เปตติวัสยภูมิ (โลกเปรต) โลกที่อยู่ของสัตว์ผู้ห่างไกลจากความสุข มีมหิทธิกเปรตเป็นเจ้าปกครองดูแล อายุ ไม่แน่นอนแล้วแต่กรรม ได้แก่ เปรต 12 ชนิด คือ

1. วันตาสเปรต กินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร

2. กุณปาสเปรต กินซากศพคน หรือสัตว์เป็นอาหาร

3. คูถขาทกเปรต กินอุจจาระต่างๆ เป็นอาหาร

4. อัคคิชาลมุขเปรต มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ

5. สูจิมุขาเปรต มีปากเท่ารูเข็ม

6. ตัณหัฏฏิตเปรต ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าว หิวน้ำอยู่เสมอ

7. สุนิชฌามกเปรต มีลำตัวดำเหมือนตอไม้เผา

8. สัตถังคเปรต มีเล็บมือเล็บเท้ายาวและคมเหมือนมีด

9. ปัพพตังคเปรต มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา

10. อชครังคเปรต มีร่างกายเหมือนงูเหลือม

11. เวมานิกเปรต ต้องเสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้ไปเสวยสุขในวิมาน

12. มหิทธธิกเปรต มีฤทธิ์มาก ที่อยู่ เชิงภูเขาหิมาลัยในป่าวิฌาฏวี


เปรต 4 ประเภท คือ

1. ปรทัตตุปชีวิกเปรต มีการเลี้ยงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้

2. ขุปปิปาสิกเปรต ถูกเบียดเบียนด้วยการหิวข้าว หิวน้ำ

3. นิชฌามตัณหิกเปรต ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ

4. กาลกัญจิกเปรต (ชื่อของอสูรกายที่เป็นเปรต) มีร่างกายสูง 3 คาวุต มีเลือดและเนื้อน้อยไม่มีแรง มีสีสันคล้ายใบไม้แห้ง ตาถลนออกมาเหมือนตาปู และมีปากเท่ารูเข็มตั้งอยู่กลางศีรษะ เปรต 21 จำพวก คือ

มังสเปสิกเปรต มีเนื้อเป็นชิ้นๆ ไม่มีกระดูก

กุมภัณฑ์เปรต มีอัณฑะใหญ่โตมาก

นิจฉวิตกเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง

ทุคคันธเปรต มีกลิ่นเหม็นเน่า

อสีสเปรต ไม่มีศีรษะ

ภิกขุเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนพระ

สามเณรเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณร ฯลฯ


บุพกรรม ประพฤติอกุศลกรรมบถ 10 ประการ เมื่อขาดใจตาย จากมนุษย์โลก หากอกุศลกรรมสามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ ต้องไปเสวยทุกข์โทษในนรกก่อน

พอสิ้นกรรมพ้นจากนรกแล้ว เศษบาปยังมีก็ไปเสวยผลกรรมเป็นเปรตต่อภายหลัง หรือมีอกุศลกรรมที่เกิดจากโลภะนำมาเกิด คตินิมิต นิมิตที่บ่งบอกถึงโลกเปรต

เช่น เห็นหุบเขา ถ้ำอันมืดมิดที่วังเวงและปลอดเปลี่ยว หรือเห็นเป็นแกลบและข้าวลีบมากมาย แล้วรู้สึกหิวโหยและกระหายน้ำเป็นกำลัง

บางทีเห็นว่าตนดื่มกินเลือดน้ำหนองที่น่ารังเกียจสะอิดสะเอียน หรือเห็นเป็นเปรตมีร่างกายผ่ายผอมน่าเกลียดน่ากลัว เนื้อตัวสกปรก รกรุงรัง ฯลฯ

หากภาพเหล่านี้มาปรากฏทางใจแล้ว จิตยึดหน่วงเป็นอารมณ์ เมื่อดับจิตตายขณะนั้น ต้องบังเกิดเป็นเปรตเสวยทุกขเวทนาตามสมควรแก่กรรมอย่างแน่นอน


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี