วันสงกรานต์
วันสงกรานต์ คือวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี
?สงกรานต์? คือวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี และถือเป็น ?วันผู้สูงอายุแห่งชาติ? อีกด้วย คำว่า ?สงกรานต์? มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ?ผ่าน? หรือ ?เคลื่อนย้ายเข้าไป? หมายถึง เป็นวันที่พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษในเดือน เม.ย. เทศการสงกรานต์นอกจากเป็นวันขึ้นปีใหม่ยังเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่ญาติมิตรกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อพบปะกันอย่างพร้อมหน้า ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็น ?วันครอบครัวแห่งชาติ? เพราะเป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวจะได้ร่วมทำบุญประกอบพิธีทางศาสนาต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การตักบาตร การสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ การขนทรายเข้าวัดรวมทั้งการบังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุษ ฯลฯ ความสำคัญอีกประการหนึ่งของวันสงกรานต์ก็คือ การร่วมอนุรักษ์และสืบสาน วัฒนธรรมไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติ เช่น การเล่นสาดน้ำ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ และการละเล่นตามประเพรีไทย


โดยทั่วไปแล้ววันสงกรานต์ มักจัดให้มีการละเล่นพื้นบ้านของไทยเพื่อสร้างความสนุกสนาน และความสามัคคีของผู้คนในท้องถิ่นเช่น มอญซ่อนผ้า ไม้หึ่ง สะบ้า งูกินหาง เป็นต้น รวมทั้งมีการเล่นเพลงยาว รำวง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานครื้นเครง ให้กับทุก ๆ คน ปัจจุบันเทศการสงกรานต์ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมชมชอบ จากชนชาติอื่นเป็นอย่างมาก ทั้งความสนุกสนาน และความงดงามของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ที่แสดงออกถึงวิธีการดำเนินชีวิตของคนไทย ที่น่าภูมิใจยิ่ง?.

ตำนานของสงกรานต์นี้มีปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพน โดยย่อว่า

วันสงกรานต์ คือวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี

มีบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานกแล้ว เรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ จึงลงมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า ข้อ1. เช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ 2. เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ข้อ 3. ค่ำราศีอยู่แห่งใด ธรรมบาลขอผลัด 7 วัน ครั้นล่วงไปได้ 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น

มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้งเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไรสามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ครั้งรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง 7 อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาล ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้ว แห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฆปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บุฃาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วย แก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์ครั้งถึงครบกำหนด 365 วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์ จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อต่าง ๆ ดังนี้ ทุงษ, โคราค, รากษส, มัณฑา, กิริณี, กิมิทา และ มโหทร



กิจกรรมวันสงกรานต์

1. ทำบุญตักบาตร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต

2. ปล่อยนกปล่อยปลา คนไทยมีความเชื่อว่าการปล่อยนกปล่อยปลา ถือว่าเป็นการล้างบาปบางส่วนที่ตนเป็นผู้ก่อ อีกทั้งทำให้เคราะห์ร้ายที่จะเกิดขึ้นหมดไป

3. ให้ทานแก่ผู้ที่ขัดสน เช่น คนชรา เด็กพิการ เด็กกำพร้า เป็นต้น

4. สรงน้ำพระ แบ่งออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ การสรงน้ำพระพุทธรูป และการสรงน้ำพระภิกษุ

5. การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ได้แก่ บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ และบุคคลที่มีพระคุณ การรดน้ำผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ ด้วยต้องการขอขมาสิ่งที่อาจจะล่วงเกินผู้ใหญ่ ในบางครั้ง รวมถึงเป็นการขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล และข้อคิดเตือนใจแก่ตนเอง อีกทั้งเพื่อเป็นการแสดง ถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณอีกด้วย การรดน้ำ ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ซึ่งแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของบุตรหลานที่มีต่อบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็น การขอพรจากบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ เพื่อเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่

การละเล่นสาดน้ำ ประเพณีนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของวันสงกรานต์เลยทีเดียว ด้วยงานฉลองวันสงกรานต์นั้นเป็นช่วงฤดูร้อน ประเพณีเริ่มจากการที่มีการสรงน้ำพระ และรดน้ำญาติผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำนั้นิยมกันในหมู่ของหนุ่มสาว น้ำที่ใช้สาดกันนั้นจะใส่น้ำอบน้ำหอม แต่ในปัจจุบันประเพณีอันดีงามอันนี้ได้จางหายไปตามกาลเวลาและยุคสมัย ในปัจจุบันมีการสาดน้ำกันอย่างรุนแรง รวมถึงได้มีการนำอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการละเล่นสาดน้ำมากขึ้นด้วย