้ว พระจะสวดบทพระมาลัยต่อ เสมือนการอยู่เป็นเพื่อนศพ ซึ่งคนก็นิยมฟังกันมาก เนื่องจากท่วงทำนอง ลีลา และจังหวะของการสวดจะเป็นแบบละคร
ที่มุ่งสื่ออารมณ์แก่ผู้ฟังด้วยลีลาน้ำเสียงที่ฟังสนุก แต่มีเนื้อหาเน้นการสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ ครั้นต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการสวดพระมาลัยจากพระมาเป็นฆราวาสเป็นผู้สวดแทน และเรียกว่า “สวดคฤหัสถ์” ซึ่งบางแห่งก็มีการปรับใหม่และเรียกว่า “การเล่นรำสวด” แทน เช่นที่จังหวัดตราด ซึ่งถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่ใช้เล่นในงานศพหลังจากพระสวดอภิธรรม เพื่อจะอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพให้คลายความโศกเศร้า

จากผลงานวิจัยเรื่อง “การเล่นรำสวดในจังหวัดตราด”ของนางสาวปรารถนา มงคลธวัช และนางสาวสายสมร งามล้วน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา พบว่าจังหวัดตราด เป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นที่ตั้งของคณะรำสวดที่มีชื่อเสียงจำนวนหลายคณะ และยังเป็นที่นิยมของคนในจังหวัดตราดและจังหวัดใกล้เคียง โดยคณะรำสวดจะมีอยู่ในหลายอำเภอ เช่น อำเภอเมืองตราด อำเภอแหลมงอบ อำเภอเขาสมิง เป็นต้น ซึ่งการเล่นรำสวดในจังหวัดตราดนี้มีพัฒนาการความเป็นมายาวนานเกือบ ๒๐๐ ปี โดยพัฒนามาจากการสวดพระมาลัยของฆราวาสที่ใช้สวดในงานศพ ซึ่งสมัยก่อนจะใช้ผู้ชายสวด จำนวน ๔-๖ คน ผู้สวดจะรำประกอบการสวด โดยนั่งรำอยู่กับที่ ไม่ลุกขึ้นมารำ จึงได้เรียกการสวดแบบนี้ว่า “รำสวด” และจากการศึกษาวิจัยได้พบว่า ผู้ที่เล่นรำสวดในจังหวัดตราดเป็นบุคคลแรกที่มือชื่อเสียงและเป็นที่พูดถึงในปัจจุบันคือ ครูทวดเสนาะ พญาเวช คนบ้านหินดาษ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว แต่หากจะนับอายุถึงปัจจุบันก็ประมาณ ๒๐๐ ปี อีกท่านคือครูแคล้ว เวชศาสตร์ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วเช่นกัน ทั้งสองท่านถือได้ว่าเป็นครูรำสวดที่ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหามากมายรวมถึงรุ่นครูในปัจจุบัน

วิธีการแสดงรำสวดในจังหวัดตราด แต่ละคณะจะผู้แสดงประมาณ ๔-๖ คน โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันบ้าง แต่โดยหลักๆแล้วจะประกอบด้วย

การแต่งกายและเครื่องดนตรี ส่วนใหญ่นักแสดงฝ่ายชายจะเน้นการใส่สีดำ ขาวเป็นหลัก ส่วนนักแสดงหญิงจะเน้นสีดำทั้งเสื้อและผ้านุ่ง จะไม่ใส่กางเกง มีผ้าคล้องคอ (สีอะไรก็ได้) บางแห่งก็จะใช้ผูกเอวแทนคล้องคอ เครื่องดนตรีจะประกอบด้วยกรับ ฉิ่ง และตะโพน

ขั้นตอนการเล่นรำสวด หลังพระสวดพระอภิธรรมจบแล้ว ทางคณะจะมีการเตรียมเครื่องเคารพครู ได้แก่ ดอกไม้ ๓ สี เงิน ๑๒ บาท เทียน ๑เล่ม ธูป ๓ ดอก เหล้า ๑ ขวด หมาก ๓ คำ เมื่อไหว้ครูเสร็จ ก็จะเริ่มบทไหว้ครู โดยนั่งล้อมวงกัน บอกครูอาจารย์ก่อนแสดง เป็นการร้องรวมกันทั้งคณะ จากนั้นคณะก็จะถามเจ้าภาพก่อนว่าจะให้สวดพระมาลัยหรือไม่ ถ้าเจ้าภาพให้สวด ทางคณะก็จะสวดพระมาลัยให้ แต่ถ้าไม่ก็จะเล่นรำสวดต่อไปเลย หรือในอีกกรณีคือสวดพระมาลัยให้ตอนก่อนสว่างหรือก่อนการแสดงจะจบลง เมื่อเริ่มแสดงจะเป็นการเกริ่นนำ ด้วยการร้องรำบอกว่าวันนี้จะเล่นเรื่องอะไร คล้ายกับการแจ้งกำหนดการแสดง จากนั้นก็จะเป็นการรำสวดเป็นเรื่องๆตามที่ได้แจ้งเอาไว้ เช่น แสดงเรื่องพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ โดยปกติถ้าเป็นเรื่องยาวจะแสดงไม่เกินคืนละ ๒ เรื่อง และระหว่างเรื่อง ยังอาจมีการคั่นจังหวะด้วยการเล่นลำแต่ง หรือร้องเพลงลูกทุ่งสลับบ้าง ยกเว้นบางคณะที่เล่นแบบอนุรักษ์ดั่งเดิมก็จะไม่เล่น ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะถามเจ้าภาพก่อนเพื่อให้เกียรติแก่เจ้าของงาน และสุดท้ายจะเป็นบทสั่งลาก่อนสว่าง มักจะเป็นการนำบทมาจากวรรณคดี ที่มีความหมายคล้ายๆกับการร่ำลาซึ่งกันและกัน ไม่ว่าศพสั่งลาญาติพี่น้อง ญาติสั่งลาศพ และคณะรำสวดลาเจ้าภาพ เพราะการรำสวดจะทำในคืนสุดท้ายก่อนเผา

สำหรับเนื้อเรื่องที่ใช้ในการรำสวด มักจะมาจากวรรณคดีเป็นส่วนใหญ่ เช่น เรื่องพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ลักษณาวงศ์ ไกรทอง สังข์ทอง ฯลฯ โดยจะมีทั้งทำนองเก่า เช่น ลมพัดชายเขา นาคเกี้ยว สุดสงวน ฯลฯ และทำนองใหม่ เช่น ลูกสาวใครหนอมาเล่นรำโทน หรือทำนองเพลงลูกทุ่ง เป็นต้น ทั้งนี้ ท่าที่ใช้รำ จะไม่ได้คิดขึ้นมาใหม่ แต่จะใช้การประยุกต์จากท่ารำของลิเก หรือท่ารำของบทละคร เช่น ท่าชี้นก ชมไม้ เป็นต้น โดยจะฝึกกันเองในคณะ

โดยปกติแล้วโอกาสในการแสดงรำสวด จะเล่นในงานศพ ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายของงาน หรืองานบรรจุอัฐิ งานทำบุญวันตาย และเวลาฝึกหัดเล่นรำสวด มักห้ามไม่ให้ฝึกที่บ้าน แต่จะไปหาที่ฝึกกันเฉพาะ เช่น วัด หรือศาลเจ้า เป็นต้น แต่ในปัจจุบันบางคณะ เช่น คณะบุญยิ่ง เจริญวงศ์ จากตำบลเกาะช้าง ได้ประยุกต์นำการรำสวดไปแสดงในพิธีที่ไม่เกี่ยวกับความตายแล้ว
โดยเป็นแสดงในลักษณะประชาสัมพันธ์การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดตราดในงานต่างๆ เช่น งานกาชาด งานเปิดสนามบิน เป็นต้น เพียงแต่คณะจะต้องระวังมิให้นำบทร้องที่เกี่ยวกับความตายไปใช้เท่านั้น แต่จะใช้ลำแต่ง ที่แต่งขึ้นมาใหม่เพื่องานนั้นๆโดยเฉพาะ เช่น เป็นเพลงอนุรักษ์ป่าไม้ หรือเพลงต่อต้านโรคเอดส์ เป็นต้น สำหรับค่าตอบแทนในการแสดงเล่นรำสวดนี้จะเหมาจ่ายทั้งคณะประมาณ ๒,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ขึ้นกับระยะทางของสถานที่ว่าใกล้-ไกลเพียงใดด้วย แต่ก็มีกรณียกเว้น เช่น เป็นญาติพี่น้องของคณะรำสวด ก็จะไม่คิดค่าตอบแทน ถือว่าเป็นการมาช่วยเหลือทำบุญร่วมกัน

การเล่นรำสวด ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางภาษาและวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมของคนในจังหวัดตราด ที่นอกจากจะให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมการแสดงแล้ว ยังเป็นการสร้างค่านิยมและหลักปฏิบัติด้านความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งได้มีส่วนอนุรักษ์ พัฒนาศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งของไทยอีกด้วย



ที่มา :สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม