ประเพณีแห่มาลัย บ้านฟ้าหยาด ยโสธร

ประเพณีแห่มาลัย  อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร

ประเพณีแห่มาลัย  อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร


ร้อยมาลัยข้าวตอก แทนดอกมณฑารพ นบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ร่วมชื่นชมความงดงามบริสุทธิ์ของชุมชนลุ่มน้ำชี

ในเทศกาลวันมาฆะบูชา

ซึ่งชาวบ้านฟ้าหยาด แห่งเมืองบั้งไฟโก้ ยโสธร

จะนำข้าวตอกสีขาว ที่คัดจากข้าวเปลือกที่ดีที่สุด

มาร้อยเป็นมาลัยสายยาว แทนดอก "มณฑารพ"

ดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ แล้วจัดกระบวนแห่

ไปสักการะบูชา พระพุทธเจ้า ณ วัดกลางบ้าน


?มหาชนะชัย พระเรืองไชยลือเลื่อง เมืองแห่งดอกจาน นมัสการพระพุทธบาท

ธรรมชาติลำน้ำชี ประเพณีแห่มาลัย?

ประวัติอำเภอมหาชนะชัย

เมืองมหาชนะชัย เดิมขึ้นตรงต่อจังหวัดอุบลราชธานี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เจ้าพระพรหมราชวงศาประชาราษฎร์ ต่างพระเนตรพระกรรณ เนื่องจากมีพื้นที่ปกครองกว้างใหญ่ไพศาลจึงให้ ท้าวปุตตะคำพูน ราชบุตรไปจัดตั้งเมืองใหม่ ณ บริเวณบ้านเวินชัย ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี เมื่อปี พ.ศ. 2402 โดยตั้งชื่อว่า เมืองหันชัยชำนะ ต่อมาเห็นว่าพื้นที่คับแคบไม่เหมาะสมที่จะขยายเมือง จึงได้มาตั้งเมืองใหม่ ณ สถานที่ตั้งปัจจุบัน
เมื่อวันแรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เบญจศก จ.ศ.1225 ตรงกับ พุทธศักราช 2406 ในรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองมหาชนะชัย และพระราชทานนาม ท้าวปุตตะคำพูน เป็นพระเรืองไชยชำนะ เจ้าเมืองมหาชนะชัย และแต่งตั้งพระเรืองไชยชำนะ เจ้าเมืองมหาชนะชัยและแต่งตั้งท้าวโพธิราช (ผา) เป็นอุปราช ท้าววรกิตติกา (ไชย) เป็นราชวงศ์ ท้าวอุเทน (หอย) เป็นราชบุตร พระเรืองไชยชำนะถึงแก่กรรม พระสิทธิจางวางได้เป็นเจ้าเมืองสืบแทน ต่อมาถึง 15 ปี ก็ถึงแก่กรรม ท้าวสุริวงศ์บุตรของ พระสิทธิจางวางได้เป็นเจ้าเมือง คนต่อมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 ได้เปลี่ยนเป็นอำเภอมหาชนะชัย โดยขึ้นตรงต่อจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2515 ได้มาขึ้นตรงต่อจังหวัดยโสธร ในปี พ.ศ. 2499 กระทรวงมหาดไทยได้จัดรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนในตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี ให้ยกฐานะขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดตั้งสุขาภิบาล ฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ได้ยกฐานะจากสุขาภิบาล ฟ้าหยาด เป็นเทศบาลตำบลฟ้าหยาด ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ.2542

กำหนดการจัดงานประเพณีแห่มาลัย

กำหนดจัดในช่วงวันมาฆบูชา มีการนำข้าวตอก ดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชา จากความเชื่อในเรื่องว่า

1.พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ มาเทศน์โปรดมารดาเหล่าเทวดาแสดงความยินดี โดยการโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็นพุทธบูชา

2.ตามโบราณอีสานนิยม เมื่อมีการขนข้าวขึ้นเล้วเขาจะแยกข้าวบางส่วน ใส่กระสอบหรือกระเฌอเอาไว้สำหรับ ตำกิน กะให้พอดีกินถึงวันเปิดเล้าคือ เมื่อเอาข้าวขึ้นเล้าและสู่ขวัญข้าวเสร็จคนโบราณจะปิดเล้าข้าวไว้และจะเปิดเล้าข้าวอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำข้าวมาตำกินในช่วงเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ หรือวันมงคลอื่นๆ ทั้งนี้แล้วแต่ท้องถิ่น สำหรับบ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย ได้กำหนดเอาวันมาฆบูชา โดยจะทำการเปิดเล้าข้าวและร่วมทำบุญตักบาตรตลอดจนการให้ทานต่างๆเพื่อเป็นพุทธบูชาและความเป็นสิริมงคล ในการจัดข้าวตอกดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชาได้มาปฏิบัติทุกปีติดต่อกันมามิได้ขาด ในตอนแรกการนำข้าวตอกดอกไม้เป็นบูชานั้นจะนำใส่พานแล้วโปรยเวลาพระเทศน์ ต่อมาได้นำข้าวตอกดอกไม้มาประดิษฐ์ตกแต่งให้สวยงาม ด้วยการร้อยเป็นพวงคล้ายพวงมาลัย จึงเรียกกันว่า "พวงมาลัย" และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเป็นพวงมาลัยข้าวตอกบ้าง บางทีก็ใช้ดอกไม้พลาสติกและลูกปัดร้อยเข้าไปด้วยเพื่อให้สวยงามขึ้นในการทำพวงมาลัย จะรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 4 - 5 หลังคาเรือนหรือใครจะมีศรัทธาทำตนเฉพาะตนก็ได้ ในปัจจุบันการร้อยมาลัยเป็นสาย จะมีความยาวประมาณ 4 - 6 เมตร ในการทำบุญพวงมาลัย จะมีการนำพวงมาลัยมาแห่รอบเมืองเป็นขบวนสวยงาม เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากท้องถิ่นส่วนอื่นๆ จากนั้นจะนำไปถวายวัดก่อนถึงวันมาฆบูชาหนึ่งวัน ทางวัดจะนำไปแขวนประดับประดาไว้บนศาลาการเปรียญเพื่อเป็นพุทธบูชา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย โทร. 0 4579 9341, 0 4579 9103


ประวัติงานประเพณีแห่มาลัย

เนื้อความในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร กล่าวคือ ดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เมื่อถึงกาลเวลาที่ดอกมณฑารพจะบาน และร่วงหล่นก็ด้วยเหตุการณ์สำคัญ ๆ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จาตุรงคสันนิบาต และทรงแสดงพระธัมมจักรกัปวัตนสูตร ดอกมณฑารพจึงได้ร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันปรินิพพาน ที่เมืองกุสินารา ดอกมณฑารพนี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเหมือนความเสียอกเสียใจพิไรรำพันต่อการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงเหล่าพระภิกษุผู้ได้ชื่อว่าอรหันตขีนาสพทั้งหลายด้วย ข่าวการเสด็จดับขันปรินิพพานได้แพร่ขยายออกไปในหมู่เหล่าข้าราชปริพารประชาชนทั้งหลายได้พากันมาถวายสักการะพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความซาบซึ้งในพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ อีกทั้งยังได้พากันเก็บเอาดอกมณฑารพที่ร่วงหล่นลงมาเพื่อไปสักการะบูชาและรำลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปดอกมณฑารพที่เก็บมาสักการะบูชาเริ่มเหี่ยวแห้งและหมดไป เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า รวมทั้งเหตุการณ์ในวันสำคัญต่าง ๆ จึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการะบูชา เพราะถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้ การจัดข้าวตอกดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชามีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่นั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าแรก ๆ จะใส่พานไว้โปรยเวลาพระสงฆ์เทศนา ต่อมาจึงมีการนำมาประดิษฐ์ตกแต่งที่เห็นว่าสวยงาม


ระยะเวลาการแห่พวงมาลัย อำเภอมหาชนะชัย จะมีการแห่พวงมาลัย 2 ครั้งคือ

1. วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน โดยแห่ไปทอดถวาย ณ วัดหอก่อง

2. วัดฟ้าหยาดจะทำพร้อม ๆ กับบุญ ประจำปี หรือบุญกุ้มข้าวใหญ่ รวมถึงบุญคูณลานให้เสร็จพร้อมกันทีเดียว อยู่ช่วงประมาณเดือนยี่หรือเดือนสอง

ประเภทของพวงมาลัย พวงมาลัยของชาวอำเภอมหาชนะชัยมี 2 แบบ คือ

1. พวงมาลัยข้าวตอกแตก วัสดุที่ทำประกอบด้วยข้าวตอกแตกเป็นหลัก ข้าวตอกแตก คือ ข้าวเปลือกที่คั่วให้ข้าวแตกออกจากเปลือกด้วยความร้อนจากไฟ จะคล้ายกับข้าวโพดคั่ว

2. พวงมาลัยแบบเส้นด้าย เป็นพวงมาลัยที่ทำด้วยเส้นฝ้ายเป็นหลัก

วิธีการทำด้ายสุก

จะอยู่ในขั้นตอนนำด้ายที่ทำเป็นติ้วแล้วมาแช่น้ำประมาณ 1 คืน ให้อิ่มตัวแล้วต้มน้ำใส่ข้าวสารเจ้า จากนั้นคั้นชนเอาน้ำข้าวไว้เพื่อนำฝ้ายไปแช่หรือชุบให้อิ่มตัวก่อนจะบีบฝ้ายแล้วนำไปตาก เส้นฝ้ายจะมีลักษณะกลม ขณะที่นำไปตากต้องหมั่นไปดึงเพื่อให้เส้นด้ายถึงพอดี เมื่อด้ายแห้งแล้วก็นำไปเพื่อใช้ในงานที่จะทำต่อไป

วิธีการร้อยมาลัย

ผู้ที่ทำพวงมาลัยจึงนำข้าวตอกแตก หรือฝ้ายมาทำพวงมาลัย ดังนี้

1. พวงมาลัยข้าวตอกแตก จะร้อยต่อดอกแบบอุบะ โดยมีความยาวอยู่ 3 ขนาด เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า ทำสายพวงมาลัย จำนวนสายมากน้อย เล็กหรือใหญ่ ตามแต่ศรัทธากำลังความสามารถของผู้ทำ สายมาลัยจะผูกนำมามัดใส่กรงที่ทำด้วยไม้เป็นรูปสามเหลี่ยมสองอันผูกไขว้กัน ซึ่งจะทำให้เกิดมุมดังนี้
1.1 มุมนอก 6 มุม จะมัดสายมาลัยที่สั้นที่สุด มุมละ 5-9 สาย

1.2 มุมใน 6 มุม จะมัดสายมาลัยที่ยาวขนาดกลาง มุมละ 5-9 สาย

1.3 ตรงกลาง จะทำเป็นพวงใหญ่และยาวที่สุดสายเดียว จะมัดโยงมาจากไม้ที่ใช้ห้อยพวงมาลัยแห่

2. พวงมาลัยเส้นด้าย ก็จะนำฝ้ายที่ทำเป็นเส้นด้ายเป็นติ้ว (ไจ,ไนหรือปอย) แล้วมาตกแต่งใส่กรงไม้เหมือนพวงมาลัยข้าวตอกแตก จะมีมุมนอก มุมในและตรงกลางสายมาลัยข้าวตอกแตกหรือมาลัยฝ้าย เมื่อมัดใส่กรงไม้แล้วก็จะนำมาประดับตกแต่ง ดังนี้

1. ตกแต่งเป็นลวดลาย เช่น ลวดลายตาข่าย ลายเกล็ด ลายก้านสามดอก ลายกระเบื้อง สายสี่ก้านสี่ดอก ลายดาวกระจาย ลายแก้วชิงดวง ลายแมงมุม ลายดาวล้อมเดือน และลายวิมานแปลง ตามแต่ฝีมือและความรู้ความชำนาญ

2. ตกแต่งด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ ทำเป็นดอกไม้ พู่ พุ่ม หรือสีสันของการประดิษฐ์งานฝีมือ

การแห่พวงมาลัย
พวงมาลัยที่ทำเสร็จแล้วจะนำไปแห่ในวันเวลาที่นัดหมายกัน คือ แห่ไปถวายวัดฟ้าหยาดช่วงจัดงานบุญประจำปี (บุญกุ้มข้าวใหญ่) บุญคูณลาน และบุญพวงมาลัย ซึ่งจัดทำพร้อมกันช่วงเดือนยี่ (เดือนสอง) และแห่ไปถวายวัดหอก่องในวันขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนสาม ก่อนวันมาฆบูชาหนึ่งวัน ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพวงมาลัยจึงนำพวงมาลัยของตนเองมารวมกันยังที่นัดหมาย มีขบวนกลองยาวช่วยเพิ่มรสชาติความสนุกสนานมีชีวิตชีวาในการแห่ เจ้าของพวงมาลัยจะใช้ไม้ไผ่ลำยาวเพื่อยกหรือชูมาลัยให้สูงจากพื้นดิน จะได้ไม้ห้อย (ระ) ติดพื้นดิน เพราะสิ่งของที่จะเป็นพุทธบูชาถือว่าเป็นของสูงค่ายิ่งนัก ในขบวนแห่นอกจากพวงมาลัยข้าวตอกแตกและพวงมาลัยเส้นฝ้ายแล้ว ยังมีพานพุ่มที่จัดเป็นพุ่มเงิน พุ่มทอง และพุ่มดอกไม้ที่จัดประดับตกแต่งด้วยเงิน สิ่งของและปัจจัยไทยทานที่ประสงค์จะทำบุญตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน

แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง





วัดพระพุทธบาท

ตั้งอยู่ที่วัดพระพุทธบาทยโสธร บ้านหนองยาง ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันตก ๖ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๘๓ ห่างจากตัวจังหวัด ๔๗ กม. พื้นที่ประดิษฐานรอยพุทธบาท เป็นเนินทรายขาวสูงงอกขึ้นกลางพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชี มีป่าละเมาะสูงต่ำ เป็นดินที่ปลูกพืชอื่นไม่ขึ้น ทิศเหนือมีบึงน้ำลึกยาว ชาวบ้านเรียกวว่า "กุดจอก" เป็นคูขนานไปกับลำชี ทิศตะวันออกมีหนองน้ำอีกแห่งหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า "กุดจงอาง" ลำน้ำล้อมเนินทรายมาทางทิศใต้จดทิศตะวันตก (ดูคล้ายงูจงอาง) ทัศนียภาพสวยงามมาก รอยพุทธบาทนี้นับเป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่าของจังหวัด บริเวณเดียวกันนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปปางนาคปรก (ศิลาแลง) ๑ องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ ศอก และหลักศิลาจารึกทำด้วยศิลาแลง ๑ หลัก สูงประมาณ ๑ เมตร กว้าง ๕๐ เซนติเมตร มีตัวหนังสือโบราณบันทึกไว้ว่าโบราณวัตถุทั้ง ๓ อย่างนี้พระมหาอุตตปัญญาและสิทธิวิหาริกได้นำมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๓๗๘ นอกจากนั้นก็เขียนบอกคำนมัสการพระพุทธบาทไว้บางตัวก็อ่านไม่ออกเพราะเลือนลางมาก ในระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายนของทุกปีจะมีประชาชนจากอำเภอ และตำบลใกล้เคียงไปนมัสการเป็นจำนวนมาก