สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ – 6 เมษายน 2554






พยากรณ์อากาศของกรมอุตุฯ


รายงานว่า ทั่วไทย ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง





สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ –  6 เมษายน 2554




อุตุฯระบุเหนือ-อีสาน-กลาง-ตะวันออก-กทม.ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เหตุความกดอากาศสูงปกคลุม


เมื่อเวลา 04.00น. วันที่ 6 เม.ย. 2554 กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ลักษณะอากาศทั่วไป ระบุว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ในระยะนี้




พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06.00 6 เมษายน 2554 ถึง 06.00 วันที่ 7 เมษายน 2554


ภาคเหนือ อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม.



ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาคอุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.



ภาคกลาง อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี และราชบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก ทางตอนบนของภาค อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร


ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร



ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศา ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับลมกระโชกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.




“ในหลวง-ราชินี”ทรงห่วงพสกนิกรน้ำท่วม


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรประสบอุทกภัยน้ำท่วม




สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ –  6 เมษายน 2554

ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์



เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 5 เม.ย. 2554


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง มายังสนามหน้าโรงเรียนนบพิตำวิทยา หมู่ 1 ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช จากนั้น ได้เสด็จฯ เข้าไปเยี่ยมพสกนิกรชาว ต.กรุงชิง ต.นบพิตำ จำนวนหลายพันคนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ที่บริเวณศูนย์อพยพ ห้องประชุมโรงเรียนนบพิตำวิทยา มี นายธีระ มินทราศักดิ์ ผวจ.นครศรีธรรมราช พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และคณะ เฝ้ารับเสด็จฯ


นายธีระ มินทราศักดิ์ ถวายรายงานถึง สภาพความเสียหายจากอุทกภัยทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราช และ พล.ต.เดชา กิ่งวงษา รอง มทภ.4 ถวายรายงานสภาพความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ ต.กรุงชิง ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ โดยทอดพระเนตรแผนที่เกิดเหตุอุทกภัยประกอบไปด้วย


พล.ต.เดชา กล่าวรายงานว่า พื้นที่ อ.นบพิตำ มีความเสียหายอย่างรุนแรง มีราษฎรจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ซึ่งหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และ อส. ได้ร่วมกันช่วยเหลืออพยพราษฎรจากพื้นที่เสี่ยงภัย ต.กรุงชิง จำนวน 11 หมู่บ้าน และ ต.นบพิตำ 2 หมู่บ้าน โดยทางเฮลิคอปเตอร์ อพยพมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว รวมทั้งส่งเสบียงอาหารเข้าไปช่วยเหลือตลอดเวลา และเร่งดำเนินการซ่อมแซมถนน สะพาน และสิ่งสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปาสนามในบางพื้นที่ได้แล้ว แต่ยังเดือดร้อนอีกจำนวนมาก ทางเจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตลอดเวลา


จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรชาว อ.นบพิตำ ที่เฝ้ารับเสด็จฯ และพระราชทานถุงยังชีพ จำนวน 500 ชุด และ มอบของเด็กเล่นให้กับลูกหลานของผู้ประสบภัย และตรัสถามความเป็นอยู่ และทุกข์สุขของราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ และเยี่ยมอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย


ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ตรัสกับพสกนิกรชาว อ.นบพิตำ ที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวนครศรีธรรมราช และชาวภาคใต้ ซึ่งเมื่อปี 2531 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ข้าพเจ้าเคยเสด็จฯ มาเยี่ยมประชาชนชาวนครศรีธรรมราชเมื่อครั้งนั้นด้วยความห่วงใย และทำให้มีความผูกพันกับชาวนครศรีธรรมราชมาตลอด และเมื่อเกิดอุทกภัยใหญ่กับชาว อ.นบพิตำ ที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ ทำให้มีความเป็นห่วง วันนี้ทั้งสองพระองค์จึงทรงรับสั่งให้ข้าพเจ้ามาดูแลพสกนิกร ชาว อ.นบพิตำ ด้วยความห่วงใย และรับสั่งให้ดูแลทุกข์สุขของราษฎรที่เดือดร้อนในครั้งนี้อย่างเต็มที่ และวันนี้ข้าพเจ้าได้นำแพทย์ พอ.สว.มาดูแลตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยด้วย”





ระดับน้ำอ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ดีขึ้น


5 เมษา. 2554

ระดับน้ำอ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานีลด รถใหญ่-ยกสูงผ่านได้แล้ว การจราจรเข้าเมืองดีขึ้น



สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุราษฎร์ธานีวันนี้(5 เมษายน 2554)หลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดลง เนื่องจากฝนหยุดตกเป็นวันที่ 3 แล้ว โดยที่อำเภอพุนพินเขตเทศบาลเมืองท่าข้ามระดับน้ำลดลงช้า ๆ ประมาณ 5 ซม.หลังจากที่เมื่อคืนมีน้ำทะเลหนุนเข้ามาอีก โดยภายในตัวตลาดพุนพิน ชาวบ้านเริ่มกลับเข้าบ้านและใช้ชีวิตประจำวันกันบ้างแล้ว ขณะที่เส้นทางภายในตลาดพุนพินเข้าตัวเมืองสุราษฎร์ธานีการสัญจรไปมาคล่องตัวขึ้น แต่รถเล็กยังไม่สามารถเข้าออกได้เพราะระดับน้ำยังสูงประมาณ 30 ซม.นอกจากนั้นเส้นทางหลวงสาย 417 กองบินสุราษฎร์ธานีเข้าตัวเมืองสุราษฎร์ธานีการจราจรคล่องตัวขึ้นเช่นกันมีเพียงบางช่วงที่น้ำยังท่วมสูง รถเล็กผ่านไม่ได้


แต่ถนนสายเอเชียหรือสาย 41 เส้นทางลงใต้ น้ำยังท่วมสูงมากกว่า 70 ซม.บริเวณหน้าโรงพยาบาลท่าโรงช้างและกิโลเมตรที่ 18 รถทุกชนิดยังสัญจรไปมาไม่ได้ โดยที่การสัญจรไปยังจังหวัดภาคใต้ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางผ่านตัวอำเภอพุนพินกับสาย 417 เลี่ยงเข้าตัวเมืองสุราษฎร์ธานีและผ่านไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช,สงขลา ได้






ภาพดาวเทียมก่อนหลังน้ำท่วม



สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ –  6 เมษายน 2554




ข้อมูลจากดาวเทียมธีออส แสดงพื้นที่น้ำท่วมบางส่วนของอำเภอท่าฉาง และอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎ์ธานี ซึ่งดาวเทียมธีออสได้บันทึกไว้ได้ชัดเจนในวันที่ 6 มีนาคม และ 4 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงก่อนและหลังเกิดอุทกภัย


ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ให้เห็นชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ ก่อนและหลังเกิดเหตุ โดยพื้นที่สีเขียวที่ถูกแทนที่ด้วยสีน้ำตาล แสดงถนนปริมาณน้ำท่วมและโคลนที่กระจายไปในวงกว้าง ทับอาคารบ้านเรือน นาข้าว และสวนปาล์มที่มีอยู่เดิม บริเวณทีเสียหายรุนแรง คือบริเวณที่สะพานขาด ใกล้กับสนามบิน และอำเภอพุนพิน


ขณะที่พื้นที่ส่วนติดทะเลจะเห็นตะกอนเป็นแนวยาว ซึ่งประเมินเบื้องต้นได้ว่าตะกอนดังกล่าวไหลมาจากภูเขา นับเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ที่เกิดจากประมาณน้ำฝนสะสมต่อเนื่องกว่า 1,000 มิลลิเมตร ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมทั้งหมด เปรียบเทียบทับซ้อนกับภาพเก่า เพื่อกำหนดจุดพื้นที่ได้รับผลกระทบ สามารถประเมินความเสียหายได้เบื้องต้น 1 แสนครัวเรือน แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โดยจะรีบดำเนินการสรุปผลให้เสร็จสิ้นใน 2-3 วันนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า




สธ. เผยยอดผู้เสียชีวิตน้ำท่วมภาคใต้ 53 ราย



สธ. เผยยอดผู้เสียชีวิตน้ำท่วมภาคใต้ 53 ราย ป่วยเกือบ 40,000 ราย ย้ำปัญหาสุขภาพจิตยังน่าห่วง




ผู้เสียชีวิตจนถึงวันนี้มีทั้งสิ้น 53 ราย

ส่วนใหญ่จมน้ำ ได้แก่ที่
นครศรีธรรมราช 22 ราย
สุราษฎร์ธานี 10 ราย
กระบี่ 10 ราย
พัทลุง 6 ราย
ตรัง 2 ราย
ชุมพร 2 ราย
พังงา 1 ราย
สูญหาย 1 คน ชื่อนายสิทธิพร ทองเนียม จ.กระบี่


ในจำนวนนี้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข 1 คน ชื่อนางสมใจ วโรรส อายุ 33 ปี อยู่ที่หมู่ 2 ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขจะ ช่วยเหลือครอบครัว 10,000 บาท






คลิปข่าวน้ำท่วม วันที่ 5 เมษายน 2554





น้ำท่วมที่พุนพิน สุราษฎร์ธานี




ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=jjQxU5XmWEU




ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=Fe2RgCelLsM




ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=VNN8b67zRDU




ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=1tqsGxp03Wk




นครศรีธรรมราช



ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=mB5TaBytKxY





น้ำท่วม สิชล นบพิตำ




ลิขสิทธิ์บน YouTube Credit By : https://www.youtube.com/watch?v=7bbDmnnKi50













ขอบคุณ

เนชั่นแชนแนล
krobkruakao
โพสต์ทูเดย์
กรุงเทพธุรกิจ








......................................................