บทความพิเศษ
คัดจากหนังสือ ศิลป วัฒนธรรม
จิตร ภูมิศักดิ์

ชนชาติ ภาษา และรัฐ

บทความเรื่อง "ชนชาติ ภาษา และรัฐ" ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ลงพิมพ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของต้นฉบับร่างงานค้นคว้าเกี่ยวกับ "ขอม" ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน

ต้นฉบับร่างที่ยังไม่ได้นำมาลงพิมพ์ และรวมทั้งเรื่อง "ชนชาติ ภาษา และรัฐ" นี้ จะได้จัดพิมพ์เป็นภาคผนวกของ "ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม" ในชุดศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ ซึ่งจะวางตลาดเร็วๆ นี้

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ขอขอบพระคุณคุณวิชัย นภารัศมี ที่ได้เอื้อเฟื้อจัดหาต้นฉบับอันมีค่าชิ้นนี้

อนึ่งในการนำมาตีพิมพ์ครั้งนี้ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมได้ให้ตัวเน้น และยกย่อหน้าใหม่เป็นบางแห่งด้วย



เราได้ทำความเข้าใจกันมาแล้วในเรื่องชนชาติขอม ภาษาขอม อักษรขอม อย่างละเอียดพอสมควร; แต่ความเข้าใจทั้งหมดนั้นยังไม่สมบูรณ์ถ้าเราไม่พิจารณาโดยเกี่ยวข้องกับสังคม คือ รัฐ.

ชนชาติก็ดี ภาษาก็ดี อักษรก็ดี เป็นเรื่องของพื้นฐานทางด้านสมาชิกของสังคมหรือรัฐ. ชนชาติก็ดี ภาษาก็ดี อักษรก็ดี มิได้ชี้ขาดกำหนดขอบเขตของสังคม กล่าวคือมิได้กำหนดรัฐ. รัฐเป็นโครงสร้างเบื้องบนที่กำหนดขึ้นโดยอำนาจทางเศรษฐกิจ. ฉะนั้นชนชาติเขมรทั้งหมดจึงมิได้เป็นเครื่องกำหนดรัฐเขมรขึ้น. มิใช่ว่าชาวเขมร หรือชนที่พูดภาษาเขมรทั้งหมดจะรวมกันเป็นรัฐเดียว คือรัฐเขมร หรือรัฐแห่งกรุงศรียโศธรปุระ (นครธม).

ชาวเขมร หรือชนที่พูดภาษาเขมรทั้งหมด อาจจะแบ่งออกเป็นหลายรัฐได้ในสมัยเดียวกัน ทั้งนี้ตามอำนาจรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองว่าจะมีกี่ศูนย์, มีผู้เผด็จอำนาจกี่พวก.

ชาวเขมร หรือชนที่พูดภาษาเขมรบางส่วน อาจจะมิได้อยู่ในรัฐที่ชาวเขมรเป็นชนชั้นปกครอง, หากอาจจะรวมอยู่ในรัฐที่ชนชาติอื่นเป็นชั้นปกครองก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงที่ว่าอาณาบริเวณนั้นตกอยู่ภายในอำนาจรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของใคร. เช่นชนชาวเขมรในจังหวัดศรีสะเกษ, สุรินทร์, บุรีรัมย์ และบางส่วนของปราจีนบุรีในประเทศไทยบัดนี้

รัฐเขมร หรือรัฐที่ชนชาติเขมรเป็นชนชั้นปกครองในแต่ละยุคสมัย ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีพลเมืองเป็นเขมรทั้งหมด และความเป็นจริงก็ไม่เคยเป็นเช่นนั้น, หากอาจประกอบด้วยชนเชื้อชาติเขมรเพียงส่วนเดียว ส่วนที่เหลืออาจจะเป็นชนเชื้อชาติอื่นหลายเชื้อชาติ มากบ้าง น้อยบ้าง. เช่นประเทศเขมรปัจจุบันนี้ มีพวกกุย หรือกวย (ไทยเรียกส่วย) เป็นชนพื้นเมืองอยู่เป็นจำนวนมากในทางทิศเหนือ บริเวณเหนือเมืองกำปงธมขึ้นไปตามแม่น้ำสตึงแสน คือเขตมลูไพร ดังนี้เป็นต้น.

ข้อเท็จจริงทั้งสามข้อนี้จะต้องจดจำเป็นหลักให้มั่นคงในการศึกษาประวัติศาสตร์

ประเทศลาวปัจจุบันนี้มีพลเมืองราวหนึ่งล้านห้าแสนถึงสองล้านคน. ในจำนวนนี้หนึ่งในสามเป็นชนชาติข่า หรือที่เรียกว่าลาวเทิง (คือลาวบน) อีกหนึ่งในสามเป็นชนชาติแม้ว หรือที่เรียกว่าลาวสูง. ชนชาติลาวจริงๆ มีอยู่ราวหนึ่งในสามหรือกว่าเล็กน้อยเท่านั้น. เรื่องของชนในรัฐจึงเป็นเรื่องของประชาชาติ ไม่ใช่ชนชาติ. ชนชาติหาได้มีบทบาทกำหนดขอบเขตของรัฐไม่. ปัจจุบันนี้ชนเชื้อชาติลาวที่มีอยู่ในภาคอีสานของประเทศไทยนั้น มีถึงแปดล้านคน มากกว่าที่อยู่ในประเทศลาวเองเสียอีก. ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องรัฐกับชนชาติหรือเชื้อชาติ จึงมักจะเอียงกระเท่ไปศึกษาเรื่องราวของเชื้อชาติ, ศึกษาประวัติของเชื้อชาติ แทนการศึกษาประวัติศาสตร์แห่งสังคมในรัฐ. ผลก็คือ พากันบ้าคลั่งเชื้อชาติ (Racialism) หรือเป็นนักลัทธิคลั่งชาติ (Chauvinism) คิดแต่จะไปรวบเอาชนเชื้อชาติเดียวกันภายนอกประเทศ มารวมกับประเทศตน หรือคิดแยกชนเชื้อชาติตนไปรวมกับประเทศอื่นที่มีเชื้อชาติเดียวกัน ให้วุ่นวายไปหมด.

ถ้าคนไทยก็คิดจะรวบเอารัฐชานซึ่งเป็นพวกไทใหญ่ และไตลื้อสิบสองปันนา ตลอดไปจนถึงผู้ไทในเวียดนามเหนือ; ชาวลาวก็คิดจะรวบเอาภาคอีสานของไทย; ชาวเขมรก็คิดจะรวบเอาดินแดนฟากใต้แม่น้ำมูล; ชาวพม่าก็คิดจะรวบเอาดินแดนกะเหรี่ยงทางด้านตะวันตก; ชาวมลายูก็คิดจะรวบเอาดินแดนสี่จังหวัดภาคใต้ของไทย และหลายๆ ประเทศก็เป็นไปในทำนองนี้, โลกจะเป็นอย่างไร? ก็ต้องทำสงครามเพราะลัทธิคลั่งชาติกันเรื่อยไป และก็ไม่มีวันจะตกลงอะไรกันได้.

นี่แหละคือผลร้ายของการเรียนประวัติศาสตร์โดยวิธีผิดๆ ที่พวกฝรั่งถ่ายทอดทิ้งไว้ให้ นั่นคือแทนที่จะเรียนประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่อยู่ภายในการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเดียวกัน ซึ่งสังคมนี้ประกอบขึ้นด้วยหลายชนชาติอันมีไทย ลาว เขมร มลายู ฯลฯ เรากลับถูกพวกฝรั่งจูงให้ไปมุ่งเรียนแต่ประวัติศาสตร์ของชนเชื้อชาติไท-ไต, ไปสืบสาวราวเรื่องเรียนเรื่องของสังคมน่านเจ้าในเขตยูนนานของประเทศจีนเสียเป็นคุ้งเป็นแคว แล้วมาเริ่มศึกษาประวัติของชนชาติไทยในแหลมทองเอาเมื่อสมัยสุโขทัยและศรีอยุธยา.

การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกต้องจะต้องเริ่มกันใหม่ นั่นคือศึกษาประวัติความเป็นมาแห่งสังคมบนผืนดินอันเป็นเอกภาพผืนนี้ ศึกษาย้อนขึ้นไปตามลำดับ จากอยุธยาไปสู่ละโว้, พิมาย, สุโขทัย, โยนก, ศรีธรรมราช, ไชยาหรือศรีวิชัย, จานาศปุระ, ทวารวดี, พนมหรือฝูหนาน ฯลฯ ศึกษาให้ทราบว่าสังคมบนเอกภาพแห่งดินแดนนี้ พัฒนาขึ้นมาจากลักษณะใด มาสู่ลักษณะใด มีประวัติการณ์ของชนชาติใดมาบ้างบนผืนแผ่นดินนี้ และทั้งหมดนี้รวมกันคือประวัติศาสตร์ของประชาชาติไทย อันประกอบด้วยหลายชนชาติ และผ่านยุคสมัยมาหลายสมัย บางสมัยก็ชนชาตินี้เป็นชนชั้นปกครอง บางสมัยก็ชนชาตินั้นเป็นชนชั้นปกครอง; ส่วนชนชาติใดอพยพมาจากที่ไหนนั้น เป็นเพียงส่วนประกอบทางตำนานอันเป็นข้อปลีกย่อย เป็นเรื่องของมานุษยชาติวิทยาเท่านั้น.

การศึกษาด้วยทรรศนะเช่นนี้เท่านั้นจึงจะได้รับความรู้ที่เป็นประวัติศาสตร์แห่งสังคมในรัฐเอกภาพหนึ่งๆ ที่แท้จริง และจะไม่ก่อให้เกิดลัทธิคลั่งชาติหรือหลงเชื้อชาติ อันนำมาซึ่งความเพ้อฝันแผ่อิทธิพล หรือน้อยเนื้อต่ำใจคิดแบ่งแยกเอกภาพ. ทั้งนี้เพราะประวัติศาสตร์ที่ศึกษาในแนวนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ของสังคมที่ทุกชนชาติเป็นเจ้าของ, เป็นผู้เคยมีบทบาทมาแล้ว, และก็ยังจะมีบทบาทต่อไปอีกในอนาคตภายในเอกภาพแห่งดินแดนนี้. ทุกชนชาติได้เคยมีหุ้นส่วนในดินแดนที่เป็นเอกภาพนี้มาแล้วแต่โบราณ, มีหุ้นส่วนในการสร้างสังคมนี้มาแล้วแต่โบราณ และก็ยังจะมีอยู่ต่อไป.

เอกภาพของรัฐหรือสังคมเกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจและความไหวตัวทางการเมือง มิได้เกิดขึ้นจากหรือกำหนดขึ้นจากเชื้อชาติ นี่เป็นความจริงที่เราจะต้องปลูกฝัง. เรื่องที่คิดจะกำหนดเอกภาพของรัฐหรือสังคมขึ้นจากเชื้อชาตินั้น เป็นเรื่องของความเพ้อฝันที่ไม่อาจเป็นจริง และไม่เคยเป็นความจริงมาก่อนเลยในอดีต. ความคิดอย่างนั้นขัดต่อความจริงของชีวิต เพราะชีวิตในสังคมรวมศูนย์กันด้วยเศรษฐกิจและการเมือง มิใช่ด้วยเชื้อชาติ. ความคิดอย่างนั้นรังแต่จะก่อให้เกิดความหายนะแก่มนุษยชาติทุกเชื้อชาติ ดังเช่นลัทธินาซีของฮิตเลอร์เคยก่อมาแล้วในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น.

เอกภาพของดินแดนและสังคมที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้ เป็นผลิตผลสืบทอดลงมาจากการไหวตัว, ต่อสู้, สร้างสรรค์ ของชนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ที่นี่. ชนเหล่านี้ได้ไหวตัว ต่อสู้ สร้างสรรค์ มาตั้งแต่ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ คือมีประวัติการณ์มาตั้งแต่สมัยหินดังที่เราได้พบร่องรอยอยู่มากมายหลายแห่งทั่วประเทศ. แล้วทำไมเราจึงจะไปตัดทุกอย่างทุกชนชาติทิ้งหมด, เรียนกันแต่ประวัติการณ์ของชนชาติเดียว;

แทนที่เราจะเริ่มเรียนประวัติการณ์ของสังคมบนผืนแผ่นดินนี้ตั้งแต่สมัยหิน, เรากลับหันหลังให้เสียหมดสิ้น แล้วเดินทางออกนอกประเทศไปเรียนประวัติการณ์ของสังคมอื่น เป็นต้นว่าน่านเจ้ากันเป็นวรรคเป็นเวร? นี่เป็นประวัติของเชื้อชาติ, ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของสังคมซึ่งหล่อหลอมขึ้นที่นี่ พัฒนาขึ้นที่นี่ มีชนชาตินั้นผ่านเข้ามา แล้วก็ผ่านออกไป อยู่ที่นี่.

สังคมไทยและผืนแผ่นดินไทยจะต้องเป็นเอกภาพ ข้าพเจ้าคัดค้านความคลั่งเชื้อชาติที่คิดแบ่งแยกเอกภาพนี้ทุกชนิด. แต่ขณะเดียวกันเอกภาพของสังคมไทยนี้ และผืนแผ่นดินนี้ ก็ประกอบขึ้นจากหลายภูมิภาคและหลายชนชาติ ข้าพเจ้าคัดค้านการผูกขาดเรียนประวัติของชนเชื้อชาติเดียว, ภูมิภาคเดียว ตัดประวัติของชนชาติอื่นและภูมิภาคอื่นทิ้งไป.

รัฐประชาชาติกำหนดขึ้นด้วยเอกภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และเอกภาพแห่งดินแดน, มีเอกภาพทางภาษา กล่าวคือมีภาษาที่มีลักษณะทั่วไป ภาษาหนึ่งเป็นภาษากลาง, และมีเอกภาพทางวัฒนธรรม คือมีวัฒนธรรมที่มีลักษณะทั่วไปกระแสหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมหลักของรัฐ. องค์ประกอบของรัฐประชาชาติทั้งห้านี้จะละทิ้งเสียประการใดประการหนึ่งมิได้. ฉะนั้นในขณะที่ศึกษาเรื่องราวของแต่ละชนชาติ ซึ่งมีภาษาเป็นของตนเอง และมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเป็นของตนเองนั้น ก็จะเลยเถิดจนลืมเอกภาพทั้งห้าประการ, เกิดลัทธิคลั่งชาติหรือคลั่งท้องถิ่น (Provincialism) ขึ้น ไม่ได้เป็นอันขาด!

นี่คือทรรศนะและแนวทางศึกษาประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้ายึดถือว่าถูกต้องที่สุด.

ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมจึงจะต้องพยายามปฏิเสธบทบาทของชนชาติที่พูดภาษาเขมรในดินแดนผืนนี้, แล้วพยายามพิสูจน์ให้ร่องรอยต่างๆ ของเขมรโบราณกลายเป็นชนชาติอื่นหรือแม้กระทั่งเป็นไทย. ข้าพเจ้าเห็นว่าเราต้องยอมรับรู้บทบาทอันมีจริงและยาวนานของเขา. แต่ขณะเดียวกันชนชาติเขมรหรือชนชาติที่พูดภาษาเขมรบนผืนแผ่นดินนี้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเขมรแห่งนครธมเสมอไป, ทั้งนี้เพราะชนชาติมิได้กำหนดขอบเขตรัฐ. บางครั้งชนชาติที่พูดภาษาเขมรที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำมูลแห่งอีสาน อาจเป็นรัฐอิสระที่มีอำนาจพอๆ กับนครธม บางครั้งก็อาจจะยิ่งใหญ่กว่ารัฐเขมรแห่งนครธมและได้เป็นผู้ครองนครธม บางครั้งก็อาจตกเป็นเมืองขึ้นของรัฐเขมรแห่งนครธม...สภาพเช่นนี้มีขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์. รัฐในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ก็ดี ในภาคอีสานของไทยบัดนี้ก็ดี ล้วนเคยมีรัฐเขมร หรือรัฐที่ชนชั้นปกครองเป็นชนชาติเขมร และใช้ภาษาเขมรเป็นภาษากลางมาแล้วทั้งนั้น รัฐเหล่านั้นบางรัฐก็ใหญ่ บางรัฐก็เล็ก แต่ละรัฐเป็นอิสระแก่กันในบางระยะ รวมกันในบางระยะ แต่ที่สำคั?ก็คือเคยมีระยะอันยาวนานหลายร้อยปีที่รัฐเหล่านี้เป็นสังคมต่างหากที่อยู่นอกเขตอำนาจของรัฐ สังคมทาสแห่งเขมรนครธม, เจริ?รุ่งเรืองเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัฐเขมรแห่งนครธม.

ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงคัดค้านความเห็นของพวกนักประวัติศาสตร์ล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสแต่ก่อน ที่พยายามอุปโลกน์ให้ดินแดนไทยปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตกอยู่ใต้อำนาจรัฐเขมรนครธมมาโดยตลอดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ถึง ๑๘.

ฉะนั้นเมื่อพูดถึงรัฐเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหรืออีสาน ข้าพเจ้าจึงมิได้หมายความว่ารัฐเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเขมรนครธมเสมอไป หากหมายถึงรัฐที่มีชนชาติเขมรเป็นชนชั้นปกครอง, ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษากลาง; ชนชาติภายในรัฐไม่จำเป็นต้องเป็นชนชาวเขมรทั้งหมดและพูดภาษาเขมรทั้งหมด อาจจะมีส่วนที่เป็นละว้า เป็นมอ? เป็นไทย เป็นจาม เป็นมลายู เป็นกุยหรือกวย. ศิลปวัฒนธรรมของรัฐนี้มีอิทธิพลแบบเขมร แต่ก็มิใช่แบบเขมรนครธม หากหล่อหลอมเป็นเอกภาพขึ้นจากศิลปวัฒนธรรมของเขมร มอ? ชวา-มลายู เช่นที่เรียกว่าศิลปะสกุลลพบุรีเป็นอาทิ. ศิลปะสกุลนี้มีเค้าเขมรเป็นแกน แต่องค์ประกอบทั้งหมดเป็นอิสระจากเขมร, หากเป็นผลิตผลของสังคมแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้เองโดยเฉพาะ.

รัฐดังกล่าวนี้มีทั้งระยะที่เป็นอิสระ มีทั้งระยะที่ได้เป็นใหญ่เหนือนครธม และก็มีทั้งระยะที่ตกเป็นเมืองขึ้นของนครธม, มีการถ่ายเทแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างเขมรนครธมกับเขมรที่นี่. รัฐเหล่านี้มีชื่อของตนเป็นอิสระ เป็นต้นว่ารัฐละโว้ รัฐจานาศปุระ รัฐมหีธรปุระ ฯลฯ

รัฐที่มีชนชาติเขมรเป็นชนชั้นปกครองเหล่านี้หาใช่สิ่งนิรันดรไม่ ก่อนยุคของเขาบริเวณนี้ก็เป็นเขตสังคมของรัฐมอหรือชนชาติที่พูดภาษามอ, ก่อนหน้ามอ?ขึ้นไปก็เป็นรัฐละว้า. ในระยะที่รัฐเขมรเหล่านี้เกิดขึ้นนั้น, เฉพาะในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยานี้ รัฐเขมรก็มิได้เป็นสิ่งจีรัง; บางระยะก็หายไป มีรัฐที่ชนชาติชวา-มลายูเป็นชนชั้นปกครองเกิดขึ้นแทนที่; บางระยะก็ถูกชนชาติไทยช่วงชิงอำนาจรัฐไปได้ ปรากฏเป็นรัฐไทยขึ้น. เรื่องของรัฐเขมรในระยะหลังจึงเป็นเรื่องบางระยะ บางสมัย ไม่ใช่ตลอดกาล.

ความผสมผสานคลุกเคล้าระหว่างมอ?เดิมแห่งทวารวดี กับเขมรแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ละโว้) กับชวา-มลายูที่แผ่อิทธิพลขึ้นมาเป็นครั้งคราว รวมทั้งไทยซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่สำคั?ส่วนหนึ่งของสังคม ได้ก่อให้เกิดศิลปะสกุลช่างผสมขึ้นใหม่ คืออู่ทอง. ศิลปะสกุลช่างนี้เป็นศิลปะของดินแดนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นของชนชาติต่างๆ ในบริเวณนี้ใช้และสร้างร่วมกัน; ไม่ว่าเขมรจะชิงอำนาจชนชั้นปกครองไปได้และตั้งรัฐเขมรขึ้น รัฐนั้นก็คงใช้ศิลปะนี้ และถ่ายเทศิลปะนี้กับเขมรนครธมและเขมรทางที่ราบสูงภาคอีสาน; ไม่ว่าชนชาติไทยจะชิงอำนาจการปกครองมาได้และตั้งรัฐไทยขึ้น รัฐนั้นก็คงใช้ศิลปะนี้ และถ่ายเทศิลปะนี้แลกเปลี่ยนกับรัฐไทยทางเหนือ เช่น เชลียง (ศรีสัชนาลัย) เป็นต้น.