ทำไมจึงเรียกหูน้ำหนวก
คำว่าน้ำหนวก หมายถึงน้ำเมือกรวมกับน้ำมูก และการที่หูจะมีน้ำเมือกได้ต้องออกมาจากเยื่อบุหูชั้นกลางเท่านั้น บางครั้งอาจจะมีน้ำไหลออกมาจากหูชั้นนอกที่อักเสบแต่ไม่มีน้ำเมือก กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่หูน้ำหนวก

หูน้ำหนวกมีอาการอย่างไรบ้าง และมีอาการแทรกซ้อนอะไร
อาการของหูน้ำหนวก
* มีน้ำหนวกไหลจากหูชั้นกลาง เป็นอาการที่สำคัญที่สุด
* อาการปวด ถ้าเป็นหูชั้นกลางแบบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดก่อนมีน้ำหนวกไหลจากหู และเมื่อน้ำหนวกไหลออกมาแล้วอาการปวดมักจะลดลง เนื่องจากแก้วหูมีรูทะลุให้น้ำหรือหนองไหลออกมาได้
อีกกรณีหนึ่งคือ การที่หูชั้นกลางอักเสบแบบเรื้อรัง คือมีแก้วหูทะลุอยู่แล้วมานานกว่า 3 เดือนเวลามีการอักเสบมักไม่ค่อยมีอาการปวดหูมาก แต่จะพบว่ามีน้ำหนวกไหลออกจากหูชั้นกลางเท่านั้น
* การรับฟังเสียงหรือการได้ยินมักจะลดลง เนื่องจากมีแก้วหูทะลุแต่จะเสียการรับฟัง เท่าใด ขึ้นอยู่กับขนาดของแก้วหูที่ทะลุและระยะเวลาของการเป็นหูน้ำหนวก

หูน้ำหนวกเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
หูน้ำหนวกเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในหูชั้นกลาง อาจเกิดแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ได้ ถ้าเป็นหูน้ำหนวกแบบเฉียบพลันมักพบร่วมกับการเป็นหวัดหรือการทำงานที่ไม่ปกติของท่อปรับความดันที่ต่อระหว่างหูชั้นกลางและคอ เชื้อโรคสามารถผ่านจากคอเข้าสู่หูทางท่อนี้ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในหูชั้นกลาง หนองที่เกิดขึ้นจะดันแก้วหูให้ทะลุและเป็นน้ำหนวกออกมาได้ เมื่อได้รับการรักษาจนการอักเสบทุเลาลง แก้วหูที่ทะลุจะสามารถปิดเองได้
ในบางภาวะแก้วหูไม่สามารถจะปิดเองได้ เช่น ในคนที่มีการอักเสบของหูชั้นกลางซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือร่างกายไม่แข็งแรง ถ้าแก้วหูมีรูทะลุนานเกินกว่า 3 เดือน จะเรียกว่า หูน้ำหนวกแบบเรื้อรังซึ่งมี 3 ชนิดคือ
หูน้ำหนวกเรื้อรังชนิดไม่อันตราย ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีปัญหาหูน้ำหนวกเป็นๆ หายๆ มักมีประวัติว่า น้ำเข้าหูทีไร ปั่นหูทีไร หรือเป็นหวัดครั้งใด จะมีน้ำมหนวกเกิดขึ้นทุกครั้ง ทั้งนี้เพราะมีแก้วหูทะลุอยู่แล้วเชื้อโรคสามารถเข้าไปในหูชั้นกลางตามน้ำที่ไม่สะอาดที่เข้าหู หรือจากไม้ หรือสำลีที่ไม่สะอาดที่เราใช้ปั่นหู และทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุหูชั้นกลาง และมีน้ำหนวกเกิดขึ้นไหลผ่านช่องแก้วหูที่ทะลุอยู่ออกมาที่รูหูชั้นนอก

อีกชนิดหนึ่งที่เป็นหูน้ำหนวกเรื้อรังชนิดอันตราย พวกนี้เป็นโรคหูน้ำหนวกที่จะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีน้ำหนวกที่มีกลิ่นเหม็นมาก และมักจะไหลไม่ค่อยหยุด ปัญหาแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ได้แก่
ปวดหูมาก เห็นภาพซ้อน ไข้สูง หน้าเบี้ยว หูหนวก มีฝีหลังหู ฝีในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เวียนศีรษะ ซึมลง คอแข็ง และชักได้
หูน้ำหนวกเรื้อรังชนิดอันตรายนี้ต้องได้รับการรักษาโดยรีบด่วนจากแพทย์หู คอ จมูก ซึ่งโดยมากจะต้องเป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขอาการอักเสบให้หมดไป
โรคหูน้ำหนวก
เมื่อไรควรจะไปพบแพทย์
ก็ควรจะไปพบแพทย์ทุกครั้งที่มีหูน้ำหนวก หรือสงสัยว่าตัวเองจะมีหูน้ำหนวก เช่น มีน้ำเมือกหรือน้ำหนองไหลจากหู มีอาการปวดหูก่อนมีน้ำไหลออกหู หรือมีการได้ยิน การรับฟังเสียงลดลงร่วมกับการมีน้ำไหลจากหู เพื่อให้แพทย์ตรวจดูว่ามีหูชั้นกลางอักเสบ หรือมีแก้วหูทะลุหรือไม่
ถ้ามีน้ำหนวกแพทย์ก็จะดูดหนองออก การที่แพทย์ดูดหนองออกมีความสำคัญมาก เพราะจะได้ตรวจดูลักษณะแก้วหูได้อย่างถี่ถ้วนว่ามีรูทะลุหรือไม่ รูใหญ่หรือเล็ก ถ้ามีหนองอยู่เต็มก็ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยได้เพราะหนองจะบังแก้วหู
อีกประการคือว่า ถ้ามีหนองขังอยู่ การหยอดยาหยอดหูจะไม่สามารถเข้าถึงเยื่อบุในหูชั้นกลางได้จำเป็นต้องดูดหนองออกก่อน การหยอดยาจึงได้ผลดี การรักษาระยะแรกต้องให้การอักเสบทุเลาก่อนและหลังจากนั้นจึงพิจารณาการผ่าตัดปิดเยื่อแก้วหูให้ผู้ป่วยเพื่อการแก้ไขการได้ยินให้ดีขึ้น และเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคผ่านจากภายนอกไปเยื่อบุหูชั้นกลางได้

ผู้ที่เป็นหูน้ำหนวกหรือถ้าการได้ยินลดลง ควรปฏิบัติอย่างไร
ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาถ้าเป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาจนอาการทุเลาแล้ว รูทะลุเล็กๆ ที่แก้วหูมักจะปิดเองได้ ถ้าเป็นหูชั้นกลางอักเสบแบบเรื้อรัง มักจะมีแก้วหูทะลุอยู่ก่อนแล้ว เมื่อรับการรักษาทางยาทั้งยาหยอดหู และยากินจนอาการทุเลาลง ควรจะรับการผ่าตัดปิดเยื่อแก้วหูที่ทะลุ

การป้องกัน
ต้องป้องกันอย่าให้มีการอักเสบของหูชั้นกลาง พยายามรักษาตัวให้แข็งแรง อย่าให้เป็นหวัดบ่อยโดยการออกกำลังกาย และไม่ไปในที่แออัด
ถ้าเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรัง มีแก้วหูทะลุ แต่รักษาจนน้ำหนวกแห้งก็รับการผ่าตัดปิดแก้วหู แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะรับการผ่าตัดปิดเยื่อแก้วหูก็ต้องพยายามอย่าให้น้ำเข้าหู อย่าปั่นหู ถ้าเป็นหวัดให้รักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันการอักเสบของหูชั้นกลาง
ที่มา http://www.school.net.th/library/snet4/anatomy/ear.htm