การละเล่นพื้นบ้าน เต้นกำรำเคียว

ประวัติความเป็นมา
แถบจังหวัดนครสวรรค์ โดยเฉพาะอำเภอพยุหะคีรี ประชาชนส่วนมากยึดอาชีพการทำนาเป็นหลัก หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวนารู้สึกเหน็ดเหนื่อย และด้วยนิสัยรักความสนุก ประกอบกับการเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยด้วย ก็ชักชวนกันผ่อนคลายความเมื่อยล้า ด้วยการตั้งวงเต้นกำรำเคียว การเล่นเต้นกำรำเคียวมักเริ่มเล่นเพลงเกี่ยวข้าวก่อนเสมอ เต้นกำรำเคียวเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เก่าแก่แบบหนึ่งของชาวชนบท สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นครั้งแรกที่บ้านสระทะเล ตำบลสระทะเล อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เล่นกันแพร่หลายในบ้านสระทะเล และตำบลใกล้เคียง เช่น ตำบลม่วงหัก เป็นต้น อนึ่ง มีผู้รู้เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านคนหนึ่ง กล่าวว่า แต่เดิมชาวบ้านเรียกการละเล่นชนิดนี้ว่า “เต้นกำ” แต่กรมศิลปากรได้ไปถ่ายทอด และนำไปเผยแพร่ ก็ได้เพิ่มคำว่า “รำเคียว” ต่อท้าย จึงทำให้ประชาชนทั้งหลายรู้จักการละเล่นแบบนี้ในชื่อของ “เต้นกำรำเคียว” การนำเพลงเต้นกำรำเคียวไปเผยแพร่นั้น กรมศิลปากรได้ดัดแปลงท่ารำและเนื้อร้องใหม่ เพื่อให้สุภาพขึ้น และใช้ระนาดเป็นเครื่องดนตรีประกอบในตอนต้นและตอนท้าย เพลงเต้นกำรำเคียวนั้น ถือเป็นเพลงพื้นบ้านประจำจังหวัดนครสวรรค์ และในบางครั้งก็ใช้แทนเพลงพื้นบ้านในนามภาคกลางด้วย

ผู้เล่น
การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียวนั้นผู้เล่นเป็นชาวบ้านที่มาเกี่ยวข้าว ไม่จำกัดจำนวน ชาย หญิง จะจับคู่เล่นกันเป็นคู่ๆ ประมาณ 5 คู่ ถึง 10 คู่



การแต่งกาย
ทั้งของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง คือ ชุดที่ใส่ในการทำนา ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วย และสวมเสื้อม่อฮ่อมสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มมีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวกสานใบลาน ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนสีดำ หรือโจงกระเบนผ้าลายก็ได้ และสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม สวมงอบ

อุปกรณ์ในการเล่น
เคียวเกี่ยวข้าวคนละ 1 เล่ม พร้อมกับกำรวงข้าวคนละ 1 กำ



สถานที่เล่น
เล่นกันในท้องนาที่เกี่ยวข้าว หรือลานดินกว้างๆ ในท้องนา


การละเล่นพื้นบ้าน เต้นกำรำเคียว

วิธีเล่น
ในการเล่นจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แต่ละฝ่ายจะยืนอยู่คนละครึ่งวงกลม แต่ละคนถือเคียวเกี่ยวข้าวไว้ด้วยมือขวา ส่วนมือซ้ายกำรวงข้าวไว้ เมื่อการเล่นเริ่มต้นขึ้น ฝ่ายชายที่เป็นพ่อเพลง จะเป็นผู้เต้นออกไปกลางวง ตามจังหวะปรบมือของลูกคู่ พ่อเพลงจะร้องชักชวนแม่เพลงก่อน เพื่อให้ออกมาเพลงแรกคือ เพลงมา สำหรับลูกคู่ที่เป็นชาย จะนำเคียวและรวงข้าวมาเหน็บไว้ข้างหลัง เพื่อตบมือให้จังหวะ ส่วนลูกคู่ฝ่ายหญิงยังคงถือเคียวและรวงข้าวเหมือนเดิม แล้วเดินตามกันไปเป็นวงกลม สำหรับพ่อเพลงและแม่เพลงนั้น จะเปลี่ยนกันหลายคนก็ได้ นอกนั้นก็เป็นลูกคู่คอยร้องรับ นอกจากนี้ยังมีการรำร่อหรือเรียกว่า “ร่อกำ” กล่าวคือ เมื่อพ่อเพลงเดินเข้าไปใกล้แม่เพลง ก็หาทางเข้าใกล้ฝ่ายหญิงให้มากที่สุด เมื่อสบโอกาสก็ใช้ด้ามเคียวหรือข้อศอก กระทุ้งให้ถูกตัวฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงจะใช้เคียวและรวงข้าวปัดป้อง ถ้าหากพ่อเพลงเข้าไปผิดท่า ก็อาจถูกรวงข้าวฟาด การร่อกำนี้ พ่อเพลงที่เต้นเก่งๆ จะทำได้น่าดูมาก เพราะท่าทางสวยงามเป็นที่สนุกสนานครื้นเครง ในขณะที่ร้องพ่อเพลงจะแสดงท่าทางให้สอดคล้องกับเนื้อเพลงด้วย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 11 บท


ขอบคุณที่มา
โค้ด PHP:
http://www.thaigoodview.com/node/20373