บ้านเพิ่งซื้อจมน้ำท่วม ทางโครงการไม่ช่วย ไม่รับผิดชอบเลย เรียกร้องอะไรได้บ้าง

เรื่องเล่า จากลูกบ้านหลายคน ที่มีบ้านอยู่แถบปทุมธานี เพิ่งซื้อมาแล้ว บ้านก็โดน น้ำท่วม ซึ่งร้องเรียนผ่านทาง MThai ดังนี้


บ้านเพิ่งซื้อน้ำท่วม เรียกร้องอะไรได้บ้าง

“บ้านพวกเราในหมู่บ้านแห่งนี้ ราคาหลายล้าน ที่ราคาสูงสุดสิบกว่าล้าน เพิ่งเซ็นรับมอบบ้านมาได้ 10 กว่าวัน น้ำก็เข้าท่วมบ้าน เร็วมาก แป๊ปเดียวน้ำถึงเข่า เห็นแล้วเข่าอ่อนเลย เฟอร์นิเจอร์ ก็เพิ่งซื้อเข้าบ้านมายังไม่ได้แกะพลาสติกเลยก็จม น้ำท่วม กลิ่นเหม็นซะแล้ว

ปัญหาคือ ทางโครงการเขาบอกว่า น้ำจะอ้อมไปท่วมอีกด้านนึงไม่ท่วมหมู่บ้านเราหรอก แล้วก็ได้ตั้งคันกระสอบไว้แล้วประมาณ 40 ซ.ม. แต่สรุปแล้วน้ำไม่ได้อ้อมไปไหนก็เข้ามาตรงๆเลยหลังหมู่บ้าน แล้วก็สูงกว่าระดับกั้นด้วยกระสอบทราย คือมาสูงเมตรกว่าๆล้นเข้ามา

พอเจอ น้ำท่วม แล้ว ทางโครงการก็เฉย ไม่ได้ช่วยติดต่อประสานงาน หารถหาเรือ มาให้เหมือนหมู่บ้านอื่นๆในละแวกนั้น แล้วก็ไม่ได้ช่วยหาแหล่งอพยพพักพิงเหมือนหมู่บ้านอื่นๆที่เขาช่วยให้ย้ายไปพักในคอนโดที่เป็นเครือเดียวกันได้

ไม่พอค่ะ มารับทราบทีหลังว่าบ้านก่อด้วยอิฐมวลเบา ที่หลายคนบอกว่าอมน้ำได้และมีโอกาสเปื่อยกร่อน แล้ว น้ำท่วม นานเกือบเดือนแล้วใครจะกล้ากลับเข้าไปอยู่คะ”


บ้านเพิ่งซื้อน้ำท่วม เรียกร้องอะไรได้บ้าง

ใครพอจะหาคำตอบได้บ้างว่า

1. จะฟ้องร้องโครงการนี้อย่างไรได้บ้าง เรื่องหลอกกันว่าน้ำไม่ท่วม แล้วมันท่วมแบบนี้ทำให้เราเก็บข้าวของกันไม่ทัน

2. ถ้าไม่เซ็นมอบบ้านกันไปก่อนหน้านั้น ป่านนี้ จะเรียกร้องเงินคืน หรือยกเลิกการซื้อบ้านนั้นได้หรือเปล่า

3. ทำไมหมู่บ้านอื่น ส่งเรือ รถสูงมาช่วย หรือแม้กระทั่งหาคอนโดให้อพยพ มันควรจะเป็นความรับผิดชอบของโครงการไม่ใช่เหรอ

4. การสร้างด้วยอิฐมวลเบาแบบนี้ บ้านจะถล่มมั้ย เรียกร้องอะไรจากการสร้างแบบนี้ได้บ้าง

—————————————————————————————————-

ต้องขอออกตัวว่า ทางทีมงาน Mthai ได้หาข้อมูลไปเจอกระทู้ pantip.com ที่ใกล้เคียงกัน และถามไถ่ทนายความเพิ่มเติมให้ครับ


ตอบข้อ 1 ถ้าเรื่องน้ำท่วม ถือเป็นภัยธรรมชาติซึ่งโครงการบ้านส่วนใหญ่จะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย และเมื่อมีการรับโอนกรรมสิทธิ์กันแล้ว บ้านจะถือว่าอยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของผู้ซื้อเอง ทีนี้ เรื่องของการบิดเบือนข้อมูลน้ำท่วมว่าจะไม่ท่วมแล้วท่วม ที่ปรึกษากฎหมายบอกมาว่า ผู้ซื้อคงจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันได้ยาก แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียด และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของแต่ละโครงการ เพราะถ้าจะฟ้องกันจริงๆ สงสัยต้องฟ้องตั้งแต่ “นายก” ที่ประกาศบางพื้นที่ว่า “เอาอยู่” แล้วดันท่วม ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้ ฟ้องร้องไป อาจจะไปจบที่ว่ามันเป็นประเด็น “ภัยธรรมชาติ คาดการณ์ได้ลำบาก”

แต่ถ้าบ้านของคุณได้ทำประกันภัยเอาไว้ (ส่วนใหญ่จะเป็นอัคคีภัย) และเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมถึงภัยธรรมชาติ รวมถึงอุทกภัยด้วย คุณสามารถเคลมค่าเสียหายจากบริษัทที่รับประกันได้ ดังนั้นลองไปตรวจสอบเงื่อนไขในกรมธรรม์ของคุณดูนะครับว่าครอบคุมเรื่องน้ำท่วม หรือไม่

ตอบข้อ 2 ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการรับโอนกรรมสิทธิ์กัน บ้านก็ยังถือว่าเป็นการรับผิดชอบของโครงการ ดังนั้น ถ้าน้ำท่วมเสียก่อน ทางโครงการก็มีหน้าที่ต้องซ่อมแซมปรับปรุงให้กลับมาอยู่ในเงื่อนไข และข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขาย เพราะฉะนั้น หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ผ่านไปแล้ว หากโครงการของคุณอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม กรุณาตรวจสอบบ้านของคุณให้ดีก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง และควรอ่าน และทำความเข้าใจเงื่อนไข และข้อตกลงในสัญญาให้ละเอียด ถี่ถ้วน เพื่อจะได้รับรู้ว่าเรามีสิทธิอะไรบ้างตามที่ระบุไว้สัญญา

ตอบข้อ 3 ความช่วยเหลือ ในยามเกิดภัยพิบัติ คงจะเป็นเรื่องน้ำใจ ที่ทางโครงการมีให้แก่ผู้ซื้อ หรือลูกค้าของเขา ซึ่งเมื่อโครงการอื่นมี โครงการนี้ไม่มี ก็ดูเสียชื่อเสียง แต่หากเขาไม่ทำ ก็คงฟ้องร้องไม่ได้ (เพราะไม่มีสัญญาข้อไหนแน่ๆ ที่ระบุ ว่าถ้าเกิดเหตุภัยพิบัติแล้ว เขาต้องมีเรือ มีที่พักสำรองให้)

ตอบข้อ 4 แม้จะเป็นอิฐมวลเบา ถ้าฉาบด้วยปูนที่ป้องกันน้ำได้น้ำก็คงไม่ซึมเข้าไปได้ครับ แต่เรื่องบ้านถล่มคงไม่เกิดขึ้น เพราะว่า โครงสร้างหลักของบ้านส่วนใหญ่คือ เหล็กและคอนกรีตซึ่งทนน้ำ แต่ผนังกำแพงที่เป็นอิฐมวลเบาอาจจะไม่ทนน้ำ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่น้ำท่วมนานๆอาจจะทำให้กำแพงบวม ร่อน พังได้ง่ายครับ



หมายเหตุ : หากท่านใดประสงค์ที่หาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูล ได้ที่ Website ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)



ขอขอบคุณฝ่ายกฎหมายของ Mthai ที่ช่วยให้คำตอบ และขอบคุณเนื้อหาอ้างอิงที่ใกล้เคียงกัน

จาก http://www.pantip.com/cafe/home/topic/R11249063/R11249063.html

ภาพประกอบจาก http://www.squarecowmovers.com, http://www.thaiengineering.com