พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอาชีวกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ว่า

“ประโยชน์ ย่อมผ่านพ้นคนโง่ ผู้มัวคอยฤกษ์ยามอยู่

ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์

ดวงดาวทั้งหลาย จักทำอะไรได้”

(ข้อความตอนหนึ่งจาก ... พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก นักขัตตชาดก)

คำว่า ฤกษ์ ในสังคมไทยที่เข้าใจกัน คือ เวลาที่ดี ที่เหมาะสม ในการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วจะมีความเจริญเกิดขึ้น นี่คือที่เข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว สามารถพิจารณาได้ว่า เหตุที่ทำให้มีความเจริญนั้น จะต้องเป็นธรรมฝ่ายที่เป็นกุศล เท่านั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นฤกษ์ดี(ตามที่เข้าใจกัน) แต่ทำความชั่ว ประกอบอกุศลกรรม ย่อมจะไม่เป็นเหตุแห่งความเจริญ เลย เพราะอกุศล ให้ผลเป็นทุกข์ จะให้ผลเป็นความสุขความเจริญ ไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นฤกษ์ไม่ดี (ตามที่เข้าใจกัน เช่น วันอุบาทว์ เป็นต้น) แต่ได้กระทำความดี ประกอบกุศลกรรมประการต่าง ๆ ในวันนั้น ก็ย่อมจะเป็นเหตุแห่งความเจริญได้ อย่างแน่นอน เพราะสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ กุศล เป็น กุศล และให้ผลเป็นสุขเท่านั้น

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ฤกษ์หรือเวลาที่ดี ที่เหมาะสมนั้น ก็คือ ขณะที่เป็นกุศล เพราะกุศลนำมาซึ่งความเจริญ ตรงตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ที่ว่า เมื่อเหตุดี(คือเป็นกุศล) ผล ย่อมดี ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนก็ตาม แต่ถ้าเป็นเหตุไม่ดี(คือ เป็นอกุศล) แล้ว ผลก็ไม่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนเช่นกัน

และที่สำคัญ คือ ทำกุศล(ความดี) ไม่ต้องรอเวลา ไม่ต้องคอยฤกษ์ยาม ถ้าเราทำกุศลตอนไหน ตอนนั้นก็เป็นฤกษ์ดี ยามดี ถ้ากุศลจิตเกิด ถึงแม้ว่าจะไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ยังดีกว่าที่จิตเป็นอกุศล แต่ถ้ามีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ยิ่งดี ทุกคนสามารถอบรมเจริญปัญญาได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เพราะเหตุว่า ความเข้าใจพระธรรม(ปัญญา) เป็นสาระสำคัญที่สุดในชีวิต .

ที่มา : ข้อความจาก อ้ายมักม่วน