รับซื้อของโจร...ผิดอย่างไร(Lisa ฉ.33/2552)
โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
น.บ. , น.บ.ท. , น.ม.(กฎหมายมหาชน)
ผมคิดว่าครั้งหนึ่งในชีวิตคุณผู้อ่านทุกคนคงได้รับการเสนอขายสินค้าราคาถูกเหลือเชื่อประเภทที่ต้องถามคนขายซ้ำว่า “อะไรนะครับ (คะ) ตกลงขายเท่าไหร่นะครับ (คะ)?” แถมบางคนหน้ามืดตามัวว่าราคาเท่านี้ถ้าไม่รีบตะครุบซื้อก็อาจจะพลาดโอกาส โดยไม่ได้สนใจว่าสินค้านั้นมาจากไหน หลังจากนั้นปัญหาก็ตามมาว่าคุณกลายเป็นผู้ที่รับซื้อของโจร ซึ่งในทางกฎหมายนั้นมีรายละเอียดเรื่องความผิดในการรับซื้อของโจรในแต่ละระดับซึ่งหมายถึงความผิดหรือความรับผิดชอบก็จะแตกต่างกันไปครับ

รู้ทั้งรู้...ว่าเป็นของโจร คนที่อยากได้ข้าวของด้วยราคาแบบลดแหลก เช่นราคาโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่นำสมัยส่งข้อมูลได้หลายร้อยประเภท หรือเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กพ่วงมาด้วยที่วางขายทั่วไปในราคา 60,000 บาท แต่กลับมีคนมารีบร้อนขายให้คุณในราคาเพียง 6,000 บาท (ลดลงถึง 10 เท่าเลย) ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าใหม่ ไม่มีตำหนิ ที่สำคัญไม่ใช่เป็นสินค้าปลอม แบบนี้คุณต้องระมัดระวังเลยนะครับว่าจะเป็นของโจรหรือเปล่า เพราะหากคุณปล่อยให้ความอยากได้ข้าวของพวกนี้มาครอบงำ โดยคุณไม่พิจารณาเลยว่าคนที่นำของมาขายนั้น เขาเอามาจากไหน ทำไมจึงขายได้ถูกเพียงนี้หนอ คุณก็อาจได้ซื้อของที่มีของแถมเป็นความยุ่งยากในชีวิต ซึ่งหากคุณพิจารณาสักนิดก็อาจจะยับยั้งชั่งใจได้ เพราะดูมันมีกลิ่นแปลกๆ (กลิ่นโจรและกลิ่นคุกครับ)ถ้าคุณยังทู่ซี้ซื้อสินค้าเหล่านั้นโดยที่รู้อยู่เต็มอกว่า มันน่าจะเป็นสินค้าร้อนสินค้าร้าย ประเภท “ของโจร” นอกจากจะต้องคืนข้าวของให้กับเจ้าของที่แท้จริงแล้ว (กฎหมายกำหนดว่าการรับซื้อสิ่งของจากโจร ผู้ซื้อไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น) คุณยังมีความผิดฐานรับของโจรตาม ก.ม.อาญามาตรา 357 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยนะครับ

หนูไม่รู้ว่า...หนูซื้อของโจร คุณผู้อ่านบางคนอาจจะบอกว่า “ไม่ทราบจริงๆ ครับ (ค่ะ) ว่า ข้าวของที่ซื้อมาเป็นของโจร” แต่ถ้าหากคุณเคยลองพิจารณาสักนิดว่าราคาของสินค้านั้นๆ ถูกอย่างเหลือเชื่อแถมเป็นของแท้ แบบนี้ชี้ให้เห็นว่าเราควรรู้ว่าเป็นของโจร ซึ่งหากคุณยังรับซื้อเอาไว้อีก นอกจากต้องคืนข้าวของให้กับเจ้าของเขาแล้ว คุณก็เสี่ยงที่ต้องมีความผิดฐานรับของโจรเหมือนกันครับ ดังนั้นคุณผู้อ่านโปรดระวังว่า ของดีราคาถูกบางอย่าง อาจทำให้คุณผู้อ่านเดือดร้อนได้ในภายหลังนะครับ

ซื้อของโจร…จากพ่อค้าของเก่า & โรงจำนำ เวลาที่คุณผู้อ่านซื้อของถูก ต้องพินิจพิเคราะห์ให้ดีนะครับว่า ใครเป็นผู้ขายสินค้านั้นๆ เป็นร้านค้าที่ขายของชนิดนั้นๆ หรือไม่ เช่นคุณไปซื้อโทรศัพท์มือถือราคาถูกจากโรงรับจำนำ โดยไม่มีใครรู้ว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นถูกขโมยมาขาย ต่อมาในภายหลังเมื่อเจ้าของรู้ว่าโทรศัพท์มือถือของเขาอยู่กับคุณเรียบร้อยโรงเรียนโรงจำนำ แม้เขาไม่มีสิทธิ์ตั้งข้อหารับของโจรจากคุณ (เพราะคุณไม่รู้นิ) แต่เขาก็มีสิทธิ์เอาโทรศัพท์คืนได้เลย โดยที่เขาไม่ต้องใช้เงินคืนให้คุณเลย…แม้แต่บาทเดียวครับ

ซื้อของโจร…จากร้านขายของชนิดนั้น ยกเว้นแต่ว่าคุณซื้อโทรศัพท์มือถือจากร้านขายโทรศัพท์มือถือหรือจากการขายทอดตลาด แบบนี้ถึงแม้จะเป็นสินค้าที่ขโมยมา หรือของที่หายไปจากโกดังโรงงานโทรศัพท์ แต่คุณจะได้รับการคุ้มครองตาม ก.ม.แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 ที่ว่า “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นไม่จำเป็นต้องคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา” แปลว่ากฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ซื้อสินค้าจากการขายทอดตลาดหรือจากร้านขายของชนิดนั้นๆ โดยที่เจ้าของต้องใช้เงินคืนให้คุณเท่ากับจำนวนหรือมูลค่าที่คุณจ่ายไปจากการซื้อทรัพย์นั้นๆ ครับ

ขโมยทอง…ให้เพื่อนไปขายต่อ สมมุติว่าวันดีคืนร้ายคุณโชคร้ายดวงตกแถมปีศาจเข้าสิงคุณให้ไปขโมยทองญาติมิตร แล้วคุณก็ให้เพื่อนซึ่งมีอาชีพขายของเก่า เอาไปขายต่อที่ร้านทอง เมื่อร้านทองซื้อเอาไว้และเจ้าของมารู้ทีหลัง แบบนี้เจ้าของทองตัวจริงเขาสามารถมาตามเอาทองคืนจากร้านขายทองได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินชดใช้ให้กับร้านขายทองครับ เพราะของดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด แต่ถ้าหากว่าหาของกลางคืนไม่ได้แล้ว ผู้เสียหายก็จะต้องไปใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดต่อไป

ซื้อโบราณวัตถุ…จากโจรสำหรับบางคนการสะสมโบราณวัตถุซึ่งเป็นสมบัติของชาติเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงอำนาจหรือความมีรสนิยม ดังนั้นพี่แกก็ทั้งเสาะแสวงหาเหลือเกินครับว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ชาวบ้านเขาขุดค้นโบราณวัตถุได้ พี่แกก็จะรีบเสนอซื้อทันทีเพื่อนำมาสะสมเป็นคอลเลกชัน คุณผู้อ่านจำไว้เลยนะครับว่า การรับซื้อไว้นั้นมีความผิดตามกฎหมายและโทษหนักทีเดียวนะครับ เพราะการรับซื้อ รับจำนำโบราณวัตถุซึ่งเป็นสมบัติของชาติมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเป็นการกระทำไปเพื่อการค้า โทษจะเพิ่มขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เลยทีเดียวครับ ทางที่ดีมีใครเอาโบราณวัตถุมามอบให้ ควรรีบแจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจะดีที่สุดครับ

สำหรับเรื่องการรับซื้อของโจรมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างที่ผมเรียนไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งในเรื่องนี้ท่องเอาไว้เลยครับว่า ของถูกมากๆๆๆๆ แถมไม่ใช่ของปลอมอีก ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษนะครับ เดี๋ยวจะถูกดำเนินคดีในข้อหารับซื้อของโจร เสียทั้งเงิน เสียทั้งของที่ต้องคืนเจ้าของ แถมผิดกฎหมายอีกคร

ขอขอบคุณ อ.ประมาณฯเจ้าของกระทู้ครับ