ด้วยเหตุที่ข้าพเจ้ามีความสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยามากเป็นพิเศษ ทำให้ข้าพเจ้ามักจะหาเวลาศึกษา ค้นคว้าเรื่องราวในพงศาวดาร ตำนานกรุงเก่าต่างๆ ทั้งในหลักฐานชั้นต้นก็ดี หลักฐานที่มีผู้คัดกลอกกันต่อๆ มาก็ดี หรือจากท่านครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียงกรุณาค้นคว้าและตีพิมพ์เรื่องราวพร้อมบทวิเคราะห์ต่างๆ มากมายให้ข้าพเจ้าได้ศึกษาอย่างละเอียด

และเหตุที่ยิ่งข้าพเจ้าอ่านมาก ก็ยิ่งรู้มาก พอรู้มากเข้าก็เลยคิดที่จะวิเคราะห์เอง ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ อันไหนคือตำนาน นิทาน หรือความเป็นจริง โชคดีนะครับที่หลักฐานของคนไทยเรานั้นมิได้ผูกขาดแต่พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีบันทึกมากมายของชาวต่างประเทศ ที่จดเอาไว้ด้วยความเป็นการ จากการได้รู้ ได้เห็น และได้อยู่ร่วมสมัยนั้นๆ


พระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา พงศาวดารช่วงที่ลี้ลับ

เหตุการณ์ในพงศาวดารที่ข้าพเจ้าคิดว่าลี้ลับ และจดไว้ค่อนข้างน้อยมาก คงจะอยู่ในช่วงของปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาจนถึงช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หลักฐานของไทยเราค่อนข้างที่จะจดไว้ไม่ละเอียด ทั้งยังคลุมเครือเสียเยอะ จึงทำให้ข้าพเจ้าเกิดข้อสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่สุดที่ข้าพเจ้าอยากจะพูดถึงนั่นก็คือ....

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีพระราชโอรสหรือไม่...?

ตามความเชื่อดั้งเดิมนั้น ทั้งจากบทความของท่านอาจารย์สำนักต่างๆ รวมถึงนิยาย ภาพยนตร์ทั้งหลายแหล่นั้น มักจะพยายามให้ข้อมูลกันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเรานั้น ตลอดรัชกาลของพระองค์ต้องวิ่งวุ่นทำศึกสงครามแทบไม่เว้นแต่ล่ะวัน ทำให้พระองค์ไม่มีมเหสี และพระราชโอรส ธิดาเลย

แม้แต่พระนิพนธ์ของท่านกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงเชื่อเช่นนั้น จากคำบอกเล่าหลายกระแสของผู้รู้ทั้งหลาย ทำให้ข้าพเจ้าเองก็เคยคิดว่าคงจะเป็นเรื่องจริง

แต่วันหนึ่งข้าพเจ้ากลับต้องมาสะดุดข้อความในพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขาอยู่ตอนหนึ่งที่ว่า “ลุศักราช ๙๕๓ ปีเถาะตรีศก พระศรีสุพรรณมาธิราช ผู้เป็นพระยาละแวก ก็ให้พระยากลาโหมผู้เป็นลูกเขยมากราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ว่า พระยาอ่อนอันหนีไปอยู่ด้วยซองพรรค์ในตำบลแสงสโทงนั้น ประมูลซองพรรค์ทั้งปวงได้มากแล้ว ว่าจะยกมารบพระยาละแวก พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็มีพระราชโองการให้แต่งทัพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา และช้างเครื่อง ๕๐ ช้าง ม้า ๑๐๐ พล ๑๐,๐๐๐ และเจ้าพระยาธรรมาธิบดี เจ้าพระยาสวรรคโลก พระยากำแพงเพชร พระยาสุโขทัย พระยาพันธารา ยกไปทางโพธิสัตว์ และยกให้ไปตีทัพพระยาอ่อนในตำบลแสงสโทงนั้น ครั้งตีทัพพระยาอ่อนแตกฉานแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ก็ยกทัพคืนมาโดยทางพระนครหลวงมาถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์”

พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ นั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า คงจะเป็นสมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถอย่างแน่นอน แต่ติดใจอยู่นิดหนึ่งว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา นี่สิ พระองค์ทรงเป็นลูกเธอของใคร...?

มาดูอีกฉบับหนึ่งของพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ก็มีข้อความที่ว่านี้ด้วย แต่เขียนสั้นกว่า “ศักราช ๙๖๕ เถาะศก ทัพพระเจ้าฝ่ายหน้า เสด็จไปเอาเมืองขอมได้” ที่รู้ๆ กันอยู่ก็คือตำแหน่ง “พระเจ้าฝ่ายหน้า” นั้นเป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบให้กับองค์อุปราชเสมอ แต่ตำแหน่ง “พระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา” นี้เมื่อบวกลบคูณหารออกมาแล้วก็น่าเชื่อว่าเป็นคนๆ เดียวกัน

คำถามที่ว่าพระองค์ทรงเป็นลูกเธอของใครนั้น เป็นคำตอบที่หาไม่ยากครับ พระราชโอรสของสมเด็จพระนเรศวรนั้น ในพงศาวดารไม่เคยระบุชื่อ ส่วนลูกเธอของพระเอกาทศรถนั้น พงศาวดารยืนยันชัดเจนว่าทรงมีอยู่ ๒ พระองค์คือ เจ้าฟ้าสุทัศน์ และเจ้าฟ้าศรีเสาวภาค ฉะนั้นคำตอบที่ถูกต้องก็คือ พระมหาธรรมราชา ทรงเป็นลูกเธอของสมเด็จพระนเรศวรอย่างไม่ต้องสงสัย

ส่วนพระชายาของพระนเรศวรนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าน่าจะเป็นคนๆ เดียวกับที่วัน วลิต ระบุนามเอาไว้ว่า “เจ้าขรัว มณีจันทน์” ผู้เป็นชายาหม้ายของพระนริศ พระองค์ดำ สอดคล้องกับคำให้การขุนหลวงหาวัดที่ว่าพระนเรศวรทรงมีพระมเหสีพระนามว่า “มณีรัตนา” ใกล้เคียงกับข้อมูลของวัน วลิต (หรืออาจเป็นไปได้ว่าพระนเรศวรมีทั้งพระอัครมเหสีและพระชายา ด้วยเหตุที่จะอธิบายต่อไปข้างหน้า)

พระองค์คงจะต้องสถาปนาลูกเธอให้เป็นพระมหาธรรมราชา ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่นเดียวกับที่เคยเป็นตำแหน่งของพระราชบิดาของพระองค์เมื่อคราวมาครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน ดูได้จากแม่ทัพที่ยกไปตีพระยาอ่อนด้วยนั้น ฟังดูชื่อก็น่าจะเป็นแม่ทัพที่อยู่แถวเมืองเหนือแทบทั้งหมด

เหตุการณ์สงครามครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๖ ก่อนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคต ๒ ปี เมื่อพระองค์สวรรคตนั้น ทรงมีพระชนม์ได้ประมาณ ๕๐ พรรษา พระเจ้าลูกเธอของพระองค์ก็น่าจะมีพระชนม์ราว ๒๐ – ๒๒ พรรษา และที่ลูกเธอพระองค์นี้ทรงได้เป็นแม่ทัพไปปราบพระยาอ่อนนั้น คงเห็นว่าจะเป็นเพียงสงครามเล็กๆ เพราะใช้พลเพียงหมื่นคน แต่เน้นแม่ทัพนายกองใหญ่โตทั้งสิ้น ทำให้น่าเชื่อว่าคงจะเป็นการเสริมพระบารมีของลูกเธอ เป็นการประเดิมศึกของพระองค์โดยมีแม่ทัพผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงให้เท่านั้น

พระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชานั้นจะทรงมีพระอนุชา กี่องค์ไม่ทราบได้ เพราะหลักฐานเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ช่างน้อยนัก แต่ปรากฏว่าเมื่อเสร็จศึกพระยาอ่อนแล้ว พระองค์ก็หายเงียบไปเฉยๆ ไม่รู้ว่าทรงเป็นตายร้ายดีอย่างไร

เขียนโดยออกหลวงมงคล...
เอกสารอ้างอิง
.พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จากหอสมุดแห่งชาติพระนคร
. พงศาวดารคำให้การชาวกรุงเก่า
. เอกสารฮอลันดาในสมัยกรุงศรีอยุธยา จากหอสมุดแห่งชาติพระนคร
. ขุนนางอยุธยา ของมานพ ถาวรวัฒน์กุล
. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต จากสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม
. โอรสสมเด็จพระนเรศวร : สมภพ จันทรประภา : แถลงงานประวัติศาสตร์และเอกสารโบราณคดี ปีที่ 6 เล่มที่ 3 เดือน กันยายน 2515
www.pantip.com