สวัสดีจ้าพี่น้องบ้านมหาทุกๆคน สบายดีกันคือเก่าน้อจ้า มื่ออากาศหนาวเย็นมากผิดปกติฤดูนี้ จังได๋จะรักษาสุขภาพกันเด้อจ้า

และด้วยความอากาศหนาวเย็น
สาวเมืองกะสินกะเลยตื่นสายหลายจ้า(บวกกับมื่อวานเฮ็ดงานหนัก 555 (ข้ออ้าง))
มื่อนี่เลยแกร่วๆๆเกงานจักหน่อย ขอบอสนั่งเฮ็ดงานอยู่บ้าน
บ่ายๆจังสิเข้าไปเชิร์ทๆแถวๆออฟฟิตจ้า แผ่นดินไหวถี่ หรือว่าโลกกำลังป่วย
5555 เจริญแท้ๆหล่ะมีลูกน้องแบบนี้บอสอิฉันกะดาย
(แต่จริงๆแล้วกะทำงานเต็มที่หล่ะจ้า บอสจังไว้ใจ ไปสาย มาไว (เวลาบ่มีงาน)
กลับดึกเวลางานหลาย เพิ่นกะบ่ว่ากันจ้า เพราะรู้ว่าเต็มที่ทุกงานอยู่แล้ว
อั่นนี่กะแอบเม้าบอสจักหน่อยเด้อจ้า อิอิ อย่าเลียนแบบเด้อจ้า)


เม้าเรื่องเบาๆๆให้พี่น้องได้รู้สึกผ่อนคลายกันแล้ว
กะกลับมาเบิ่งข่าวที่กำลังฮอตกันอยู่ตอนนี้น้อจ้า สาวเมืองกะสินและที่ออฟฟิต
ตามเรื่องนี้กันมาตั้งแต่บ่ายวันศุกร์ที่ได้รับข่าวนี้จากทางญี่ปุ่นแล้วจ้า
ก็ใช้ความช่วยเหลือกันไปตามกำลังน้อจ้า จังได๋กะส่งใจไปให้พี่มิคและครอบครัว
รวมทั้งพี่น้องคนไทย คนญี่ปุ่นและทุกๆชาติเลยเด้อจ้า
ขอให้ผ่านทุกอย่างไปด้วยดีและปลอดภัยจ้า
ที่นี่มาอ่านนี่กันน้อจ้า เป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงที่น่าศึกษาแท้ๆจ้า มาๆอ่านนำกัน



"ความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหว ขนาดใหญ่หลายต่อหลายครั้งที่ต่อเนื่องมาถึงครั้งล่านี้ หลายคนสงสัย...โลกกำลังเข้าสู่หายนะครั้งใหญ่ หรือแค่กำลังป่วย?

ยิ่งมีข้อมูลด้วยว่า...แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ญี่ปุ่นขนาด 9 ริกเตอร์นี้ อาจทำให้แกนโลกเอียงประมาณ 10 เซนติเมตร...ทำให้เกาะญี่ปุ่นเคลื่อนที่ไปจากเดิม 8 ฟุต

พร้อมๆกับมีรายงานด้วยว่า เกิดเหตุภูเขาไฟระเบิด บนเกาะคิวชู...ซึ่ง ภูเขาไฟชินโมเอดาเกะลูกนี้ได้พ่นเถ้าถ่าน...ก้อนหินออกมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยปะทุมาแล้ว

ความเกี่ยวโยงนับจากระยะห่าง แม้ว่าภูเขาไฟจะห่างจากจุดศูนย์ กลางแผ่นดินไหว 1,500 กิโลเมตร แต่ก็ยังไม่มีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวหรือไม่


"เหตุการณ์แผ่นดินไหวกับภูเขาไฟระเบิดไม่น่าจะเอามาโยงกัน ส่วนการเกิดแผ่นดินไหว โดยปกติเหตุผลหลักคือการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก"

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ในฐานะหัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว.บอก

"เวลาเกิดการเคลื่อนตัวแบบฉับพลัน...อีกแผ่นหนึ่งสไลด์มุดตัวเข้าไปในอีกแผ่นหนึ่ง จะทำให้เปลือกทั้งสองด้านมีการเคลื่อนตัวอยู่แล้ว...ครั้งนี้อยู่ที่ระดับ 2.4 เมตร ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ สำหรับแผ่นดินไหวใหญ่ขนาดนี้"

เมื่อครั้ง...แผ่นดินไหวที่ชิลี 27 ก.พ.2553 องค์การนาซาให้ข้อมูลว่าแรงจากแผ่นดินไหวส่งผลให้แกนโลกขยับจากเดิมถึง 8 เซนติเมตร ทำให้เวลาสั้นขึ้น

ว่ากันว่า...จะทำให้ระยะเวลาในหนึ่งวันสั้นหรือช้าไปประมาณ 1.26 ไมโครวินาที ซึ่ง 1 ไมโครวินาที เท่ากับ 1 ในล้านวินาที

แผ่นดินไหวระดับความแรง 9 ริกเตอร์ครั้งนี้ ก็มีข่าวออกมาว่าจะทำให้แกนโลกเอียง ทัศนะส่วนตัว รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ไม่คิดว่าแผ่นดินไหวจะทำให้แกนโลกเอียง

"แกนโลกมันเอียงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับระนาบที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ แผ่นดินไหวครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้แกนโลกเอียงเพิ่มขึ้นหรือลดลง"

...เพราะว่ามีแผ่นดินไหวระดับใกล้เคียงนี้เกิดขึ้นประมาณปีละครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้เกิดใกล้เมืองเซนได อยู่ในตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ก็เลยก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ สร้างผลกระทบรุนแรง

เซนไดเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดของญี่ปุ่นในรอบ 140 ปีก็จริง แต่ว่าในระดับโลก...แผ่นดินไหวขนาดนี้ก็เกิดขึ้นในหลายจุด ที่โน่น...ที่นี่ ในย่านเดียวกันนี้ได้

"ข่าวที่บอกว่าแกนโลกเอียง ต้องมาดูว่าเอียงเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่จากเดิม ซึ่งอาจจะน้อยมากเสียจนไม่มีใครรู้สึกได้"

ความถี่กับอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง รศ.ดร.เป็นหนึ่ง บอกว่า ก็เป็นเรื่องปกติ แผ่นดินไหวโดยทั่วไปแล้ว...จะมีอาฟเตอร์ช็อกที่ขนาดเล็กกว่าตามมา
สถิติโดยทั่วๆไปอาฟเตอร์ช็อกจะเล็กกว่าประมาณ 1.5 เท่า เช่น มีแผ่นดินไหวระดับ 8.9 ริกเตอร์ ก็จะมีอาฟเตอร์ช็อกสูงสุดได้ถึง 7.4 ริกเตอร์

"บางครั้งอาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ก็แล้วแต่ แล้วก็แผ่นดินไหวตัวใหญ่ๆขนาดนี้...อาจจะมีอาฟเตอร์ช็อกเป็นปี เหมือนกรณีของเราเมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ครั้งนั้นก็มีอาฟเตอร์ช็อกเป็นปีเหมือนกัน...

นั่นเป็นเพราะว่าระนาบที่เกิดการไถล...มุดตัว พอไถลแล้ว ไม่ได้ไถลครั้งเดียวแล้วหยุด ยังไม่เข้าสู่สมดุลที่แท้จริง ก็จะมีการไถลเล็กๆ ปรับตัวจนกว่าจะเข้าที่"


"อาฟเตอร์ช็อก"...จะหนักในช่วงอาทิตย์แรกเดือนแรก แล้วก็จะค่อยๆน้อยลงไปเรื่อยๆ และที่กลัวกันว่าจะเกิดสึนามิซ้ำอีกระลอก ประเด็นนี้ ถ้าอาฟเตอร์ช็อกใหญ่พอก็เกิดสึนามิได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีอาฟเตอร์ช็อกจะใหญ่กว่าตัวเมนช็อก

"ตัวที่จะเกิดตามขึ้นมา ถ้าขนาดเล็กลงเป็นอาฟเตอร์ช็อก โดยทั่วไปก็จะไม่ทำให้เกิดสึนามิที่รุนแรงเช่นนี้อีก เพราะระดับความแรงจะต่างกันมาก"

ประเด็นที่ทั่วโลกเป็นห่วงกันตอนนี้ คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

จริงๆโจทย์ที่น่าจะถามมากกว่าอยู่ที่...แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ เกิดในทะเลห่างจากฝั่งเยอะพอสมควร แม้จะทำให้อาคารบ้านเรือนสั่นสะเทือนแรงก็จริง แต่เราก็เห็นว่ามีอาคารพังทลายไม่ได้สูงมาก

"ภาพความเสียหายวันนี้ ยังมีอาคารที่ทนอยู่ได้ แข็งแรงเป็นส่วนใหญ่ คำถามมีว่า...ทำไม?โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่ควรจะมีมาตรฐานในการออกแบบก่อสร้างสูงกว่าอาคารปกติหลายเท่าตัว ถึงกลับเสียหายได้ขนาดนี้"

หลายคนอาจจะมองว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สร้างมาเก่าก่อน...ก่อนที่จะมีเทคโนโลยีหรือเปล่า

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง บอกว่า เทคโนโลยีการสร้างอาคารต้านทานแผ่นดินไหวการพัฒนาในยุคแรกๆก็มาจากการออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนกัน เพราะอาคารประเภทนี้มีความต้องการที่เข้มงวดมากกว่า

ฉะนั้น การพัฒนาอาคารต้านทานแผ่นดินไหวในยุคแรกๆก็มาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วถึงจะค่อยๆกระจายไปถึงการออกแบบอาคารทั่วๆไป

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องทนแผ่นดินไหวได้มากกว่าปกติ อาคารโดยรอบพังไปหมดแล้ว โรงไฟฟ้าต้องยังอยู่ และยังต้องทำงานได้ อย่างมากก็ต้องปิดตัวลงได้ โดยที่ไม่มีปัญหาอะไร"

ถึงวันนี้...ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทางญี่ปุ่นเอง เท่าที่ฟังข่าวก็เป็นห่วงเหมือนกันว่ารัฐบาลอาจจะไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อน่าสังเกต อยู่เหมือนกัน

ถึงตรงนี้ต้องชี้ถึงจุดเสี่ยงสำหรับประเทศไทย เพราะหลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว โดยเฉพาะเมืองไทยไม่น่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 8 ริกเตอร์ขึ้นไป

"อาจจะเข้าใจผิดถ้าจะบอกว่าเมืองไทยจะไม่เจอแผ่นดินไหวที่อันตราย" รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ว่า

"เรามีโอกาส...แผ่นดินไหวอย่างที่เกิดที่ไครสต์เชิร์ช 6.3 ริกเตอร์ เราก็มี...เคยเกิดมาแล้ว เช่นที่จังหวัดน่าน 70 ปีมาแล้ว...ก็เกิด 6.5 ริกเตอร์
แล้วเมื่อสองสามปีก่อนก็เกิดที่ประเทศลาว อยู่ห่างจากเชียงรายไปแค่ 50 กิโลเมตร"

ต้องย้ำว่า แผ่นดินไหวในไทยเกิดขึ้นได้ในพื้นที่

แผ่นดินไหวที่เบากว่านั้นที่ยูนานไม่กี่วันก่อน 5.4 ริกเตอร์ ก็ทำให้อาคารบ้านเรือนพัง...เรามีแผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริกเตอร์ที่จังหวัดตาก แผ่นดินไหว 5.9 ริกเตอร์ที่จังหวัดกาญจนบุรี แล้วก็มีแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์กว่าๆกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือหลายครั้ง

"แผ่นดินไหวที่เป็นอันตรายพวกนี้เกิดขึ้นได้ แต่ว่าก็อาจจะเกิดไปอีกสิบ...อีกร้อยครั้ง โดยที่ไม่ทำให้เกิดภัยพิบัติเลยก็ได้"

แผ่นดินไหว 5 ริกเตอร์...ในโลกนี้เกิดประมาณปีละ 1,500 ครั้ง เยอะมาก แต่ที่เป็นข่าวมีนิดเดียว และแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ เกิดประมาณ 150 ครั้งต่อปี

"แผ่นดินไหวประเภทแบบนี้ โอกาสที่จะสร้างความเสียหายทำได้ แต่ต้องเกิดใกล้เมืองมาก อย่างกรณีไครสต์เชิร์ช ห่างไปแค่ 5 กิโลเมตร ถ้าห่างมากกว่านั้นอีกสัก 10 กิโลเมตร อาจจะไม่มีใครตายเลยก็ได้"

เมืองไทยความเสี่ยงก็เป็นอย่างนั้น เกิดมาหลายครั้งแล้วโดยที่ไม่ตรงเมือง แต่ว่าในอนาคตก็อาจจะตรงได้ แล้วแถมบ้านเรายังมีรอยเลื่อนที่มีศักยภาพในการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์

คำถามที่บอกว่า...เราไม่น่ามีแผ่นดินไหวขนาดนี้ ก็น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะจริงๆแล้ว...แผ่นดินไหวไม่จำเป็นต้องใหญ่ขนาด 8-9 ริกเตอร์ ก็สร้างความเสียหายได้

"ถ้าเกิดสัก 6 ริกเตอร์ต้นๆ แถบจังหวัดภาคเหนือ ผมว่าคนตายหลายพัน...อาคารบ้านเรือนพังมากมาย และเหตุการณ์นี้มันก็เป็นไปได้ เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมเผื่อเอาไว้

แต่ถ้าเทียบความเสี่ยงในระดับโลก เมืองไทย...ยังถือว่าไม่เสี่ยงสูงมากนัก"

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวทิ้งท้าย.


ไทยรัฐออนไลน์ แผ่นดินไหวถี่ หรือว่าโลกกำลังป่วย