โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน รุนแรง(SARS)

(Severe Acute Respiratory Syndrome, SARS)

โรคติดต่อ
หลายคนคงมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร จะมีวิธีการดูแลป้องกันตนเองและส่วนรวมได้อย่างไรบ้าง ลองมาทำความเข้าใจกันตรงนี้เลยค่ะ

เมื่อเดือนมีนาคม 2546 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนประเทศต่าง ๆ ให้ระมัดระวังโรคนี้ไว้ เพราะเริ่มส่อเค้าว่าจะเป็นภัยคุกคามในระดับโลกเลยทีเดียว เนื่องจากมีการแพร่ระบาดไปในหลายประเทศอย่างรวดเร็ว

โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Severe Acute Respiratory Syndrome หรืออาจเรียกกันอย่างย่อ ๆ ว่า โรคซาร์ (SARS) และที่เรียกขานกันในบ้านเราว่า ไข้หวัดมรณะนั่นเอง ชื่อหลังนี้แม้จะฟังดูน่าสะพรึงกลัวมากเกินไปบ้าง แต่ก็คงมีส่วนดีตรงที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวที่จะช่วยกันป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาแพร่ระบาดจนก่อความเสียหายกับประเทศของเราได้ ซึ่งหมายความว่าเราจะสามารถทำให้ประเทศไทยปลอดภัยสำหรับชาวต่างประเทศทุกคนที่เดินทางเข้ามาจำนวนหลายพันคนในแต่ละวันด้วย

แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่อาจสรุปผลการตรวจสอบหาเชื้อสาเหตุได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ก็มีหลักฐานที่ค่อนข้างหนักแน่นแล้วว่า เชื้อสาเหตุน่าจะเป็นเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกว่า โคโรนาไวรัส เจ้าเชื้อไวรัสโคโรนานี้ที่จริงก็พบว่าทำให้เกิดโรคทั้งในมนุษย์และในสัตว์มานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการระบาดในคราวนี้จะมีลักษณะเปลี่ยนไปจากปกติ ซึ่งเชื่อว่าในเร็ว ๆ นี้ คงจะทราบถึงแหล่งที่มาของเชื้อนี้ได้ เนื่องจากได้มีการศึกษาระบาดวิทยาของโรคหรือการสอบสวนหาที่มาและการแพร่เชื้อนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว

โรคติดต่อ

ธรรมชาติของเชื้อไวรัสตัวนี้ ก็เหมือนกันกับไวรัสที่ก่อโรคตัวอื่น ๆ คือจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่ในร่างกายของคนหรือสัตว์ และเมื่อใดที่ต้องออกมาอยู่ภายนอกในสิ่งแวดล้อมก็จะถูกทำลายลงได้โดยง่าย ทั่ว ๆ ไปก็จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่กลางแสงแดด ความร้อนและรังสียูวีในแสงแดดก็จะทำลายเชื้อให้หมดฤทธิ์ไปในระยะเวลาสั้น ๆ ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง นอกจากนั้นแล้ว น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ใช้ในบ้านหรือสำนักงานทั่ว ๆ ไป ตัวอย่างเช่น น้ำยาฟอกขาวเจือจาง 1 % (โซเดียม ไฮโปคลอไรท์ 1%) แอลกอฮอล์ หรือ น้ำยาไลโซล ก็สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

เชื้อโคโรนาไวรัสแพร่ติดต่อได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เนื่องจากมีเชื้อแพร่ออกมากับน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และการติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิดก็พบด้วยว่า เชื้อนี้น่าจะแพร่ติดต่อทางการหายใจได้ด้วย นอกจากนั้นเชื้ออาจแพร่โดยทางอ้อมผ่านมากับข้าวของเครื่องใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ ช้อนอาหาร หลอดดูดน้ำ และที่พึงระวังเป็นอย่างอย่างยิ่งคือ การแพร่เชื้อจากมือเข้าสู่ปากและจมูก ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของโรคเหล่านี้ จะเป็นที่มาของวิธีการป้องกันโรคนี้ด้วย

ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไม่ได้แสดงอาการป่วยทุกรายไป มีผู้รับเชื้อบางส่วนเท่านั้นที่จะแสดงอาการป่วยออกมา ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งระยะฟักตัวของโรค (หมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จนกระทั่งปรากฏอาการออกมา) จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 7 วัน โดยทั่วไปมักไม่เกิน 10 วัน อาการเริ่มแรกจะคล้าย ๆ กับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอีกหลายโรค เช่น โรคไข้หวัดที่พบได้บ่อยมาก แต่อาการไม่รุนแรง (ภาษาทางการแพทย์ จึงเรียกโรคนี้ว่า ไข้หวัดธรรมดา) อีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยเหมือนกันคือโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากนั้นแล้วอาการของโรคนี้ในขั้นต้นก็จะคล้ายกันกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ อีกหลายโรคด้วย

โรคติดต่อ
คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่หรือประเทศที่มีโรคซาร์ระบาดอยู่ในขณะนี้ ควรจะต้องระมัดระวังสังเกตตนเองเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ว่า มีอาการเจ็บป่วยที่อาจเข้าข่ายเป็นโรคนี้หรือไม่ อาการสำคัญที่เป็นสัญญานเตือนภัยให้ต้องรีบไปพบแพทย์ก็คือ อยู่ ๆ เกิดมีไข้สูงขึ้นมาทันทีทันใด (ถ้าตรวจวัดไข้ดู จะพบไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) และอาจมีอาการต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง คือ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดศีรษะมาก หนาวสั่น หลังจากนั้นประมาณ 3 -7 วัน ก็จะเริ่มมีอาการเจ็บคอ ไอแห้ง ๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จะมีอาการทุเลาขึ้นอย่างช้า ๆ หลังจาก 7 วันไปแล้ว และหายเป็นปกติ บางรายอาจอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากมีอาการแทรกซ้อนที่ปอด ทำให้เกิดปอดบวมอักเสบ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหายใจลำบาก หรือหอบด้วย ซึ่งจะพบว่าผู้ป่วยอาจมีอาการทรุดหนักลงในช่วง 10 - 14 วัน และอาจเสียชีวิตได้ ในช่วงวันที่ 17 -18 ของการป่วย
โรคติดต่อ
การป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงไม่ไปในประเทศที่เป็นเขตโรคระบาด จนกว่าจะสามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้ และการหลีกเลี่ยงไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการของโรค สิ่งที่ควรปฏิบัติอีกประการหนึ่ง คือการรักษาสุขภาพและอนามัยส่วนบุคคลให้ดีอยู่เสมอ จะช่วยให้มีภูมิต้านทานที่ดีที่จะคอยทำหน้าที่ป้องกันโรคได้ทุกขณะ ดังนั้นจึงควรรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนในแต่ละวัน โดยเฉพาะ ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อน ไม่หักโหมงานติดต่อกันนานเกินไป รวมทั้งการหลีกเลี่ยงเหล้า บุหรี่ และความเครียด ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะปลอดภัยไปกว่าครึ่งแล้ว ที่จะช่วยได้อีกสิ่งหนึ่งคือสุขนิสัยในเรื่องการล้างมือ เรื่องนี้มีการศึกษายืนยันว่าช่วยป้องกันการติดเชื้อได้มากมาย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจและโรคทางเดินอาหาร ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยแล้วก็ควรใช้หน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดปากปิดจมูก จะช่วยไม่ให้แพร่เชื้อไปยังญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงได้ดีอีกด้วยค่ะ
ข้อมูล กองควบคุมโรคติดต่อ และ ขอบคุณพื้นที่ บ้านมหา.คอม:*-:*-