กำลังแสดงผล 1 ถึง 1 จากทั้งหมด 1

หัวข้อ: การดับลงแห่งอัตตา

Threaded View

คำตอบที่แล้วมา คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป คำตอบถัดไป
  1. #1
    Maximum learning
    ศิลปิน นักเขียน
    สัญลักษณ์ของ khonsurin
    วันที่สมัคร
    Apr 2008
    ที่อยู่
    ท่าตูม สุรินทร์
    กระทู้
    8,063
    บล็อก
    197

    การดับลงแห่งอัตตา

    การดับลงแห่งอัตตา



    การดับลงแห่งอัตตา


    คัดจาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ


    ดังที่กล่าวมาแล้วในบทก่อนว่า การเกิดขึ้นแห่ง "อัตตา" ก็คือการตั้งจิตไว้ผิด เพราะฉะนั้น การตั้งจิตไว้ให้ถูกจึงเป็นรากฐานแห่งการดับ "อัตตา" ตลอดเวลาที่มีการตั้งจิตไว้ถูก ความดับของ "ตัวเรา" ก็มีอยู่เพียงนั้น ไม่ว่าการกระทำนั้นๆ จักเป็นไปโดยบังเอิญ หรือว่าเป็นไปเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ใช้อำนาจของสมาธิปิดกั้นโอกาสแห่งการเกิดขึ้นของ "ตัวตน หรือว่าเป็นเพราะอำนาจของปัญญาซึ่งตัดราก "ตัวเรา-ของเรา" เสียโดยสิ้นเชิงก็ตาม ล้วนแต่กล่าวได้ว่า ในขณะนั้นมีภาวะแห่งความดับของ "ตัวเรา-ของเรา" ด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันแต่ว่า อย่างที่ ๑ เป็นไปอย่างผิวเผิน อย่างที่ ๒ เป็นไปตลอดเวลาที่มีการบังคับ อย่างที่ ๓ เป็นการดับสนิทเพราะทำลายรากเง่าของมันเสียโดยสิ้นเชิง และความดับที่เราประสงค์ในที่นี้ ก็หมายถึงอย่างที่ ๓ โดยเฉพาะ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ควรทำความเข้าใจในอย่างที่ ๑ และที่ ๒ ด้วยเหมือนกัน เพื่อป้องกันความสำคัญผิด หรือ ความสับสนนั่นเอง


    การไม่ปรากฏของ "อัตตา" อย่างที่ ๑ ซึ่งมีขึ้นได้ด้วยการประจวบเหมาะนั้น หมายถึง ขณะนั้น เผอิญมีสิ่งบางสิ่ง (ซึ่งจะเป็นการได้เห็นหรือได้ฟังหรือได้อ่านอยู่ก็ตาม หรือได้รับอารมณ์ซึ่งเป็นความเงียบสงัดไม่ชวนให้เกิดความคิดนึกอะไรก็ตาม) ทำให้เกิดความรู้สึก ที่เป็นการดับ "ตัวเรา-ของเรา" อยู่ได้เป็นเวลาระยะหนึ่ง นานตลอดเวลาที่ความรู้สึกเช่นนั้นมีอยู่ ลักษณะเช่นนี้เป็นไปได้ ในคนธรรมดาสามัญทั่วๆ ไป แม้ด้วยความไม่ตั้งใจ และอาจเป็นได้มากสำหรับผู้ที่อยู่ในที่ที่เหมาะสม มีสิ่งแวดล้อมหรือมีการสมาคมกับบุคคลที่เหมาะสม หรือแม้แต่ดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม ซึ่งพอจะเรียกได้สั้นๆ ว่าเป็นความสบายทางจิตนั่นเอง อาการอย่างนี้พอจะเรียกได้ว่า "ตทังควิมุตติ" คือการพ้นไปจากอำนาจของ "ตัวเรา-ของเรา" ด้วยความบังเอิญประจวบเหมาะ นิสัยของคนบางคน ธรรมชาติสร้างมาให้เป็นผู้มีจิตว่างจาก "ตัวตน" ได้ง่ายๆ กล่าวคือ ความรู้สึกว่า "ตัวเรา-ของเรา" เกิดขึ้นได้โดยยาก ก็นับรวมอยู่ในข้อนี้


    สำหรับความดับแห่ง "อัตตา" อย่างที่ ๒ ซึ่งเป็นด้วยการกระทำทางจิต (ซึ่งไม่ใช่ทางปัญญานั้น) หมายถึง ขณะนั้นมีการทำจิต ให้ติดอยู่กับอารมณ์ของสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตกำลังอยู่ในสภาพที่เปรียบเหมือนกับวัวที่ถูกผูกติดอยู่กับแอก กล่าวคือ อารมณ์ของสมาธิไม่มีโอกาสที่จะหนีไปหาอารมณ์อื่นตามที่มันชอบ ความรู้สึกเป็น "ตัวเรา-ของเรา" จึงไม่อาจจะเกิดขึ้นในขณะนั้น ความว่างจาก "ตัวตน" ในลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นไปโดยบังเอิญ แต่เป็นไปโดยอาศัยการกระทำที่เอาจริงเอาจัง โดยวิธีเหนี่ยวรั้งจิตไว้ในอารมณ์ที่บริสุทธิ์จนไม่เกิด "ตัวตน" แม้จะมีบ้าง ก็เป็นไปแต่ในทางที่ดี คือเป็น "ตัวเรา-ของเรา" ฝ่ายดี ยังไม่มีอันตรายมาก ยังมีทางที่จะทำลายให้หายไปด้วยการทำสมาธิที่ถูกต้องได้


    ตัวอย่างเช่น ในการทำอานาปานสติภาวนา เมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิได้ ก็เกิดสุขเวทนาขึ้นมาจากสมาธิ ถ้ามีสติสัมปชัญญะเพียงพอ คือมีการกระทำที่ถูกวิธีอยู่ตลอดเวลานั้น จิตก็ไม่อาจจะเกิดความรู้สึกว่ามี "ตัวตน" มีแต่การที่จะพิจารณาต่อไป ว่าแม้ความสุขที่เกิดจากสมาธิก็เป็นมายา คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา "อัตตา" ก็ยังไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนในกรณีที่เผลอสติ หรือทำผิดวิธีนั้น ก็จะพอใจอย่างหลงใหลในสุขเวทนานั้น หรือถึงกับเกิดความรู้สึกทะนงว่า ตนประสบผลสำเร็จในคุณวิเศษแล้ว "ตัวเรา-ของเรา" ก็ย่อมจะเกิดขึ้นมาอีก อย่างนี้จะไปโทษสมาธิไม่ถูก เพราะว่าในขณะนั้นไม่เป็นสมาธิที่ถูกต้องเสียแล้ว


    วิกขัมภนวิมุตติ ก็คือการพ้นไปจากอำนาจของ "อัตตา" ด้วยการอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาปิดกั้นทางเกิดแห่ง "อัตตา" ไว้อย่างหนาแน่น และอย่างเฉลียวฉลาด การพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อกลบอารมณ์ร้าย เช่น การสวดมนต์เพื่อกลบอารมณ์ร้ายที่เป็น "ตัวเรา-ของเรา" ถ้าทำสำเร็จก็นับรวมเข้าในข้อนี้ นี้เป็นตัวอย่างสำหรับการกระทำเล็กน้อย ซึ่งคนธรรมดาสามัญก็ทำได้ แม้ที่สุดแต่เรื่องที่สอนให้นับ ๑ ถึง ๑๐ ก่อนที่จะโกรธใคร แล้วก็นับเรื่อยไปจนความโกรธเกิดขึ้นไม่ได้ แม้อุบายอย่างนี้ก็นับรวมไว้ในข้อนี้ ทั้งนี้มีหลักสั้นๆ ว่าต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ไม่ใช่มันเป็นไปโดยบังเอิญ จึงแตกต่างจากอย่างที่ ๑ และเราเรียกมันว่าเป็น การดับตัวตนด้วยอำนาจการกระทำทางจิต เช่น การทำสมาธิ ยังไม่ใช่การกระทำทางปัญญา


    สำหรับความดับ "ตัวตน" อย่างที่ ๓ คือด้วยการอาศัยปัญญานั้น หมายถึง อุบายที่แยบคายไปกว่านั้นมาก และไม่ใช่เป็นการกระทำที่บีบบังคับโดยตรง แต่เป็นการกระทำที่เรียกว่า เป็นการถอนรากเง่าขึ้นมาทำลายเสียโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ในการทำลายหญ้าคา ถ้าเอามีดเอาพร้ามาฟาดฟันอย่างผิวเผิน หญ้าคาก็หายหน้าไปพักหนึ่งแล้วก็งอกขึ้นมาอีก หรือถ้าเอาอะไรมาทับมาปิดไว้ หญ้าคาก็หายหน้าไปเหมือนกัน แต่เมื่อเอาของทับออกเสียแล้ว หญ้าคาก็กลับปรากฏอีก แต่ก็นานกว่าวิธีที่ ๑ ทีนี้ถ้าขุดรากหญ้าคาขึ้นเผาเสียให้หมด หญ้าคาก็หมดไปเป็นการถาวร เราทราบแล้วว่า "อวิชชา" เป็นรากเง่าของ "อัตตา" ฉะนั้น การทำลายอวิชชา ก็เป็นการทำลาย "อัตตา" และเพราะเราใช้วิชชาหรือปัญญามาทำลายอวิชชา เราไม่ใช้กำลังจิตล้วนๆ อย่างวิธีที่ ๒ เราจึงเรียกการกระทำอย่างนี้ว่า เป็นไปด้วยอำนาจของปัญญา และเราเรียกการดับของ "ตัวตน" ในลักษณะนี้ว่า "สมุจเฉทวิมุตติ" เป็นการดับ "ตัวตน" ด้วยการถอนรากเง่าขึ้นโดยสิ้นเชิง


    แม้คนเราจะได้พบกับความดับไปแห่ง "อัตตา" โดยบังเอิญอย่างวิธีที่ ๑ นั้น อยู่บ่อยๆ ก็ตาม แต่ก็หามีใครเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะสนใจ คือเขาสนใจกันแต่เรื่องที่กำลังอยากกำลังต้องการ ไม่สนใจเรื่องของความว่างจากความอยากความต้องการ หรือ แม้แต่รสชาติของจิตที่ว่างจากความต้องการ เขาจึงไม่มีโอกาสรู้จักภาวะของจิตที่ว่างจาก "ตัวตน" ซึ่งที่แท้ก็มีอยู่บ่อยๆ เมื่อไม่สนใจเพราะไม่รู้จักแล้วมันก็มีค่าเท่ากับไม่มี เหมือนกับไก่ที่เดินไปบนกองเพชรพลอย มันก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่มีค่าน่าสนใจ แต่ถ้าเห็นข้าวสารสักเม็ดหนึ่งตกอยู่บนดิน มันจะเห็นค่าขึ้นมาทันที อาการอย่างนี้มีอยู่แม้ในอุบาสกอุบาสิกา ตลอดถึงที่เป็นบรรพชิต ตลอดจนแม้เถระ ฉะนั้นการปฏิบัติเกี่ยวกับการดับของ "อัตตา" จึงก่อรูปขึ้นไม่ได้ มีแต่จะเป็นไปในทางที่จะเกิด "อัตตา" เสียตะพึดจึงไม่ได้รับแม้แต่ความดับของ "อัตตา" ชนิดที่เป็นด้วยการบังเอิญ ถ้าคนยังเป็นเหมือนไก่อยู่เพียงใด เพชรพลอยอย่างมากมายในพระพุทธศาสนาก็จักยังเป็นหมันอยู่เพียงนั้น เพชรพลอยในที่นี้เราหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ การดับไปแห่ง "ตัวตน" เป็นยอดของพระธรรม คือเป็นธรรมชั้นสูงสุด หรือเป็นบรมธรรมทีเดียว เพราะเป็นไปเพื่อการไม่เบียดเบียนตนเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่นถึงที่สุดจริงๆ ฉะนั้นเพื่อการปฏิบัติธรรมทางลัด เราจะต้องหันมาสนใจ เลือกเอาเพชรพลอยชนิดใดชนิดหนึ่ง กล่าวคือการดับไปแห่ง "ตัวตน-ของตน" ชนิดใดชนิดหนึ่งที่เหมาะแก่ตัวเรา นำเอาเข้าสู่การประดับประดาของเราเป็นประเดิมเริ่มแรกกันเสียก่อน สำหรับจะได้ทำให้ก้าวหน้าไปตามลำดับ จนถึงที่สุด


    ความดับไปแห่ง "อัตตา" นั้น ไม่ได้หมายถึงความดับไปของร่างกายหรือของชีวิต มิได้หมายถึงการดับไปแห่งความรู้สึก เช่น หมดความรู้สึกนิ่งเงียบไปเพราะอำนาจของฌาน แต่หมายถึง การดับของความรู้สึก ที่รู้ว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" ซึ่งเราเรียกกันสั้นๆ เพื่อความสะดวก ว่า "ความดับไปแห่งอัตตา" และคำว่า "ความดับ" ในที่นี้ หมายถึงการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น รวมทั้งการดับตัวตนที่ปรากฏอยู่แล้วด้วย ฉะนั้นโดยใจความที่แท้จริงก็คือ ภาวะแห่งความที่จิตปราศจากความรู้สึกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" นั่นเอง


    อนึ่ง ยังมีความหมายที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก คือไม่ได้หมายความว่า จิตว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย หรือจิตเองก็ดับไปด้วย ต้องทราบไว้ว่า เมื่อใด "ตัวตน" ดับลงไป ความว่างอย่างหนึ่งก็ปรากฏขึ้นแทน เป็นความว่างจาก "อัตตา" แต่ทว่าประกอบอยู่ด้วยสติปัญญาอย่างยิ่งในตัวความว่างนั้น เมื่อ "อัตตา" ยังเดือดพล่านอยู่ จิตมีแต่ความวุ่น เมื่อ "ตัวตน" มีอยู่ จิตก็มืดมน เพราะความเดือดพล่านของความรู้สึกว่ามี "ตัวตน" ครั้น "ตัวตน" ดับไป จิตก็หมดความมืด และมีความสว่างเกิดขึ้นแทน เมื่อ "ตัวตน" มีอยู่ จิตมีแต่ความโง่ด้วยอำนาจของอวิชชา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด "ตัวตน" เมื่อ "ตัวตน" ดับไปจิตก็พ้นความโง่ กลายเป็นธรรมชาติที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกอย่างเต็มที่ได้ในตัวมันเอง คือมันรู้สิ่งที่เป็นความว่าง ความไม่มีทุกข์ ความรู้สึกว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" นั้นไม่ใช่ธรรมะแต่เป็นอธรรม ต่อเมื่อว่างจากความรู้สึกว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" เมื่อนั้นจึงจะเป็นธรรมะ


    อีกอย่างหนึ่ง จะถือว่าเมื่อจิตประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" จิตย่อมสูญเสียความบริสุทธิ์ คือไม่เป็นจิตเดิมแท้ที่บริสุทธิ์สะอาด แต่กลายเป็นเพียงของมายา เป็นเพียงความคิดปรุงแต่ง ไปตามเรื่องตามราวของอารมณ์ที่เข้ามาแวดล้อม ให้เกิดความรู้สึกว่ามี "ตัวเรา-ของเรา" ต่อเมื่อใดจิตว่างจากความคิดปรุงแต่ง หรือว่างจาก "ตัวเรา-ของเรา" จิตจึงคืนสู่สภาพเดิม คือ เป็นจิตที่สะอาดอยู่ตามธรรมชาติ


    สรุปความว่า เมื่อความรู้สึกว่าเป็
    น "ตัวเรา-ของเรา" ดับไป จะต้องมีสิ่งอื่นปรากฏขึ้นมาแทนสิ่งนั้น นั่นก็คือภาวะของจิตเดิมแท้ เป็นภาวะแห่งความว่างจากความวุ่นด้วยอำนาจการนึกคิด เกิดภาวะแห่งความสว่างและความเป็นธรรมะ และที่สำคัญอย่างยิ่งนั้นก็คือ จะเกิดภาวะแห่งความสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา ฉะนั้นความดับไปแห่ง "อัตตา" จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่สิ่งที่ไร้คุณค่า ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้คนเราเสื่อมสมรรถภาพ แต่กลับทำให้เราสมบูรณ์ไปด้วยสติปัญญา ไม่มีทางที่จะทำอะไรผิดพลาด และมีแต่ความสงบสุขทางใจ


    ผู้ที่ได้ฟังเรื่องนี้แล้วยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจหรือครึ่งๆ กลางๆ อาจเกิดความเข้าใจผิดอย่างแรง อาจเห็นว่าความดับแห่ง "ตัวตน-ของตน" นี้เป็นโทษไปก็ได้ คือเขาเข้าใจผิดไปว่าถ้าดับความรู้สึกว่ามี "ตัวตน-ของตน" เสียแล้ว คนเราก็จะไม่ทำอะไร จะไม่ยอมพัฒนาประเทศชาติ จะไม่ยอมทำประโยชน์ให้แก่สังคม เพราะว่า ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องกระตุ้นให้ทำ มีแต่ความรู้สึกที่อยากจะอยู่เฉยๆ เป็นก้อนดินก้อนหินไป ความหลงผิดเช่นนี้เกิดขึ้น จากการที่เขาไม่เข้าใจอย่างถูกต้อง ในเรื่องของความดับของ "ตัวตน-ของตน" และอีกอย่างหนึ่งนั้นเขามีความเคยชินเป็นอย่างยิ่งกับความรู้สึกว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" เมื่อเขามีความรู้สึกเป็น "ตัวตน-ของตน" ขึ้นมา เขาก็รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นความเอร็ดอร่อยในทางจิตใจ จนกระทั่งมีความติดใจหลงใหลเอาทีเดียว และยิ่งเป็นอย่างนี้มากขึ้นตามอายุที่ล่วงไปๆ เขาจึงเป็นเกลอกับ "ตัวตน-ของตน" อย่างที่จะขาดเสียไม่ได้ และกลายเป็นปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลส คือในลักษณะที่ "เห็นงูเป็นปลา" ไปเสียตะพึด จึงอยู่ในฐานะลำบากอย่างยิ่ง ที่จะทำความเข้าใจในเรื่องความดับไปของ "ตัวตน-ของตน"


    ข้อนี้ก็สมตามความหมายของคำว่าปุถุชน ซึ่งแปลว่า "คนหนา" คือ หนาไปด้วยสิ่งหุ้มห่อดวงตา หรือจิตใจ หรือปัญญา จนกระทั่งปัญญาไม่อาจส่องแสงได้ แต่ว่า "ตัวตน-ของตน" นั่นแหละเป็นผู้ส่องแสงแทน เรื่องมันจึงทำให้เห็นผิดไปหมด คนโง่ๆพวกนี้ ไม่พอใจที่จะดับ "ตัวตน-ของตน" โดยไปเข้าใจว่าจะเป็นการขาดทุนอย่างย่อยยับไม่มีอะไรเหลือ ฉะนั้น การแนะนำสั่งสอนธรรมะในขั้นที่จะถอนอุปาทานเช่นนี้ จึงทำไม่ได้ในหมู่ชนซึ่งเป็นปุถุชนมากเกินไป จะทำได้ก็เพียงแต่แนะนำสั่งสอนให้เลือกยึดถือ "ตัวตน-ของตน" ชนิดที่ไม่สู้เป็นอันตรายมากมายนักไปพลางก่อน แม้จะต้องร้องไห้บ้าง ก็ยังมีเวลาทึ่จะได้หัวเราะสลับกันไป แต่ที่จะให้ไม่ต้องหัวเราะและร้องไห้เลยนั้น ยังเป็นไปไม่ได้ (อ่านหนังสือ "อะไรถูกอะไรผิด" ซึ่งอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียด)


    ทีนี้ ก็มาถึงบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ปุถุชนชั้นดี หรือ กัลยาณปุถุชน หมายถึงบุคคลที่มีเครื่องหุ้มห่อตาไม่หนาจนเกินไป มีผงในดวงตาไม่มาก เขาจึงสามารถล้างผงออกจากนัยน์ตาของเขาได้หมด และผงที่กล่าวนี้ก็คือ ความรู้สึกว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" อีกนั่นเอง พวกที่มีผงในดวงตาเพียงเล็กน้อยนี้ หมายถึง คนบางคนที่ได้รับการศึกษาทางธรรมที่ถูกต้องมาแต่แรก รวมทั้งเป็นผู้มีอุปนิสัยดี ไม่หัวดื้อรั้นอวดฉลาด เขามีสติปัญญาตามธรรมชาติชนิดที่อาจรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เป็นผู้เตรียมพร้อมที่จะมีความรู้ยิ่งเห็นจริงอยู่เสมอ พอได้รับคำแนะนำชี้แจงเรื่องโทษของ "ตัวตน-ของตน" เขาก็จับฉวยเอาได้ทันที รวมความว่า เขาจะเข้าใจอย่างเด็ดขาดลงไปว่า การดับเสียได้ซึ่ง "ตัวตน-ของตน" นั้น จะทำให้คนเราทำอะไรได้มากขึ้น ทำได้ดียิ่งขึ้น ทำอะไรไม่ผิดพลาด เพราะไม่มีความเห็นแก่ตัว และในที่สุด สังคมจะประสบสันติสุขที่แท้จริง การพัฒนาประเทศชาติก็จะได้ผล และจะไม่มีคอรัปชั่นมากมายอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้


    สถิติของโลกในทุกวันนี้ปรากฏว่า ในบางประเทศมีคดีการข่มขืนสตรีทุกๆ ๓๔ นาที มีการตัดช่องย่องเบาขโมยเล็กขโมยน้อยทุกๆ ๓๙ นาที มีการทำอันตรายกันถึงตายทุกๆ ๕๐ นาที ตัวอย่างเพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่น่าขยะแขยง หรือเสนียดจัญไรในโลกนั้นมีอยู่ไม่น้อยเลย และเป็นที่แน่นอนว่า จะทวีมากขึ้นเร็วขึ้น ยิ่งกว่าการทวีของพลโลก เมื่อเทียบส่วนกัน นี่แสดงให้เห็นว่า การตกอยู่ใต้อำนาจ "ตัวเรา-ของเรา" ของมนุษย์นั้น ได้ทวีขึ้น ฉะนั้น หากว่ามีการดับ "ตัวเรา-ของเรา" ลงไปได้เพียงใด สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านั้น ก็จะลดลงตามส่วน ถ้ามนุษย์เรายังไม่สามารถจับต้นตอของความชั่วเหล่านี้ได้ ก็จะไม่สามารถขจัดมันได้ ทั้งนี้ก็เพราะมองข้ามเรื่องความดับแห่ง "ตัวเรา-ของเรา" โลกจึงต้องประสบชะตากรรมอย่างนี้ และจะลุกลามจากวิกฤติการณ์ส่วนบุคคลไปเป็นวิกฤตการณ์ของโลก จากวิกฤติการณ์ชั่วคราวไปเป็นวิกฤติการณ์ถาวร จนถึงขนาดเหลือวิสัยที่มนุษย์ผู้ยังงมอยู่ในลักษณะเห็นผิดเป็นชอบเช่นนี้ จะแก้ไขมันได้


    การข่มขืนสตรี การตัดช่องย่องเบา หรือการปล้นสดมภ์ การลักการขโมย การฆ่ากันโดยบันดาลโทสะ หรือโดยเจตนา และ การกระทำอย่างอื่นๆ ซึ่งเรียกว่า อาชญากรรมนั้นมีต้นตอที่ลึกซึ้ง อยู่ที่การพลุ่งออกมาของ "อัตตา" กล่าวคือความรู้สึกที่เป็น "ตัวเรา-ของเรา" ถ้าพลุ่งขึ้นมาถึงขีดสุดแล้ว มันทำให้ไม่กลัวอะไร ฉะนั้น อำนาจการบังคับ หรืออำนาจกฏหมาย ย่อมควบคุมสิ่งเหล่านี้ไว้ไม่ได้ เพราะในขณะนั้นเขาไม่กลัวแม้แต่ความตาย หรือโทษภัยใดๆ ทั้งสิ้น


    ทีนี้ ถ้าเราหันมาใช้วิธีที่ไม่เป็นการบังคับ เช่นวิธีศึกษาอบรมกันทั่วไป ให้เข้าใจถูกในเรื่องความดับแห่ง "อัตตา" ก็ขอยืนยันว่าเมื่อดับ "อัตตา" ได้มากเท่าไร คนก็จะไม่มีความเห็นแก่ตัวจัด เพราะมีสติปัญญา หรือเหตุผลได้มากขึ้น ตามหลักพุทธศาสนา ย่อมจะกล่าวได้ว่า ศีลธรรมก็ดี สัจธรรมที่สูงขึ้นไปก็ดี หรือ โลกุตตรธรรมข้อใดก็ดี ล้วนแต่มีความมุ่งหมายที่จะเข่นฆ่าสิ่งที่เรียกว่า "อัตตา" ให้ดับไป ให้เหลือแต่สติปัญญาควบคุมชีวิตนี้ ให้ดำเนินไปถึงจุดหมายที่แท้จริงที่มนุษย์ควรจะได้ ส่วนจริยธรรมที่มีชื่อไพเราะต่างๆ นานา เช่นความซื่อสัตย์ ความเห็นแก่ผู้อื่น ความรักใคร่เมตตากรุณา การสารภาพความผิด ฯลฯ โดยมากก็เป็นเพียงสักว่าชื่อตามป้ายหรือตามฉลากที่ปิดไว้ตามที่ต่างๆ หรือสมาคมต่างๆ ไม่สามารถจะปราบอธรรมได้ เพราะว่า "อัตตา" ของมนุษย์ในโลกทุกวันนี้ได้หนาแน่นยิ่งขึ้น และรุนแรงถึงกับเดือดพล่านนั่นเอง ฉะนั้นถ้าเราหวังที่จะมีจริยธรรมมาเป็นที่พึ่งของชาวโลกแล้ว จะต้องสนใจในเรื่องความดับไปแห่ง "อัตตา" ให้มากเป็นพิเศษ สมตามที่หลักแห่งพุทธศาสนายืนยันว่า มันเป็นเพียงสิ่งเดียว ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง




    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย khonsurin; 25-07-2010 at 12:02.
    *********************************


    อิสระ เสรี เสมอภาค




    *********************************

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •