อย่าพึ่งเบื่อนะครับพี่น้อง พอดีช่วงนี้ว่าง ก็เลยหาข้อกฎหมายมาให้อ่านกัน

กรมสรรพากรเขาเคยออกมาเตือนแล้วว่า ใครก็ตามที่ได้รับรางวัลจากการชิงโชค ต้องนำรายได้มาคำนวณภาษีเงินได้ที่คนไทยต้องจ่ายภายในเดือนมีนาคม ของทุกปี หลายคนอาจจะสงสัยว่า เงินหรือของรางวัลที่ได้จากการชิงโชคต้องเสียภาษีอีกรึแม่นาง? และจ่ายกันแค่ไหน อย่างไร? ...ผมจะเล่าให้ฟังกันครับ...

เบื้องต้น...หักภาษี ณ ที่จ่าย 5 %...

เมื่อท่านได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันหรือชิงโชคเป็นสิ่งของ เงิน ทองคำ ฯลฯ อันดับแรกจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 5 จากมูลค่าของสิ่งของที่ได้รับเป็นเงินรางวัล เช่น สมมุติว่าท่านได้ของรางวัลมูลค่า 1,000,000 บาท ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นจำนวน 50,000 บาทครับ

ยื่นแบบคำนวณภาษี...ภายใน มี.ค. ปีถัดไป …

หลังจากที่ท่านได้สิ่งของหรือเงินรางวัลมาครอบครองแล้ว ใช่ว่าทุกอย่างจะจบแค่นั้นนะครับ เพราะผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเงินสดหรือของรางวัลจากการประกวดแข่งขันหรือชิงโชคนั้น รางวัลที่ได้รับถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นท่านผู้โชคดีมีหน้าที่ต้องนำมูลค่าของรางวัลที่ได้รับไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ด้วยแบบฯ ภ.ง.ด.90 รวมกับเงินได้ประเภทอื่น ๆ (ถ้ามี) ภายในเดือน มี.ค. ของปีถัดไปครับ

รางวัลมูลค่าสูง...ต้องเสียภาษีเยอะ

เงินรางวัลหรือมูลค่าของรางวัลจะถูกนำไปรวมเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษี ซึ่งถ้าเอาไปรวมแล้วไม่มากมายอะไร รัฐก็จะไม่เข้าไปยุ่งวุ่นวายกับท่านเท่าไรนัก ซึ่งเมื่อยื่นแบบแสดงภาษีไปแล้วกรมสรรพากรก็จะพิจารณาว่าต้องเสียภาษีเพิ่มเติมหรือได้รับเงินคืนจากภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่ายซึ่งหากคำนวณสุทธิโดยหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว

- หากมีเงินได้ทั้งปีโดยหักค่าลดหย่อนแล้วมีเงินได้สุทธิ 1-150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษีครับ
- หากมีเงินได้ทั้งปีโดยหักค่าลดหย่อนแล้วมีเงินได้สุทธิ 150,001 - 500,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 10 ของเงินได้
- หากมีเงินได้ทั้งปีโดยหักค่าลดหย่อนแล้วมีเงินได้สุทธิ 500,001 - 1,000,000 บาทเสียภาษีร้อยละ 20 ของเงินได้
- หากมีเงินได้ทั้งปีโดยหักค่าลดหย่อนแล้วมีเงินได้สุทธิ 1,000,001 - 4,000,000 บาท เสียภาษีร้อยละ 30 ของเงินได้
- หากมีเงินได้ทั้งปีโดยหักค่าลดหย่อนแล้วมีเงินได้สุทธิ 4,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษีร้อยละ 37 ของเงินได้

เด็กที่ได้รางวัลเยอะๆ...ก็ต้องจ่าย…

กรณีที่เป็นข่าวขึ้นมาเมื่อปีก่อนนั้น ก็คงไม่พ้นเรื่องของน้องปลายฟ้าอายุไม่กี่ขวบที่ส่งไปรษณียบัตรไปตั้งชื่อหมีแพนด้าที่จังหวัดเชียงใหม่จนได้รางวัลเป็นมูลค่า 1,600,000 ต้องไปเสียภาษีเป็นเงิน 270,000 บาท แบบนี้แหละครับที่พูดกันตรงๆ ว่า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เมื่อมีเงินได้ก็ต้องเสียภาษีทั้งนั้นโดยหากผู้โชคดีเป็นผู้เยาว์ ให้ถือเป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ต้องทำหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษีแทน

ระวังมิจฉาชีพ...หลอกว่าได้รางวัล

บ้านเรามีการแจกโชคชิงรางวัลกันอยู่เสมอ ก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพที่หลายครั้งได้ยินข่าวว่ามักจะโทรศัพท์ไปยังเหยื่อบอกว่าเหยื่อเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลเป็นอะไรก็ว่าไป แต่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้โอนเงินเข้า ATM หรือบัญชีธนาคารในนามส่วนตัว อย่าไปเชื่อนะครับ เพราะหากท่านได้รับการแจกรางวัลจริงๆ ทางบริษัทจะติดต่อมาเองครับพร้อมกับบอกให้ท่านนำเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คมาชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% ตามมูลค่าของรางวัลที่คุณได้รับ และจำไว้เลยครับว่า บริษัทจะให้ท่านนำมาชำระ ณ สถานที่ที่คุณได้รับรางวัลเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และหากบางบริษัทจำเป็นต้องให้ชำระเงินภาษีของรางวัล ก็จะต้องเป็นการชำระยังบริษัทไม่ใช่ในนามส่วนตัว และพร้อมกันนั้นต้องทำการส่งมอบทรัพย์สินหรือเงินรางวัลแล้วเท่านั้นครับ บนโลกใบนี้ไม่มีอะไรเป็นของฟรีอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างต้องจ่ายทั้งนั้น จะมากหรือน้อยหรือจ่ายด้วยอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ

สมาชิกท่านใดที่ได้ภรรยามาโดยไม่ได้เสียเงินค่าสินสอดทองหมั้น ถือว่าเป็นผู้ได้รับรางวัลเช่นเดียวกัน (สำหรับมูลค่าไม่ต้องพูดถึง) ท่านจะต้องเสียภาษีให้กับพ่อตาแม่ยาย เบื้องต้น 5% หลังจากนั้นต้องจ่ายภาษีรายเดือนให้อีกตลอดชีวิต.. 555..เอิ้ก!?!?..