กำลังแสดงผล 1 ถึง 2 จากทั้งหมด 2

หัวข้อ: ประวัติเพลงชาติไทย

  1. #1
    ร่วมถ่ายทอดความรู้สู่สังคม สัญลักษณ์ของ ท้าวมนตรี
    วันที่สมัคร
    Oct 2008
    ที่อยู่
    รังสิต
    กระทู้
    266

    ประวัติเพลงชาติไทย

    ประวัติเพลงชาติไทย
    กำเนิดของเพลงชาติไทย
    ประวัติเพลงชาติไทยประวัติเพลงชาติไทยประวัติเพลงชาติไทย
    [WMA]http://www.file2go.com/mrun.php?me=11205s3[/WMA]
    พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติ
    ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงชาติฉบับแรกสุดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้มีการใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ต่างชาติที่เสด็จเยี่ยมประเทศสยามตามธรรมเนียมสากล แม้เพลงดังกล่าวไม่ใช่เพลงชาติของประเทศสยามอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็ถืออนุโลมว่าเป็นเพลงชาติโดยพฤตินัยตามหลักดังกล่าว

    เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นเพลงชาติอยู่ 7 วัน (ใช้ชั่วคราว ระหว่างรอพระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติใหม่) แต่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี

    ที่มาของทำนองเพลงชาติปัจจุบันนั้น จากบันทึกความทรงจำของพระเจนดุริยางค์ ได้เล่าไว้ว่า ราวปลายปี พ.ศ. 2474 เพื่อนนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของท่าน คือ หลวงนิเทศกิลกิจ (กลาง โรจนเสนา) ได้ขอให้ท่านแต่งเพลงสำหรับชาติขึ้นเพลงหนึ่ง ในลักษณะของเพลงลามาร์แซแยส ซึ่งพระเจนดุริยางค์ได้บอกปฏิเสธ เพราะถือว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติอยู่แล้ว ทั้งการจะให้แต่งเพลงนี้ก็ยังไม่ใช่คำสั่งของทางราชการด้วย แม้ภายหลังหลวงนิเทศกลกิจจะมาติดต่อให้แต่งเพลงนี้อีกหลายครั้งก็ตาม พระเจนดุริยางค์ก็หาทางบ่ายเบี่ยงมาตลอด เพราะท่านสงสัยว่าการขอร้องให้แต่งเพลงนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง ประกอบกับในเวลานั้นก็มีข่าวลือเรื่องการปฏิวัติอย่างหนาหูด้วย

    หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผ่านไปได้ประมาณ 5 วันแล้ว หลวงนิเทศกลกิจ ซึ่งพระเจนดุริยางค์รู้ภายหลังว่าเป็น 1 ในสมาชิกคณะราษฎรด้วย ได้กลับมาขอร้องให้ท่านช่วยแต่งเพลงชาติอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของคณะผู้ก่อการ ท่านเห็นว่าคราวนี้หมดทางที่จะบ่ายเบี่ยง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงขอเวลาในการแต่งเพลงนี้ 7 วัน และแต่งสำเร็จในวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ตนได้กำหนดนัดหมายวันแต่งเพลงชาติไว้ ขณะที่นั่งบนรถรางสายบางขุนพรหม-ท่าเตียน เพื่อไปปฏิบัติราชการที่สวนมิสกวัน จากนั้นจึงได้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับให้วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลง และมอบโน้ตเพลงนี้ให้หลวงนิเทศกลกิจนำไปบรรเลง ในการบรรเลงตนตรีประจำสัปดาห์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันพฤหัสบดีถัดมา พร้อมทั้งกำชับว่าให้ปิดบังชื่อผู้แต่งเพลงเอาไว้ด้วย

    อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ศรีกรุงก็ได้ลงข่าวเรื่องการประพันธ์เพลงชาติใหม่โดยเปิดเผยว่า พระเจนดุริยางค์เป็นผู้แต่งทำนองเพลงนี้ ทำให้พระเจนดุริยางค์ถูกเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง ตำหนิอย่างรุนแรงในเรื่องนี้ แม้ภายหลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี จะได้ชี้แจงว่าท่านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คิดการแต่งเพลงนี้ และเพลงนี้ก็ยังไม่ได้รับรองว่าเป็นเพลงชาติเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการทดลองก็ตาม แต่พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับคำสั่งปลดจากทางราชการให้รับเบี้ยบำนาญ ฐานรับราชการครบ 30 ปี และหักเงินเดือนครึ่งหนึ่งเป็นบำนาญ อีกครึ่งที่เหลือเป็นเงินเดือน โดยให้รับราชการต่อไปในอัตราเงินเดือนใหม่นี้ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง

    ส่วนเนื้อร้องของเพลงชาตินั้น คณะผู้ก่อการได้ทาบทามให้ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เป็นผู้ประพันธ์ โดยคำร้องที่แต่ขึ้นนั้นมีความยาว 2 บท สันนิษฐานว่าเสร็จอย่างช้าก่อนวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2475 เนื่องจากมีการคันพบโน้ตเพลงพร้อมเนื้อร้องซึ่งตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งลงวันที่ตีพิมพ์ในวันดังกล่าว แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปก็ตาม แต่เพลงนี้ก็ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นเพลงชาติ และมีการจดจำต่อๆ กันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครรู้ที่มาชัดเจน ดังปรากฏว่า มีการคัดลอกเนื้อเพลงชาติของขุนวิจิตรมาตราส่งเข้าประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการ เมื่อ พ.ศ. 2476 โดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้แต่งด้วย

    เนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราประพันธ์เริ่มแรกสุด ก่อนที่จะมีการแก้ไขเมื่อมีการประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการ ใน พ.ศ. 2476 มีดังนี้ (โปรดเทียบกับเนื้อร้องฉบับราชการ พ.ศ. 2477 ในหัวข้อ เพลงชาติไทยฉบับ พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2477)

    แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
    สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา ร่วมรักษาเอกราษฎร์ชนชาติไทย
    บางสมัยศัตรูจู่มารบ ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
    ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
    อันดินแดนสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
    เอกราษฎร์คือกระดูกที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
    ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสสระเสรี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
    เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย สถาปนาสยามให้เทิดชัยไชโย

    เพลงชาติสยามฉบับราชการ พ.ศ. 2477

    ฉันท์ ขำวิไล ผู้ประพันธ์เพลงชาติสยามฉบับราชการ บทที่ 3 และบทที่ 4ในปี พ.ศ. 2477 รัฐบาลได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ ผลปรากฏว่าเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตรายังคงได้รับการรับรองให้ใช้อีกต่อไป แต่มีการเพิ่มเนื้อร้องของนายฉันท์ ขำวิไล เข้าต่อท้ายอีก 2 บท (แต่ละบทมีความยาว 8 วรรค) ทำให้เนื้อร้องเพลงชาติยาวมาก เพราะเนื้อร้องของเดิมของขุนวิจิตรมาตรามีความยาวถึง 2 บท (16 วรรค) อยู่แล้ว เมื่อรวมกับเนื้อร้องของนายฉันท์ด้วยแล้ว เนื้อร้องเพลงชาติทั้งหมดจะมีความยาวถึง 32 วรรค หากจะร้องเพลงชาติให้ครบทั้งสี่บทจะต้องใช้เวลาร้องถึง 3 นาที 52 วินาที (เฉลี่ยแต่ละท่อนรวมดนตรีนำด้วยทั้งเพลงตกที่ท่อนละ 35 วินาที) ในสมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงนิยมร้องแต่เฉพาะบทร้องของขุนวิจิตรมาตรา และต่อมาภายหลังจึงไม่มีการขับร้อง คงเหลือแต่เพียงทำนองเพลงบรรเลงเท่านั้น

    เพลงชาติสยามฉบับสังเขป พ.ศ. 2478
    ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 (มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน) ระเบียบดังกล่าวนี้ได้มีการกำหนดให้แบ่งการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติออกเป็น 2 แบบ คือ การบรรเลงแบบพิสดาร (บรรเลงตามความยาวปกติเต็มเพลง) และการบรรเลงแบบสังเขป ในกรณีของเพลงชาตินั้น ได้กำหนดให้บรรเลงเพลงชาติฉบับสังเขปในการพิธีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สโมสรสันนิบาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีปกติ ส่วนการบรรเลงแบบเต็มเพลงนั้นให้ใช้ในงานพิธีใหญ่เท่านั้น

    ท่อนของเพลงชาติที่ตัดมาใช้บรรเลงแบบสังเขปนั้น คือท่อนขึ้นต้น (Introduction) ของเพลงชาติ (เทียบกับเนื้อร้องเพลงชาติฉบับปัจจุบันก็คือตั้งแต่ท่อน สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี จนจบเพลง) ความยาวประมาณ 10 วินาที ไม่มีการขับร้องใดๆ ประกอบ

    เพลงชาติไทย พ.ศ. 2482 - ปัจจุบัน
    ในปี พ.ศ. 2482 "ประเทศสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม แต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และปรากฏคำว่า "ไทย" ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

    เนื้อร้องของหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกไทยก่อนแก้ไขเป็นฉบับทางการมีดังนี้ (สำหรับเนื้อร้องฉบับประกาศใช้จริง ดูได้ในหัวข้อ เนื้อเพลง)

    ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน
    อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
    ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
    สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

    การประกวดเพลงชาติครั้งนี้ได้ปรากฏหลักฐานว่ามีกวีและผู้มีชื่อเสียงในทางการประพันธ์เพลงหลายท่าน เช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แก้ว อัจฉริยะกุล ชิต บุรทัต เป็นต้น ซึ่งรวมถึงผู้ประพันธ์เนื้อเพลงชาติสองฉบับแรก (ขุนวิจิตรมาตรา และฉันท์ ขำวิไล) ได้ส่งเนื้อร้องของตนเองเข้าประกวดด้วย แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านการตัดสินครั้งนั้น เฉพาะเนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราแต่งใหม่นั้น ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า "ไทย" ถึง 12 ครั้ง

    เนื้อเพลงฉบับปัจจุบัน
    เพลงชาติไทยทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
    คำร้อง: พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในนามกองทัพบก

    ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
    เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
    อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
    ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
    ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
    เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
    สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
    เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย
    ฉบับ พ.ศ. 2477
    วิกิซอร์ซ มีข้อมูลต้นฉบับเกี่ยวกับ:
    เพลงชาติสยามประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ ใช้เป็นเพลงชาติไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 (ในลักษณะไม่เป็นทางการ) โดยช่วงแรกใช้คำร้องที่ประพันธ์โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้จัดการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติ และประกาศรับรองเนื้อร้องที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่โดยขุนวิจิตรมาตรา และเนื้อร้องที่แต่งโดยนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นฉบับที่ชนะการประกวด เป็นเนื้อร้องเพลงชาติฉบับทางราชการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477

    ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
    คำร้อง: ขุนวิจิตรมาตรา
    (บทที่ 1 และบทที่ 2)
    แต่งเมื่อ พ.ศ. 2475
    แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
    คำร้อง: ฉันท์ ขำวิไล
    (บทที่ 3 และบทที่ 4)
    แต่งเมื่อ พ.ศ. 2477
    ประกาศใช้เพิ่มเติมจากเนื้อร้องเดิมในปีเดียวกัน
    แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
    ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
    สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
    รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
    บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
    ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
    เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
    สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
    อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
    น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
    เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา
    เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
    รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
    ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
    เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
    สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
    รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
    ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
    ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
    แม้ถึงภัยไทยด้อยจนย่อยยับ
    ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
    ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
    นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
    เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
    มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
    ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสรเสรี
    เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
    จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
    ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
    มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงทั้งชาย
    สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย

    ประวัติเพลงชาติไทยประวัติเพลงชาติไทยประวัติเพลงชาติไทย
    ที่มา: วิกิพีเดีย

  2. #2
    ศึกษาหาความรู้ สัญลักษณ์ของ Gentleman007
    วันที่สมัคร
    May 2012
    กระทู้
    125
    เพลงชาติไทย
    ที่มา : เพลงไทยเดิมตามนัยประวัติของครูเงิน

    เพลงชาติของไทยได้เปลี่ยนแปลงหลายครั้ง จนกว่าจะเป็นเพลงชาติที่ใช้กันในปัจจุบัน ครั้งแรกมีขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย (เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) ได้เพียงสองสามวัน เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการและต่อมาได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ได้แต่งเพลงชาติขึ้นเพื่อปลุกใจให้คนไทยรักชาติ สมัครสมานสามัคคีตลอดจนเกิดเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ ทำนองร้อง ใช้ทำนองเพลงมหาชัย ส่วนบทร้องมีดังนี้
    "สยามอยู่คู่ฟ้า อย่าสงสัย
    เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
    ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
    ผ่านแห่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
    เราร่วมใจกันรักสมัครหนุน
    วางธรรมนูญสถาปนาพรรษาใหม่
    ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
    ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า"

    กติเพลงมหาชัยนั้นก่อนหน้านี้ นิยมใช้บรรเลงในการรับเสด็จเจ้านายชั้นสูงหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำนองต้อนรับ พวกคณะผู้ก่อการจึงไม่ค่อยพอใจ ต่อมาจึงได้ดำริจะให้มีเพลงชาติแบบสากลที่แต่งขึ้นเป็นพิเศษจริงๆ นายนาวาตรี หลวงนิเสศกลกิจ ร.น. ( กลาง โรจนเสนา) ได้ติดต่อขอให้พระเจนดุริยางค์ (ปีติ วาทยากร)ช่วยแต่งทำนองเพลงขึ้น เสร็จแล้วขอให้ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) แต่งคำร้องประกอบ สำเร็จออกเป็นเพลงชาติที่ได้ใช้ร้องกันทั่วไป เนื้อเพลงมีดังนี้
    "แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
    ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
    สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
    ร่วมรักษาเอกราษฎร์ชนชาติไทย
    บางสมัยศัตรูจู่มารบ
    ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
    ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท
    สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
    อันดินแดนสยามคือว่าเนื้อของชาติไทย
    น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
    เอกราชคือกระดูกที่เราบูชา
    เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
    ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี
    ใครยำยีเราจะไม่ละให้
    เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย
    สถาปนาสยามให้เชิดชัยชโย"


    เนื้อเพลงดังกล่าว แม้จะใช้ร้องกันโดยมาก แต่ทางราชการยังมิได้ประกาศรับรอง จนในราว พ.ศ. 2477 รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติอย่างจริงจังขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ต่อมาได้เป็น พระองค์เจ้า และทรงกรมในพระนาม พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ทรงเป็นประธานกรรมการ อื่น ๆ มีพระเรี่ยมวิรัชพากย์ พระเจนดุริยางค์พระยาเสนาะดุริยางค์ พระเพลงไพเราะ หลวงประดิษฐ์ไพเรา หลวงประสานดุริยางค์ หลวงชำนาญนิติเกษตรจางวางทั่ว พาทยโกศล และนายมนตรี ตราโมท คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเพลงชาติโดยเฉพาะกล่าวคือ พิจารณาทำนองเพลงชาติ ซึ่งผู้ชำนาญการดนตรีแต่งเสนอให้คัดเลือก รวมทั้งของพระเจนดุริยางค์ ที่แต่งไว้เดิมด้วย ผลการตัดสินของคณะกรรมการ มีแบบไทยและแบบสากลอย่างละเพลงคือ แบบไทยได้แก่เพลงของจางวางทั่ว พาทยโกศล ซึ่งแต่งขึ้นจากเพลงไทยเดิม ที่ชื่อว่าตระนิมิต ส่วนเพลงสากลได้แก่เพลงของพระเจนดุริยางค์ ที่แต่งไว้ก่อนแล้ว
    ต่อมาคณะกรรมการมีความเห็นว่า เพลงชาติควรจะอยู่ในลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามีสองเพลงอาจทำให้ความศักดิ์สิทธิ์คลายลง จึงพิจารณากันใหม่ ในที่สุดจึงตกลงว่าให้มีแต่เพลงเดียวคือ แบบทำนองสากลของพระเจนดุริยางค์จากนั้นก็มีการประกวดบทร้องที่แต่งให้เข้ากับทำนองที่คณะกรรมการรับรองแล้ว ผลการพิจารณาคณะกรรมการตัดสินให้บทร้องที่ขุนวิจิตรมาตรา แต่งไว้เดิม กับบทของนายฉันท์ ขำวิไล เป็นบทร้องที่ได้รับรางวัล และในที่สุดเลือกบทร้องของขุนวิจิตรามาตรา เป็นบทร้องชนะเลิศ โดยประธานขอแก้ถ้อยคำบางแห่ง
    บทร้องของนายฉันท์ ขำวิไล
    "เหล่าเราทั้งหลายขอน้อยกายถวายชีวิต
    รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
    ที่พ่อแม่ สู้ยอดม้วยด้วยพยายาม
    ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
    ถึงแม้ไทยไทยด้วยจนย่อยยับ
    กลับสู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
    ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
    นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
    เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
    มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
    ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสระเสรี
    เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
    จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
    ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
    มีไมตรีดียิ่งทั้งชายทั้งหญิง
    สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัย ไชโย"

    บทร้องของขุนวิจิตรามาตรา (ที่แก้ไขแล้ว)
    "แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
    ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
    สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา
    ร่วมรักษาสามัคคีทวีไทย
    บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
    ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
    เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท
    สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
    อันดินแดนสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
    น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
    เอกราษฎรคือเจดีย์ที่เราบูชา
    เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
    รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
    ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
    เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
    สถาปนาสยามให้เทอดไทย ไชโย"


    บทร้อยเพลงชาติของขุนวิจิตรมาตราได้ประกาศเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477 โดยให้ร้องติดต่อกันได้เป็นสี่เที่ยวตามลำดับบทร้อง ทั่วไปมักร้องกันเพียงสองเที่ยว เพราะการร้องสี่เที่ยวออกจะยืดยาวมาก ที่จริงแม้ร้องสองเที่ยวก็ยืดยาวแล้ว ประกอบกับมีคนปรารภว่า ในบรรดาเพลงชาติของชาติต่างๆ มักมีข้อสังเกตตรงกันข้อหนึ่งคือ ชาติใหญ่ชาติสำคัญมักใช้เพลงสั้น ๆ แต่ชาติเล็ก ๆ น้อย ๆ มักใช้เพลงยาว ๆ จนชอบกล่าวในหมู่ผู้ร้องเพลงประจำชาติต่าง ๆ ว่า ชาติยิ่งเล็กเพลงยิ่งยาว ชาติยิ่งใหญ่เพลงยิ่งสั้น ความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ.ท2478 ได้มีการตัดแต่งเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีลงให้มีแบบสังเขปอีกแบบหนึ่ง สำหรับบรรเลงในบางโอกาส ดังคำประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2478ผู้ที่สนใจเพลงชาติของชาติต่าง ๆ จะรู้สึกว่าเพลงชาติแต่งในทำนองเดียวกันคือ ปลุกใจให้รักชาติ เสียสละเพื่อชาติ ช่วยกันพยุงชาติไว้ แม้ตัวตายก็ยอมอะไรทำนองนั้นสำหรับเนื้อความของเพลงชาติไทย มีผู้ตังข้อสังเกตว่าคลายคลึงกับเพลงชาติฝรั่งเศลที่ชื่อว่ามาร์เซเยส์อยู่บ้างส่วนการแสดงความรู้สึกเป็นแบบไทยแท้ทีเดียว เพลงนี้จึงได้ฟังร้องกันอย่างแพร่หลายมาไม่น้อยกว่า 6 ปี แม้จะมีระเบียบการว่าด้วยการร้องแบบสังเขปประกาศเป็นทางการแล้วก็ดี แต่ก็ปรากฏว่า ประชาชนไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่สนใจ การร้องแบบสังเขปจึงได้ประกาศยกเลิกก่อนการเปลี่ยนแปลงจะตามมา
    สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นเพลงชาติใหม่นั้น นอกจากเนื้อร้องค่อนข้างยาวแล้ว บางแห่งพอร้องจริง ๆ เสียงมักจะเพี้ยนไม่ตรงตามคำที่ปรากฏ และประการสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" นั่นเองกรณีที่ว่าเนื้อร้องค่อนข้างยาวนั้น เพราะเราแต่งตามแบบไทย กล่าวคือ เพลงที่ร้องต้องร้องทวนซ้ำเป็นสองจบตามหลักดนตรีไทยที่ว่า "กลับต้น" กว่าจะร้องจบจึงต้องใช้สมาธิอย่างมากเรื่องเสียงเพี้ยนเวลาร้องนั้น มีคนบ่นกันมากว่า มีหลายแห่งไม่สามารถร้องให้ถูกกับเสียงอ่านจริง เพราะไม่ลงกับเสียงดนตรีตามทำนองประพันธ์ เช่น วรรคต้น เมื่อร้องจะฟังได้เป็นว่า
    "แผ่นดินสยามนามประเทื้องว่าเมืองทอง" ในวรรคที่สามออกเสียงเป็น
    "สืบเผ่าไทยดึกดำบั้นโบหร่านล้งมา" ฯลฯ
    เรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศนั้นปรากฏว่าใน พ.ศ. 2482 มีการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจากคำ "สยาม" มาเป็น "ไทย" นับเป็นเหตุผลสำคัญในการแก้ไขบทร้องเพลงชาติการแก้ไขครั้งนี้มิใช่แก้คำว่าสยามเป็นไทยเท่านั้น แต่ต้องการให้เป็นที่ร้องจบได้เพียงเที่ยวเดียว และเป็นบทร้องที่ใจความถึงขนาดจริง ๆ ทางรัฐบาลจึงได้ประกาศประกวดขึ้นใหม่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2482ผลการประกวด ปรากฏผู้ชนะได้แก่ นายพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ส่งในนามของกองทัพบก สำนักงานนายกรัฐมนตรีได้ประกาศผลการประกวดในรัฐนิยม ฉบับที่ 6 ออกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2482 มีใจความสำคัญสรุปว่าทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองเพลงของ พระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ ณ กรมศิลปากรเนื้อร้องให้ใช้บทเพลงของกองทัพบกดังต่อไปนี้
    "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
    เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
    อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
    ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
    ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
    เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
    สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
    เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย"


    เบื้องหลังการแต่งเพลงชาติสำนวนชนะเลิศ มีความเป็นมาอย่างไร ผู้แต่งได้บันทึกความทรงจำไว้ในบทความเรื่อง "เนื้อร้องเพลงชาติ 82 " ในหนังสือวรรณคดีสารประจำเดือนมิถุนายน 2486 ขออนุญาติเก็บความมาเป็นตอนๆ ดังนี้
    วันหนึ่งในราวต้นเดือนกันยายน 2482 เวลาเที่ยงเศษ ขณะนั้นฉัน (พันเอกหลวงสารานุประพันธ์) ออกจากระเบียงจะไปรับประทานอาหารที่สโมสรกลาโหม บังเอิญพบท่าน พล.ท.มังกร พรหมโยธี (ขณะนั้นเป็นพันเอก) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งกำลังเดินจะไปรับประทานอาหาร ณ ที่แห่งเดียวกัน หลังจากฉันทำความเคาระตามวินัยแล้ว ท่านก็เรียกฉันไปเดินร่วมสนทนากับท่านด้วย
    ท่านปราศรัยขึ้นก่อนว่า "คุณหลวงเห็นประกาศประกวดเพลงชาติของสำนักโฆษณาการแล้วหรือยัง" ฉันตอบสนองว่า
    "เห็นแล้วครับ"
    "แล้วคุณหลวงจะแต่งส่งเข้าประกวดกับเขาไหม" ฉันนิ่งครู่หนึ่งแล้วตอบว่า
    "เห็นจะไม่ส่งเพราะหาเวลาไม่ได้ ทั้งเกรงความสามารพจะไม่พอ ด้วยไม่คุ้นกับทำนองเพลงสากลนัก" ท่านยิ้มแล้วกล่าวว่า
    "เชื้อผมเถอะ ผมแนะนำให้เข้าประกวด ผมอยากขอให้คุณหลวงช่วยทหารบกซึ่งเป็นเหล่าของคุณหลวง คือแต่งเพลงชาติประกวดเอารางวัล 1,000 บาท ผมอนุญาติให้ทดลองร้องเข้ากับแตรวงของ ร.พัน 3 ได้ ทั้งจะให้พวกนายทหารที่เป็นเพลงสากลกับทำนองดนตรีสากลมาช่วยด้วย จะขัดข้องไหม" ฉันนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แต่ในทันใดเลือดแห่งความรู้สึกรักหมู่คณะซึ่งเป็นนิสัยเดิมของฉันก็ฉีดแรงขึ้น ฉันจึงตอบไปทันทีว่า
    "ตกลงครับ ท่านรัฐมนตรี ผมตั้งใจว่าจะไม่แต่งแล้วแต่รัฐมนตรีขอร้องให้ช่วยหมู่คณะผมก็ไม่รังเกียจเพราะผลพร้อมที่จะเสียสละให้แก่ส่วนรวมอยู่ทุกเมื่อ"
    เป็นอันตกลง หลังจากนั้นท่านรัฐมนตรีก็สั่งกองแตรวงของ ร.พัน 3 ให้รับรองฉันในการไปทดลองเนื้อร้องตลอดมาโดยลำดับวาระและกรณี ดังจะได้บันทึกตามลำดับเหตุการณ์ต่อไป

    การแต่งเนื้อร้องเพลงชาติตามหลักของทางราชการที่ประกาศคราวนี้ นับว่ามีข้อยากอย่างแสนลำเค็ญอยู่หลายกรณี กล่าวคือ
    1.เนื้อร้องจะต้องเป็นบทร้อยกรอง ประเภทที่สงเคราะห์เข้าอยู่ในกลอนแปด หรือกลอนเสภาเช่นเดียวกันกับบทประพันธ์เดิมของนายสง่า กาญจนาคพันธ์ เพราะหาใช่จะนำไปร้องเป็นทำนองดุจเดียวกับเนื้อร้องเพลงชาติไม่ได้
    2.บทร้อยกรองนั้น จำกัดให้มีเพียง 8 วรรคหรือ 4 คำกลอน
    3.ในวรรคอันมีปริมาณจำกัดนั้น จะต้องบรรจุถ้อยคำที่ไพเราะและปลุกใจให้ชาวไทยบังเกิดความรักชาติทั้งเร้าใจให้เกิดความตื่นเต้นในประเทศชาติด้วย นั่นคือต้องใช้คำสั้นที่อมความไว้ได้มาก
    4. จะต้องวางคำให้ถูกจังหวะเพลง หรือลงกับจังหวะเพลงพอดี ซึ่งจะไม่ทำให้เสียอรรถรสของในความและข้อยากที่สุดนั้นคือ
    5.คำที่จะวางไปนั้น จะต้องให้ลงกันกับเสียงสูงต่ำของโน้ตดนตรีพอเหมาะ มิฉะนั้นก็จะฟังเป็น "แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเหมืองทอง" ไปอีก

    เมื่อนึกถึงความลำบาก 5 ประการนั้นแล้ว ก็ทำให้รู้สึกท้อใจ แต่เมื่อรำลึกถึงกรณีที่จะช่วยหมู่คณะ คือกองทัพบกเหล่าทหารที่รักบูชาของฉันแล้ว ความท้อใจก็บรรเทาเบาคลายลง กำลังใจอันเข็มแข็งได้เข้ามาแทนที่เป็นฉากแรกที่จะเริ่มคิดกลอน ฉันก็วางโครงการส่วนสรุปเสียก่อนว่าบทประพันธ์นี้จะมีใจความว่ากระไร
    หลังจากคิดอยู่ 3 วัน ฉันจึงตกลงใจว่าเนื้อร้องจะต้องให้มีข้อความเหล่านี้บรรเลงให้หมด หรือมากที่สุดเท่าที่จะบรรจุได้ คือ ความเป็นชาติไทย การรวมไทย การรักษาเอกราชของชาติ การร่วมรักสามัคคีของประชากรแห่งชาติอย่างพี่น้อง เป็นภราดรภาพ ศีลธรรมของพลเมือง ความกล้าหาญในอันพร้อมที่จะรบได้ทุกเมื่อจะถูกข่มเหง การสร้างชาติการปลุกใจให้รักชาติ ท่านผู้อ่านที่รัก ท่านเห็นไหมว่าข้อความทั้งหมดนั้นจะต้องบรรจุลงให้เต็ม ในคำข้อยกของเพียง 8 วรรค หรือ 4 คำกลอนเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อได้คิดแต่งกลอน 4 คำ อยู่เป็นเวลานานหลายชั่วโมงก็ได้บทประพันธ์ชิ้นแรกทีเดียวว่าดังนี้
    "แผ่นดินแดงทองไทยได้ครองเป็นของไทย
    ไทยสมัครรักชาติไทยเป็นไทยทุกส่วน
    เอกราชรักษาไว้ไม่แปรปรวน
    ทุกคนล้วนหมายใจรักสามัคคี
    ไทยเขารักสงบรบก็ไม่หวั่น (หรือพรั่น)
    ใครรุกรานเราจะหั่นให้แตกหนี
    สละชีพเพื่อชาติฟาดฟันไพรี
    ให้ประเทศไทยทวี มีชัยชโย"

    พอเขียนบทนี้ สมองก็เกิดทำงานก้าวหน้าเลยความสั่งการของประสาทบังคับ กล่าว คือ ส่งคำกลอนให้เป็นอดิเรกอีก 4 คำ ดังต่อไปนี้
    "ประเทศชาติไทยได้พ้นอับจนมา
    เพราะคนไทยใจเก่งกล้าสามารถทุกสิ่ง
    เลือดและเนื้อพลีให้ชาติไม่หวาดประวิง
    ไทยไม่ทิ้งสามัคคีมีร่วมใจ
    เราเจ็บแล้วต้องจำอยู่ซ้ำอีก
    ใครจะฉีกชาติไทยแล้วไม่ได้
    ตายดาบหน้ามาเถิดพี่น้องชาวไทย
    สู้ทุกคนจนขาดใจให้ไทยชโย"

    ฉันทดลองร้องเนื้อเพลงสองบทนี้ตามทำนองเพลงชาติ เพื่อตรวจพิจารณาจังหวัดและเสียงสูงต่ำของคำว่าจะลงกันได้กับโน้ตดนตรีหรือไม่ วิธีทดลองร้องนั้น ฉันสารภาพว่าทำทุกโอกาส ทุกสถานที่ ทุกอิริยาบถ กล่าวคือ นั่งก็ร้อง นอนก็ร้อง เดินก็ร้อง แต่การร้องนั้นจะเปล่งเสียงออกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานที่เป็นสำคัญยิ่งสิ่งอื่น เพราะหาไม่ นายเถียน วิเชียรแพทยาคม อาจจะมารับตัวฉันไปเสียก่อนเพลงชาติจบอย่างไรก็ตาม หลังจากการทดลองร้องแล้วรู้สึกว่าถ้อยคำยังไม่สละสลวย ฉันจึงนำเนื้อร้องทั้งสองบทมาประมวลแต่งเป็นเนื้อร้องใหม่ว่าดังนี้
    "ดินแดนทองไทยตั้งครองประเทศไทย
    รวมเลือดเนื้อรวมน้ำใจของไทยทุกส่วน
    รักษาเอกราชไว้ไม่แปรปรวน
    ทุกคนล้วนหมายรักสามัคคี
    ไทยเรารักสงบแต่รบก็ไม่พรั่น
    ใครรุกรานเขาจะหั่นให้แตกหนี
    ชีวิตเขายอดขาดเป็นขาติพลี
    เถลิงประเทศไทยทวีมีชัย ชโย"

    ฉันได้นำประพันธ์นี้ไปทดลองเข้ากับแตรวงเป็นโอกาสแรกที่สุด ณ ที่ ร.พัน 3 ท่านรัฐฐมนตรีช่วยว่าการฯได้สั่งเจ้าหน้าที่จัดนักดนตรีกับนักร้องไว้ช่วยกันที่ห้องโถงสโมสรพร้อมบริบูรรื นอกจากทหารในกองแตรวงแล้วท่านรัฐมนตรียังได้ให้นายทหารหนุ่มซึ่งชอบแต่งเพลงสากลมาช่วยด้วยอีก 2 นาย นายหนึ่งฉันจำได้ถนัดนี่ แต่เสียกายที่ลืมชื่อของเขาเสีย แต่ข้อที่จะลืมเขาไม่ได้นั้นก็คือ ทหารผู้นี้แม้ยังเยาว์วัยก็มีหนวดเป็นหนวดดำสนิท ซึ่งได้ตัดเรียบประดิษฐานเป็นกระจุกไว้กลางช่องนาสิกพอดี พอลงมือทดลองร้องเนื้อที่ฉันแต่งไปนั้นได้ 1 จบท่านนายทหารหนวด ก็เสนอข้อแก้ถ้อยคำบางแห่งในเนื้อร้อง เพื่อให้เข้าอันดับเสียงสูงต่ำของดนตรี ซึ่งฉันเห็นพ้องด้วยทุกประการ ฉะนั้นเนื้อร้องที่ตกลงจะส่งเข้าประกวดเป็นบทแรกก็เป็นดังนี้
    "ถิ่นแดนทองไทยตั้งครองประเทศไทย
    รวมเลือดเนื้อรวมน้ำใจไทยทุกส่วน
    เอกราชรักษาไว้ไม่แปรปรวน
    ไทยทั้งมวลหมายรักสามัคคี
    ไทยเขารักสงบแต่ถึงรบไม่พรั่น
    ใครรุกรานจะประจันให้ถึงที่
    ชีวิตเขายอดขาดเป็นชาติพลี
    เถลิงประเทศทวีมีชัย ชโย"

    แต่ครั้งมาทดลองร้องตามทำนองเพลงชาติของนายปิติ วาทยากรแล้ว ก็รู้สึกว่ายังมีอีกหลายคำที่ไม่ลงกันได้กับโน้ตดนตรี เฉพาะอย่างยิ่งคำท้ายวรรค 6 ว่า "ถึงที่" ซึ่งเมื่อร้องแล้วก็ฟังเป็นถึง "ถึงถี่" ไปหมด คณะที่ช่วยกันพิจารณาเพลงก็ลงมติก็ขอใหฉันลองแต่งใหม่โดยหาคำที่มีเสียงสูงต่ำอยู่ในเนื้อหาแต่เดิมมาบรรจุให้เหมาะสมจงได้สำหรับคำวรรคท้าย 6 รู้สึกว่ายากอักโข ฉันได้พยายามค้นหาอักษรสระอี ทั้งสูงกลางต่ำ มาลองเขียนไว้เพื่อเลิกหาคำเหมาะ ดั่งปรากฏในกระดาษร่างที่ยังเก็บไว้ว่า ดังนี้
    (สูง) ขี่ ฉี่ ถี่ ผี่ ฝี่ สี่ หี่
    (กลาง) กี่ จี่ ดี่ ตี่ บี่ ปี่ อี่ ปรี่
    (ต่ำ) หงี่ หนี่ ถนี่ หมี่ หยี่ หลี่
    และทั้งหมดนั้น ท่านผู้อ่าน ผู้ เป็นนักร้อยกรอง ย่อเห็นแล้วว่า คำที่ใช้ได้ดีที่สุด มีอยู่คำเดียวคือ "ขี่" เท่านั้นจึงจำเป็นต้องคิดหาให้ได้ที่จะลงคำท้ายว่า "ขี่"ผลของการแต่งใหม่ที่ได้นำไปเข้าประทุม คณะดนตรี ร. พัน 3 ทดลองร้องมีเนื้อร้องดังนี้
    "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
    เป็นประเทศอธิปไตยแห่งไทยทุกส่วน
    อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล
    ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
    ไทยนี้รักสงบแต่รบไม่หวาด
    เอกราชไม่ยอมให้ใครข่มขี่
    สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
    เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย"


    เมื่อได้ประชุมหารือกันท่านนายทหารหนวดได้เสนอขอแก้คำบางแห่งโดยเหตุผลอย่างวันก่อน ซึ่งฉันเห็นพ้องด้วยไม่ขัดข้อง และได้แก้ไขจนร้องเข้าจังหวะและเข้าเสียงโน้ตดนตรีเป็นสำเนาสุดท้าย ดังนี้
    "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
    เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน
    อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล
    ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
    ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
    เอกราชจะไม่ยอมให้ใครข่มขี่
    สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
    เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย"


    หลังจากทดลองร้อง และเข้าแตรวงพร้อมเพียงแล้ว ฉันก็มอบลิขสิทธิ์แห่งเนื้อร้องนี้ให้แก่กองทัพบกตามปณิธานอันตั้งไว้แต่เดิม ลำดับต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็คัดและทำเรื่องเสนอเข้าประกวดตามประกาศของทางราชการที่กล่าวข้างต้นต่อจากนั้นฉันติดราชการในหน้าที่พัวพันจนลืมเรื่องการส่งเนื้อร้องเข้าประกวดเสียสิ้น กล่าวล่วงมาจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2482 ซึ่งปรากฏว่าให้มีการทดลองร้องให้คณะรัฐมนตรีผู้เป็นกรรมการตัดสินฟัง โดยทหารกองแตรวง ร. พัน 3 กลางวันวันนั้นฉันก็ได้ฟังประกาศทางวิทยุกระจายเสียงว่า เนื้อร้องของกองทัพบกได้ชนะรางวัลที่ 1 ทางราชการได้รับไว้เป็นเนื้อร้องของเพลงชาติต่อไปโดยคณะกรรมการได้แก้ไขเล็กน้อยให้ดียิ่งขึ้นว่าดังนี้
    "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
    เป็นประชารัฐไทยของไทยทุกส่วน
    อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
    ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
    ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
    เอกราชจะไม่ให้ใคร่ย่ำยี่
    สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
    เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย"


    ฉันสารภาพตามตรงว่า พอได้ฟังประกาศแล้วก็บังเกิดความรู้สึกซาบซ่านทั่วสรรพางค์ ที่เรียกขนชันทุกเส้นโลมา ที่เป็นดังนี้เพราะความดีใจกับเสียใจประดังถึงขนาด ประดังเข้าพร้อมกันทั้งคู่ ความดีใจนั้นคือ การที่บทประพันธ์อันแต่งขึ้นจากสมองคิดโดยแท้จริงของฉัน ได้ชนะในนามของกองทัพบก ความเสียใจนั้นคือ การที่ บทประพันธ์ถูกแก้ในวรรคที่ 6 จากข่มขี่เป็นย่ำยี่ ซึ่งผิดหลักวิชาบัญญัติลักษณะกลอน เพราะคำท้ายของวรรคนั้นต้องเป็นเสียงเอก จะเป็นเสียงธรรมดาหรือเสียงเช่น ย่ำยี่หาได้ไม่ ยิ่งกว่านั้นเวลาร้องก็ฟังเป็นย่ำหยี่โดยตรงเพื่อเห็นแก่หลักวิชาการเป็นสำคัญ เพราะเพลงชาติเป็นสิ่งที่จะอยู่ต่อไปอีกชั่วนิรันดร ฉันรีบไปหาท่าน พลโท. ม.พรหมโยธี ที่บ้านของท่าน และแถลงให้ทราบถึงความสำคัญของคำนั้น ท่านรัฐมนตรีเห็นพ้องด้วย บัญชาให้ฉันเป็นผู้แทนกองทัพบก พร้อมด้วยสรรพตำราทางวรรณคดีรวมกว่า 10 เล่มอันเป็นหลักวิชา ไปเจรจากับท่านวิจิตร วิจิตรวาทการ และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ผู้เป็นกรรมการเฉพาะในทันที ฉันขอเว้นไว้มิบันทึกการเจรจา ซึ่งได้รวมการสาธกชนิดโต้วาทีขนาดหนักระหว่างท่านวิจิตรกับฉัน แต่ขอสรุปว่า ในที่สุดท่านวิจิตรเห็นพ้องด้วยกับฉัน ยอมให้เปลี่ยนเป็นข่มขี่ตามเดิม และเลยขอแก้ "รัฐไทย" เป็น "รัฐไผท" เสียด้วย เพื่อให้กระทัดรัดขึ้น ลำดับนั้นฉันก็มาเฝ้าท่านวรรณฯ และทูลให้ทราบถึงกรณีเหล่านี้ ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงต้อนรับข้อเสนอของฉันอย่างดีที่สุด ในวาระหลังสุดฉันก็นำความทั้งหมดรีบมากราบเรียน ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ วังสวนกุหลายในวันนั้น เมื่อหมดเรื่องเสียใจแล้วก็คงเหลือแต่เรื่องดีใจ ฉันรู้สึกปลาบปลื้มและภาคภูมิใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ฐานะที่อย่างน้อยที่สุดก็นับว่าได้ประโยชน์แก่ประเทศชาติที่รักของฉัน ไว้พอเป็นอนุสรณ์สืบไปชั่วนิรันดรกาล ฉันสำนึกในบุญคุณราชการทหารอยู่มิรู้วาย ในการที่ได้จารึกข้อความลงในสมุดประวัติประจำตัวของฉัน ซึ่งปรากฏอยู่จนบัดนี้ในช่อง "ความชอบในราชการ" บันทึกว่า
    "แต่งเนื้อและนำพองเพลงชาติใหม่ให้แก่กองทัพบก โดยมิขอรับตอบแทนอย่างใด" และในช่อง "รับผลอย่างใด" บันทึกว่า "ประกาศเป็นรัฐนิยมฉบับที่ 6
    ฉันได้สั่งบุตรธิดาของฉันไว้ทุกคนว่า ในกาลภายหน้าเมื่อถึงวาระที่ฉันต้องเกษียณอายุลาโลกไปแล้ว ขณะใกล้จะขาดอัสสาสะ ขอให้หาจานเสียงเพลงชาติอันนี้มาเปิดให้ฟังให้จงได้ เพื่อบังเกิดความชุมชื่นระรื่นในใจกํนไม่มีวันเสื่อมคลายตราบสิ้นปราณ
    ……………………………………………………………..
    แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Gentleman007; 26-05-2012 at 00:14.

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •