บ้านจะอยู่เย็น
โดย...พระมหาวีรพล วีรญาโณ



บ้านจะอยู่เย็น


หลายครั้งที่ไปบรรยาย พระอาจารย์มักจะตั้งคำถามว่าบ้านจะอยู่เย็นจะทำอย่างไร?

ญาติโยมหลายท่านก็ตอบกันไปต่างๆ นานา เช่นว่า บ้านจะอยู่เย็นต้องปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น มีความรักให้กัน มีความสามัคคีกันมีความห่วงใยกันบ้าง จนถึงบางคนก็ตอบว่าหากจะให้บ้านอยู่เย็นต้องติดแอร์ครับพระอาจารย์ (โยมตอบอย่างนี้อาตมาคงต้องลามรณภาพก่อนล่ะ)

บ้านจะอยู่เย็นนั้น คนโบราณสอนเราท่านทั้งหลายว่า หากอยากให้บ้านอยู่เย็น ตอนเย็นต้องอยู่บ้าน

พ่อแม่ลูกทานข้าวเย็นกันอย่างพร้อมหน้า เพราะความพร้อมเพรียงของครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทานขาวด้วยกันทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน พูดคุยถามไถ่ปัญญาในแต่ละวันด้วยกันพ่อก็คอยปลอบ แม่ก็เสริมกำลังใจ

ลูกก็เป็นแรงใจให้พ่อแม่ชื่นใจ บ้านก็จะอยู่เย็น เป็นบ้านที่มีสุข เพราะสมาชิกในบ้านต่างมีสุข เข้าใจกัน

แต่บางครั้งไปบรรยายในโรงเรียน ก็เคยตั้งคำถามกับลูกๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาว่า ในบ้านที่จะมีความสุขต้องอยู่กับใครบ้าง

ลูกนักเรียนคนหนึ่ง ก็ตอบว่า "ในบ้านต้องมีพ่อ มีแม่ มีหนู ครอบครัวต้องอยู่ในบ้านหมดเลยและต้องมีน้องด้วยแต่บางครั้งพ่อแม่ก็ไม่รักกัน หนูเคยเห็นแม่ร้องไห้ บางทีพ่อกับแม่ก็โกรธกัน ทะเลาะกัน ถ้าหนูเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน หนูก็อยากร้องไห้ ถ้าไม่เห็นก็ดี ถ้าเห็นนะก็ไม่ดี บางครั้งพ่อแม่ไม่คุยกัน พ่อก็อยู่ฝั่งหนึ่ง แม่ก็อยู่ฝั่งหนึ่ง หนูก็ไม่รู้จะอยู่ฝั่งใคร หนูไม่อยากร้องไห้อีกแล้ว แต่หนูก็ไม่รู้ว่า หนูจะทำอย่างไรให้พ่อกับแม่รักกัน แต่หนูอยากให้พ่อแม่รักกัน หนูอยากบอกพ่อแม่ว่า อย่าทะเลาะกันอีกเลย"

เสียงจากลูกนักเรียนคนหนึ่งที่ตอบคำถาม ทำให้วันนั้นเกือบบรรยายต่อไปไม่ได้ เพราะเห็นใจลูกนักเรียนคนนั้นเหลือเกินกลับมาวัดวันนั้นก็มานั่งคิดอยู่กับตัวเองว่า หากทุกครอบครัวมีบรรยายกาศเหมือนลูกนักเรียนคนนั้น ความสุขในบ้านคงจะไม่เกิดขึ้นคงจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน บ้านที่จะอยู่เย็นคงเป็นบ้านที่ไม่น่าอยู่อย่างแน่นอน

แต่หลายครั้งเมื่อพูดถึงเรื่องความรักกันในครอบครัวมักจะมีการตั้งคำถามจากหลายคนว่า พระอาจารย์ไม่เคยมีครอบครัวจะไปรู้เรื่องอะไรกับการครองรัก ครองเรือน

พระอาจารย์ก็มักจะตอบคำถามแก่คนที่ตั้งคำถามว่าอตมภาพไม่เคยใช้ชีวิตในการครองเรือน แต่ธรรมะที่จะนำมาแบ่งปันเติมเต็มแก่ทุกท่านคือ คำสอนของพระพุทธเจ้า

ซึ่งพระองค์ได้ตรัสสนอแก่เราท่านทั้งหลายไว้ว่า ในการครองเรือนสำหรับผู้ปรารถนาให้ครอบครัวมีสุข สามารถครองรักครองเรือนให้ประสบความสำเร็จ ต้องนำธรรมเรื่องฆราวาสธรรม ๔ ไปปรับปรุงใช้ในชีวิตประจำวัน สูตรสำเร็จเรื่องการครองรักครองเรือนให้มีสุข ต้องประกอบไปด้วยสูตรสำเร็จ ๔ ประการ คือ

๑. ต้องมีสัจจะ
๒. ต้องมีการข่มใจ
๓. ต้องมีความอดทน
๔. ต้องมีการเสียสละ

พระพุทธเจ้าได้มอบของขวัญชิ้นสำคัญให้กับผู้ครองเรือน คือ ฤราวาสธรรม ๔ ประการ คือ

สัจจะ คือ ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน
ทมะ คือ ต้องฝึกข่มใจ ยอมรับความแตกต่างของสามีภรรยา
ขันติ คือ อดทน อดกลั้น
จาคะ คือ เสียสละ แบ่งปัน เติมเต็มกัน

ความสำคัญของหลักธรรม ๔ ประการนี้ ที่มีประโยชน์ต่อการสร้างตัว สร้างฐานะ สร้างครอบครัวนี้ พระพุทธเจ้าถึงกับท้าให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศให้คนเราได้เท่ากับการมี "สัจจะ" หรือไม่
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี "ทมะ" หรือไม่
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี "ขันติ" หรือไม่
มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตร ผูกใจกัลยาณมิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี "จาคะ" หรือไม่

การที่พระพุทธเจ้าทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัว สร้างครอบครัว สร้างฐานะให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว

หรืออีกในความหมายหนึ่งก็คือ คนที่จะยืนหยัดผ่านอุปสรรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง "ฆราวาสธรรม" ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั้นเองเพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน

พระพทธเจ้าทรงตรัสอีกว่า หากเราท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรมแล้วจะมีอานิสงส์เกิดขึ้นแก่เราอย่างที่เราไม่ต้องไปอ้อนวอนร้องขอใครทั้งสิ้น

อานิสงส์ของการปฏิบัตตามฆราวาสธรรม

๑.อานิสงสืของการมีสัจจะ ปลูกนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว เป็นคนหนักแน่นมั่นคง มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบหน้าที่การงาน ได้รับการเคารพยกย่อง มีคนเชื่อถือและเกรงใจ ครอบครัวมีความมั่นคง ได้รับเกียรติยศชื่อเสียง

๒. อานิสงส์ของการมีทมะ ปลูกฝังนิสัยรักการฝึกฝนตนให้เกิดขึ้นในตัว ทำให้เป็นคนมีความสามารถในการทำงาน ไม่มีเวรกับใคร ยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิดได้ สามารถตั้งตัวได้มีปัญญาเป็นเลิศ

๓. อานิสงส์ของการมีขันติ ปลูกฝังนิสัยการอดทนต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ ทำงานได้ผลดี สามารถเป็นหลักในครอบครัวได้ สามารถเป็นหลักให้กับเพื่อนร่วมงานได้ ไม่มีเรื่องวิวาทกับคนอื่น ไม่หลงผิดไปทำความชั่วได้ สามารถหากทรัพย์ได้และรักษาทรัพย์ได้

๔. อานิสงส์ของการมีจาคะ ปลูกฝังการมีอารมณ์ผ่องใสและนิสัยเสียสละให้เกิดขึ้นในตัว เป็นการสร้างความปลอดภัยแก่ตนเอง เป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป ครอบครัวและสงคมเป็นสุข มีกัลยาณมิตรรอบตัว

สรุปแล้วประโยชน์ของการมีฆราวาสธรรมโดยรวม ก็คือ

เมื่อมีสัจจะย่อมมีเกียรติยศชื่อเสียง
เมื่อมีทมะย่อมได้รับปัญญา
เมื่อมีขันติย่อมเกิดทรัพย์ในบ้าน
เมื่อมีจาคะย่อมเกิดมิตรที่ดีไว้เป็นสมัครพรรคพวกในสังคม

โทษแห่งการไม่ปฏิบัติตามฆราวาสธรรม

โทษของการขาดสัจจะ ปลูกนิสัยขาดความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว เป็นคนเหลาะแหละ พบแต่ความตกต่ำ มีแต่คนดูถูกไม่มีคนเชือถือ ไม่สามารถรองรับความเจริญต่างๆ ไร้เกียรติยศชื่อเสียง

โทษของของการขาดทมะ ขาดนิสัยรักการฝึกฝนตนเอง ทำให้ขาดความสามรถในการทำงาน สามารถหลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย จะเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย จะจมอยู่กับอบายมุขครอบครัวเดือดร้อน ไม่สามารถตั้งตัวได้ เป็นคนโง่เขลา

โทษของการขาดขันติ ไม่สามารถอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ เป็นคนจับจด ทำงานคั่งค้าง ไม่สามารถเป็นหลักให้ครอบครัวได้ หลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย ไม่ไดรับความไว้วางใจจากผู้อื่น เต็มไปด้วยศัตรู ขาดความเจริญก้าวหน้าทำให้เสื่อมจากทรัพย์

โทษของการขาดจาคะ ปลูกฝังความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในใจ ได้รับคำครหาติเตียน เป็นทุกข์ใจ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้

สรุปแล้วโทษของการขาดฆราวาสธรรมโดยรวมก็คือ

เมื่อขาดสัจจะย่อมเกิดปัญหา ถูกหวาดระแวง
เมื่อขาดทมะย่อมเหิดปัญหาความโง่เขลา
เมื่อขาดขันติย่อมเกิดปัญหาความยากน
และเมื่อขาดจาคะย่อมเกิดปัญหาความเห็นแก่ตัว


ที่มา : หนังสือ ผ่านทุกข์ก็เจอสุข


บ้านจะอยู่เย็น