เครือข่ายอินแปง  กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภูมิปัญญาที่ควรสังเคราะห์สู่การอยู่ดีกินดี
ความเป็นมา
ภูมิหลัง เครือข่ายอินแปง เป็นเครือข่ายองค์กรชาวบ้านเริ่มต้นเมื่อ ปี 2530 ที่บ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร โดยมีมูลนิธิหมู่บ้านและวิทยาลัยครูสกลนครได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิถีชีวิตชาวกะเลิง

พบว่าเป็นคนที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ชอบอิสระ ผูกพันอยู่กับป่าพึ่งป่าภูพานเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตจากอดีตมาจนปัจจุบัน และได้พบว่าชุมชนยังมีศักยภาพ ทรัพยากรธรรมชาติมากมาย

แต่อย่างไรก็ดีระยะที่ผ่านมา 25-30 ปีมานี้ ปัจจัยภายนอกและการส่งเสริม โดยเฉพาะระบบ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลังและอ้อย ก่อให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า มีการใช้สารเคมีที่มีผลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้เข้าไปเชื่อมต่อกับรากฐานของชุมชนอันที่จะเป็นการสร้าง ความเข็มแข็งให้กับชุมชน จึงต้องมีการพึ่งพาจากภายนอกแม้กระทั่งอาหาร ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำเกษตร

ในปัจจุบันเกษตรกรยังต้องอาศัยอาหารจากตลาดภายนอกในการบริโภคทั้งสิ้น ทางโครงการจึงหาทางออกร่วมกับผู้นำหมู่บ้านมีการพูดคุยทบทวนอดีตและปัจจุบันเพื่อกำหนดแนวทางในอนาคตมีการศึกษาดูงาน การสำรวจทรัพยากรของชุมชน จนในที่สุดก็ค่อยๆ ก่อตัวเป็นกลุ่มเล็กๆ จำนวน 13คนขึ้นเรียกว่า กลุ่มกองทุนพันธุ์ไม้พื้นบ้าน เพื่อการพื้นฟูอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกพืชพื้นบ้านในไร่นาขึ้น

ในปี 2535 พ่อจารย์บัวศรี ศรีสูง ประธานชมรมอุ้มชูไทอีสาน ได้มาประชุมกันที่บ้านบัว ได้เห็นความหลากหลายของพืชพันธุ์ต่างๆ ในป่าภูพานเหมือนกับว่ามีพระอินทร์ได้แปง (สร้าง) เอาไว้ ท่านเลยแนะนำให้เปลี่ยนชื่อจาก กลุ่มกองทุนพันธุ์ไม้พื้นบ้าน มาเป็น กลุ่มอินแปง จนถึงปัจจุบัน อินแปงจึงมีความหมายบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ที่พระอินทร์ได้ทรงสร้างแปงไว้ให้มวลมนุษย์ และอีกประการหนึ่งหมายถึง ผู้ใหญ่ได้สร้างบ้านแปงเมืองให้กับลูกหลาน

ปี 2536เริ่มขยายเครือข่ายจากกลุ่มอินแปงบ้านบัวสู่บ้านใกล้เคียงโดยมีชาวบ้านใกล้เคียงสนใจ มีการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกจึงมีหมู่บ้านที่เป็นเครือข่าย 7หมู่บ้าน และได้มีหน่วยงานของรัฐคือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร (ส.ป.ก.สกลนคร) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนครสนใจที่จะร่วมงานกับกลุ่มอินแปง โดย ส.ป.ก.จัดฝึกอบรมด้านการเกษตรผสมผสานให้แก่ชุมชนเครือข่ายอินแปงเพื่อวางรากฐานแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การขุดสระ ปัจจัยการผลิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เรื่องการวิจัย คุณค่าและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของพืชพื้นบ้าน จนกลายมาเป็นการแปรรูปที่มีชื่อเสียงของสกลนครเช่น ผลไม้พื้นบ้าน หมากเม่า มาทำน้ำผลไม้.ไวน์,ไข่มดแดงกระป๋อง,ผงนัวเพื่อทดแทนผงชูรส ฯลฯ

ปี 2539 เริ่มสังเคราะห์องค์ความรู้ประสบการณ์ของเครือข่ายอินแปง จัดหลักสูตรการจัดฝึกอบรมมหาวิทยาลัยชีวิต ขยายเครือข่ายพี่น้องรอบป่าภูพาน 3จังหวัดได้แก่ สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ สร้างคนสร้างแนวคิด การอนุรักษ์ป่าภูพานด้วยเครือข่ายเกษตรกรรมนิเวศน์เป็นการทำงาน เชิงรุกเพื่อการรักษาป่าภูพานด้วยการทำเกษตรแบบยั่งยืน ร้อยรวมคนจนมีคำขวัญว่า ภูพานคือชีวิต มวลมิตรคือพลัง พึ่งตนเองคือความหวัง อินแปงยังเพื่อชุมชน

ปี 2542เริ่มกระบวนการพัฒนาเชิงรุก โครงการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการเกษตรแบบยั่งยืน โดยความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร มูลนิธิหมู่บ้าน และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ได้จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนในระดับตำบลเริ่มต้น 12 ตำบลในสกลนครและ ขยายผลอีก 5 ตำบลเป็น 17 ตำบล นับเป็นความร่วมมือที่สำคัญที่ชุมชนต่างๆสามารถถักทอเป็นเครือข่ายกันบนความร่วมมือของหน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตรและเครือข่ายองค์กรชาวบ้านและได้ขยายไปที่จังหวัดมุกดาหาร อำเภอดงหลวง

จนในปี 2544ได้มีการจัดทำแผนแม่บทชุมชนในระดับตำบลเพิ่มอีก 50 ตำบล รวมเป็นเครือข่าย 84 ตำบล 890 กว่า หมู่บ้าน เพื่อเป็นแผนในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างความมั่นคงด้านปัจจัย 4 ในครัวเรือน การผลิตที่ไม่ทำลายธรรมชาติ การจัดการทรัพยากร เป็นต้น

สรุปแนวคิดและภารกิจอินแปง ภูพานคือชีวิต หัวใจสำคัญของป่าภูพาน พบว่าป่าภูพานเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีความสำคัญต่อพี่น้องชาวอีสาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ,อุดรธานี ,กาฬสินธุ์ ,มุกดาหารและนครพนม ที่มีลำห้วยสายสำคัญคือ 1.ลำน้ำพุง 2.ลำน้ำอูน 3.ลำน้ำสงคราม 4.ลำน้ำปาว 5.ลำห้วยบางทราย ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงสรรพสิ่งทั้งหลาย

อีกทั้งป่าภูพานยังมีความหลากหลายของพันธุ์ไม้นานาชนิด มีไม่ต่ำกว่า 2,000ชนิด และเป็นต้นทุนมหาศาล เป็นโรงงานผลิต ออกซิเจน ( O2 )ให้ผู้คนได้หายใจ เป็นตลาดสดที่มีอาหารตามฤดูกาล หล่อเลี้ยงผู้คนพี่น้องชาวอีสาน มาเป็นเวลานาน “ คนที่นี่ไม่ได้โตมาจาก ไก่พันธุ์ ไม่ได้โตจากผักคะน้า ผักกะหล่ำแต่เขาโตจากพืชผักพื้นบ้านที่อยู่ตามป่าตามดง เช่น ผักหวาน,ผักเม็ก,ผักติ้ว,ผักกูด ผักหนาม,หน่อไม้,เห็ด ฯลฯ อันเป็นปัจจัย 4 ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย สืบทอดกันมาหลายร้อยพันปี จนกลายมาเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ สืบต่อกันมาบนพื้นฐานการพึ่งพา การเคารพธรรมชาติ”

ครั้งหนึ่งแค่ช่วงเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมานี้มีการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ ชาวบ้านจึง หันมาปลูกปอ,ปลูกมัน “ ด้วยความอยากรวย น่าเชื่อไหมครับต้นไม้พะยูง ไม้ยาง ขนาด 5 - 6 คนโอบเป็นป่าเต็มไปหมด เราก็กล้าตัดเพื่อมาปลูกต้นปอ,ปลูกอ้อย ลำต้นเท่าหัวแม่มือ

“โรงเรียนเขาก็ไม่เคยสอน เรื่องต้นไม้บ้านเราว่ามันมีคุณค่าอย่างไร เขาสอนแต่ มะม่วง,มะขามหวาน,มังคุด,ลำไย, ลิ้นจี้ “มันเป็นยุค คนหาแต่เงินอย่างเดียว ป่าหมดอาหารก็หมด 30-40 ปีมานี้เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง สุดท้ายบ้านแตกลูกหลานไม่อยู่บ้านไปทำงานกรุงเทพฯ ไปทำงานต่างประเทศลูกไปทางแม่ไปทางหาความสุขกันไม่ได้ เคยพึ่งพาอาศัยกันก็ลำบากขึ้น เป็นหนี้สิน เป็นยุคซาวหน้าซาวหลังของชาวนา เกิดความสับสนไม่รู้จะไปทางไหนดี” ในเวทีเสวนาของคนเฒ่าคนแก่ที่สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน ปี 2544

ขอบเขตของสมาชิก

การทำงานในพื้นที่รอบเทือกเขาภูพานซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลลงไปหล่อเลี้ยงผู้คนหลายสาย ป่าภูพานเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีความสำคัญต่อพี่น้องชาวอีสาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ,อุดรธานี ,กาฬสินธุ์ ,มุกดาหารและนครพนม ที่มีลำห้วยสายสำคัญคือ 1.ลำน้ำพุง 2.ลำน้ำอูน 3.ลำน้ำสงคราม 4.ลำน้ำปาว 5.ลำห้วยบางทราย มี 5 จังหวัด สกลนคร,กาฬสินธุ์,อุดรธานี,มุกดาหาร,นครพนม

โครงการและกิจกรรม

๑.ยกป่าภูพานมาไว้สวน/ป่าครอบครัว (ภาพสวนพ่อเสริม,พ่อวาท,แม่หวิง)
๒.ป่าชุมชนและป่าเทือกเขาภูพาน (ภาพป่าบ้านบัว,หนองหมู,ภูท่าช้าง)
๓.วิสาหกิจชุมชน (โรงงานน้ำผลไม้อินแปง ภูพาน ข้าวฮาง,สมุนไพร)
๔. สถาบันการเงินและสวัสดิการชุมชน/ธนาคารอินแปง
๕. การสร้างผู้นำรุ่นใหม่
๖.การสร้างสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

องค์ความรู้เครือข่ายที่ถ่ายทอดได้
๑.การขยายพันธุ์ผักหวาน
๒.การแปรรูปน้ำผลไม้พื้นบ้าน
๓.การสร้างผู้นำรุ่นใหม่
๔.การยกป่ามาไว้สวน
๕.การแปรรูปสมุนไพร