ทรัพย์สินระหว่างพ่อ แม่ ลูก ความรักความผูกพันภายในครอบครัวคนไทยอย่างพวกเรา ๆ เป็นสิ่งที่สร้างความอบอุ่นใจ หรือเป็นภูมิคุ้มกันในการออกไปทำงาน หรือใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นอย่างดีครับ เพราะเรารู้ว่าเมื่อกลับมาบ้าน เราก็จะผ่อนคลาย และมีกำลังใจออกไปต่อสู้นอกบ้านในวันต่อไป และความรักไหนคงไม่ยิ่งใหญ่เท่าความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก เพราะเป็นความผูกพันทางสายเลือด ยีนส์ โครโมโซม โดยเฉพาะลูกที่มีใบหน้า นิสัย ท่าทาง คล้ายพ่อหรือแม่ด้วยแล้ว คุณเอ้ย เหมือนส่องกระจกเห็นตัวเองอย่างไรอย่างนั้นเลยครับ
แม้จะมีความรักความผูกพันขนาดไหน กฎหมายก็วางกฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ด้านต่าง ๆ ไว้เหมือนกันนะครับ เพราะบางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อได้ว่าจะเกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่ลูก โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทรัพย์สิน เข้ามาเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์แบบนี้ด้วย

หน้าที่ของพ่อแม่ลูก คนในสังคมทุกคนมีหน้าที่ตามสถานภาพครับ ถ้าเป็นหมอก็ต้องรักษาคนไข้ เป็นทหารก็ต้องปกป้องประเทศ เป็นตำรวจก็ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ฯลฯ ส่วนพ่อแม่ลูกนั้นเป็นหน้าที่ที่ติดตัวเรามาเลย และกฎหมายไทยก็กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบิดา มารดา และบุตร ไว้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นหมวดหมู่เลยนะครับ โดยเฉพาะการอุปการะเลี้ยงดูระหว่างกัน ซึ่งใน กม.แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1563 – 1564 ระบุไว้ว่า “บุตร (ตามกฎหมาย) จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” และ “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์”
ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรค 2 ระบุว่า “บิดามารดาจำต้องเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้” เป็นไงละครับคุณลูก ๆ ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว คุณยังให้พ่อแม่เลี้ยงดู ขอค่าบ้าน ค่ารถ ค่าเลี้ยงดู ฯลฯ อยู่อีกไหม ? หรือลูกบางคนไม่ได้พิการเลย และ ทั้ง ๆ ที่น่าจะหาเลี้ยงตนเองได้ แต่กลับทำตัวเป็นลูกที่ดีเกินไป คืออยู่ใกล้ชิดพ่อแม่มาก ๆ ด้วยการเกาะพ่อแม่กิน แบบนี้ถ้ามาพลิกกฎหมายข้อนี้ดูน่าจะเจ็บปวดนะครับ เพราะเขากำหนดให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เฉพาะคนที่พิการ ทุพพลภาพ และหาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้นนะจ๊ะ
หน้าที่ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันระหว่างบิดามารดากับบุตรอาจตกไปสู่บุคคลภายนอกได้ ถ้าหากว่าบุคคลภายนอกได้ทำละเมิดให้เขาถึงแก่ชีวิต เช่น ขับรถไปชนพ่อเขาตาย ขับรถไปชนสามีคนอื่นตาย ภรรยาและลูกก็ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู เช่นนี้ ผู้ทำละเมิดก็ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูภรรยาและบุตร หรือในกรณีที่ไปทำละเมิดจนบุตรเขาตายถึงแม้ว่าบุตรเขายังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ตามกฎหมายแล้วต้องถือว่าพ่อแม่เขาขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู เพราะเนื่องจากเมื่อบุตรเขาเจริญเติบโตทำงานได้บุตรก็ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เพราะฉะนั้น ใครที่ต้องทำให้บุตรเขาตายจึงต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาด้วย

ทอดทิ้ง…พ่อแม่ ลูกบางคนพอสำเร็จการศึกษาและมีงานทำ ก็อึดอัดไม่อยากอยู่กับพ่อแม่ จึงออกไปสร้างครอบครัวใหม่ แต่ก็ยังให้การเลี้ยงดู แวะเวียนมาไต่ถามสารทุกข์สุขดิบของพ่อแม่ พาพ่อแม่ออกไปเที่ยว ไปหาหมอ โทรศัพท์หาบ้าง แบบนี้ก็ยังถือว่าทำตามหน้าที่ของลูกนะครับ แต่ลูกบางคนนี่สิครับ หายหัวไปเลย เงินทองก็ไม่ส่งเสียเลี้ยงดูท่าน โทรศัพท์ก็ไม่เคย แบบนี้ ถ้าปรากฏอย่างชัดเจนว่าลูกมีรายได้ มีฐานะ แต่กลับไม่อุปการะเลี้ยงดูท่าน ทั้ง ๆ ที่ว่าสามารถอุปการะเลี้ยงดูท่านได้ จนทำให้ท่านได้รับความเดือดร้อน หรือมีความเป็นอยู่ไม่สมควรแก่อัตภาพ แบบนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากลูกที่ทอดทิ้งพ่อแม่ได้เลยครับ
หนักหนาสาหัสกว่านั้น ลูกบางคนก็รู้ทั้งรู้ว่าพ่อแม่ไม่ค่อยสบาย หรือมีความพิการ และถ้าตัวเองไม่ดูแล อาจทำให้ท่านเกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่ก็ยังใจดำทอดทิ้งพ่อแม่ไปอีก ลูกแบบนี้ต้องรับโทษตาม กฎหมายอาญามาตรา 307 คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000.-บาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ

ลูกสะใภ้…ทุบตีแม่สามี ต้นเดือน ก.ค.49 ภาพข่าวจากคลิปวิดีโอ (ในรายกายโทรทัศน์ “ร่วมมือ ร่วมใจ” ทางไอทีวีที่ผมเป็นหนึ่งในทีมพิธีกร) ที่ลูกสะใภ้วัย 66 ปี ทุบตีแม่สามีวัย 88 ปี ทำให้ทั้งผู้ชมรายการ ทีมงาน ต้องเกิดอาการสลดหดหู่ใจ ไม่คิดว่าเหตุการณ์ทุบตีคนแก่วัย 88 ปี จะเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับคนสูงวัยว่าเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เรา แต่สิ่งที่เห็นจากภาพคลิปวิดีโอคือลูกสะใภ้ทุบตีคนแก่ โดยใช้ขันอาบน้ำฟาดศีรษะ ใช้ไม้ถูพื้นกระแทกตามตัว !! ซึ่งในเบื้องต้นทีมงานรายการ “ร่วมมือ ร่วมใจ” ได้พาเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าตรวจสอบ แต่ลูกสะใภ้ ก็ยังให้การปฏิเสธครับ

ทรัพย์สินของพ่อแม่ พ่อแม่บางคน ทำงานหาเงิน ซื้อที่ดิน ซื้อหลักทรัพย์ เตรียมไว้ให้ลูกหลาน ซึ่งลูก ๆ หลายคนก็หวังไว้ว่าทรัพย์สินเงินทองต่าง ๆ นานา ที่พ่อแม่หามา อย่างไรเสียก็ต้องตกเป็นมรดกตกทอดแก่ตัวเองโดยอัตโนมัติแน่นอน บางคนอยากได้ทรัพย์สินเหล่านั้นโดยเร็ว ก็ถึงขนาดลงมือฆ่าพ่อแม่เลย ขอแสดงความเสียใจเลยนะครับเพราะการฆ่าพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ถือว่าเป็นการฆ่าบุพการีตาม กฎหมายอาญามาตรา 289 โทษประหารชีวิตสถานเดียวครับผม
พ่อแม่บางคน อาจเห็นพฤติกรรมของลูก ๆ ว่าไม่สมควรได้ครอบครองทรัพย์สินที่พ่อแม่หามาตลอดชีวิต เพราะที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมาดูดำดูดีพ่อแม่เลย เอาแต่เที่ยวเล่นการพนัน หรือกินเที่ยวสนุกสนาน ดังนั้นท่านจึงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลอื่น หรือองค์กรการกุศลก็ได้ทั้งนั้นนะครับ ถือเป็นสิทธิของท่านที่ยกพินัยกรรมให้ใคร ไม่จำเป็นต้องยกให้กับลูกเท่านั้นนะจ๊ะ

ลูกเนรคุณ…พ่อแม่ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะสงสารลูกหลานที่ต้องไปทำมาหากินเพื่อหาซื้อบ้าน ซื้อรถ ฯลฯ พ่อแม่ก็เลยโอนทรัพย์สินให้กับลูก โดยหวังให้ลูกดูแลตนในยามแก่เฒ่า แต่ปรากฎว่าเมื่อลูกผู้หวังแค่สมบัติพ่อแม่ได้ทรัพย์สินของท่านไปแล้ว กลับทอดทิ้งท่าน ไม่ยอมส่งเสียค่าอุปการะเลี้ยงดู ทั้ง ๆ ที่ท่านยากไร้แล้ว (เพราะยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ลูกไปแล้ว) หรือแม้ว่าลูกยังคงเลี้ยงดูพ่อแม่อยู่ แต่ลูกหลานก็เที่ยวไปทำให้ท่านเสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทท่านอย่างร้ายแรง หรือลูกบางคนรำคาญคนแก่ จึงลงไม้ลงมือประทุษร้ายท่านตามความผิดอาญาร้ายแรง แบบนี้พ่อแม่หรือผู้ให้ทรัพย์นั้นสามารถเรียกถอนคืนการให้ทรัพย์สิน เพราะเหตุประพฤติเนรคุณของลูกตาม กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531 ได้เลยครับ

ร่วมกับเพื่อน…ปล้นพ่อ เรื่องนี้คงเป็นอุทาหรณ์แก่ลูกที่คิดอยากปล้น จี้ เงินพ่อแม่นะครับ เพราะเหตุการณ์นางนกต่อล่ออุ้มพ่อวัย 51 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของเต็นท์รถมือ 2 แถวประเวศ กทม. โดยนางนกต่อและโจรอีก 3 คนสามารถปล้นเอารถเก๋ง บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต และเงินสดอีกจำนวน 20,000.-บาท หลังจากนั้น ตำรวจสามารถแกะรอยพบพิรุธผู้ต้องสงสัย เพราะมีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของเหยื่อ ไปสู่บัญชีร่วมกับลูกชาย แล้วเบิกเงินจำนวน 2.5 ล้านบาทออกไป
คดีนี้ แรก ๆ ตำรวจก็พบพิรุธในคำให้การของผู้เสียหายคือพ่อนั่นแหละครับ เหมือนกับพ่อรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังและไม่อยากเอาความ พอ ตำรวจเรียกลูกมาสอบสวน พ่อซึ่งเป็นเหยื่อก็ยังคอยแก้ตัวแทนลูก จนกระทั่ง ตำรวจสามารถจับกุมนางนกต่อที่ให้ปากคำว่าผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังคือ ลูกชายของผู้เสียหายนั่นเอง !!! และโจรอีก 3 คน คือเพื่อนสนิทของลูกชายนั่นแหละครับ
เมื่อพยานหลักฐานเป็นเช่นนี้ พนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งข้อหาปล้นทรัพย์ และหน่วงเหนี่ยวกักขังพร้อมกับคัดค้านการประกันตัว ส่วนประเด็นที่พ่อบังเกิดเกล้าจะไม่เอาความกับลูกชายนั้นนะครับ สำหรับกรณีนี้ทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่คดีลักทรัพย์ ฉ้อโกง และบุกรุกที่สามีภรรยาหรือผู้สืบสันดาน สามารถยอมความกันได้ (ป.วิอาญา มาตรา 71) แต่คดีนี้เป็นคดีปล้นทรัพย์และกักขังหน่วงเหนี่ยว ที่แม้ว่าพ่อ (ผู้ประเสริฐ) ซึ่งเป็นคนเสียหายอยากจะยอมความ แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้ยอมความนะจ๊ะคุณลูกชาย

พ่อแม่…ไม่ทำพินัยกรรม ในเรื่องของทรัพย์สิน ถ้าพ่อหรือแม่ไม่ทำพินัยกรรมไว้ ก็ต้องว่ากันตามกฎหมายมรดกแล้วครับ คือทรัพย์สินของคนตายที่มีอยู่ก่อนแต่งงาน (จดทะเบียนสมรส) เป็นสินส่วนตัวครับ ทรัพย์สินเหล่านี้จะเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาททุกคนครับ ส่วนทรัพย์สินที่คนตายหามาได้ในระหว่างแต่งงาน ถือเป็นสินสมรส ซึ่งก่อนจะนำมาแบ่งมรดกแก่ทายาท ต้องแบ่งให้คู่สมรสครึ่งหนึ่งก่อนครับ เช่นมีสินสมรสอยู่ 10 ล้าน ก็ต้องแบ่งให้ภรรยาหรือสามี 5 ล้านก่อน ส่วนอีก 5 ล้านถึงจะกลายเป็นมรดกของคนตายซึ่งจะตกทอดไปยังทายาทต่อไปครับ

มรดกตกทอด ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายคือ ลูก พ่อแม่ และคู่สมรสของผู้ตายครับ โดยทุกคนมีสิทธิได้รับ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน (แต่ต้องเป็นเงินที่เป็นสินส่วนตัว รวมกับครึ่งหนึ่งของสินสมรส) สมมุติว่าคนตายมีสินส่วนตัวเป็นที่ดิน เป็นบ้าน เป็นเงินสด คำนวณแล้วเป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท มีสินสมรสส่วนของคนตายที่แบ่งกับคู่สมรสแล้วอีก 5 ล้านบาท ก็เท่ากับคนตายมีมรดกที่จะตกทอดไปยังทายาทจำนวน 10 ล้านบาท ถ้าคนตายมีพ่อแม่ และลูก 2 คน และคู่สมรสอีก 1 คน อย่างนี้ทรัพย์มรดกจำนวนดังกล่าวก็ต้องแบ่งออกมาเป็น 5 ส่วน ทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งคนละ 2 ล้านบาทขาดตัวครับผม

ทรัพย์สินของลูก ลูกบางคนชิงเสียชีวิตก่อนพ่อแม่ครับ เช่นอาจจะเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต หรือเป็นโรคร้าย ซึ่งส่วนใหญ่คนหนุ่มคนสาวก็ไม่คิดทำพินัยกรรมหรอกครับ แบบนี้ก็เหมือนกับกรณีที่กล่าวมาครับคือ ต้องแบ่งเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวก่อน ไม่ใช่พ่อแม่สามารถเอ่ยอ้างได้เลยนะครับว่า “ลูกฉัน ฉันเลี้ยง ฉันให้การศึกษามา ดังนั้นฉันต้องได้ทรัพย์สินของลูก” ช้าก่อนครับ กรุณาหันไปมองหลาน ๆ หรือลูกสะใภ้ ลูกเขยบ้าง เพราะ พ่อแม่ของผู้ตายจะได้มรดกที่แบ่งคนละ 1 ส่วนกับลูกเขย (ลูกสะใภ้) และหลาน ๆ โดยคิดจากสินส่วนตัวและสินสมรสของลูกที่แบ่งจากคู่สมรสมาแล้วนั่นแหละครับ
กฎหมายให้ความยุติธรรม โดยกำหนดให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูก และลูกก็ต้องตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ด้วยการอุปการะเลี้ยงดูท่านในยามแก่เฒ่า แถมปัจจุบันรัฐบาลยังส่งเสริมให้ลูกที่เลี้ยงดูพ่อแม่ ได้รับการหักลดหย่อนภาษี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนบอกให้เราตระหนักว่าลูกที่เลี้ยงดูเอาใจใส่พ่อแม่ ย่อมได้รับการยอมรับและยกย่องจากทุกฝ่ายครับ ส่วนลูกที่เนรคุณ หรือไม่เอาใจใส่เลี้ยงดูพ่อแม่ กฎหมายก็มีทางจัดการให้หลาบจำแน่นอนครับท่าน