ไอโอดีน, เบตาดีน ป้องกันสารกัมมันตรังสีได้จริงหรือ

จากข่าวการระเบิดของโรงงานกัมมันตรังสีที่ฟูกูชิมาในประเทศญี่ปุ่นที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เนื่องจากกัมมันตภาพรังสีหลายชนิดเช่น ซีเซียม 137 (Cesium-137 [137Ce]), (ไอโอดีน 131 (Iodine-131 [131I]) มีการฟุ้งกระจายและออกมาปะปนกับชั้นบรรยากาศของพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะ ไอโอดีน 131 ที่มีความสามารถในฟุ้งกระจายในอากาศได้สูงกว่าสารกัมมันตรังสีชนิดอื่นๆ ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีมาตรการป้องกันการได้รับสารกัมมันตรังสีดังกล่าวตามหลักการสากล โดยมาตรการป้องกันดังกล่าวแนะนำสำหรับประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง

ไอโอดีน, เบตาดีน ป้องกันสารกัมมันตรังสีได้จริงหรือ

Iodine-131 (131I) คือ แร่ธาตุไอโอดีนที่มีคุณสมบัติเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีความคงตัวต่ำ มีค่าครึ่งชีวิตของการสลายตัวประมาณ 8 วัน โดยการสลายตัวของไอโอดีน 131 สามารถสลายตัวได้อนุภาคหลายชนิดรวมถึงรังสีเบต้าและรังสีแกมมา ซึ่งรังสีเบต้าดังกล่าวนี้เองที่มีคุณสมบัติในการทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดี จึงมีการประยุกต์ใช้คุณสมบัติดังกล่าวของไอโอดีน 131 มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ทั้งนี้มีการนำเอาไอโอดีน 131 มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นคอหอยพอกซึ่งมีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์สูงผิดปกติ เนื่องจากโดยปกติ เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์เป็นเนื้อเยื่อที่มีความสามารถสูงในการจับกับไอโอดีน (ซึ่งหมายความรวมถึงไอโอดีนทุกชนิด) เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ในการทำหน้าที่ควบคุมระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ดังนั้นเมื่อต่อมไทรอยด์มีขนาดโตผิดปกติเนื่องจากมะเร็งหรือเป็นคอหอยพอก ไอโอดีน 131 ที่ให้เข้าไปก็จะถูกจับไว้ในเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์และไปทำลายมะเร็งหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกตินั้นได้

หลายคนคงสงสัยว่า ในคนปกติหากได้รับไอโอดีน 131 แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราสามารถหาวิธีป้องกัน หรือลดความเสี่ยงนั้นได้อย่างไร จากที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ไอโอดีน 131 สลายตัวได้รังสีที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อได้ ดังนั้นหากในคนปกติที่ได้รับสารกัมมันตรังสีชนิดนี้ ร่างกายจะมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและถูกดักจับเพื่อขนส่งเข้าสู่ต่อมไทรอยด์ต่อไป ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์อาจถูกทำลาย และกลายไปเป็นภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดผลในอีกด้านหนึ่งคือทำให้เป็นมะเร็ง การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่ากลุ่มประชากรที่อยู่บริเวณที่มีสารกัมมันตรังสีชนิดไอโอดีน 131 สูง โดยเฉพาะเด็กทารก มีโอกาสเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้สูงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) ได้อีกด้วย จากความเสี่ยงดังกล่าวนี้เอง มาตรการการป้องกันต่างๆ จึงถูกนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุด โดยวิธีการลดความเสี่ยงที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในขณะนี้คือการใช้ไอโอดีนทั้งในรูปแบบการรับประทานและการทาผิวหนังนั่นเอง

เกลือโปแตสเซียม ไอโอไดด์ (potassium iodide) ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้สำหรับการป้องกันการได้รับไอโอดีน 131 (radiation exposure) แต่ไม่มีผลป้องกันในสารกัมมันตรังสีชนิดอื่นๆ โดยขนาดที่แนะนำคือ โปแตสเซียม ไอโอไดด์ 130 มิลลิกรัมต่อวัน โดยรับประทานก่อนที่จะเข้าเขตกัมมันตภาพรังสีอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 90 และแนะนำให้รับประทานต่อเนื่องจนกว่าจะออกจากบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากรับประทานโปแตสเซียม ไอโอไดด์ หลังจากที่ได้รับไอโอดีน 131 แล้วภายใน 3-4 ชั่วโมง ยังพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ร้อยละ 50 แต่หากรับประทานหลังจากนั้นเกิน 6 ชั่วโมง ยังไม่มีการศึกษายืนยันถึงประสิทธิภาพ

ไอโอดีน, เบตาดีน ป้องกันสารกัมมันตรังสีได้จริงหรือ

สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายจาก ไอโอดีน 131 นั้นสามารถอธิบายได้จากการที่ต่อมไทรอยด์นั้นสามารถดักจับแร่ธาตุไอโอดีนได้ในทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตามต่อมไทรอยด์นั้นจะจับกับไอโอดีนได้ในปริมาณจำกัด ดังนั้นจึงอาศัยหลักการนี้ในการให้แร่ธาตุไอโอดีนในรูปที่มีความคงตัวสูงในปริมาณสูง เพื่อให้เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์จับกับไอโอดีนจนอิ่มตัว ดังนั้นหากมีการเข้าพื้นที่ที่มีสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน 131 จะไม่สามารถจับกับเนื้อเยื่อในต่อมไทรอยด์ได้อีก แต่จะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการรับประทานไอโอดีนในปริมาณสูงนั้นมีข้อควรระวังหลายประการ เช่น เกิดการแพ้อย่างรุนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ นอกจากนี้ควรพิจารณาใช้ในกรณีที่มีข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน ซี่งควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ในกรณีที่ไม่สามารถหา เกลือโปแตสเซียม ไอโอไดด์ได้ มีบางคำแนะนำที่แนะนำให้ใช้ lugol’s solution ซึ่งเป็นสารละลายที่มีเกลือโปแตสเซียม ไอโอไดด์อยู่ร้อยละ 10

ในปัจจุบันมีการกล่าวกันว่า การใช้ยาเบตาดีนซึ่งเป็นยาทาแผล หากนำมาทาผิวหนังจะสามารถป้องกันอันตรายจาก ไอโอดีน 131 คำกล่าวนี้มีข้อควรพิจารณาหลายประเด็น เช่น การใช้ยาทาจะได้ผลหรือไม่ ขนาดใช้ควรเป็นเท่าใด

เบตาดีน คืออะไร? เบตาดีน (betadine) เป็นชื่อการค้าของยาโพวิโดนไอโอดีน (povidone iodine) ผลิตภัณฑ์เป็นสารละลายมีความเข้มข้น 10%

โพวิโดน ไอโอดีน คืออะไร? โพวิโดน ไอโอดีน เป็นยาฆ่าเชื้อใช้ภายนอก (topical antiseptic) ที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน มีประสิทธิภาพดีต่อการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และโปรโตซัว
โพวิโดน ไอโอดีน ชนิดสารละลาย ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีความเข้มข้นของโพวิโดน ไอโอดีน 10% ซึ่งเทียบเท่ากับไอโอดีนความเข้มข้น 1%

โพวิโดน ไอโอดีนมีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างไร เนื่องจากโพวิโดน ไอโอดีนเป็นยาฆ่าเชื้อใช้ภายนอกที่มีประสิทธิภาพดี จึงนิยมนำมาใช้เพื่อรักษาแผลสด หรือใช้ในโรงพยาบาลเพื่อฆ่าเชื้อก่อนและ/หลังผ่าตัด เป็นต้น

มีข้อควระวังการใช้โพวิโดน ไอโอดีนอะไรบ้าง การใช้โพวิโดน ไอโอดีนอาจมีอาการแพ้เกิดขึ้นได้ ซึ่งมีตั้งแต่ผื่นคัน ไปจนถึงปากบวม หายใจไม่ออก นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ และมารดาที่ให้นมบุตรก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้โพวิโดน ไอโอดีน


การใช้โพวิโดน ไอโอดีนเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสี การใช้โพวิโดน ไอโอดีน ทาที่ผิวหนัง เช่น แขน หรือคอ โดยหวังว่าจะป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีดูดซึมเข้าไปสะสมที่ต่อมไทรอยด์ได้นั้น ไม่ใช่วิธีที่เป็นมาตรฐาน การทายาดังกล่าวอาจมีไอโอดีนดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้บ้าง แต่ปริมาณไอโอดีนที่เข้าสู่กระแสเลือดดังกล่าวต่ำกว่าการรับประทานยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อการดูดซึมของโพวิโดนไอโอดีน เช่น ขนาดความเข้มข้นของตัวยา ปริมาณยา รูปแบบของยาเตรียม บริเวณที่ทายา หากทายาบริเวณที่มีชั้นไขมันมาก การดูดซึมจะต่ำ นอกจากนี้สภาพอากาศ เช่น อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ขณะทายายังมีผลต่อการดูดซึมยาได้อีกด้วย จากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าผู้ที่ทายารูปแบบดังกล่าวที่ผิวหนังจะได้รับไอโอดีนในปริมาณที่สามารถป้องกัน ไอโอดีน 131 ได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังขาดข้อมูลสนับสนุนทางคลินิกเกี่ยวกับ ปริมาณโพวิโดน ไอโอดีน และระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อใช้ป้องกันสารกัมมันตรังสีชนิดไอโอดีน 131 ดังนั้นจึงไม่แนะนำการใช้ยาดังกล่าวในข้อบ่งใช้นี้

ข้อมูลจาก ขอขอบคุณข้อมูบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัญญาของแผ่นดิน
โดยเภสัชกรมรุพงษ์ พชรโชค
เภสัชกรหญิงลักขณา สุวรรณน้อย
ผศ. ดร. เภสัชกร กิตติศักดิ์ ศรีภา
ผศ. ดร. เภสัชกรหญิง ดวงดาว ฉันทศาสตร์
www.pharmacy.mahidol.ac.th