กำลังแสดงผล 1 ถึง 3 จากทั้งหมด 3

หัวข้อ: สืบสานฮีตฮอยหมอลำ เฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา

Hybrid View

คำตอบที่แล้วมา คำตอบที่แล้วมา   คำตอบถัดไป คำตอบถัดไป
  1. #1
    เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สัญลักษณ์ของ คมคาย ครบุรี
    วันที่สมัคร
    Apr 2009
    กระทู้
    418

    สืบสานฮีตฮอยหมอลำ เฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา

    สืบสานฮีตฮอยหมอลำ เฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา

    ”หมอลำ” เป็นศิลปะการแสดงขั้นสูง ซึ่งโดดเด่นที่สุดและมีความสำคัญกับชาวอีสานมาเป็นเวลาช้านาน ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ในพิธีกรรมการบวงสรวง ผีแถน (เทวดา) ผู้ปกปักคุ้มครอง อันเป็นพื้นฐานความเชื่อของผู้คนในดินแดนแถบนี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า “หมอ” เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งทางโลกและทางธรรม ให้ความรู้และความบันเทิง

    เชื่อกันว่าหมอลำมีพัฒนาการต่อเนื่องยาวนานนับพันปี โดยในยุคเริ่มแรกพบหลักฐานสำคัญ เป็นภาพคนเป่าแคนคู่กับคนฟ้อนรำที่ค้นพบ ณ บริเวณแม่น้ำซอง ประเทศเวียดนาม อายุราว ๓,๐๐๐ ปี ลักษณะคล้ายการสวดอ้อนวอน หรือการเซ่นบวงสรวงเทพเจ้าแห่งการเกษตร อาทิ พระธรณี เจ้าแห่งฤดูกาล ภูเขา ลำธาร เป็นต้น

    สำหรับในประเทศไทยไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่มีหลักฐานในยุคสมัยหลังราว ๑๕๐ ปี ตรงกับรัชกาลที่ ๔ จากภาพถ่ายขาวดำภาพหมอลำหญิงชายกำลังคุกเข่าร่ายรำพร้อมหมอแคน

    รูปแบบของ “หมอลำ” และการลำในปัจจุบัน ล้วนพัฒนาการมาจากการลำแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า “ลำพื้น” โดยนั่งลำกับพื้นคนเดียว นิยมลำเล่านิทานเป็นหลัก ทั้งนิทานชาดก นิทานเรื่องยาวที่เป็นวรรณคดีของลาว หรือ อีสาน

    ต่อมามีการพัฒนาเป็นการลำสองคน เรียกว่า “หมอลำคู่” หรือ “หมอลำกลอน” เพราะมีการนำกลอนลักษณะต่าง ๆ มาลำโต้ตอบกัน เช่น ลำโจทย์แก้ ลำเกี้ยว ลำชิงชู้ โดยยกผญา (ปรัชญาอีสาน หรือ กลอนในเชิงชู้) มาสอดแทรก มีการเต้ย (การลำแบบมีจังหวะคึกคัก มีชีวิตชีวา แสดงอารมณ์รักและอ่อนหวาน) เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินด้วยจังหวะสนุกสนาน ลีลาภาษาที่มีความหมาย ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหมอลำกลอนที่เก่งกาจนั้น จะต้องมีความสามารถลำโต้ตอบกับหมอลำคนอื่นได้ อีกทั้งต้องลำกลอนสดหรือด้นสดได้ดี

    ในขณะเดียวกัน “หมอลำหมู่” หรือ “ลำเรื่องต่อกลอน” ก็เริ่มมีผู้นิยมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีรูปแบบในการแสดงที่อลังการยิ่งกว่าหลายเท่า

    นอกจากนี้ก็ยังมี “หมอลำเพลิน” เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการประยุกต์ มีจังหวะกระชับ เร้าใจ รวดเร็ว เน้นความสนุกสนานเป็นหลัก ใช้กลอนทางสั้นแบบหมอลำกลอน แต่มีรูปแบบการแสดงและการแต่งกายคล้ายลิเก

    จนกระทั่งมาถึงพัฒนาการล่าสุดของหมอลำ นั่นคือ “หมอลำซิ่ง” ในยุคปัจจุบัน ที่เป็นการผสมผสานรูปแบบการลำในลักษณะต่างๆเข้าด้วยกัน ทั้งการลำ การร้อง การเต้น การเต้ย ตลกหน้าเวที เครื่องดนตรีที่ใช้ก็เป็นดนตรีสมัยใหม่ เช่น กีตาร์ กลองชุด ออแกน เป็นต้น ส่วนแคนใช้เป็นเพียงเครื่องดนตรีประดับการแสดงเท่านั้น

    หมอลำจึงเป็นปรากฏการณ์ของสังคมอีสาน ที่สามารถสะท้อนอัตลักษณ์อีสาน ทั้งในด้านปรัชญาความคิด ทัศนคติ รสนิยม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม อย่างครบถ้วน กระทั่งมีผู้กล่าวว่า ถ้าต้องการศึกษาสังคมอีสาน สามารถศึกษาผ่านหมอลำ จะเข้าใจอีสานได้ในทุกมิติ เพราะหมอลำคือสื่อสะท้อนโลกทัศน์ ชีวทัศน์ของคนอีสานได้ทั้งระบบ ซึ่งเท่ากับว่าหมอลำได้สั่งสมภูมิปัญญาอีสานเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน และที่สำคัญหมอลำได้กลายเป็นอัตลักษณ์ด้านศิลปะการแสดงที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของผู้คนชาวอีสานที่มีพัฒนาการมายาวนาน มากกว่าศิลปะพื้นบ้านแขนงใด ๆ ดังนั้นหมอลำ จึงเป็นมรดกแห่งสังคมอีสานโดยแท้และควรค่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของโลก (มรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ หรือ Invisible heritage) ซึ่งต้องได้รับการสืบสาน เรียนรู้ ฟี้นฟู ในความดีงามแบบดั้งเดิม อีกทั้งควรพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดให้มีชีวิตขึ้นโดยอาศัยฐานภูมิปัญญาเดิมของบรรพบุรุษ ผสานกับความคิด ทัศนคติ และรสนิยมร่วมสมัยต่อไป

    เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา และเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมการฟื้นฟูหมอลำในฐานะเป็นมรดกของชาติ และในฐานะที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ เครือข่ายทางวัฒนธรรมในภาคอีสาน จัดให้มีการฟื้นฟูหมอลำในอดีต และนำเสนอหมอลำในปัจจุบันให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจอย่างกว้างขวาง ในงาน “สืบสานฮีตฮอยหมอลำ เฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา” ระหว่างวันที่ ๔–๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ บริเวณศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น

    โดยกิจกรรมภายในงาน วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ภาคเช้าเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. จะมีพิธียกอ้อยอครู (ไหว้ครูหมอลำ) โดย ศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ พ่อเคน ดาเหลา แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน และ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม จากนั้นจะเป็นการสัมมนาประกอบการสาธิต หัวข้อ “หมอลำ : มรดกวัฒนธรรมของชาติ” ได้ทราบความเป็นมาของหมอลำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับมีการแสดงหมอลำพื้นบ้าน ได้แก่ หมอลำพื้น หมอลำกลอน หมอลำผญา หมอลำเดิน เป็นต้น ต่อด้วยการสัมมนา หัวข้อ “หมอลำ : มรดกภูมิปัญญาในกระแสโลกาภิวัตน์” จากหมอลำและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย ภาคค่ำ จะเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๘.๓๐ น. จะเป็นการแสดงหมอลำย้อนยุค ในรูปแบบงานวัด ลำเทิดพระเกียรติ โดย ศิลปินแห่งชาติ การแสดงหมอลำดั้งเดิม (หมอลำกลอน หมอลำผญา หมอลำพื้น) โดย ศิลปินหมอลำที่มีชื่อเสียง หมอลำดาวรุ่ง หมอลำเยาวชน และการแสดงหมอลำคู่เอก ๙ คู่

    ส่วนใน วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๘.๓๐ น. จะเป็นการแสดงหมอลำประยุกต์ ลำเรื่องต่อกลอน โดยยกเอาเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นถิ่น และเลือกเรื่องราวที่โดดเด่น และชี้ให้เห็นเอกลักษณ์ของหมอลำพื้นบ้าน เช่น จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และ จ.อุบลราชธานี เป็นต้น และชม การแสดงของวงระเบียบวาทะศิลป์ ซึ่งจะเป็นการแสดงปิดวงในช่วงครึ่งปีแรกอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ร่วมกับศิลปินลูกทุ่งหมอลำชื่อดังอีกคับคั่ง

    ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มีการขึ้นทะเบียนหมอลำดั้งเดิมประเภทต่าง ๆ เป็นมรดกวัฒนธรรม อาทิ หมอลำพื้น หมอลำกลอน หมอลำผญา ซึ่งหลายคนเกรงว่ามรดกอันทรงคุณค่าเหล่านี้จะสูญหายไป ผู้สืบทอดในปัจจุบันก็ล้วนแต่เป็นผู้สูงวัย ขาดเวทีในการแสดงองค์ความรู้หรือศาสตร์ด้านหมอลำ ดังนั้นการจัดมหกรรมหมอลำเฉลิมพระเกียรติฯ จึงเป็นเหมือนการเผยแพร่ทั้งหมอลำดั้งเดิม และหมอลำร่วมสมัย หรือหมอลำซิ่งควบคู่กันไป

    “ขณะนี้กระแสของหมอลำกลับมาได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสพิเศษที่จะทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจในหมอลำได้มีพื้นที่ในการเรียนรู้และสืบสานต่อไป” ศ.ดร.อภินันท์ กล่าว

    ก็เป็นโอกาสดีที่แฟน ๆ หมอลำยังจะได้ร่วมเสวนาวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านหมอลำ พร้อมร่วมสนุกสนานกับหมอลำศิลปินแห่งชาติ ศิลปินหมอลำที่มีชื่อเสียง หมอลำดาวรุ่ง และหมอลำเยาวชนมากมาย ในงานมหกรรมหมอลำเฉลิมพระเกียรติฯ ในระหว่างวันที่ ๔–๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ บริเวณศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย.

    ที่มา

    เยาวนิศ เต็งไตรรัตน์
    http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=42&contentID=142614

  2. #2
    แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สัญลักษณ์ของ กะทิสด
    วันที่สมัคร
    Mar 2010
    กระทู้
    408
    ....หมอลำยุในสายเลือดเด้อครับเด้อ........

  3. #3
    ศิลปิน นักร้อง นักแสดง สัญลักษณ์ของ คนพนมไพร
    วันที่สมัคร
    Jan 2009
    ที่อยู่
    สายไหม
    กระทู้
    579
    จั่งแม่นอยากไปแท้น้อ...อยากหั่งได้แต่อยากจั่งแม่นยากหลายงานกะดาย ขอบคุณข้อมูล ข่าวสาร ดีใจหลายที่วัฒนธรรมของบ้านเฮามีแต่ฮุ่งเฮืองไปหน้า...พี่น้อง
    c06: ฮักบ้านมหาคักกะยังว่า

Tags for this Thread

กฎการส่งข้อความ

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •