คติธรรมนำชีวิต
อต.เถ ชาเต จ ปณ.ฑิตํ.
......ในเมื่อเรื่องราวเกิดขึ้น ย่อมต้องการบัณฑิต..........
บัณฑิต มีความหมายถึง ผู้ทรงความรู้ ผู้มีสติปัญญา นักปราชญ์ ผู้เชี่ยวชาญในวิชาต่าง ๆ และผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันเทียบเท่า
บัณฑิต ในทางพุทธศาสนา มีความหมายว่า คนดีที่ประพฤติอยู่ในหลักธรรมเพียบพร้อมไปด้วยศีล และเป็นที่เคารพยกย่องนับถือของคนทั่วไป ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนแก่ใคร ไม่เป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก บัณฑิตมีชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมคือ ประเทศชาติ พระศาสนา ถ้าเกิดปัญหาอันใดที่ใครไม่สามารถจะแก้ไขได้ ผู้ที่เป็นบัณฑิต ย่อมเป็นที่พึ่งได้ยามคับขัน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นจำนวนมากที่ทำตัวเป็นบัณฑิตชี้ถูกชี้ผิดแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งให้แก่ลูกบ้าน สามารถระงับเหตุ เหตุเข้าใจผิดต่อกันได้ ทำให้ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หรือจองเวรกันต่อไป
ผู้สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นบัณฑิตที่สามารถวินิจฉัย ชี้ขาด เรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ยุติลง จะต้องปราศจาก อคติ ๔ คือ
ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน ๑
โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน ๑
โมหาคติ ลำเอียงเพราะความเขลา ๑
ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัง ๑
อคติทั้ง ๔ ประการดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่มีในบัณฑิตแม้แต่ข้อใดข้อหนึ่ง บัณฑิตจะเป็นผู้ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ยุติธรรม ให้ความมั่นใจแก่คู่กรณี และผู้ที่หวังพึ่งบารมีได้เช่นเดียวกับ มโหสถบัณฑิต ผู้มีคสามเที่ยงธรรมดุจตราชู มีความรู้คู่คุณธรรม มีความสามารถ กล้าตัดสินปัญหาทุกปัญหาที่เกิดขึ้น สมดังพุทธสุภาษิตที่มีมาใน ขุททฺกนิกายชาดกเอกนิปาต ที่ว่า
อุกฺกฏเฐ สูรมิจฺฉนฺติ
ในเวลาคับขัน ย่อมต้องการคนกล้า
ถ้ามีแต่คนขลาด ไม่กล้าตัดสินคดีความ เพราะว่าเกรงใจหรือหวาดกลัวอิทธิพลทางการเมือง อิทธิพลเงินตรา อิทธิพลนักเลงใหญ่ในท้องถิ่น ประชาชนทั้งหลายก็จะประสบความเดือดร้อนแสนสาหัส ผู้ที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เช่น ผู้ใหญ่ กำนัน ตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษาศาลต่าง ๆ สมควรที่ประพฤติตน เช่น มโหสถบัณฑิต จะได้เป็นที่พึ่งแก่ปวงชนผู้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของคนชั่วทั้งหลาย
ที่มา...วารสารตำรวจ ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๔๓๐ เดือน มกราคม-มีนาคม ๒๕๕๕