''ลพบุรีเป็นจังหวัดที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยสมเด็จพระ ราเมศวร และพระนารายณ์ ก็ครองราชย์ที่ลพบุรี เรามักคิดว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2231 ลพบุรีถูกทิ้งร้าง ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสไม่มีอีกแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ ศิลปะ สถาปัตยกรรม จะบ่งชี้ถึงอายุยุคสมัย"

คำบอกเล่าของ ผศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทำหน้าที่ไกด์ในทัวร์ศิลปวัฒนธรรม "เที่ยวเมืองนารายณ์ แวร์ซายส์แห่งสยาม" จัดขึ้นโดย "มติชนอคาเดมี"

ทริปประวัติศาสตร์ฉบับรู้ลึก รู้จริง เที่ยวนี้กว่า 30 ชีวิตร่วมเดินทางสู่ดินแดนพระนารายณ์

ผศ.ดร.ปรีดี ปูพื้นประวัติศาสตร์แบบเข้มข้น แล้วยังแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแต่ละท้องที่ได้มันหยด

หมุดหมายแรกคือ "วัดไลย์" วัดเก่าริมน้ำบางขาม ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง มีลายปูนปั้นสมัยอยุธยาตอนปลายที่สมบูรณ์ให้ได้ชื่นชม ใกล้วัดมีเขาสมอคอน ทำให้หวนคิดถึงวรรณคดีดัง "รามเกียรติ์"

พระวิหารวัดไลย์ ที่ลักษณะพิเศษโครงสร้างสถาปัตยกรรมเจาะช่องผนังแทนหน้าต่าง ชี้ให้เห็นว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ด้านในมีพุทธลักษณ์พิเศษ มีซุ้มเรือนแก้วงดงามไม่แพ้พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก

หน้าพระวิหารมีปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทศชาติชาดก มุมล่างด้านขวาปั้นเรื่องพระเตมีย์ใบ้ ถัดมาพระมหาชนก ในพระวิหารปั้นรูปเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกผนวช

ส่วนหลังพระวิหารเชื่อว่าเป็นการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บ้างว่าเป็นตอนพระมโหสถชาดก ซึ่งยังหาข้อยุติไม่ได้ ก่อนเดินทางไปต่อที่วัดตองปุ มีโบราณสถานและวัตถุมากมาย วัดโรมันนิกาย ที่เชื่อว่ามีมาก่อนสมัยพระนารายณ์

ผศ.ดร.ปรีดีเล่าว่า สมเด็จพระนารายณ์ครองราชย์ 32 ปี มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วังนารายณ์สมัยนั้นเรียกว่า พระราชนิเวศเมืองละโว้ หรือพระราชวังเมืองละโว้

ทำไมเปรียบวังนารายณ์เป็นแวร์ซายส์แห่งสยาม ผศ.ดร.ปรีดีให้เหตุผลว่า เนื่องจากการรักษาฐานอำนาจ เช่นเดียวกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ใช้แวร์ซายส์เป็นกองกำลังในการรักษาอำนาจสุริยกษัตริย์ ซึ่งมีความเหมือนและความต่าง แต่ที่นี่เทียบกับแวร์ซายส์ไม่ได้

แต่ด้วยพระราชนิยมความกลัวเหมือนกัน พระนารายณ์จึงสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นในปี พ.ศ.2208 โดยบาทหลวงชาวอิตาลี ที่มีบทบาทในการเขียนแผนผังลพบุรี มีคูน้ำ คันดิน และป้อมปราการแบบที่สยามไม่เคยทำมาก่อน ส่วนอาคารต่างๆ เป็นฝีมือผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร หรือกลุ่มมุสลิม โดยได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซีย

ขณะที่เอกสารต่างชาติระบุตรงกันว่า สมเด็จพระนารายณ์เกรงเกิดปฏิวัติซ้อน ทำให้ตัดสินใจหาสถานที่ไกลจากศูนย์อำนาจ และทรงประทับพระราชนิเวศแห่งนี้ราว 8 เดือน เสด็จฯ กลับอยุธยาเฉพาะรับราชทูตและฤดูน้ำหลากเพื่อประกอบพระราชพิธี

ในพื้นที่ 41 ไร่ ผศ.ดร.ปรีดีพาไปรู้จัก 12 ท้องพระคลัง หนึ่งในนั้นคือ พระคลังศุภลักษณ์ ที่ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ โปรดให้นำผ้าเหลือจากพระคลังแห่งนี้ไปแจกให้ขุนนาง และพระราชทานวิสุงคามสีมาให้วังกลายเป็นวัด และบวชขุนนางเป็นพระสงฆ์ในวัง

"การปฏิวัติเกิดขึ้นที่ตึกพระเจ้าเหา พระเพทราชารวมขุนนางไปที่ตึกแล้วประกาศต่อเสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในการยึดอำนาจว่า ใครบ้างที่ไม่เข้ากับเรา ขณะที่ด้านนอกมีขุนนางเอาดาบพาดที่หน้าต่าง"

ก่อนเกิดปฏิวัติพระนารายณ์ทรงล่วงรู้ และมีพระราชปุจฉาถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แสดงว่ามีข่าวลือต่างๆ รวมถึงการปล่อยเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้น

เล่าถึงตรงนี้ก็สาวเท้าต่อไปยังเขตพระราชฐานชั้นใน พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ ที่ซึ่งเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2231 แต่ไม่ทราบได้ว่าเสด็จสวรรคต โดยพระโรคปกติ หรือผิดธรรมชาติ และพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมของพระองค์ก็ถูกสำเร็จโทษบริเวณกำแพงแก้วแห่งนี้

ถัดมาคือพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ท้องพระโรงที่พระนารายณ์เสด็จต้อนรับคณะราชทูต ไม่ไกลกันคือพระที่นั่งจันทรพิศาลสถาน

พลาดชมไม่ได้คือ ธรรมาสน์โกษาปาน จากวัดเสาธงทอง และธรรมาสน์ที่ได้จากวัดมณีชลขัณฑ์ รวมถึงตู้พระธรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย มีแผ่นไม้ประดับระหว่างขาตู้สลัก มีรูปฝรั่งผมยาวประกอบลาย

ผศ.ดร.ปรีดีเล่าต่อว่า 32 ปีในการครองราชย์ของสมเด็จพระนารายณ์ ชาวต่างชาติที่ทรงอิทธิพล คือ "พระยาวิชาเยนทร์" หรือ "คอนสแตนติน ฟอลคอน" หากเปิดประตูวังนี้มีถนนเชื่อมต่อตรงจากบ้านถึงวัง คือถนนฝรั่งเศส ยาว 200 เมตร สร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 300 ปีความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ปลูกต้นมะกอกไว้ 2 ข้างทาง

เมื่อย้อนไป 300 ปีที่แล้วก็มี "ถนนสยาม" เกิดขึ้นเช่นกันที่ท่าเรือ เมืองแบรสต์ ที่ซึ่งคณะราชทูตสยาม "ออกพระวิสุทธสุนทร" ขึ้นบกที่ฝรั่งเศส ถนนเส้นนี้เป็นย่านธุรกิจ มีร้านแบรนด์เนมตลอด 2 ข้างทาง

ระหว่างทางผ่านวัดเสาธงทอง สมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้ค้นหา 2 ตึก คือตึกปิจู และตึกคชสาร มารู้ทีหลังว่าคือตึกโครสาท เป็นเมืองที่ราชทูตเปอร์เซียเข้ามาพัก แต่คนไทยเรียกไม่ได้ จึงเรียกว่า "คชสาร" ข้างๆ เป็นตึกปิจู ที่บาทหลวงฝรั่งเศสมาพัก

บ้านของฟอลคอนแบ่งเป็น 3 ส่วน มีประตูแยกกัน ซ้ายสุดเป็นที่พักโอ่โถง มีน้ำพุ บ่อเลี้ยงปลา มีน้ำประปาใช้ มีห้องใต้ถุน ตอนขุดค้นพบก้นไวน์จำนวนมากที่สั่งมาเลี้ยงรับรองคณะราชทูต ทั้งยังเป็นบ้านตึกสูงเกิน 1 ชั้น มีห้องใต้หลังคา

ในสมัยนั้นไม่มีใครทำ เพราะสูงเกินพระเจ้าแผ่นดินประทับ และเป็นบ้านเดี่ยวของขุนนางต่างชาติ ที่มีการสร้างโบสถ์ สถาปัตยกรรมยุคเรอเนสซองส์ ผสาน ศิลปะไทย

อาจารย์ปรีดีชี้ว่า ด้วยอำนาจและอิทธิพลการวางตนเป็นอีกหนึ่งชนวนเหตุทำให้พระยาวิชา เยนทร์ถูกจับ เมื่อเข้ามาประตูวังราว 20 ก้าวก็พบกับพระเพทราชา และถูกจับไปสำเร็จโทษที่วัดซากนอกเมือง คือการจบชีวิตในวังนารายณ์ แห่งนี้ ในวันที่ 5 มิ.ย.2231 ก่อนสมเด็จ พระนารายณ์สวรรคตราว 1 เดือน

ส่งผลให้ฝรั่งเศสระส่ำระสาย ครั้นวันที่ 2 พ.ย.2231 กองทหารฝรั่งเศสออกจากสยาม ส่วนภรรยาม่ายของฟอลคอน นางดอญ่า มารี กีมาร์ หรือท้าวทองกีบม้า มีชีวิตที่ผกผันในสยาม

จนถึงทุกวันนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่านางคิดค้นตำรับขนมต่างๆ เพราะโปรตุเกสเข้ามาก่อนที่เธอเกิดร่วม 150 ปี

หลังสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงบูรณะ ถอนความเป็นวัดด้วยการผาติกรรม ทำให้สถานะความเป็นวังกลับคืนมา

หน้า 5

ขอบคุณ
ข่าวสดออนไลน์
คุณปฤษณา กองวงค์