ทำอย่างไรเมื่อมีลูก...นอกสมรส
โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
น.บ., น.บ.ท., น.ม.(กฎหมายมหาชน)

ปัจจุบันนี้คนหนุ่มสาวใช้ชีวิตอิสระกันมากขึ้น หนุ่มสาวบางคนหลังจากเรียนจบแล้วก็แยกตัวออกจากพ่อแม่พี่น้อง ไปใช้ชีวิตของเธอหรือเขาเองด้วยการซื้อบ้านหรือคอนโดมีเนียมใกล้ๆ ที่ทำงาน พอมีเวลาว่างในวันหยุดก็กลับไปเยี่ยมเยือนพ่อแม่ ยิ่งโดยเฉพาะหนุ่มสาวที่มีภูมิลำเนาจากต่างจังหวัด ก็จำเป็นต้องใช้ชีวิตอิสระในเมือง เพราะเมืองใหญ่ต่างๆ มีโอกาสสำหรับความก้าวหน้าในอาชีพการงานมากกว่าชนบทครับ

รูปแบบการใช้ชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้นนี่แหละครับที่ทำให้รูปแบบครอบครัวในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะความคิดเรื่องการแต่งงานในยุคนี้ที่หลายๆ คู่นิยมอยู่กินกันก่อนแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งบุคคลที่อยู่กันก่อนแต่งงานส่วนใหญ่ก็ให้เหตุผลว่าจะได้รู้จักนิสัยใจคอกันให้ดีก่อนตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ในระยะยาว อันนี้ก็เป็นมุมมองและเสรีภาพของแต่ละบุคคลครับ ซึ่งสำหรับการแต่งงานในทัศนะใหม่ (ที่ไม่จดทะเบียนสมรส หรืออยู่กินก่อนแต่งงาน หรืออยู่กินทั้งๆ ที่ไม่แต่งงาน) แม้ไม่สมบูรณ์ในทางกฎหมาย แต่กฎหมายก็ปกป้องคุ้มครองนะครับ

พ่อแม่ไม่จดทะเบียนสมรสกัน

คู่สามีภรรยาบางคู่ที่ไม่ต้องการผูกมัดทางกฎหมาย เพียงแค่เธอกับฉันไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีความรักความผูกพันให้กัน มีสังคมครอบครัวที่อยู่รอบข้างรับทราบรับรู้ร่วมกัน แค่นั้นก็เป็นความรักในทัศนะของเธอกับฉันแล้ว แต่เมื่อมีพยานรักคือมี “ลูก” นี่สิครับ กลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะในทางกฎหมายแล้วเด็กต้องมีพ่อมีแม่นะครับ ไม่ได้เกิดจากการแบ่งตัวแบ่งเซลล์เหมือนสัตว์เซลเดียวประเภท “อมีบา” ทั้งนี้ในทางกฎหมายนั้นเนื่องจากแม่เป็นคนอุ้มท้องลูกมานานถึง 9 เดือน กฎหมายถือว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณแม่ทุกคนทันที ดังนั้นเมื่อสามีภรรยาไม่จดทะเบียนสมรสกัน อำนาจการปกครองเด็ก หรืออำนาจในการกำหนดถิ่นที่อยู่อาศัย ล้วนเป็นอำนาจของแม่เพียงคนเดียว คนอื่นไม่เกี่ยวเลยครับ

ถ้าพ่อจดทะเบียนสมรสซ้อน

กรณีนี้ผู้หญิงหลายคนเข้าใจผิดครับว่า ในเมื่อจดทะเบียนสมรสซ้อนทำให้ใบทะเบียนสมรสนั้นเป็นโมฆะ ความเป็นสามีภรรยาในทะเบียนสมรสซ้อนก็เป็นโมฆะตามไปด้วย ดังนั้นการเป็นพ่อลูกก็ต้องเป็นโมฆะตามไปด้วย ใจเย็นๆครับกฎหมายไม่คิดเช่นนั้นกับกรณีพ่อลูกนะครับ เพราะหากมีการจดทะเบียนสมรสซ้อน กฎหมายจะคุ้มครองเด็กให้มีพ่อ โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ชายหากพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ชายคนนั้นเป็นพ่อเด็ก แม้จะจดทะเบียนสมรสซ้อนก็ตาม ดังนั้นคุณผู้ชายที่นิยมจดทะเบียนสมรสหลายครั้ง ก็ต้องรับผิดชอบต่อเด็กที่เกิดมาอยู่ดีครับ

หญิงฟ้องชายให้รับเด็ก…เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ชายบางคนไม่มีความรับผิดชอบ หรือไม่ค่อยแน่ใจครับว่าลูกในครรภ์ของผู้หญิง เป็นลูกของเขาหรือชายอื่นจึงออกลวดลายลีลาแตะถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้หญิงคลอด หากเป็นเช่นนี้ คุณผู้หญิงจำเป็นต้องฟ้องคดีให้ชายรับเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม กม.แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1555 (6) ซึ่งคุณผู้หญิงต้องพิสูจน์ให้ได้นะครับว่า เด็กคนนั้นไม่ใช่ลูกของชายอื่น หรือชายผู้นั้นมีเพศสัมพันธ์กับผู้เป็นมารดาในระยะเวลาซึ่งอาจตั้งครรภ์ได้ ซึ่งแน่นอนว่าศาลต้องมีวิธีการหาความจริง เพื่อให้มีคนรับผิดชอบต่อชีวิตใหม่ที่คลอดออกมาครับ อย่างไรก็ตามการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร จะฟ้องได้เมื่อเด็กได้คลอดจากครรภ์ของแม่และมีชีวิตอยู่เป็นสภาพบุคคลคือคลอดออกมาแบบรอดปลอดภัยครับ

หลักฐานว่าได้อุปการะ...หรือจะอุปการะเด็ก

หากคุณผู้หญิงมีเอกสารของพ่อเด็กที่ได้แสดงไว้ว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของเขา คุณก็สามารถร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ครับ ซึ่งอาจเป็นหนังสือที่แสดงไว้โดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ โดยหนังสือที่ว่านี้จะทำไว้ให้กับแม่ของเด็ก หรือบุคคลอื่นก็ได้ ไม่ว่าจะทำโดยสมัครใจ หรือถูกบังคับก็ตาม เช่น ทำไว้ให้กับเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาในขณะที่แม่เด็กได้ร้องเรียนทางวินัย ซึ่งทำให้พ่อเด็กยอมทำหนังสือว่าจะรับผิดชอบค่าอุปการะเลี้ยงเด็ก เพราะเขาเป็นพ่อ

หรือหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการที่คุณกับผู้ชายคนนั้นได้อยู่กินกันอย่างเปิดเผย ในระยะเวลาที่ผู้หญิง อาจตั้งครรภ์ได้ เช่น การส่งเสียเงินทอง การเลี้ยงดูกัน โดยมีพยานรู้เห็นทั่วไป รวมทั้งพฤติกรรมอื่นๆ ที่เป็นที่รู้โดยทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร เช่น ฝ่ายชายให้เด็กใช้นามสกุลของตน ฝ่ายชายแสดงต่อบุคคลอื่น ว่าเด็กคนนั้นเป็นลูก แบบนี้จะยิ่งทำให้การฟ้องรับรองบุตรมีผลมากยิ่งขึ้นครับ

วิธีการ...ฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะลูก

การฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร สามารถฟ้องรวมกันไปเป็นคดีเดียวกันกับการฟ้องให้ศาล พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร เพราะถ้าศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ศาลก็จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในคดีนั้นไปด้วยกันเลยก็ได้ครับ ซึ่งในการฟ้องนั้นเนื่องจากเด็กยังเป็นผู้เยาว์และกฎหมายไม่ให้ลูกฟ้องพ่อฟ้องแม่ (คดีอุทลุม) ดังนั้นคุณผู้เป็นแม่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของลูกสามารถยื่นฟ้องแทนลูกได้เลยครับ

ในเรื่องการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ฝ่ายชายรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ผมแนะนำให้คุณผู้หญิงเรียกฝ่ายชายมาคุยเรื่องค่าเลี้ยงดูบุตรก่อน เช่นให้ตกลงกันว่าจะช่วยค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละเท่าไหร่ แล้วทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อกันไว้ หากฝ่ายชายไม่ยอมมาคุยด้วย คุณก็นำคดีขึ้นฟ้องศาลเพื่อเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้ครับ

คนเราเมื่อเป็นพ่อเป็นแม่คนก็ต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกขณะเป็นผู้เยาว์ด้วยนะครับ ซึ่งแม้จะเป็นลูกนอกสมรส กฎหมายก็กำหนดให้พ่อและแม่โดยสายเลือดต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูลูก เพราะไม่เช่นนั้นสังคมเราคงยุ่งวุ่นวาย ฉันใดฉันนั้นเมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาก็ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ซึ่งก็คือหน้าที่ตามกฎหมายและหน้าที่ของคนเป็นลูกด้วยครับ

ขอขอบคุณท่าน อ.ประมาณฯเจ้าของกระทู้มากครับ