ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์




สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์
แผ่นดินของโลกเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว


แผ่นดินของโลกเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้วในยุคดึกดำบรรพ์นั้นพบว่าแผ่นดินแหลมทอง หรือสุวรรณภูมิที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เคยเป็นแหล่งที่มีการวิวัฒนาการของพืชและสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์เช่นเดียวกับแผ่นดินดึกดำบรรพ์ในแหล่งอื่นของโลก
การสำรวจทางธรณีวิทยาพบว่า แผ่นดินบริเวณแหลมทองและอ่าวไทยนั้น เป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซเหลวอยู่ใต้พื้นทะเล เนื่องจากมีการขุดพบแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซในพื้นที่ดังกล่าว





ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์



ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์




คือ พบแหล่งน้ำมันดิบที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งน้ำมันดิบที่แหล่งสิริกิติ์ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร แหล่งก๊าซธรรมชาติที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และแหล่งก๊าซธรรมชาติอยู่ใต้ทะเลกลางอ่าวไทย เป็นต้น


ดังนั้นแผ่นดินสุวรรณภูมิ จึงเป็นแผ่นดินของโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโดยการระเบิดของภูเขาไฟที่พ่นลาวา หรือพื้นผิวโลกเกิดไหวตัวอย่างรุนแรง จนพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์บนผิวโลกนั้นตกลงไปอยู่ใต้ดินและเกิดการทับถมกันขึ้น แล้วสรรพสิ่งต่างๆที่ถมทับอยู่นานนับเป็นล้านล้านปีก็เกิดแรงกดดันอัดแน่นจากการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก
จนทำให้ซากสิ่งมีชีวิตนั้นเปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซธรรมชาติและหลอมเหลวเป็นน้ำมันดิบ
ฝังอยู่ใต้ดินเป็นเวลาหลายพันล้านปีต่อมา



ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวได้มีการขุดเจาะพื้นดินเพื่อนำเอาทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้ผลิตพลังไฟฟ้า และ วัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย




ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์



หลักฐานทางธรณีวิทยานั้นที่แสดงว่า ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้เคยเป็นพื้นมีภูเขาไฟมาก่อน ก็คือ


พื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์สำรวจพบว่ามีเขาภูพระอังคาร เขาภูกระโดง และภูเขาซึ่งเป็นที่ตั้ง
ของปราสาทหินพนมรุ้ง นั้นเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อนแต่ได้ดับลงมานานนับล้านปีแล้ว
บริเวณเขาฝาละมีและเขาพนมฉัตรที่จังหวัดลพบุรีสำรวจพบว่ามีหินอัคนีอันเกิดจากเถ้าถ่านของลาวาที่ออกมาจากภูเขาไฟอยู่ตามเชิงเขา ดังกล่าว



สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นในยุคดึกดำบรรพ์นั้น ก็มีลักษณะ เช่นเดียวกันกับแหล่งดึกดำบรรพ์
ในพื้นที่อื่นๆกล่าวคือ บริเวณพื้นผิวโลกหลายแห่งนั้นในระยะแรกได้เคยเป็นถิ่นที่
สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่วิวัฒนาการมาจากสัตว์เซลล์เดียวในทะเล เช่นจำพวกหอย ปลา
เป็นต้น ต่อมาสัตว์เซลเดียวนั้นได้วิวัฒนาการชีวิตมาตามลำดับ และพัฒนาการจนมี
สัตว์หลากชนิดเช่นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และมีขนาดใหญ่ที่รู้จักกันดีคือ
ไดโนเสาร์ สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีขนาดใหญ่ แผ่นดินส่วนนี้จึงเป็นโลกของสัตว์ดึกดำบรรพ์แต่ละชนิดที่ครองพื้นที่ของโลกนี้มานานนับล้านปี



ดังนั้นพื้นที่ในประเทศไทยหลายแห่งจึงสำรวจพบว่า มีซากพืชและสัตว์ฝังแน่น
อยู่ในก้อนถ่านหินลิกไนท์ ในเขตอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
และบ้านหนองปูดำ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า
แผ่นดินสุวรรณภูมินั้นเป็นแหล่งหนึ่งของโลกดึกดำบรรพ์ ที่ยุคนั้นมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์



ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์



ในยุคที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้น ภูเขาไฟได้ระเบิดอย่างรุนแรง
แล้วพ่นลาวาออกมา ทำให้ป่าไม้ที่แน่นทึบถูกลาวาเผาไหม้ทำให้ต้นไม้กลายเป็นเถ้าถ่าน
และทับถมอยู่นานนับหมื่นล้านปี จนถ่านไม้นั้นได้กลายเป็นถ่านหินในที่สุด



พื้นที่ประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น สำรวจพบว่ามีต้นไม้ที่กลายเป็นซากหินอยู่ใต้ดิน ซึ่งเกิดจากต้นไม้และพืชถูกฝังทับถมอยู่ในดินมาเป็นเวลานานนับหมื่นปี
ถึงหลายร้อยล้านปี จนสารละลายของน้ำใต้ดินอันมีแร่ธาตุนั้นได้ซึมเข้าไปตกตะกอน
หรือตกผลึก ในที่สุดก็ซึมเข้าไปแทนที่เนื้อไม้ที่สลายตัวจนกลายเป็นซากหินแข็ง
ในรูปลักษณะของต้นไม้นั้น พบจำนวนมากในแผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งดึกดำบรรพ์ที่พบต้นไม้กลายเป็นหินนั้นมีอยู่หลายแห่ง ได้แก่


บ้านกุดตะขอน ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
และบริเวณของจังหวัดต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ขอนแก่น บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์ อุบลราชธานี และกาฬสินธุ์ เป็นต้น


แผ่นดินสุวรรณภูมิหรือประเทศไทยนี้ ในโลกยุคแรกนั้นมีสภาพเป็นป่าไม้ดึกดำบรรพ์แห่งหนึ่ง และ ปรากฏว่าเป็นพื้นที่มีแร่ธาตุต่างๆทับถมอยู่มานานหลายสิบล้านปี จึงทำให้เป็นแหล่งกำเนิดแร่ธาตุที่สำคัญมากมายด้วย แหล่งแร่ธาตุที่สำรวจพบแล้ว ได้แก่




แหล่งแร่ทองคำ

ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ที่บ้านหนองสังข์
อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
ที่หาดคำ ริมแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย
ที่เหมืองโต๊ะโม๊ะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
ที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ที่เขาพนมพา จังหวัดพิจิตร
และที่อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี




แหล่งแร่ดีบุก วูลแฟรม โคลัมไบท์ และแหล่งแร่ทานเทลั่ม(สำหรับทำหัวจรวดและยานอวกาศที่ต้องทนความร้อนสูง)

พบที่จังหวัดภูเก็ต ระนอง พังงา นครศรีธรรมราช(เขาศูนย์)
บนดอยหมอกที่เชียงราย และดอยโง้มที่แพร่




แหล่งทองแดง

โบราณขนาดใหญ่ ที่เขาพุคา เขาพระบาทน้อย เขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี
และที่ภูโล้น ริมแม่น้ำแม่โขง ที่ตำบลม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีการขุดทองแดงมาถลุงตั้งแต่สมัยพุทธกาล



แหล่งแร่เหล็ก

ที่เขาทับควาย ลพบุรี
ที่บ่อเหล็กน้ำพี้กับบ่อพระแสง
จังหวัดอุตรดิตถ์
ที่เขาต้นน้ำลำพัน ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย
และที่จังหวัดบุรีรัมย์




แหล่งแร่โปแตสสำหรับทำปุ๋ย

ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ



แหล่งแร่สังกะสี

ที่บ้านผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก



แหล่งแร่ตะกั่ว

ที่บ้านคลิตี้ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี



พลอยและหินสีมีค่า

ที่กาญจนบุรี จันทบุรี และตราด



แหล่งแร่ธาตุสำคัญในประเทศไทยนั้น

ปรากฏหลักฐานว่าในสมัยอยุธยานั้นดินแดนแห่งนี้ได้มีแร่ธาตุสำคัญเป็นสินค้าออกต่างประเทศแล้ว เช่น



หลักฐานจากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามา
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแร่ธาตุในแผ่นดินสยาม
ไว้ว่า


“ไม่มีประเทศใด จะมีชื่อเสียงในความสมบูรณ์ทางแร่ มากกว่าสยาม
ดังจะเห็นได้จาก พระพุทธรูปและเครื่องโลหะหล่อจำนวนมหาศาล และ
การที่ชาวสยามสกัดทองคำได้จำนวนมาก ซึ่งมิใช่จะใช้ประดับพระพุทธรูป
ที่มีอยู่จำนวนมากมายเหลือคณานับเท่านั้น แม้ในอาคารสถานที่ เช่น ฝาผนังห้อง
เพดาน และหลังคาโบสถ์ยังดาดด้วยทองคำอีกด้วย มีบ่อแร่ทองคำเก่าพบกันอยู่ทุกวัน
และก็ยังมีซากเตาถลุงจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าถูกทอดทิ้งไปเพราะสงครามกับพม่านานมาแล้ว”



ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีบันทึกของมิสเตอร์เกรแฮม ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ กล่าวถึง แหล่งทองคำในสยาม ไว้ในหนังสือสยาม ว่า


“Fine grains of gold are present in the sands of all the streams of Siam”
(แปลว่า “เมล็ดทองคำละเอียดในหาดทราย มีอยู่ในเกือบจะทุกลำธารน้ำในประเทศสยาม”)



ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินสุวรรณภูมินี้ ยังปรากฏในวรรณคดีสำคัญของไทย
เรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งมีการกล่าวถึงโลหะ ที่ขุนแผนนำมาใช้ตีดาบฟ้าฟื้นไว้เป็นความรู้
มีความตอนหนึ่ง ว่า



“จะจัดแจงตีดาบไว้ปราบศึก ตรองตรึกเหล็กไว้หนักหนา
ได้เสร็จสมอารมณ์ตามตำรา วางไว้ในมหาสาตราคม
เอาเหล็กยอดพระเจดีย์มหาธาตุ ยอดปราสาททวารามาประสม
เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม เหล็กตรึงโลงตรึงปั้นลมสลักเพชร
หอกสัมฤทธิ์กริชทองแดงพระแสงหัก เหล็กปฏักสลักประตูตะปูเห็ด
พร้อมเหล็กเบญจพรรณกัลเม็ด เหล็กบ้านพร้อมเสร็จทุกสิ่งแท้
เอาเหล็กไหลเหล็กหล่อบ่อพระแสง เหล็กกำแพงน้ำพี้ทั้งเหล็กแร่
ทองคำสัมฤทธิ์นากอะแจ เงินที่แท้ชาติเหล็กทองแดงคง
เอามาสุมคุมควบเข้าเป็นแท่ง เผาให้แดงตีแผ่แช่ยาผง
ไว้สามวันซัดเหล็กนั้นเล็กลง แต่ยังคงพองามตามตำรา”



สังคมไทยในอดีตนั้นมีความรู้เรื่องวิชาเล่นแร่แปรธาตุมาช้านานดังปรากฏในวรรณคดีสมัยอยุธยา บทกลอนนั้นปรากฏว่ามีการกล่าวถึงโลหะที่เกิดจากบ่อพระแสงและบ่อน้ำพี้
ซึ่งเป็นแหล่งแร่เหล็กคุณภาพดีของจังหวัดอุตรดิตถ์


ส่วนนากอะแจ คือโลหะนาก ที่ใช้ทองคำผสมกับทองแดงนั้น เชื่อว่าเป็นโลหะที่นำมาจากเมืองอะแจหรืออาเจห์(ACEH) ตั้งอยู่ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นข้อความที่แสดงถึงเส้นทางการติดต่อค้าขายที่มีมาแต่สมัยโบราณ ว่าได้มีการติดต่อระหว่างอาณาจักรศรีวิชัยกับกรุงศรีอยุธยาโดยเรือสินค้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนนั้น



แผ่นดินสุวรรณภูมิ(ประเทศไทย) จึงเป็นแผ่นดินเก่าที่เกิดขึ้นแล้วในโลกดึกดำบรรพ์
เป็นแหล่งที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และ เป็นแหล่งธรณีวิทยาที่มีไม้กลายเป็นหิน มีถ่านหิน
มีแร่ธาตุสำคัญ และมีสัตว์ดึกดำบรรพ์อาศัยอยู่หลายชนิดโดยเฉพาะ ไดโนเสาร์ และช้าง
พบว่ามีจำนวนมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ




……………………………………………………….......................



แหล่งภูเขาไฟในไทย



ประเทศไทยมีปล่องภูเขาไฟโบราณหลายแห่ง โดยพบบริเวณภาคอิสานตอนล่าง


(ท้องที่จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษและอุบลราชธานี ที่มีชื่อเสียงคือที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์)


ภาคเหนือ (เช่น จังหวัดลำปางและใกล้เคียง ที่มีชื่อเสียงอยู่ใกล้กับเหมืองถ่านหินแม่เมาะชื่อ คอกฟู)

ภาคกลาง (เช่น จังหวัด ลพบุรี นครสววรค์ พิจิตร)



นอกจากนี้ยังพบที่ จ.เลยด้วยตามที่ทราบแล้ว ในบริเวณภาคอิสานตอนล่างและที่ลำปาง บริเวณที่เป็นปล่องภูเขาไฟโบราณจะเป็นหินภูเขาไฟชนิดบะซอลต์ (basalt) ส่วนบริเวณลพบุรี บริเวณที่เป็นปล่องภูเขาไฟโบราณจะเป็นหินภูเขาไฟชนิดไรโอไรต์ แอนดีไซต์ สำหรับลักษณะของปล่องภูเขาไฟโบราณนี้ หากมองจากภาพถ่ายทางอากาศ หรือ ภาพถ่ายดาวเทียม จะเห็นเป็นรูปวงกลม มีเนินเขาวางตัวตามเส้นรอบวง คล้ายกับรูปสี้ยวพระจันทร์ สำหรับบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่พบหินภูเขาไฟที่ครอบคลุมเนื้อที่เป็นบริเวณกว้างคล้ายกับบริเวณจังหวัดลำปาง บุรีรัมย์หรือลพบุรี ดังนั้นจึงคาดว่าไม่น่าจะมีปล่องภูเขาไฟโบราณในบริเวณดังกล่าว



แต่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจจะมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นปล่องได้ ซึ่งเป็นหลุมยุบ (sink hole) ที่เกิดในหินปูน (จ.แม่ฮ่องสอนมีหินปูนมาก) ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปล่องภูเขาไฟโบราณ





……………………………………………………….



แหล่งภูเขาไฟที่ เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์



เดิมที่ชาวบ้านเรียกเขากระโดงว่า "พนมกระดอง" เป็นภาษาเขมร แปลว่า "ภูเขากระดอง (เต่า)" เพราะมีรูปลักษณ์คล้ายกระดองเต่า ต่อมา จึงเรียกเพี้ยนเป็น "กระโดง" เดิมเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ชื่อทำเลเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดง ต่อมาจังหวัดบุรีรัมย์ได้เสนอกรมป่าไม้ ให้จัดตั้งเขากระโดงเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2521 หลังจากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้เขากระโดงเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามประกาศ ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2523 มีเนื้อที่ 1,450 ไร่ โดยพื้นที่ทั้งหมดทับซ้อนกับพื้นที่วนอุทยานเขากระโดง เปลี่ยนชื่อ


เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพัีนธุ์พืช อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น "วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง" เพื่อการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์


สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและเนินเขา สภาพป่าเป็นป่าแดงหรือป่าเต็งรัง มีเนินเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกัน สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 60 เมตร เนินทางทิศใต้เรียกว่า "เขาใหญ่" ส่วนเนินทางด้านทิศเหนือ เรียกว่า "เขากระโดง"


ปากปล่องภูเขาไฟเขากระโดง อยู่ในเขตบ้านเขากระโดง (คุ้มบ้านซับน้ำซับ) ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีอายุประมาณ 3 แสนถึง 9 แสนปี สูงจากระดับน้ำทะเล 265 เมตร ซากปากปล่องเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก ยอดเนินเขาเป็นขอบปล่องด้านทิศใต้เรียกว่า เขาใหญ่ ส่วนยอดเนินเป็นขอบปล่องด้านทิศเหนือเรียกว่า เขาน้อย หรือเขากระโดง ส่วนบริเวณที่เป็นขอบปล่องปะทุคือ บริเวณที่เป็นหุบเขา ปัจจุบันมีสภาพเป็นสระน้ำ เป็นซากภูเขาไฟที่ยังคงสภาพดีและมีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย่ ในปัจจุบันบริเวณตรงปากปล่องมีลักษณะเป็นหลุมลึก ทางเดินเท้าก่อด้วยหินและมีระเบียงไม้ชมวิว



……………………………………………….


ค้นพบในไทยปล่องภูเขาไฟอายุ 360 ล้านปี



การค้นพบหลักฐาน ด้านธรณีวิทยาของไทย "ปล่องภูเขาไฟโบราณ" ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 360 ล้านปี และเคยมีการปะทุ ในอดีตที่เมืองไทยครั้งนี้ เป็นที่เปิดเผยขึ้น จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธณี


สำรวจบริเวณภูโล้น ภูขี้เถ้าและผาธาต.บ้านสูบ อ.นาด้วง จ.เลย และพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อช่วงกลางปี 2546 ที่ผ่านมา โดยเก็บข้อมูลภาคสนาม ตัวอย่างหิน และการศึกษาจาก ภาพถ่ายดาวเทียมมาค้นคว้า ทำให้พบปล่องภูเขาไฟ 1 ปล่องที่ยังมีสภาพสมบูรณ์และมีอายุเก่าแก่ที่สุดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย



อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวด้วยว่า ปล่องภูเขาไฟลูกนี้เคยมีการปะทุมาแล้วในอดีต

เขตที่ตั้งของปล่องภูเขาไฟดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาล้อม ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา และมีอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ



พื้นที่ดังกล่าวมีหินที่แตกต่างกันถึง 3 ชนิด โดยที่บริเวณภูขี้เถ้าซึ่งมีความสูงสุดถึง 867 เมตรจากระดับน้ำทะเลนั้น พบหินลาวาซึ่งหินชนิดนี้จะเกิดจากการระเบิดและสะสมตัว รวมทั้งหินภูเขาไฟรวมอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้ลักษณะภูมิประเทศบริเวณนี้จะสูงกว่าพื้นที่ราบขึ้นไปประมาณ 400 เมตร และมีการเรียงตัวของแนวเขา ต่อเนื่องกันเป็นรูปร่างคล้ายวงกลม มีช่องทางและถนนผ่านช่วงที่ต่ำจนสามารถเข้าสู่ใจกลางได้ เมื่อสำรวจที่บริเวณภูโล้นที่ระดับความสูงตั้งแต่ 520-640 เมตรจากระดับน้ำทะเล ก็จะพบหินอัคนีแทรกซ้อนปะปนอยู่ โดยทั้งหมดนี้ทำให้ทีมสำรวจมั่นใจว่า พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นปล่องภูเขาไฟโบราณที่สมบูรณ์ที่สุด มีอายุเฉลี่ย 360-370 ล้านปี เก่าแก่กว่ายุคไดโนเสาร์และเก่าแก่กว่าปล่องภูเขาไฟที่เคยสำรวจพบในเมืองไทยที่ จ.บุรีรัมย์ และจ.สุโขทัย ที่มีอายุเพียง 20-30 ล้านปีอย่างแน่นอน


โดยการสำรวจพบว่า เมื่อมองจากภาพถ่ายทางดาวเทียมแผ่นบ้านสูบ ของกรมแผนที่ทหารขนาด 1 : 50,000 ส่วน จะเห็นชัดเจนว่า เป็นปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว โดยจะเห็นเป็นขอบปล่องที่เป็นภูเขาสูงล้อมรอบตัวปล่องภูเขาไฟที่ยุบตัวเป็นแอ่งอยู่ตรงกลาง รูปร่างใกล้เคียงวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 35 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจาก อ.เมืองเลย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านภูบ่อบิด บ้านเพีย อุทยานแห่งชาติผาล้อม บ้านโคกหินใต้และบ้านธา เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร ก็จะเข้าไปในบริเวณปล่องภูเขาไฟโบราณนี้ได้


อีกทั้งในพื้นที่นี้ก็จะมีแหล่งแร่สำคัญอีกหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ตะกั่ว ทองคำ ทองแดง แร่เหล็ก



………………………………….........................................



ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์


ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์


ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์


ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์


ย้อนรอยอดีต สุวรรณภูมิยุคดึกดำบรรพ์




………………………………................................................





ที่มา


กรมทรัพยากรธรณี
http://guru.sanook.com
http://www.siamrecorder.com




...........................................................................