ความรักไม่มีพรมแดนมานานก่อนยุคโลกไร้พรมแดนเสียอีก เมื่อศรรักปักอกปักใจว่าตะแต่งงานกับชายคนนี้เท่านั้นแล้วเกิดเป็นฝรั่งตาน้ำข้าวหรือชาวอื่นที่ไม่ใช่ชาวไทย ก็เริ่มสับสนหัวใจว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่
แท้จริงแล้ว จะจดกับประเทศไหนก็มีผลตามกฎหมายทั้งนั้น ทั้งหญิงและชายที่ได้สามีหรือภรรยาเป็นชาวต่างชาติ คือไม่มีสัญชาติไทยจะแต่งงานที่ประเทศไหนก็ได้ทั้งนั้น ถ้าจดตามประเทศของเขาหรือเธอ กฎหมายไทยก็รับรองสถานภาพของคู่นี้ว่าเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย โดยไม่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย แต่ถ้าอยากจะแต่งให้ครบก็ทำได้โดยการไปจดทะเบียนที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ หรือถ้าอยู่ต่างประเทศ ก็ไปที่สถานกงศุลไทยในประเทศนั้น ไม่ยุ่งยากอย่างที่กังวลเลย
ที่กล่าวว่าจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศอื่นแล้วจะจดที่ไทยบ้างนั้น ไม่ต้องไปทำเป็นทะเบียนสมรส เพียงแค่จดทะเบียนฐานะครอบครัวก็พอ นายทะเบียนก็จะบันทึกหลักฐานเอาไว้ และมอบเอกสารให้เก็บคนละฉบับ แต่ต้องแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า ได้แต่งงานตามกฎหมายของประเทศไหนไปแล้ว
บางคู่นึกอยากกิ๊บเก๋ไปจดทะเบียนสมรสในประเทศอื่น เช่น ไทยกับอเมริกัน แต่งงานกันที่ออสเตเรีย อย่างนี้ก็ยังมีสถานะเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายที่ประเทศไทยยอมรับ และที่ว่าจดทะเบียนก็อาจไม่ใช่เพราะกฎหมายประเทศนั้นมีแบบพิธีเป็นอย่างอื่นถ้าได้ทำตามแบบของเขาแล้ว ก็ถือเป็นใช้ได้
เมื่อได้แต่งงานเรียบร้อยโรงเรียนฝรั่งหรือไทยแล้ว ความสัมพันธ์ทางกฎหมายก็ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของสามีอย่างนี้หญิงไทยจะมีสามีเป็นชาวต่างชาติก็ต้องรู้กฎหมายในเรื่องนี้ไว้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินเงินทองที่ต้องเป็นไปตามเขาเว้นเสียแต่เป็นเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ คือ บรรดาที่ดินทั้งหลายก็ให้ใช้กฎหมายที่ที่ดินตั้งอยู่นั้นมาบังคับ
อยู่กันไปก็ยุ่งยากนัก อยากจะเลิกหรือหย่าร้างขึ้นมา ก็ต้องไปว่ากันตามกฎหมายที่ไปจดไปแต่ง ซึ่งเมื่อทำแล้วกฎหมายไทยก็ยอมรับสถานะว่าเป็นหม้ายแล้วเหมือนกัน แต่ถ้าจะหย่ากันก็ต้องได้ความว่า กฎหมายของประเทศทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่ากันได้ไม่เช่นนั้นจะลำบาก เป็นอันว่าเขาก็ต้องรู้กฎหมายไทยบ้างเหมือนกัน
นั่นเป็นเรื่องหย่าโดยความยินยอมแต่ถ้าการหย่าชนิดที่มีเรื่องทะเลาะกันจนต้องฟ้องร้องศาล หากอยู่ที่เมืองไทยก็ฟ้องได้ไม่ว่ากัน เพียงแต่ต้องให้ได้ความว่ากฎหมายแห่งสัญชาติของทั้งสามีและภรรยา ยอมให้หย่าได้ และให้ใช้เหตุหย่าตามกฎหมายไทย
การแต่งการหย่านี้ ต่อให้ฝรั่งต่างชาติแต่งงานกันโดยไม่ได้ผูกพันมีสัญชาติไทย ก็สามารถจดทะเบียนได้ แต่ต้องให้ได้ความว่ากฎหมายของประเทศเหล่านั้นยอมให้แต่งได้ หรือว่าแต่งตามกฎหมายเขาแล้ว ทะเลาะเบาะแวงในเมืองไทย รอไปหย่าที่ไหนไม่ทันใจแล้วจะต้องฟ้องศาลไทยก็ทำได้เช่นกัน
กฎหมายออกมาแบบนี้ เป็นการประกันความมั่นคงของครอบครัวได้ ไม่ต้องกังวลว่าสามีภรรยาคู่ไหน ที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วไม่ได้แต่งงานตามกฎหมายไทยจะกลายเป็นคนไร้คู่ตามกฎหมาย และสาวไทยหรือหนุ่มไทยหน้าไหนที่มาแย่งสามีหรือภรรยาของเราไป ไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวรก็จะมาอ้างกฎหมายไทยว่า ไม่มีทะเบียนสมรสไม่ได้ ถ้ารู้อยู่ว่าเขาหรือเธอนั้นมีคู่สมรสเป็นตัวเป็นตนแล้ว
เมื่อได้คำพิพากษาว่าหย่าแล้ว ต้องนำไปจัดการตามแบบของกฎหมายที่ประเทศนั้นๆ บางคนไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย แต่อยากจดทะเบียนหย่าไว้เป็นหลักฐานก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องจดทะเบียนฐานะครอบครัว แล้วค่อยจดทะเบียนหย่า ก็จะได้ทะเบียนหย่ามาใส่กรอบไว้ที่หัวเตียงตามประสงค์
ความรักมักไม่เลือกสัญชาติ แต่เรื่องของโอกาสและสิทธิทางกฎหมายนั้น เลือกกันได้ จะแต่งกับคนไทยหรือฝรั่งก็ระวังข้อกฎหมายไว้เป็นดี