ประวัติศาสตร์มีปัญหา ใครมีปัญหากับประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มีบาดแผล ใครเยียวยาได้่

การเสวนาระดมหาแนวทางศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ สถาบันมานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน โดยกระจายเวทีไปหลายจังหวัด ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม มีสาระน่าสนใจจึงสรุปมาให้ได้อ่านกันดังต่อไปนี้

รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานเปิดเวทีระดมความเห็น ลองตั้งโจทย์ 3 ข้อให้ช่วยแสดงความคิดเห็น ดังนี้

1.ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ค้นคว้าศึกษากันมา มีดีข้อ ข้อด้อยอย่างไร

2.ประวัติศาสตร์ชาติที่ใช้กันมาประสบสำเร็จอย่างไร มีปัญหาอย่างไร

3.ทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ชาติ ควรสัมพันธ์กันอย่างไร ควรจะสรุปบทเรียน แนวโน้มทิศทางประวัติศาสตร์กันอย่างไร

ซึ่งในรอบหลายศวรรษ คนไทยได้อ่านได้เรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยในสกุลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต่อมา ประมาณ 20 ปีเศษเห็นจะได้ เริ่มมีคำถามถึงแง่มุมอื่น ๆ ต่อประวัติศาสตร์ชาติ สำหรับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ระยะแรก เมื่อพูดถึงภาคใต้ ก็นึกถึงนครศรีธรรมราช ภาคเหนือ ก็เชียงใหม่ และภาคอีสานก็นึกถึงอุบลราชธานี จึงเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบมีศูนย์กลาง ไม่เห็นภาพรวม การศึกษาประวัติศาสตร์ชาติ และท้องถิ่น ความมุ่งหมายดี แต่น่าจะขาดอะไรบ้าง


จงปลดปล่อยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ศ.ดร.อานัน กาญจนพันธุ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ทัศนะต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เริ่มต้นจากสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบมีศูนย์กลางและเชื่อมโยงกับส่วนกลาง ส่วนการศึกษาประวัติศาสตร์นอกสถาบัน

ในภาคเหนือ เช่น คุณสงวน โชติสุขรัตน์ จะเล่นด้านตำนาน และ คุณบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ใช้วิธีเดินทางไปเก็บข้อมูลตามพรมแดนและในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ว่าไทยสัมพันธ์กับใคร อย่างไร เหมือนและต่างอย่างไร

พวกหนึ่ง ชอบรวบรวมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นบันทึกไว้ให้ดูดี เช่น ผีล้านนาไทยโบราณ พิมพ์ในงานศพ เป็นเจ้าเมืองน่าน ไปรับราชการเชียงราย ได้เห็นพิธีไหว้ผี จึงบันทึกไว้ พบเล่มเดียวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ อาจมีพระ หรือลูกหลานเจ้านายเก่า เก็บไว้ก็ได้

ประวัติศาสตร์นอกสถาบัน มีลักษณะเด่นน่าสนใจ คือ ไม่มองเชิงวิชาการ แต่สร้างแรงบันดาลใจ เกี่ยวข้องกับชีวิตของท้องถิ่นอย่างไร ไม่ค่อยเน้นช่วงเวลา ไม่ค่อยเกี่ยวกับใครมีอำนาจการเมือง ถ้ามีคงเป็นอำนาจประเพณีที่เหนือพวกเขา เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ระดับย่อย

ที่ผ่านมากฎเกณฑ์ไม่มีบันทึกไว้ ต้องผ่านการเล่าหรือมุขปาถะ ภาคเหนือมี “เกี้ยก้อม” เรื่องเล่าสั้นเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ แต่ไม่บอกชัด ๆ

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีหลายรูปแบบ ไม่ยึดรูปแบบเดียว เป็นการสร้างพื้นที่ของตัวเอง บอกว่าเป็นใคร เช่น ล้านนา ศึกษาแล้วก็อธิบายได้ไม่หมด เรื่องผี ตำบลใกล้ ๆ กันยังคิดไม่เหมือนกัน

คำเมือง ต่างพื้นที่ก็ต่างสำเนียง ซึ่งเข้าหลักความหลากหลาย ดังนั้น ประวัติศาสตร์ชาติจะทึกทักเหมารวมไม่ได้ เช่น การศึกษาเผ่าอบอริจิน หรือ อินเดียแดง ก็มีความแตกต่างกันในแต่ละเผ่า

อาจารย์อานันท์ กล่าวอีกว่า ชื่อบ้านก็บ่งบอกลักษณะ บอกลักษณะนิเวศน์ บอกบุคลิกที่ต้องเรียนรู้ รวมถึงนิทานภาษาชาวบ้าน ทั้งหมดคือเรื่องการแสดงความเป็นมนุษย์ ๆ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดั้งเดิมอยู่ในพิธีกรรมประเพณี วัฒนธรรม

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชิงประวัติศาสตร์สังคมน่าสนใจ เช่น ศึกษาชีวิตเสือดำ เสือใบ ซึ่งฝรั่งทำเรื่องลักษระนี้ เป็นประวัติศาสตร์ของคนไม่มีอำนาจ ของคนเล็กคนน้อยซึ่งต้องถกเถียงกับประวัติศาสตร์ชาติ

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มีหลายแนว หลายชุด หลายวิธี มองพัฒนาการเปลี่ยนแปลง ต้องควบคู่กันไปหลาย ๆ แนว ถ้าเราเข้าใจ มีพัฒนาการ รู้ท้องถิ่นนั้น เขาเปลี่ยนเองได้ กำหนดชะตาเองได้ แต่ทุกวันนี้ลอกกันแหลก เพราะไม่มีอะไรของตัวเอง ทำให้ไม่รู้จักตัวเอง

สำหรับท้องถิ่นง่ายมาก กำหนดตัวเองได้ เพียงแต่สนับสนุน พูดกันมากขึ้น แสดงตัวอย่างให้เห็นหน่อย เพราะเรื่องใกล้ตัว ใคร ๆ ก็ทำได้

"ไม่มีใครบอกว่าเชี่ยวชาญ ขึ้นอยู่ทำได้หรือเปล่า ไม่ต้องมีทฤษฎี เรียกว่า ปลดปล่อยสิ่งที่ถูกควบคุม กดทับไว้ ไม่รู้พลังจะไปทางไหน แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้ตัวเองเสียหาย"

อาจารย์อานันท์ กล่าวเชิงสรุปว่า ประวัติศาสตร์ในสถาบันเป็นทัศนะของคนนอก มองในแง่วิชาการ คือ ทำให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีเหตุผลรองรับ ซึ่งคำว่า ชาติ เป็นหน่วยสมมติ ทำให้เป็นเหมือนกันหมด แต่ท้องถิ่นต้องการกำหนดตัวเอง ต้องการสมมติด้วยตัวเอง


ประวัติศาสตร์ด้านเชิดชู และอดสู
รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แบ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคร่าวๆ หลัง พ.ศ.2475 เริ่มเกิดวีรกรรมท่านหญิงโม ชาวบางระจัน ของหลวงวิจิตรวาทการ เป็นท้องถิ่นที่ผูกกับส่วนกลาง ส่วนตัวเชื่อมกับชีวิตสาธารณะ

ต่อมา ประมาณหลัง พ.ศ.2520 มีการสร้างวีรชนท้องถิ่น เช่น ชื่นชมเจ้าดารารัศมี เชียงใหม่ แต่เรื่องเดียวกันนี้ถูกตีความในแง่ขมขื่นด้วย เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์บาดแผลของปัตตานี

หลัง พ.ศ.2535 เป็นต้นมา มีการสร้างภาพชนบทดีงามเป็นฐานคิดทั่ว ๆ ไป แต่ทุนนิยม กับรัฐ และอิทธิพลตะวันตกมาทำลาย มีเอ็นจีโอเป็นตัวนำกระแสเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น บรรจุในหลักสูตร

กระแสนี้กลายเป็นกระแสนำ และขวางกั้นภาพรวม ทำให้คนสนใจแต่เพียงบางเสี้ยว เช่น ตลาดสามชุก ไม่ดูเรื่องการต่อสู้ของคนสามชุก การมองว่าชนบทดีงาม ด้านหนึ่งเป็นการ "แช่แข็ง" ชนบท ซึ่งอ่านงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยุคแรก ชนบทดีจังเลย ยุคสองทุนนิยมเข้ามา แต่ทุกครั้งสังคมเปลี่ยนไป คนต้องการจะอธิบาย ไม่ว่าเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ไม่ว่า คนจีนในเชียงใหม่ จีนที่แม่สอด ไม่เหมือนกัน หรือญวนสกลนคร ที่ประกาศตัวเองมากขึ้น

ที่ผ่านมา เป็นงานเสี้ยว ๆ เยอะมาก แต่ไม่เชื่อมกับชุมชน บางหมู่บ้านเอาประวัติศาสตร์มาวาง ก็ไม่เวิร์ก เหมือนพิพิธภัณฑ์ ไม่เชื่อมกับชีวิต ซึ่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับชุมชน ตาย เกิด และรอการเปลี่ยนแปลง

การปรับตัวผูกกับช่วงเวลา ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกมีความทรงจำกับอดีตของตนเอง แต่ละคาบเวลาหรือพีเรียด จะรู้สึกร่วมในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต้องมีแกนกลาง แล้วนำกลับไปสู่ชาวบ้าน โรงเรียน วัด ให้เข้าถึงความเป็นส่วนใหญ่ร่วมผลักดันอดีตของตัวเอง อาจ 3, 5 หรือ 8 หมู่บ้านร่วมกัน แล้วแต่ประเด็นในพื้นที่

ช่วง พ.ศ.2520 เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ขยายในทุกราชภัฏ แต่ปัจจุบันเราต้องทำให้เห็นซึ่งกันและกัน และเข้าใจก่อน จะเกลียดกันก็ช่าง พีเรียดเวลา ไม่เหมือนกัน เหนือ ล่าง เปลี่ยนไม่เหมือนกัน คนรวยภาคเหนือจะซื้อที่ดินชาวบ้านมากขึ้นๆ การแบ่งพีเรียด ทำให้คนท้องถิ่นรู้ตอนนี้โคตรกู

"ที่ผ่านมาในรอบ 5 ถึง 10 ปีที่ผ่านมา หานักประวัติศาสตร์ทำงานเจ๋ง ๆ แทบไม่มี" อาจารย์ อรรถจักร์ ระบุ

ไปให้ถึงประวัติศาสตร์ประชาชาติ

ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ กระแทกก่อนว่า ทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยมและประวัติชาตินิยม มีปัญหาทั้งคู่ ท้องถิ่นก็เลียนแบบประวัติศาสตร์ชาติ เช่น สร้างมหาบุรุษชาติ อย่างไรก็ตาม ไม่ปฏิเสธว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพลังต่อสู้ เช่น ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม

ดังนั้น ต้องก้าวให้พ้น ไม่มองคนอย่างจำกัด ไม่ฟังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตายตัว ศึกษาประวัติศาสตร์ข้ามชาติ ข้ามกลุ่มชน ข้ามไปหลายท้องถิ่น แต่จะมีปัญหาอีก ที่ผ่านมา กลุ่มคนไทยก็เป็นหน่วยสมมติว่าคนไทยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ไม่เป็นอย่างนั้น

แต่มีลักษณะร่วมมากกว่าต่างด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน ไม่ควรทำให้ภาพกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากเกินไป และก้าวให้พ้นมหาบุรุษท้องถิ่น ก็ต้องไปหาคนทั่ว ๆ ไป

จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนประวัติศาสตร์กัมพูชา พูดมานานแล้ว กลุ่มต่าง ๆ อยู่ในรัฐเดียวกัน หรือ เจมส์ ซี สก็อต ซึ่งศึกษาคนในที่สูงกับพื้นราบก็พบว่าไป ๆ มา ๆ ตั้งนานแล้ว และไม่กลมเกลียวเสมอไป

ไปให้พ้น คือ ไม่จำกัดจินตนาการ ด้วยการยืมมุมมองอื่น ๆ มาศึกษาอดีตผู้คน เช่น วิธีการทางโบราณคดี เช่นอาจารย์ศรีศักร์ วัลลิโภดม หรือ สุจิตต์ วงศ์เทศ ถ้าหยิบของชิ้นหนึ่งขึ้นมา มันบอกความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปได้หมด การพบเครื่องสำริดในเวียดนามเหนือ ที่ทำจากทองแดงกับดีบุก ที่นั่นมันไม่มี ดังนั้น กลองมโหระทึกจึงมาจากที่อื่น
เน้นไปอ่านเอกสารโบราณบันทึกโดยคนยุคนั้น เป็นมุมมองในอดีต เช่น โบราณคดีชาวอเมริกันอ่านเอกสารอักษรจีนโบราณเวียดนามได้ พบว่าคนบันทึกเป็นนักบวชขงจื้อ วิจารณ์เจ้า ศาสนจักรวิจารณ์อาณาจักรได้ สะท้อนจารีตวัฒนธรรมที่ซ้อนกันอยู่ในเวียดนามโบราณ เรื่องจารีตขงจื้อซึ่งมาหลังจารีตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่หญิงเป็นใหญ่
"ผมสนับสนุนปลายทางการศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อมนุษยชาติ เพื่อปลดปล่อย ไม่ว่าท้องถิ่น หรือชาติ หรือเกินกว่านั้น ควรพูดประวัติศาสตร์บาดแผลให้มากขึ้น พูดถึงความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ การกระทำต่อกัน ต้องใส่ไปด้วย" อาจารย์ยุกติ กล่าว

ด้านอาจารย์โชคชัย วงษ์ตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นำเสนองานบรรยายประกอบมัลติมีเดีย สรุปสาระสำคัญ คือ กลับไม่เห็นเป็นปัญหากับการศึกษาประวัติศาสตร์ ที่มีวีรชนเป็นแกนเรื่อง

อีกทั้งเสนอให้ควรส่งเสริมในครอบครัวศึกษาประวัติของตัวเองด้วย เพื่อจุดประกายความสนใจจากวงศ์วานหว่านเครือตัวเองเชื่อมโยงไปสู่ประวัติศาสตร์สาธารณะ กลุ่มมุสลิมมีความภาคภูมิใจถ้าไล่บรรพบุรุษได้ถึง 7 รุ่น

ส่วน อาจารย์อานันท์ นาคคง จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ยกประเด็น นักประวัติศาสตร์ที่ไปช่วยสร้างประวัติศาสตร์ในรูปแบบศิลปะมายาขั้นสูงสุด คือ ภาพยนตร์นอกจาก บทละคร เพลงรักชาติ แล้ว ภาพยนตร์จัดว่าแรงที่สุด ยั่วยุผู้บริโภค ทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ในมายาได้จับใจที่สุด

ในฐานะนักมนุษยวิทยาดนตรี เขาสนใจการสะกดจิตหมู่ด้วยมิวสิควิดีโอ เช่น ขอความสุขกับคืนมา ใช้นักร้องป็อบ 301 คน ร้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 19 พฤษภา 53 เหมือนเยียวยาประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ให้มารักกัน เดือนที่แล้วนักร้องชุดนี้กับอีกชุดร่วมร้อง ทูเก็ธเตอร์ วี แคน 999 คน

"ปีก่อน 6 โมงเย็นร้องเพลงชาติไทยออกทีวี แล้วปีหน้าจะเจออะไรสะกดจิตอีก” นักดนตรีไทย กล่าวในที่สุด

สำหรับผู้เขียนร่วมเสวนาด้วย ก็เห็นด้วยกับทัศนะส่วนใหญ่ และแสดงความเห็นไว้พอสรุปได้ว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นยังอยู่ในรูปบทเพลง บทกวี งานประพันธ์ และภาพยนตร์ด้วย เช่น มนต์รักแม่น้ำมูล ยังประทับใจทั้งเพลงและภาพยนตร์

ซึ่งสะท้อนการหาอยู่หากิน และรักโลภโกรธหลงที่มีอยู่ในชีวิตจริง ส่วนตัวก็เขียนบทกวีเกี่ยวกับแม่น้ำมูล สะท้อนชีวิตการหาอยู่หากินและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนแม่น้ำมูลในยุคนี้ไว้ด้วย

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยังอยู่ในร่องรอยของคำถิ่น ซึ่งศึกษาไว้นับร้อยหมู่บ้านในอีสานตอนล่าง มีบริบทเชื่อมโยงกับหลายกิจกรรมสะท้อนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ใช่อธิบายแค่แปลความหมายเท่านั้น ยกตัวอย่าง อำเภอสีคิ้ว, บ้านสีมุม ต.สีมุม อ.เมือง นครราชสีมา ใครสามารถหาคำแปลให้ตรง ๆ ได้ (รวมทั้งอยู่ในนามสกุลที่มี คำว่า จันทึก, จันทิก)

ได้อ่านงานวิจัยเรื่องสีคิ้ว บอกเชื่อมโยงไปถึงชาวโยนกภาคเหนือ กับจากโยนกล้านช้าง ถูกต้อนมาต้นรัตนโกสินทร์มาเลี้ยงวัวต่างของราชสำนัก แต่คำเรียกดั้งเดิมของคนอยู่มาก่อนนั้นเรียกอะไรไม่รู้ แต่เมื่อคนจีนรุ่นทางรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 และถัดมาไม่เกิน 50 ปี(สันนิษฐานส่วนตัว) กลายเป็น"พญาสี่เขี้ยว" ได้อย่างไร

เช่นกัน ทำไมกองทัพของพระอนุชาของไชยเชษฐาธิราช แห่งเวียงจันทน์ นำไพร่พลมาพักใกล้สระสี่เหลี่ยม สี่มุมขนาดใหญ่ ตรงนั้นกลายเป็น ต.พลรั้ง และต.พลกรัง(เป็นนามสกุลหนึ่ง) แล้วกลายเป็น "สีมุม” ได้อย่างไร หรือเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมารองรับ เพราะหลักฐานเอกสารไปไม่ถึง และตีความไม่แตก ดังนั้น ต้องใส่ใจกับคำถิ่นดั้งเดิมก่อนกลุ่มลาวเวียงจันท์ (ยวน)โยนก หรือกลุ่มไทโคราช จะครองความเป็นส่วนมาก

และนี่ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ข้ามพรมแดน ประวัติศาสตร์ประชาชาติได้

ประเด็นกระแสภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ขอยืนยันว่า มีอยู่จริง แต่ฝ่ายรัฐนั่นแหละสร้างของปลอมหรือพอกล้อมแกล้มผุดจนเกร่อแล้วกลบ ภูมิปัญญาถิ่นจริง ปราชญ์แท้ไป

ประเด็นควบกัน "แช่แข็งชนบท" ผู้เขียนไม่เชื่อใครจะ"แช่แข็ง"ชนบทได้ โดยเฉพาะปัจจุบัน แม้แต่เอ็นจีโอที่ใกล้ชิดชาวบ้านที่สุด ลำพังแค่เอ็นจีโอ ต้านทุนนิยมไม่อยู่แน่นอน ส่วนชนบทจะเป็นอย่างไร ถ้าเอ็นจีโอ ไม่สนองต่อประสงค์ชุมชน ก็จะโดนถีบออกมา


ผู้เขียนสรุปเบื้องต้นว่า ประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จะเป็นปัญหาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลงานออกมาแล้วจะถูกใครหยิบไปตีความ และสังเคราะห์ไปอีกขั้นด้วยวาระของกลุ่มตัวเอง และก่อปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก ถกเถียงกันสนุกต่อไปอีก!


ขอขอบคุณ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
[/COLOR]