+++++++++++++++++++++++++++++++++++

เขมรป่าดง ทุ่งกุลาร้องไห้ และเจ้าพ่อศรีนครเตา ตอนที่ 3 เมืองรัตนบุรี 2

+++++++++++++++++++++++++++++++++++




เขมรป่าดง ทุ่งกุลาร้องไห้ และเจ้าพ่อศรีนครเตา ตอนที่ 3 เมืองรัตนบุรี 2


ในการทำศึกสงครามกันแต่ละครั้ง ที่ร่วมรบกับพระเจ้ากรุงธนบุรี
บรรพบุรุษชาวสุรินทร์ ขุขันธ์ สังขะ และรัตนบุรี ได้มีโอกาสรับใช้ชาติด้วยความกล้าหาญ และในการรบครั้งหลังได้มีการกวาดต้อนพลเมืองมาบ้าง บางพวกอพยพมาเอง โอกาสนี้มี


ลาว ปราย เขมร ทางแขวงเมืองเสียมราฐ สะโตง กำพงสวาย บรรทายเพชร อพยพมาอยู่ที่เมืองปะทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) บ้างก็แยกไปตั้งเมือง ที่เมือง สังขะ และบ้างก็ไปอยู่บ้านกำพงสวาย (แขวงอำเภอท่าตูม)

ในจำนวนผู้ที่อพยพมานั้น มีบุตรีเจ้าเมืองบรรทายเพชร ชื่อนางสาวดาม มาตไว พระยาสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) เจ้าเมืองประทายสมันต์ จึงจัดพิธีแต่งงานกับหลานชายชื่อ สุ่น


เมื่อชาวเขมรได้ทราบข่าวว่านางสาวดาม มาตไว เป็นหลานสะใภ้ของพระยาสุรินทร์ภักดี จึงพากันอพยพเข้ามาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้พลเมืองบ้านประทายสมันต์ที่เดิมเคยเป็นชาวกวยก็มีชาวเขมรเข้ามาปะปน เนื่องจากชาวเขมรมีความเจริญมากกว่า ความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมก็ค่อยแปรเปลี่ยนไปสู่เขมรมากขึ้น


ด้วยความดีความชอบที่หัวหน้าหมู่บ้านและชายฉกรรจ์จากบ้านประทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะ ไปร่วมรบในสงครามเมืองเวียงจันทน์และเมืองเขมร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงปูนบำเหน็จความชอบให้กับเจ้าเมืองและเลื่อนบรรดาศักดิ์


พ.ศ.2329 สมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลง “ประทายสมันต์” เป็น “เมืองสุรินทร์” และให้เจ้าเมืองพิมาย แบ่งจากเขตใต้เมืองรัตนบุรี ดังนี้


- ทิศเหนือ จด สุวรรณภูมิ
- ทิศใต้ จด หล้าหินภูดิน
- ทิศตะวันออก จด ห้วยทับทัน
- ทิศตะวันตก จด เมืองขมิ้น


เมืองรัตนบุรี มีความชอบได้ตามเสด็จไปทำสงครามหลายแห่งจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระศรีนครเตาท้าวเธอ โปรดเกล้าฯให้ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตามลำดับ

พระศรีนครเตา ท้าวเธอปกครองบ้านเมืองด้วยความเรียบร้อยร่มเย็น เจ้าเมืองไม่อยู่ อยู่แต่ภรรยาเป็นคนรับหนังสือ ปรากฏว่ามีคนไปหาจากเมืองหลวงให้ภรรยาเจ้าเมืองรัตนบุรีเปิดหนังสือลับ ความทราบความถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงได้ลงโทษประหารชีวิต พระศรีนครเตาท้าวเธอ เจ้าเมืองรัตนบุรี


ปี พ.ศ. 2356 ท้าวโอ๊ะ หลานของเจ้าแก้วมงคลแห่งเมืองท่า (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสุวรรณภูมิ) ได้กล่าวโทษเจ้าเมืองสุวรรณภูมิว่า เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ เบียดเบียนข่มเหงประชาชน และบังคับเอาลูกเมียคนอื่น มาเป็นภรรยาของตน ราชสำนักกรุงเทพฯ ได้สอบสวนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ (ท้าวอ่อน) พบว่ามีความผิดจริง จึงโปรดฯ ให้ถอดออกจากเจ้าเมือง และทรงตั้งให้ท้าวโอ๊ะ เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระรัตนวงศา”


อันเป็นปีเดียวกันที่ฝ่ายเจ้าเมืองศรีนครเตา (คนต่อมา) ได้นำความกราบบังคมทูลโดยมีใบบอกไปยังราชสำนักด้วย จึงโปรดฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองศรีนครเตาเป็น “เมืองรัตนบุรี” และนามเจ้าเมืองจาก “พระศรีนครเตา” เป็น พระศรีนครชัย” ซึ่งหมายถึงชัยชนะ


อาจเป็นไปได้ว่า พระศรีนครชัยเป็นเชื้อสายของเจ้าแก้วมงคล คือเป็นลูกหลานของเจ้าแก้วมงคลอีกท่านหนึ่ง เจ้าเมืองรัตนบุรี ที่ได้เปลี่ยนนามเป็น “พระศรีนครชัย” มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้าแก้วมงคลในชั้นหลาน ชาวลาวในเขตเมืองสุวรรณภูมิจึงได้เข้ามาอยู่ในเขตเมืองรัตนบุรีมากขึ้น สังคมและวัฒนธรรมของชาวเมือง รัตนบุรีจึงไหลบ่า เข้าสู่เมือง รัตนบุรีและกลายเป็นเมืองของชาวไทยลาว




+++++++++++++++++++++++++++++++