รับมือกับ...การทวงหนี้ (Lisa ฉ.8/2553)
โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
น.บ. , น.บ.ท. , น.ม. (กฎหมายมหาชน)
ในยุคสมัยปัจจุบันการใช้จ่ายมีความหลากหลายมากขึ้นครับ ทั้งใช้จ่ายผ่านระบบเงินที่คุณถืออยู่เช่น ผ่านเงินสด ผ่านบัตรเดบิต หรือแม้แต่การนำเอาเงินในอนาคตที่คุณคาดว่าคุณจะได้รับเอามาใช้ล่วงหน้าก่อนผ่านระบบของบัตรเครดิต และไอ้เจ้าบัตรเครดิตนี่แหละครับที่ทุกวันนี้กลายเป็นปัญหาหนี้สินส่วนบุคคลที่เผลอๆ จะเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในระบบการเงินการคลังของประเทศไทยเราครับ แหม...ก็เวลาที่เขาโฆษณาให้เราใช้บริการบัตรเครดิต ก็ไม่เห็นจะบอกไว้เลยนี่ครับว่าหากใช้หนี้คืนช้าเขาจะทวงหนี้โหดหรือทวงหนี้ถี่ยิบเสมือนหนึ่งเราไปทำผิดเป็นอาชญากรสงครามก็ไม่ปาน ซึ่งในทางกฎหมายแล้วการทวงหนี้แบบโหดๆนั้นผิดกฎหมายนะครับ

สถานการณ์หนี้...บัตรเครดิต
จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือน ก.ย.2551 มียอดหนี้ค้างบัตรเครดิตทั้งสิ้น 181,384 .38 ล้านบาทครับ!!! โดยมีหนี้เอ็นพีแอล หรือหนี้ที่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้รวมอยู่ด้วย ถือเป็นการใช้บัตรเครดิตโดยไม่มีมาตรฐานการกำกับดูแลทางการเงินที่เหมาะสม จากการสำรวจยังพบว่าพนักงานธนาคาร และข้าราชการมีการใช้จ่ายบัตรเครดิตเฉลี่ยมากกว่า 1 ใบ เพราะเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะใช้บัตรเครดิตกดเงินสดผ่อนชำระสินค้า และจะใช้บัตรเครดิตอีกใบจ่ายยอดค้างชำระ...กลายเป็นวัวพันหลักไม่จบไม่สิ้น บางคนแก้ปัญหาโดยการไปกู้เงินนอกระบบมาอีก คราวนี้ไปกันใหญ่เลยครับ

ทวงหนี้บัตรเครดิต...รุนแรงมากขึ้นผมจำได้ว่าเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2552 มีเหตุการณ์ที่บัณฑิตสาวท่านหนึ่งไปกระโดดตึกที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปางเพื่อฆ่าตัวตายหนีการทวงหนี้ของบัตรสินเชื่อเงินผ่อนเจ้าหนึ่ง...น่าเศร้าใจนะครับที่คนๆ หนึ่งต้องมาจบชีวิตเพราะแก้ปัญหาหนี้สินไม่ได้ นอกจากนี้เราก็ยังได้เห็นได้ยินข่าวการทวงหนี้โหดๆ อยู่เสมอๆ ซึ่งอย่างที่บอกไว้แล้วนะครับว่าในทางกฎหมาย การทวงหนี้แบบโหดๆนั้นผิดกฎหมายนะครับ

ขอบเขต...การทวงหนี้ การทวงหนี้ หมายถึง การเจรจาประนีประนอมยอมความหรือการเร่งรัดหนี้สินเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยวิธีที่สุภาพและไม่เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ส่วนการที่เจ้าหนี้หรือตัวแทนของเจ้าหนี้ เช่นบริษัทที่รับจ้างทวงหนี้ใช้วิธีการข่มขู่ เช่นอาจจะบอกว่า “หากไม่ใช้คืนในวันนี้จะอายัดทรัพย์ อายัดเงินเดือน ฯลฯ” โทรศัพท์หาคุณทุกวันวันละไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งแล้วให้คุณใช้เงินคืนวันนั้น หรือด่าว่าให้เสียหายด้วยถ้อยคำหยาบคาย เช่น “หน้าด้านยืมเงินแล้วไม่ใช้คืน” หรือการขู่ว่าจะบอกเรื่องที่คุณเป็นหนี้ให้เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานของคุณทราบ ส่งโทรสารมาด่าทอคุณให้เพื่อนร่วมงานหรือญาติพี่น้องได้รับทราบ หรือมาถึงบ้านแล้วขู่จะเอาเงินสดทันที ฯลฯ

ทวงหนี้โหด...ผิดทั้งอาญาและแพ่ง พฤติกรรมทวงหนี้โหดเหล่านี้เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาทั้งสิ้นนะครับ ไล่เรียงไปตั้งแต่ความผิดต่อเสรีภาพตาม กม.อาญา มาตรา 309 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือความผิดกรรโชกทรัพย์ตาม กม.อาญา มาตรา 337 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม กม.อาญามาตรา 326 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ยิ่งโดยเฉพาะกรณีบุกไปถึงบ้านเนี่ยยังพ่วงความผิดฐานบุกรุกเข้าไปด้วยอีกนะครับ นอกจากนี้หากลูกหนี้รายใดได้รับความเสียหายจากการเสื่อมเสียชื่อเสียงยังสามารถฟ้องค่าเสียหายทางแพ่งได้อีก ความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งของคนที่มาทวงหนี้คุณนั้นจะถูกดำเนินคดีก็ต่อเมื่อคุณมีหลักฐานเช่น ภาพและเสียงที่คุณบันทึกไว้ เป็นวิดีโอ วิดีโอคลิป ฯลฯ โดยนำไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้นะครับ

ในเรื่องการทวงหนี้บัตรเครดิตนั้น ในกรณีลูกหนี้ที่หยุดชำระหนี้ ระยะเวลาฟ้องร้องที่เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิในการฟ้องร้อง คือแค่ 2 ปี ซึ่งโดยทั่วไป เจ้าหนี้มักไม่อยากให้คดีขึ้นสู่ชั้นศาล โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เพราะกฎหมายไม่ให้สิทธิคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีและเมื่อรวมกับค่าปรับ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ กฎหมายไม่ให้คิดเกินร้อยละ 28 ต่อปี แต่เจ้าหนี้มักจะคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างๆ รวมแล้วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นหากมีการฟ้องร้องคดีขึ้นสู่ศาลแล้วลูกหนี้ยกเรื่องดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้ เจ้าหนี้ก็จะเสียประโยชน์ตรงนี้ไปครับ แปลว่าหากคุณผู้อ่านอยู่ในภาวะคับขันในการใช้หนี้คืน กฎหมายก็มีทางออกในการเจรจาหรือต่อสู้คดีให้คุณครับ เพียงแต่คุณอย่าไปตกใจกับการทวงหนี้โหดๆ แล้วรีบยอมทำตามเงื่อนไขโหดๆ เหล่านั้นทันทีก็แล้วกัน

ขอขอบคุณท่าน อ.ประมาณฯเจ้าของกระทู้ครับ