หวัดดีจ้าทุกๆคนที่สนใจที่เข้ามาอ่านเนื้อหาสาระนี้นำกันจ้า มื่อนี่เอาสาระเรื่องสุขภาพมาฝากจ้า
เพราะคิดว่าทุกๆคนคงจะรักในการดูแลสุขภาพของตนเองทุกๆคนน้อจ้า เห็นว่าบทความนี่น่าสนใจมากๆ ก็เลยเอาแบ่งปันจ้า
อีกอย่างจะได้ซ่อยกันป้องกันได้นำน้อจ้า แนวได๋ดีๆก็ซ่อยกันใช้ซ่อยกันส่งเสริม อย่างที่เฮารู้ๆกันนั่นหล่ะน้อจ้าว่า
เกษตรอินทรีย์เป็นสิ่งที่ดีต่อชีวิตและสังคม สิ่งแวดล้อม มาซ่อยกันใช้แล้วกะส่งเสริมนำกันเด้อจ้า เพื่อว่า จะได้สุขภาพดีกันถ้วนหน้าจ้า เกษตรอินทรีย์ สิ่งดีๆที่ควรใส่ใจ



รง.อุตสาหกรรม vs เกษตรอินทรีย์

สนทนากับชาวระยองครอบครัวหนึ่งซึ่งลงทุนขับรถไปซื้ออาหารทะเลและพืชผักผลไม้มาตุนไว้รับประทานจากจังหวัดจันทบุรี หัวหน้าครอบครัวยอมรับว่า ครอบครัวของท่านไม่สะดวกซื้ออาหารทะเลและผักผลไม้ในจังหวัดของท่าน

พฤติกรรมการบริโภคอาหารของครอบครัวของท่านเปลี่ยนไปหลังจากได้อ่านคำสัมภาษณ์ของ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล และอ่านสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่ประกาศว่าระยองเป็นจังหวัดที่มีคนเป็นมะเร็งมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ในรายงานการศึกษา ยังพบว่า สารพิษที่มีฤทธิ์ทำลายสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ มีอยู่กระจัดพลัดพรายทั่วไปในจังหวัดระยอง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุตสากรรม

หลังจากสนทนากันได้ไม่นาน ท่านก็กรุณาส่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษมาให้ อ่านแล้วก็จึงพบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นมา จังหวัดระยองมีสารก่อมะเร็งในอากาศสูงเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) 1, 3-บิวทาไดอีน, เบนซีน และ 1, 2- ไดคลอโรอีทเธน นอกจากนั้น ยังมีการตรวจพบโลหะหนัก เช่น สารหนู แคดเมียม และปรอท สูงเกินมาตรฐาน น้ำทะเลและตะกอนดินใต้ท้องทะเลของพื้นที่จังหวัดระยองเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์มาก ตรวจตราไปในบ่อน้ำตื้น ก็พบโลหะหนักร้อยละ 50 และตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายร้อยละ 18

ผลการตรวจสุขภาพประชาชน พบว่า ร้อยละ 34.8 พบโลหะหนักในเลือด และพบอนุพันธ์ของสารเบนซีนร้อยละ 3.67

นักวิจัยลงไปตรวจหอยแมลงภู่และกบในพื้นที่มาบตาพุดเพื่อเปรียบเทียบกับแหล่งอ้างอิงอื่น ก็พบว่าหอยแมลงภู่และกบของที่นี่มีสารพันธุกรรม แตกหักสูงกว่าแหล่งอ้างอิงอื่นร้อยละ 4.85 และร้อยละ 72.24 เท่าตามลำดับ อันนี้นี่แหละเป็นเครื่องยืนยันถึงผลกระทบของสารพิษจากอุตสาหกรรมต่อชุมชนอย่างชัดเจน

นิติภูมิว่ารัฐบาลไทยได้สตางค์จากการเก็บภาษีและคนไทยได้ค่าจ้างแรงงานจากโรงงานอุตสาหกรรมพวกนี้มาเท่าใด เราอาจจะต้องนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านการสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก ก็ไม่ทราบว่าจะได้ไม่คุ้มเสียหรือเปล่า

อนาคต เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป โลกพัฒนาไปไกล โรงงานพวกนี้ก็จะกลายเป็นโรงงานเก่า เมืองอุตสาหกรรมต่างๆ จะร้างกลายเป็นเมืองขยะ เหมือนสาธารณรัฐคีร์กีซที่เดิมเป็นสถานที่ตั้งโรงงานบางประเภทของซเวียต เมื่อโซเวียตล่มสลายหายไป โรงงานอันล้าสมัยเหล่านี้ไม่มีใครดำเนินงานต่อ เป็นโรงงานร้าง เป็นอาคารขยะ รัฐบาลคีร์กีซต้องใช้ภาษีของประชาชนเป็นงบประมาณในการรื้อถอน

ผู้อ่านท่านผู้เจริญ เมื่อข่าวของจังหวัดระยองแพร่ขยายกระจายไปในโลก ก็จะกระทบถึงภาพพจน์ของประเทศไทยโดยรวม ไทยของเราอาจได้ภาพพจน์ว่าเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารทะเลและอาหารการกินที่มีสารปนเปื้อน สารพิษ สารเคมี แม้แต่ประชาชนคนในพื้นที่เอง ก็ยังไม่กล้ารับประทานอาหารทะเลที่จับได้ในจังหวัดของตน ต้องยอมเสียค่าน้ำมันขับรถไปซื้อผักผลไม้จากที่อื่น เสียทั้งเงิน และเวลา

ผู้อ่านท่านที่เคารพ ขณะนี้แนวโน้มการบริโภคอาหารของมนุษย์โลก เน้นไปในทางเกษตรอินทรีย์รวดเร็วมาก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ มูลค่าการขายรวมของเกษตรอินทรีย์ขึ้นมาถึง ๕๐,๙๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ๑.๖๒ ล้านล้านบาท

พ.ศ. ๒๕๕๓ คาดการณ์กันว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์จะอยู่ที่ ๑๐๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ๓.๒๗ ล้านล้านบาท โดยตลาดส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๗ อยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป (สหรัฐฯ ครองตลาดร้อยละ ๔๑.๑๒ เยอรมนี ๑๕.๓๗ ฝรั่งเศส ๖.๘๑ อังกฤษ ๖.๕๕ อิตาลี ๕.๑๗ ส่วนไทยมีเพียงแค่ร้อยละ ๐.๒๑)

ปัจจุบันทุกวันนี้ นานาประเทศต่างกระดิกพลิกตัวจากการทำการเกษตรแบบธรรมดาเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ พื้นที่เกษตรอินทรีย์โลกขณะนี้มีมากถึง ๒๑๘.๗๕ ล้านไร่ มีเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์มากถึง ๑.๔ ล้านราย ประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากที่สุดในโลกคือออสเตรเลีย ประเทศเดียวซัดเข้าไป ๗๕.๑๒ ล้านไร่ ตามด้วยอาร์เจนตินา ๒๕.๐๖ จีน ๑๑.๕๖ สหรัฐฯ ๑๑.๓๗ บราซิล ๑๑.๐๖ ล้านไร่

ไทยมีพื้นที่ทั้งประเทศ ๓๒๐,๖๙๖,๘๘๘ ไร่ (๕๑๓,๑๑๕ ตร.กม.) เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ๑๓๑,๒๗๐,๐๐๐ ไร่ แต่เรามีพื้นที่ที่ผลิตเกษตรอินทรีย์เพียง ๑๐๕,๙๖๗ ไร่ เป็นร้อยละ ๐.๐๙ ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด ถ้าไปเปรียบเทียบกับพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของโลกแล้ว เรายังมีน้อยมาก

เกษตรกรไทยที่ลงทะเบียนและได้รับการรับรองการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มีเพียง ๕,๐๐๐ ราย ขณะที่อินเดียมีมากถึง ๓๔๐,๐๐๐ อูกานดา ๑๘๐,๗๔๖ เม็กซิโก ๑๒๘,๘๒๖ เอธิโอเปีย ๑๐๑,๘๙๙ แทนซาเนีย ๘๕,๓๖๖ ราย ฯลฯ

ไทยเป็นชาติชั้นนำในการผลิตสินค้าเกษตร ทว่า เมื่อเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป แนวโน้มการบริโภคของมนุษย์โลกได้เปลี่ยนไปในเรื่องรักษาสุขภาพ เรากระดิกพลิกตัวตามโลกกันได้ทันมากแค่ไหน

นิติภูมิไปเคยเยือนอินเดีย อูกานดา เอธิโอเปีย แทนซาเนีย อาร์เจนตินา ฯลฯ ซึ่งเป็นประเทศที่เริ่มมีชื่อโผล่ด้านการเกษตรอินทรีย์ แถมยังทำสารคดีมารับใช้สังคมไทยในโทรทัศน์ช่อง ๓ ส่วนภาพในไร่เกษตรกรรมของประเทศพวกนี้ ผมก็มีมาอวดเยอะ กรุณาเข้าไปดูที่เว็บไซต์ nitipoom.com ในเมนู ‘ภาพกิจกรรม’ ก็จะพบ

ภาพลักษณ์ของไทยในสิ่งที่เกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง กับแนวโน้มการบริโภคอาหารของโลกนั้น ขัดกันเป็นอันมาก ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยจะต้องชัดเจนกว่านี้ รัฐกรุณากำหนดให้ชัดว่าเราจะไปทางไหนด้วยครับ.

[28/9/2553] จากเปิดฟ้าส่องโลก นิติภูมิ นวรัตน์