วันปีใหม่-การอวยพรผู้ใหญ่-ธรรมเนียมไทยการให้ของขวัญ

ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทยถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องกับคติแห่งพุทธศาสนาซึ่งถือเอาฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี

ต่อมา ได้ถือว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษไทย) ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติและยึดถือมา

จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่างๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสม และไม่สะดวกเพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2432 เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย

เมื่อถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ต่างก็ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อไทยยอมรับปฏิทินสุริยคติตามแบบสากลแล้วก็ควรจะใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปี เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับประเทศต่างๆ

จึงกำหนดให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นต้นมา เป็นผลให้ปี พ.ศ.2483 ขาดไป 3 เดือน และให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติ ให้ทางราชการ บริษัท ห้างร้านทั่วไป หยุดงานที่เคยทำประจำ 2 วัน คือ วันที่ 31 ธันวาคม วันสิ้นปีเก่า และ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่

ธรรมเนียมไทยแต่เดิมมา ก่อนวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดทั่วบริเวณ และตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามตามกำลังความสามารถ ในวันขึ้นปีใหม่ นอกจากทำบุญตักบาตรหรือทำกุศลอื่นๆ ตามอัธยาศัยแล้ว ผู้น้อยนิยมไปรดน้ำผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรท่านให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนเองสืบไป

ประเพณีใหม่ที่เข้ามาสู่คนไทยในโอกาสนี้คือ การส่งบัตรอวยพรระหว่างเพื่อนฝูง ญาติมิตรที่สนิทสนมกัน เป็นการแสดงออกแห่งไมตรีจิตระหว่างกัน นับเป็นการประยุกต์นำวัฒนธรรมอื่นที่เหมาะสมมาใช้ในสังคมไทย ถือเป็นความเจริญทางวัฒนธรรมได้ประการหนึ่ง

การอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ นิยมปฏิบัติกันแพร่หลาย ด้วยการใช้บัตรอวยพร หรือ นิยมใช้สิ่งของ นำไปมอบให้ผู้ที่เคารพนับถือ ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหายรวมทั้งผู้บังคับบัญชาในที่ทำงานเป็นเครื่องแสดงถึง การระลึกถึงคุณความดีและไมตรีจิตมิตรภาพ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

การอวยพรผู้ใหญ่ เรานิยมอวยพรกันในวันที่ 1 มกราคม ถ้าเป็นญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักมาก เช่น บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่รวมทั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูง นิยมไปอวยพรในตอนเช้า

วันปีใหม่-การอวยพรผู้ใหญ่-ธรรมเนียมไทยการให้ของขวัญ

การมอบของขวัญแบบไทยซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าจะส่งเสริม คือ
1.กระเช้าดอกไม้หรือแจกันดอกไม้สดที่สามารถปลูกได้ในเมืองไทยหรืออาจเป็นดอกไม้ประดิษฐ์จากกลุ่มแม่บ้านต่างๆ

2.กระเช้าเครื่องกระป๋องซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากโครงการในพระราชดำริ หรือผลิตภัณฑ์ในโครงการหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล

3.กระเช้าหรือถาดหรือตะกร้าผลไม้สดซึ่งเป็นผลไม้ไทย

4.กล่องหรือภาชนะหรือตะกร้าจักสานบรรจุผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้หรือขนมแห้ง ผลไม้กวนหรือขนมหวานแบบไทย

5.ประเภทเครื่องแต่งกาย อาจเป็นผ้าชิ้น โดยเฉพาะผ้าทอมือกำลังเป็นที่นิยม หรือเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ตัดเย็บจากผ้าทอมือของไทยแล้วแต่กรณี

ของขวัญต่างๆ ควรจัดให้สวยงาม ด้วยการผูกโบว์สีสวยงามให้น่าดู ถ้าเป็นสิ่งของที่ต้องใส่กล่องควรหากระดาษห่อที่มีลวดลายสุภาพไม่ฉูดฉาดบาด ตา และห่อด้วยความประณีต ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์หัตถกรรมประเภทกระดาษสา กระดาษจากใยต้นกล้วย และกล่องที่ทำจากกระดาษดังกล่าวแล้วของไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพและความสวย งามประกอบกับราคาไม่แพง จึงน่าจะสนับสนุนนำมาใช้ในวาระปีใหม่

สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงถึงรสนิยมของผู้ให้ รวมทั้งแสดงถึงการคารวะที่ผู้ให้มีต่อผู้รับและยังจะสร้างความประทับใจในการ มีส่วนร่วมกันสนับสนุนสินค้าไทย



การเลือกของขวัญ และบัตรอวยพร หรือบัตรส่งความสุข ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใหญ่ที่มีอาวุโส ควรเลือกด้วยความพิถีพิถัน บัตรอวยพรหรือบัตรส่งความสุขควรเลือกที่เป็นภาพสวยงามแบบเรียบสีสุภาพ และเพื่อร่วมสนับสนุนกองทุนศิลปินแห่งชาติ ประชาชนสามารถซื้อบัตรอวยพร และผลิตภัณฑ์สินค้าที่ระลึกผลงานศิลปินแห่งชาติในรูปแบบต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความสวยงามและคุณค่าของความเป็นไทย เพื่อใช้เป็นของขวัญอวยพรวันปีใหม่แบบต่างๆ ณ ที่ทำการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในวันและเวลาราชการ



สำหรับการเลือกคำอวยพร ก็ควรใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม เช่น

เนื่องในศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย

และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก

จงบันดาลให้ท่านและครอบครัว (หรือตำแหน่ง)

ประสบด้วยจตุรพิธพรชัยตลอดไป

กราบอวยพรด้วยความเคารพ (อย่างสูง)

ลงชื่อ....................



การมอบของขวัญควรทำด้วยความเคารพนอบน้อมพร้อมทั้งกล่าวอวยพรดังข้อความข้าง ต้น ตามธรรมดาญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ให้พรแก่ลูกหลานหรือผู้อาวุโสน้อยกว่า เมื่อลูกหลานจะอวยพรญาติผู้ใหญ่ที่เคารพจำเป็นต้องขออนุญาตคุณพระศรีรัตน ตรัยดังกล่าวข้างต้นมาอวยพรแทน

ซึ่งเป็นประเพณีของคนไทยมาแต่โบราณ เมื่อลูกหลาน หรือผู้อ่อนอาวุโสกล่าวคำอวยพรและมอบของขวัญแล้ว ผู้ใหญ่จะให้พรตอบ และมอบของขวัญที่เตรียมไว้เพื่อเป็นการตอบแทนที่เขาเหล่านั้นได้สละเวลามี ค่ามาอวยพร เมื่อการอวยพรดำเนินไปเรียบร้อยแล้ว อาจใช้เวลาสำหรับพูดคุยกันตามความสนิทสนมคุ้นเคย

ในกรณีที่มีผู้ไปอวยพรกันอย่างคับคั่ง ผู้ไปร่วมอวยพรมิควรใช้เวลาพูดคุยนานเกินไป ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าของบ้าน หรือผู้อวยพรต่อไปใช้เวลาตามสมควร

นอกจากการมอบของขวัญแล้ว ในวันขึ้นปีใหม่ เราสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ทำบุญตักบาตร ทำความสะอาดอาคารสถานที่ โรงเรียน วัด สถานที่ทำงาน เครื่องนุ่งห่ม เพื่อต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ ทำบุญทำทาน ปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นต้น

เพื่อเริ่มต้นสิ่งดีๆ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่


ที่มา: พระไทยเน็ต, www.phrathai.net