หลุมพรางแห่งความรัก
Article : นายแพทย์ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์
อ้างอิง: Health Today
ผมจำได้ว่าเคยเขียนเรื่องจิตวิทยาของความรักไปเมื่อกุมภาพันธ์ปีก่อน มาปีนี้ถึงแม้จะผ่านวันวาเลนไทม์ไปแล้ว ผมก็อยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับความรักอีกครั้ง โดยเน้นไปที่สิ่งที่เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรัก
“จงเติมถ้วยของกันและกัน แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน
จงให้ขนมปังแก่กัน แต่อย่ากัดกินจาก้อนเดียวกัน
จงร้องเพลงและเริงรำด้วยกัน และจงมีความสุข
แต่ขอให้แต่ละคนมีโอกาสได้อยู่คนเดียว
ดังเช่นสายพิณนั้น ต่างอยู่โดดเดี่ยว แต่ว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองเดียวกัน
คาลิล ยิบราน

ระยะของความรัก
ระยะที่ 1 romantic love หรือระยะความรักแบบโรแมนติก ซึ่งบางทีก็เรียกว่าระยะ fall in love หรือระยะตกหลุมรัก อันเป็นช่วงต้นขอการเริ่มคบกันใหม่ๆ เป็นระยะที่คู่รักรู้สึกมีพลัง มีอำนาจ มักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล สามารถทำอะไรก็ได้เพื่อความรัก คู่รักจะมองอีกฝ่ายอย่างอุดมคติ (ทางจิตวิทยาเรียกว่า idealization) คือ ทำอะไรก็ดีไปหมด ชอบอะไรก็ชอบเหมือนกัน ไม่เห็นข้อบกพร่องใดๆ (หรือเห็นก็ไม่สนใจ) ประมาณว่าชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ในขณะเดียวกันแต่ละฝ่ายจะทำตัวดี แสดงแต่ด้านดีๆให้อีกฝ่ายเห็น โดยพยายามเก็บซ่อนนิสัยเสียหรือ สิ่งไม่ดีเอาไว้ อย่างไรก็ตามระยะนี้จะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่จะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี (นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งคนเป็นแฟนกันคบกันอย่างน้อย 1 ปี เพราะจะได้มีเวลาข้ามไปสู่ระยะที่ 2 ก่อนตัดสินใจแต่งงานกัน)

ระยะที่ 2 logical – sensible love หรือความรักแบบมีเหตุผล บางทีเรียกว่า fall out of love หรือระยะออกจากหลุมรัก คือเป็นระยะที่มีเหตุผลทำให้การมองอีกฝ่ายอย่างอุดมคติและการใช้อารมณ์ลดลง เริ่มมองชีวิตตามความเป็นจริงมากขึ้น และแต่ละฝ่ายเริ่มแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงออกมา นิสัยที่ไม่มีต่างๆเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น รวมถึงเริ่มใช้ความคิดและเหตุผลในการพิจารณา จากช่วงแรกที่คิดว่าถึงจนอย่างไรก็ไม่สน ติดเหล้าติดยาขนาดไหนก็รัก แต่ตอนนี้อาจเริ่มคิดว่า เอ แล้วจะไปกันรอดไหมนี่ ส่วนใหญ่ระยะนี้จะนาน 1-2 ปี ซึ่งเป็นระยะที่คู่รักมีความขัดแย้ง และปรับตัวเข้าหากันไม่ได้มักจะเลิกรากันไปในช่วงนี้ แต่หากยอมรับและปรับตัวเข้าหากันได้ ความรักก็จะดำเนินต่อไป

ระยะที่ 3 เรียกว่า lifelong friendship ซึ่งบางทีก็เรียกว่าระยะ maintenance หรือระยะมั่นคง เป็นระยะที่ปรับตัวเข้าเห็นว่ากันได้ ในความเป็นตัวเธอตัวฉัน รักกันเหมือนเพื่อนที่รักและสนิทสนมกัน เป็นความผูกพัน เป็นความรักที่ยาวนาน แม้อาจจะไม่ได้ in love มากๆ ชนิดที่หวานหยดเหมือนในระยะแรก แต่จะมีความผูกพันกันลึกซึ้งและดำเนินอยู่อย่างยาวนาน

ความเข้าใจผิดตอนตกหลุมรัก
1.ความรักนั้นช่างสวยงาม (ไปหมด) คู่รักมักจะมองว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม สดใส มีแต่ความสุข ทุกอย่างดูดีไปหมด เหมือนอยู่ในความฝันของเทพนิยาย ซึ่งความเข้าใจผิดอันนี้พบเห็นบ่อยๆ จากสื่อ อย่างเช่นละครหลังข่าว มักอวสานลงเมื่อพระเอกนางเอกรักกันหรือแต่งงานกันภายใต้บรรยากาศอันแสนหวาน น้อยมากที่จะฉายต่อให้เห็นว่าเกิดปัญญาหรือความขัดแย้งอะไรเกิดขึ้นบ้างหลังจากนั้น ฉะนั้นสิ่งที่พึงระลึกไว้เสมอ คือ ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบ และไม่มีความรักครั้งไหนที่ดีทุกวัน คงต้องมีบางวันที่แย่บ้าง
2. ความรักชนะทุกสิ่ง ช่วงรักกันใหม่ๆ มักเป็นช่วงที่ใช้แต่อารมณ์ คือ ใช้ใจมากแต่ความคิด ทำให้ตรรกะและเหตุผลหายไป เพราะมัวแต่เชื่อว่าด้วยความรักที่มี จะสามารถเอาชนะทุกอย่างได้ แม้ว่าฐานะจะแตกต่างกันหรือนิสัยจะต่างกันหรือนิสัยจะต่างกันสุดขั้วหัวใจ รสนิยมก็ไม่มีอะไรเข้ากันเลยสักอย่าง ด้วยเหตุนี้บางครั้งเราจึงพบเห็นคู่รักที่ไม่น่าจะมารักกันได้ เช่นเด็กสาวมัธยมปลายโรงเรียนชื่อดัง กับวินมอเตอร์ไซค์ปากซอยติดเหล้า สาวจบปริญญาเอกกับนักศึกษามหาวิทยาลัยปีหนึ่ง อย่าลืมว่า ความรักที่ดีต้องมีทั้งอารมณ์ (ใจ) และเหตุผล (ความคิด) ควบคู่กันเสมอ

3. เนื้อคู่และคู่แท้ ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเนื้อคู่ ทำให้หลายครั้งเรามักคิดไปว่า ต้องเป็นคนๆนี้เท่านั้นที่เป็นคู่แท้เพียงคนเดียวของเรา ไม่มีทางเป็นคนอื่นไปได้ และความเชื่อเช่นนี้เองที่ทำให้รู้สึกแย่มากๆหากต้องเลิกรากัน รวมถึงอาจทำให้เกิด
ความคิดว่า เราคงไร้คู่ไปตลอดกาล หรือทำให้ต้องทนๆ อยู่กันไปในบางครั้ง แม้ว่าจะไม่อยากอยู่ด้วยกันก็ตาม เพราะคิดว่าต้องเป็นคนนี้เท่านั้น
4.การพ้นจากหลุมรักเท่ากับหมดรัก เมื่อเวลาผ่านไปมักมีหลายคนรู้สึกว่า ความรักไม่ซาบซ่า ไม่หวานซึ้ง จนทำให้คิดไปว่าเป็นเพราะหมดรักหรือไม่รักกันแล้ว เป็นผลให้ต้องเลิกคบกัน

5. ความรักกับการพึ่งพา คือ รู้สึกว่าอยู่ไม่ได้เมื่อไม่มีเขาหรือเธอ เธอหรือเขาเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันมีชีวิตอยู่ได้ จนลืมไปว่า การมีความรักไม่ใช่ทำตัวเป็นปรสิต ที่ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อการอยู่รอด เพราะความรักที่ดีคือการที่คนสองคนสามารถต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเดินได้ด้วยตัวเอง แต่เลือกที่จะเดินไปเคียงข้างกันมากกว่า ดังนั้นอย่าลืมที่จะรักตัวเอง และทำให้เราอยู่ได้ด้วยตัวเองก่อนที่จะไปเริ่มมีความรักกับผู้อื่น
6. เซ็กส์เท่ากับความรัก ซึ่งไม่ใช่เลย และทั้งสองอย่างสามารถแยกกันได้อย่างสมบูรณ์ คือเราสามารถมีเซ็กส์โดยไม่รักเลยก็ได้ และเราสามารถมีความรักโดยไม่ต้องมีเซ็กส์เลยก็ได้เช่นกัน ดังนั้นเซ็กส์ที่ช่วยเสริมเติมในเรื่องของความรัก แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของความรัก

7. รักแล้วตัวต้องติดกัน จะเห็นได้บ่อยๆในวัยรุ่นที่มีความรัก มักจะคาดหวังว่าต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา โทรหา กัน เช้า สาย บ่าย เย็น ดึก ไปไหนต้องไปด้วยกัน ตลอด ห่างกันไม่ได้ ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น ตรงกันข้ามแม้จะเป็นคู่กันแล้ว ก็ควรมีระยะห่างกันพอสมควร นั่นคือ ใกล้กันพอที่จะรู้สึกถึงความรักความผูกพันแต่มีระยะห่างพอที่จะคนจะมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่
เหล่านี้มักเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรักที่คนมักหลงลืมมันไป จนนำความเจ็บปวดและผิดหวังมาให้ ในบางครั้ง แต่หากรู้เท่าทันก็ย่อมช่วยให้เรายอมรับและปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น
“ชีวิตคู่ที่ดีมิอาจเกิดได้จากผู้ที่อยู่คนเดียวมิได้และคาดหวังว่าจะมีใครสักคนมาทำให้เราอยู่ได้และมีความสุข”
“จงยืนอยู่ด้วยกัน แต่ว่าอย่าใกล้กันนัก เพราะว่าเสาหินในวิหาร ยังตั้งอยู่ห่างกันฉันใด
ต้นโพธิ์ ต้นไทร ก็ไม่อาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันและกันได้”
คาลิล ยิบราน

ที่มา : Health To day ปีที่ 10 ฉบับที่ 120 มีนาคม 2554